กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และภาระงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาในสถาบันอุดมศึกษา


ทรัพย์สินทางปัญญาในมหาวิทยาลัยควรได้รับการดูแล

อันสืบเนื่องมาจากมหาวิทยาลัยฯ  ได้ให้โอกาสดิฉันเข้าร่วมสัมมนาความรู้ทางกฎหมาย  เรื่อง  กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา  และภาระงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาในสถาบันอุดมศึกษา  ระหว่างวันที่  7-8  กรกฎาคม  2551    โรงแรมสยามซิตี้  จากการฟังบรรยายก็พอจะได้ความรู้มาฝากเพื่อนๆ  ในบล็อกดังนี้ค่ะ

การบรรยายประกอบไปด้วยวิทยากรทั้งสิ้น  7  ท่าน  ตามลำดับการบรรยาย  ดังนี้

1.  ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิศวาท  สุคนธพันธ์

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หัวข้อในการบรรยาย  ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา

               วิทยากรได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา  ความรู้เบื้องต้นทั่วไปเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา  ทั้งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์  พระราชบัญญัติสิทธิบัตร  พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า  และกฎหมายฉบับอื่นๆ  ที่เกี่ยวข้อง  และได้ฝากประเด็นไว้สำหรับมหาวิทยาลัยดังนี้

1.      งานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์หนึ่งผลิตภัณฑ์อาจได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหลายฉบับได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการในการขอรับความคุ้มครองตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา 

2.     มหาวิทยาลัยต้องระมัดระวังเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย  ซึ่งบางครั้งอาจเกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของอาจารย์  แต่มหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นนิติบุคคล  ถ้ามีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์  ผู้แทนคืออธิการบดี  หรือคณบดี  (ในกรณีได้รับมอบอำนาจ)  จะมีความผิดด้วย  แต่โทษในการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการศึกษา  จะมีเพียงโทษปรับเท่านั้น  ถ้าเป็นโทษเชิงพาณิชย์จึงจะมีความผิดทางอาญา 

3.     การที่อาจารย์อนุญาตให้นักศึกษาถ่ายเอกสารตำราต่างประเทศหรือในประเทศต่าง ๆ  มาใช้ประกอบการเรียน  ควรทำการปรึกษาฝ่ายกฎหมายหรือหน่วยงานที่ดูแลด้านทรัพย์สินทางปัญญาก่อน  ในกรณีนี้  เมื่อมีปัญหาเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์  มหาวิทยาลัยต้องร่วมรับผิดด้วย  แต่ถ้าอาจารย์กระทำไปโดยพลการหรือได้รับการห้ามปรามแล้วยังกระทำ  อาจารย์ก็ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว

4.      สำหรับมหาวิทยาลัยที่เปิดให้เช่าพื้นที่เพื่อเปิดเป็นร้านถ่ายเอกสาร  ต้องระมัดระวังในกรณีที่ร้านเหล่านั้นถ่ายเอกสารอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์  มหาวิทยาลัยต้องรับผิดด้วย 

 

2.  คุณสนิท  เก่าพิมาย

นิติกรส่วนบริการประชาชนและประชาสัมพันธ์  ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

หัวข้อในการบรรยาย  ขั้นตอนการติดต่อราชการศาล  ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

               ได้กล่าวถึงขั้นตอนการติดต่อราชการศาล  ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีสองชั้น  ได้แก่  ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง  และศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ  และได้กล่าวถึงพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์  ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่  อันมีแต่โทษปรับเป็นจำนวนเงิน  สองแสนถึงหนึ่งล้านบาท  ไม่มีโทษจำคุก  ซึ่งถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าปรับก็สามารถกักขังแทนค่าปรับได้  หนึ่งแสนแทนด้วยการกักขังหนึ่งปี  และได้กล่าวถึงสถานการณ์ทั่วไปเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย  อาทิเช่น

อันดับของการละเมิดลิขสิทธิ์ในเมืองไทย 

1.      เพลง

2.      ภาพยนตร์

3.      ศิลปะประยุกต์

4.      ภาพถ่าย

ประเภทของสินค้าที่เป็นที่นิยมละเมิด  (เครื่องหมายการค้า)

1.      โนเกีย

2.      ลาคอสต์

3.      กางเกงยีนส์  โดยเฉพาะลีวายส์

4.      กระเป๋ายี่ห้อต่างๆ

5.      อุปกรณ์กีฬายี่ห้อต่าง ๆ

 

3.  คุณสุพิศ  ปราณีตพลกรัง

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์  ภาค  4

หัวข้อในการบรรยาย  ขั้นตอนการดำเนินคดีและการฟ้องคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

               ได้อธิบายขั้นตอนการดำเนินคดี  และประสบการณ์ต่าง ๆ  ในฐานะที่เคยเป็นผู้พิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง  ซึ่งองค์คณะในการพิจารณาคดีประกอบด้วย  ผู้พิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจำนวน  2  ท่าน  และผู้พิพากษาสมทบอีกจำนวน  1  ท่าน  วิทยากรได้เน้นย้ำว่า  ทุกมหาวิทยาลัยควรมีศูนย์จัดการทรัพย์สินทางปัญญา  เพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยในการปกป้องผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย  และป้องกันการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในฐานละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น

4.  คุณชุมพิชัย  สวัสดิ์-ชูโต

ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา  กรมทรัพย์สินทางปัญญา

หัวข้อในการบรรยาย  การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา

               วิทยากรได้บรรยายเรื่องหลักคือ  สิ่งที่นักกฎหมายควรรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา  อาทิเช่น

1.      การจัดการทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องของ  Private  Rights  ไม่ใช่  Public  Rights  กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้  คู่สัญญาต้องตกลงกันเอง  ทุกหน่วยงานจึงควรต้องมีศูนย์บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา  โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย  ซึ่งมีภาระในด้านการวิจัยเป็นหลักอยู่แล้ว 

2.      ตัวแทนสิทธิบัตร  เป็นอาชีพที่ต้องได้รับการส่งเสริม  เพราะมีคำขอรับสิทธิบัตรเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับสิทธิบัตร  เนื่องจากเป็นคำขอที่ไม่มีคุณภาพ  การยื่นคำขอรับสิทธิบัตรโดยให้ผู้ตรวจสอบของกรมทรัพย์สินทางปัญญาช่วยตรวจสอบคำขอให้  ทำให้ผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเสียประโยชน์  เพราะแนวทางในการทำงานของผู้ตรวจสอบเป็นไปในลักษณะจำกัดสิทธิ  แต่แนวทางในการทำงานของตัวแทนสิทธิบัตรเป็นไปในลักษณะขยายสิทธิ  การยื่นคำขอรับสิทธิบัตรโดยมีตัวแทนสิทธิบัตรช่วยเขียนข้อถือสิทธิและตรวจสอบความใหม่นั้น  จึงเป็นประโยชน์แก่ผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรมากที่สุด  ทั้งนี้ในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีสถาบันวิจัยและพัฒนาและมีการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์  การใช้บริการตัวแทนสิทธิบัตร  อาจเป็นการเสียค่าใช้จ่ายที่ยากต่อการเบิกจ่าย  จึงอาจใช้เป็นการตั้งศูนย์หรือสำนักบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา  โดยมีนักกฎหมายที่ผ่านการอบรมด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาคอยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือในการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรให้กับงานวิจัยของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย  และทำ  IP  AUDIT  ซึ่งเป็นการตรวจสอบว่าในสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งๆ  นั้น  สามารถขอรับความคุ้มครองในทรัพย์สินทางปัญญาประเภทใดได้บ้าง  และมีการทำ  IP  MAPPING  อันหมายถึงการวิเคราะห์แนวโน้มของเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา

3.     การสร้างมาตรฐานของ  Brand  ถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง  มหาวิทยาลัยเองก็สามารถสร้างได้  ทั้งนี้เมื่อมีทรัพย์สินทางปัญญาประเภทใดแล้ว  ต้องมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญานั้นให้มากที่สุด

4.      หน่วยงานที่ดูแลด้านการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย  ต้องคอยติดตามดูแลวันหมดอายุของการคุ้มครองประเภทต่าง ๆ  ของทรัพย์สินทางปัญญาที่มหาวิทยาลัยได้รับความคุ้มครองและดูแลการชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

5.      ทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภทสามารถนำมาหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ด้วยการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ  โดยสัญญานั้นคู่สัญญาต้องทำมาก่อน  แต่  License  ต้องมาทำที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา

6.      เจ้าของสิทธิหรือผู้ประดิษฐ์ต้องเลือกให้เหมาะสมว่าจะขอรับสิทธิบัตรหรือเป็นความลับทางการค้า  เพราะถ้าขอรับสิทธิบัตร  ต้องเปิดเผยขั้นตอนการประดิษฐ์ทั้งหมด  เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองมากที่สุด  แต่ถ้าต้องการเก็บสูตรหรือวิธีการไว้ควรเลือกให้เป็นความลับทางการค้า  ซึ่งเจ้าของสิทธิควรได้รับการให้คำปรึกษาจากนักกฎหมายในสิทธิต่างๆ  ที่จะได้รับจากการคุ้มครองประเภทต่าง ๆ

7.      การขอรับสิทธิบัตรมีความเข้มข้นกว่าการขอรับอนุสิทธิบัตรเนื่องการอนุสิทธิบัตรไม่มีการตรวจสอบความใหม่  ในต่างประเทศหลายประเทศ  ส่วนใหญ่ไม่มีการคุ้มครองอนุสิทธิบัตร

 

5.  คุณสมศักดิ์  เลียงแก้วประทุม

หัวหน้าศูนย์สารสนเทศและงานห้องสมุด  กรมทรัพย์สินทางปัญญา

หัวข้อในการบรรยาย  การสืบค้นสิทธิบัตร

               วิทยากรได้แนะนำเว็บไซต์ต่าง ๆ  ที่เป็นฐานข้อมูลในการสืบค้นสิทธิบัตรของแต่ละประเทศ  และในปัจจุบันนี้  กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เปิดบริการใหม่ผ่านทาง  http//patentsearch.moc.go.th  เพื่อเปิดโอกาสให้สืบค้นสิทธิบัตรได้ทั่วโลก  ทั้งนี้ประเทศที่มีการขอรับสิทธิบัตรเป็นจำนวนมากเรียงตามลำดับคือ

1.      ญี่ปุ่น

2.      สหรัฐอเมริกา

3.      จีน

4.      เกาหลี

5.      สหภาพยุโรป

สำหรับประเทศไทยอยู่ในลำดับที่  19  ของโลก

 

6.  คุณนฤมล  ศรีคำขลิบ 

นักวิชาการพาณิชย์  ว.  กรมทรัพย์สินทางปัญญา

หัวข้อในการบรรยาย  การจดทะเบียนสิทธิบัตร

               วิทยากรได้บรรยายถึงเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร  ซึ่งรายละเอียดการประดิษฐ์ซึ่งต้องระบุลักษณะของเทคนิคการประดิษฐ์ให้ชัดเจนที่สุด  และข้อถือสิทธินั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  ในกรณีที่มีรูปเขียน  ต้องเขียนให้ถูกต้องตามหลักของการเขียนแบบ  ในกรณีของมหาวิทยาลัยที่มีสำนักออกแบบฯ  อาจเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญากับสำนักออกแบบฯ  เพื่อประโยชน์ในการขอรับสิทธิบัตร   

 

7.  คุณราชัย  อัศเวศน์

นิติกร  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

หัวข้อในการบรรยาย  บทบาทของนิติกรกับภาระงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา

               แนวคิดของวิทยากรในบทบาทของนิติกรสำหรับงานด้านทรัพย์สินทางปัญญานั้น  ควรแยกงานวินัยกับงานนิติการออกจากกัน  โดยงานวินัยยังคงให้อยู่ในกองบริหารงานบุคคล  แต่งานนิติการนั้นแยกออกมาเป็นหน่วยงานต่างหาก  โดยมีภาระงานห้าด้านดังนี้

1.      งานธุรการ

2.      งานให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย

3.      งานคดี

4.      งานสัญญา

5.      งานทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา  ได้ให้การสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง  TLO  (Technology  Licensing  Office)  หรือ  IPMO  (Intellectual  Property  Management  Office)  เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการบริหารจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญาในมหาวิทยาลัย  เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาแบบครบวงจร  ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์และพัฒนาระบบคุ้มครองสิทธิประโยชน์อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ  ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยประมาณ  10  แห่งเท่านั้น  ที่ได้มีการดำเนินการตั้งหน่วยงานดังกล่าวแล้ว  ได้แก่  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยนเรศวร  ฯลฯ  และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมีเพียงแห่งเดียว  คือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 

วิทยากรได้แนะนำว่า  ในสำนักหรือศูนย์บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญานั้น  อย่างน้อยควรมีบุคลากรที่จบการศึกษาทางด้านนิติศาสตร์  ด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะ  และบุคลากรที่จบการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ที่ผ่านการอบรมกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มเติม

จากประสบการณ์ของวิทยากร  ปัญหาของทุกมหาวิทยาลัยคือการที่อาจารย์ไปตกลงรับงานวิจัยมาก่อนแล้วถึงให้นิติกรร่างสัญญาให้ภายหลัง  ซึ่งข้อสัญญามักจะไม่ครอบคลุมให้นักวิจัยและมหาวิทยาลัยได้ประโยชน์จากงานวิจัยนั้นได้คุ้มค่า  เนื่องจากสัญญาในทางทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสัญญาที่แตกต่างจากสัญญาทั่วๆ  ไป  ดังนั้น  อาจารย์ที่จะรับงานวิจัยภายนอก  ควรได้รับคำปรึกษาจากนิติกรในข้อตกลงที่จะไปคุยก่อนรับงาน  เพื่อให้ได้รับประโยชน์เต็มที่

ก็เลคเชอร์มาได้ประมาณนี้ค่ะ  ท่านใดมีความรู้ที่จะแนะนำดิฉันเพิ่มเติมก็เชิญนะคะ  และถ้าผิดพลาดประการใด  ขอน้อมรับไว้แต่เพียงผู้เดียวค่ะ

หมายเลขบันทึก: 193442เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2008 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • อาจารย์หายไปนานจัง
  • อันนี้เป็นความรู้ใหม่เลย
  • สงสัยมหาวิทยาลัย
  • ต้องระวังให้มากแล้วละ
  •  สำหรับมหาวิทยาลัยที่เปิดให้เช่าพื้นที่เพื่อเปิดเป็นร้านถ่ายเอกสาร  ต้องระมัดระวังในกรณีที่ร้านเหล่านั้นถ่ายเอกสารอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์  มหาวิทยาลัยต้องรับผิดด้วย 
  • ขอบคุณมากครับ

     

ขอบคุณมากค่ะ อ.ขจิต

พอดีว่าเปิดเทอมนี้มีสอนเยอะมากเลยค่ะ

เลยหายไปนาน

จะพยายามกลับมาบ่อยๆ ค่ะ

คิดถึงทุกคนค่ะ

มหาวิทยาลัยใดมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านนี้แล้ว นอกเหนือจากที่กล่าวถึงข้างต้น รบกวนขอคำแนะนำบ้างนะคะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ อ.ฟ้าใส

ขอบคุณสำหรับบันทึกที่เป็นประโยชน์มากๆ เลยค่ะ

ตัวดิฉันเองไม่มีความรู้ทางด้านนิติศาสตร์เลยแต่ต้องมาเป็นเจ้าหน้าที่ด้านการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย เพิ่งเริ่มงานไม่นานนี่เองค่ะ

ตอนนี้กำลังเรียนรู้และก็หาโอกาสไปอบรมสร้างเสริมประสบการณ์อยู่ค่ะ

มีโอกาสจะขอรบกวนปรึกษาและขอคำแนะนำจาก อ.ฟ้าใส ด้วยนะคะ

ขอบพระคุณล่วงหน้าเลยนะคะ

เรียนคุณพรรษกร

ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ ไว้มีโอกาส เรามาแลกเปลี่ยนกันอีกนะคะ

ในทางปฏิบัติ อาจขอรบกวนความรู้จากคุณพรรษกรบ้างนะคะ

ส่วนในทางกฎหมาย ยินดีให้คำแนะนำค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ ไม่ได้เจอกันอีกเลยนานมากแล้ว ตั้งแต่อบรมการเขียนบทความขั้นสูงทางกฎหมายด้วยกัน

จบดอกเตอร์หรือยังครับ อยากเห็นดร.ที่น่ารักที่สุดของเมืองไทยจัง

ไม่รู้จะคุยอะไร คุยไม่เก่งครับ

มีอะไรให้รับใช้ เชิญเลยครับอาจารย์

กิตติธัช วงศาสนธิ์ 0870232179

ว่างๆ เมล์หาหน่อยนะ อยากปรึกษาที่เรียนครับ

ขอบคุณค่ะเพื่อนเก่าที่หากันเจอ หาเจอได้ไงเนี่ย

ก่อนอื่นต้องขอโม้นิดนึงว่า ตอนนี้มหาลัยเรา กะลังมีโครงการ

ดูแลการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้กับชุมชนในละแวกใกล้เคียง

เราในฐานะฝ่ายกฎหมายด้วย และนักวิจัยด้วย ก็มีหน้าที่ให้คำแนะนำ

และดูแลว่างานไหนมีโอกาสได้รับความคุ้มครองบ้าง ส่วย IP ในมหาวิทยาลัย

ก็กำลังดำเนินการอยู่ ใครมีจะแลกเปลี่ยนก็เชิญได้เลยค่ะ

ขอบคุณคะ อ.ที่แนะนำข้อมูลดีๆๆ ขอรบกวน อ.ช่วยแนะนำหนังสือหรือเอกสารพื้นฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ประมาณว่าทรัพย์สินทางปัญญามีความสำคัญอย่างไรและเหตุใดต้องจัดการมันด้วยคะ

เยอะเลยค่ะ หนังสือ เช่น คำอธิบายเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา มีอาจารย์ดังๆ ท่านเขียนหลายคนเลยค่ะ ลองหาในเว็บศูนย์หนังสือจุฬาก็ได้ค่ะ ยินดีค่ะ

ย้อนกลับมาดูบันทึกเมื่อปี ๕๑ ไม่น่าเชื่อว่าในปี ๕๔ เราจะได้มีโอกาสทำตามคำแนะนำของท่านราชัย...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท