คนมีบ้านต้องได้อยู่บ้าน คนมีญาติต้องได้อยู่กับญาติ


ว่าจำเพาะประโยค "คนมีญาติต้องได้อยู่กับญาติ" ผมนึกถึงพุทธศาสนสุภาษิตบทว่า วิสฺสาส ปรมา ญาตี : ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง ความว่าผู้มีความคุ้นเคยสนิทสนมกันเป็นอย่างดี แม้มิได้เป็นญาติพี่น้องท้องเดียวกัน แต่เมื่อได้สนิทชิดเชื้อกันแล้ว ต้องอัธยาศัยกันแล้ว ไปมาหาสู่กันแล้ว ช่วยเหลือเกื้อกูลกันแล้ว ก็เป็นเสมือนหนึ่งพี่น้องคลานตามกันมา มีความรักและห่วงใยซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีศีลมีธรรม มีทิฏฐิเสมอกัน ผูกพันกันด้วยกุศลความดี เกิดไปกี่ภพ กี่ชาติ ย่อมเป็นที่รักของกันและกันไปตลอด เพราะเหตุนี้ คำว่า "ญาติ" ที่สกรีนลงบนเสื้อ จึงมีขนาดใหญ่กว่าคำว่า "บ้าน" แนวคิดครอบครัวอุปถัมภ์ก็ดำเนินการภายใต้ความคิด "ญาติ" ในมิตินี้


สถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ เป็นหน่วยงานสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภารกิจในการให้การอุปการะ ฟื้นฟู และพัฒนา กลุ่มบุคคลไร้ที่พึ่ง เร่ร่อน ขอทาน และเพื่อให้การช่วยเหลือด้วยปัจจัย ๔ สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนการฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคมและจิตใจตามกระบวนการและความเหมาะสมตามศักยภาพของผู้รับการสงเคราะห์ ตลอดจนการติดตามญาติและส่งกลับภูมิลำเนา โดยมุ่งหวังให้สามารถกลับเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวและสังคมตามหลักการช่วยเหลือเขาเพื่อให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ต่อไป


ในปีงบประมาณ ๒๕๕๑ สถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ ได้ดำเนินโครงการครอบครัวอุปถัมภ์สำหรับคนไร้ที่พึ่งในชุมชน (Foster Home) โดยมอบผู้รับบริการในสถานสงเคราะห์ที่ผ่านการพิจารณาแล้วให้อยู่ร่วมกับครอบครัว ในรูปแบบครอบครัวอุปถัมภ์ เป็นการดำเนินงานซึ่งมีแนวคิดและรูปแบบคล้ายกับการสงเคราะห์เด็กแบบครอบครัวอุปถัมภ์

ในปีนี้ รับความร่วมมือ (จะว่าไปก็คือได้รับความอนุเคราะห์) จาก พ.ต.ท.ชาคริต  ศรีสำราญ  สภ.ปรือใหญ่ ในการรับบุคคลจำนวน ๒ คน ไปอุปการะในครอบครัวอุปถัมภ์เพื่ออยู่ร่วมกับมารดาของท่าน (คุณอัญชลี  ศรีสำราญ) ณ จังหวัดอุดรธานี  ผมคงจะหาโอกาสเล่ารายละเอียดยาวๆ ของความงดงามของโครงการนี้ - - เป็นต้นว่า คุณแม่พาผู้รับบริการของเราขึ้นเครื่องแล้วก็หลายหน นั่งรถไฟตู้นอนก็หลายคราว ระหว่างอุดรธานี-กรุงเทพฯ-อุดรธานี ทั้งที่ไม่มีเอกสารประจำตัวบุคคล ไม่มีเอกสารจากทางราชการรับรองสถานะบุคคลของผู้รับบริการจากหน่วยงานของรัฐใดๆ ในช่วงระหว่างที่ทดลองเรียนรู้อยู่ร่วมกับครอบครัว (รายแรก) ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของความผูกพันระหว่างกัน

เอาไว้โอกาสหน้าเราค่อยมาคุยกัน มาเรียนรู้ร่วมกันว่า ครอบครัวอุปถัมภ์ (ผู้ใหญ่) ได้เผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง แตกต่างไปจากครอบครัวอุปถัมภ์เด็กอย่างไร ?


กิจกรรมช่วงวันที่ ๗-๘ ก.ค. ๒๕๕๑ เป็นการจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ กิจกรรมเรียนรู้ร่วมกันระหว่างกันของคนทำงานและครอบครัวอุปถัมภ์ ตลอดจนให้มีพิธีการ พิธีกรรมบ้างตามสมควร

คิดอยู่นานว่าสื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าวผมจะใช้ข้อความว่าอย่างไร อยากได้คำพูดกลางๆ (เพื่อให้ใช้ได้ในหลายกิจกรรม เช่น กิจกรรมส่งคืนสู่ครอบครัว กิจกรรมคืนนี้นอนบ้าน กิจกรรม Open the Doors ฯลฯ)  ในที่สุดก็มายุติตรงคำว่า

"คนมีบ้านต้องได้อยู่บ้าน คนมีญาติต้องได้อยู่กับญาติ"

เป็นคำพูดที่ใช้ครั้งแรกเมื่อคราวนำเสนอในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานสถานสงเคราะห์ทั่วไทยที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อต้นปี ๒๕๕๐ สำหรับการนำเสนอในหัวเรื่องที่ได้รับมอบ "การเตรียมความพร้อมคืนผู้รับบริการสู่ครอบครัวและชุมชน" คราวนั้นได้พาดหัวไว้หน้าแรกของ ppt และไปเฉลยในข้อสังเกตแรงเฉื่อยต่อการจำหน่ายเชิงบวกของสถานสงเคราะห์ (ในฐานะคนใหม่ต่องานสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง) ๒-๓ ประเด็น ในตอนท้าย ได้แก่

๑. ภาระงานประจำ (งานบริการ/งานเอกสาร) ล้นมือ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทบทวนสารพัด สารพันแบบรายงาน แบบกรอกข้อมูล ที่กองทับตักเจ้าหน้าที่ในสถานสงเคราะห์จนลุกและรุกไม่ขึ้น
๒. ดำเนินกิจกรรมแบบมีผู้ประสานงานโครงการ  ทำอะไรไปไหนมาไหนด้วยกัน เหมือนจะสามัคคีกันดีอยู่หรอก แต่มักจะเอาดีไม่ค่อยได้ เพราะในที่สุดแล้วจะไปกระจุกอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่งเสมอ
๓. เพราะความเป็นสถานสงเคราะห์เอง ที่ภาพสื่อออกมาโดยตลอดว่าเป็นสถานที่พึ่งสุดท้าย มั่นคง ปลอดภัย อยู่ยาว อยู่ได้เรื่อยๆ เป็นบ้านมั่นคง จึงขาดแรงจูงใจในการจำหน่ายผู้รับบริการอย่างมีเป้าหมาย

เพราะเหตุดังกล่าวจึงจำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการจำหน่าย เพื่อลดขนาดของสถานสงเคราะห์
"คนมีบ้านต้องได้อยู่บ้าน คนมีญาติต้องได้อยู่กับญาติ"
จึงถูกคิดขึ้นมาใช้เป็นตัวกระตุ้น ฉุกใจให้ได้คิดกันในตอนนั้นเป็นฐานคิดสำหรับการออกแบบกิจกรรม/โครงการใดๆ เพื่อให้นำไปสู่จุดนั้น คือการอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชน

ยอมรับละครับว่าเป็นภาพของความฝัน - - หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นภาพของความฝันของคนทำงานในสถานสงเคราะห์ ความฝันของคนทำงานในโรงพยาบาลจิตเวช

ต่อจากนั้น ก็นำเสนอในหลายเวที ต่างกรรม ต่างวาระ และเพิ่งจะมีคราวนี้เองที่ได้พิมพ์ลงบนเสื้อจัดทำเป็นสื่อประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องเป็นราวเสียทีนึง - - สำหรับคนในและคนนอก (สถานสงเคราะห์)



"คนมีบ้านต้องได้อยู่บ้าน คนมีญาติต้องได้อยู่กับญาติ"


ยอมรับละครับว่า "คนมีบ้านต้องได้อยู่บ้าน คนมีญาติต้องได้อยู่กับญาติ"
เป็นภาพความฝันของคนทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการบุคคลที่เจ็บป่วย พิการ หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจโดยปกติได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถสร้างผลผลิตให้กับครอบครัวและชุมชนได้ หรือมองว่าเป็นภาระที่ต้องดูแล  ว่าจำเพาะในกลุ่มคนที่มีบ้าน มีญาติพี่น้อง ก็จำเป็นอยู่เองที่เราจะดำเนินการอย่างไรเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ตามสมควรแก่อัตภาพ โดยการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน แนวคิดทำนองกำจัดออกเสียจากครอบครัวและชุมชน (เพื่อให้เข้าอยู่ในสถานสงเคราะห์) ควรจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่ควรจะนึกถึง และแม้จะเข้าอยู่ก็ควรจะอยู่อย่างชั่วคราว

ว่าจำเพาะประโยค "คนมีญาติต้องได้อยู่กับญาติ" ผมนึกถึงพุทธศาสนสุภาษิตบทว่า
วิสฺสาส ปรมา ญาตี : ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง
ความว่าผู้มีความคุ้นเคยสนิทสนมกันเป็นอย่างดี แม้มิได้เป็นญาติพี่น้องท้องเดียวกัน แต่เมื่อได้สนิทชิดเชื้อกันแล้ว ต้องอัธยาศัยกันแล้ว ไปมาหาสู่กันแล้ว ช่วยเหลือเกื้อกูลกันแล้ว ก็เป็นเสมือนหนึ่งพี่น้องคลานตามกันมา มีความรักและห่วงใยซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีศีลมีธรรม มีทิฏฐิเสมอกัน ผูกพันกันด้วยกุศลความดี เกิดไปกี่ภพ กี่ชาติ ย่อมเป็นที่รักของกันและกันไปตลอด ดังนี้ (สาธุ)


เพราะเหตุนี้ คำว่า "ญาติ" ที่สกรีนลงบนเสื้อ จึงมีขนาดใหญ่กว่าคำว่า "บ้าน"
เพราะญาติ หมายเอาผู้มีความสนิทชิดเชื้อไปมาหาสู่กันว่าเป็นญาติ
เพราะญาติ หมายเอาผู้ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกันว่าเป็นญาติ
เพราะญาติ ในความหมายนี้ก้าวพ้น ญาติตามสายโลหิต

แนวคิดครอบครัวอุปถัมภ์ก็ดำเนินการภายใต้ความคิด "ญาติ" ในมิตินี้


ถึงตรงนี้ ผมเข้าใจว่าผมคิดไม่ผิด และยังใช้ความคิดนี้ไปได้อีกสักพักยาวๆ
ถึงตรงนี้ แว่วเสียงผู้ใหญ่ที่นับถือก้องอยู่ในหูว่า
ถ้าโลกนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็ชอบที่เราจะบริหารงานประจำให้มีคุณภาพ 
แต่เพราะโลกนี้เปลี่ยนแปลงอยู่โดยตลอด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องดำเนินงานอย่างมียุทธศาสตร์

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท