ก้าวที่ 2 ของการบริหารเชิงพื้นที่


ถ้าคิดยาก หรือคิดหยาบ...งานของเราก็จะหยาบด้วย แต่ถ้าคิดแบบร่วมทำกับคนอื่น...ก็จะช่วยทำให้งานละเอียดขึ้น และสนุก...

ในช่วงบ่ายของวันที่  8  กรกฎาคม  2551 ก็ได้ไปดูวิธีการทำงานจริง ๆ ในพื้นที่ที่แต่ละหน่วยงานมาปฏิบัติร่วมกัน  ณ  นิคมเกษตรบ้านย่านซื่อ  ตำบลบ้านช้าง  อำเภอสองพี่น้อง  จังหวัดสุพรรณบุรี  กับแกนนำเกษตรกร ประมาณ  55 คน ที่ได้คัดเลือกมาจาก Blog ต่าง ๆ ในพื้นที่ดังกล่าว

การดำเนินงานที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเหมือนกับ "ยกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์" มาร่วมกันทำงาน  เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมบ่อยมาก เกษตรกรมีความเดือดร้อนในการทำอาชีพ เช่น น้ำท่วมนา ดินไม่ค่อยดี การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ไม่เต็มที่ และอื่น ๆ ซึ่งอาชีพหลักของเกษตรกรที่นี่ก็คือ  ทำนาข้าว  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มและเป็นพื้นที่นา  ดังนั้น วิธีการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร จึงเกิดขึ้นมาจากความร่วมมือของทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ร่วมกันปฏิบัติงานโดยใช้  พื้นที่เป้าหมายหลัก ประมาณ 2,500 ครัวเรือน พื้นที่ประมาณ 20,000 กว่าไร่  ตั้งอยู่ที่นิคมเกษตรบ้านย่านซื่อ  ตำบลบ้านช้าง  อำเภอสองพี่น้อง  จังหวัดสุพรรณบุรี

                การพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร  ได้จัดวางงานไว้ใน 2 ลักษณะ คือ  1) พัฒนาอาชีพหลักให้กับเกษตรกรเรื่องข้าว  และ 2) ส่งเสริมสนับสนุนมีอาชีพเสริม เลี้ยงวัว ให้กับเกษตรกรเพื่อช่วยดูแลอาชีพหลักคือทำนาข้าวให้ได้ผล  ซึ่งหมายความว่า

                1) การแก้ปัญหา/ป้องกันมิให้น้ำท่วมแปลงนาข้าว ก็นำภูมิปัญญาเรื่องคันกั้นน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ที่เกษตรกรทำนาขยายผลภายใต้การออกแบบผสมกับหลักการวิชาการ โดยมีกรมชลประทานเป็นผู้ดูแล

                2) การรวบรวมข้อมูลทำนาข้าวของเกษตรกร เช่น ลักษณะดิน  คุณภาพดิน การดูแลรักษา และอื่น ๆ ที่เป็นพื้นฐานของพื้นที่นาข้าวนั้น ก็จะมีการตรวจวิเคราะห์ดินและการค้นหาวิธีการป้องกัน/แก้ไข  ก็จะมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นผู้ดูแล

                3) การบำรุงปรับปรุงดินในแปลงนาข้าวของเกษตรกร ที่จะใช้ขี้วัวนั้น มาจากมีเกษตรกรบางส่วนเลี้ยงวัวกันอยู่เดิม มีฟางข้าวให้วัวกิน เพราะทำนาข้าวเป็นหลัก โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดาในท้องถิ่นมาจัดการ แล้วเจ้าหน้าที่นำมาเป็นช่องทางในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงวัวให้กับเกษตรกรเพื่อเป็นอาชีพเสริม การจัดทำปุ๋ยหมัก และอื่น ๆ เพื่อปรับโครงสร้างดิน ก็จะมีกรมพัฒนาที่ดิน และกรมปศุสัตว์เป็นผู้ดูแล

                4) การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้มาตรฐาน เป็นผลมาจากเกษตรกรใช้สารเคมีค่อนข้างมาก  มีการลงทุนสูง โครงสร้างดินไม่ค่อยดี และอื่น ๆ เช่น การใช้เมล็ดพันธุ์  สารเคมี และอื่น ๆ ดังนั้น จึงได้วางเป้าหมายการปฏิบัติงานเพื่อช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตจากการปรับโครงสร้างดิน  จากเมล็ดพันธุ์  จากการดูแลน้ำ  และอื่น ๆ โดยจะมีกรมการข้าวเป็นผู้ดูแล

                5) การส่งเสริมกลุ่มอาชีพ โดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรได้ประมวลภาพรวมของการทำงานของแต่ละหน่วยงานที่จะเข้ามาส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรได้เห็น ได้แก่ กลุ่มเป้าหมาย, อาชีพที่ทำ พื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ของ สปก. การดำเนินงานโครงการ  วิธีการทำงานกับเกษตรกร ประมาณ 500 กว่าคน โดยใช้แกนนำ (ตัวแทน) จำนวน  55 คน  และอื่น ๆ ที่มีเป้าหมาย เพื่อดำเนินงานไปสู่กลุ่มอาชีพและวิสาหกิจชุมชน ก็จะมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ดูแล

 

                เทคนิคการทำงาน  ใช้วิธีการค้นหาแกนนำเกษตรกร จำนวน 55 คน เพื่อมาดูแลรับผิดชอบการดำเนินกิจกรรม แบ่งเป็น  ทีม/กลุ่ม โดยเกษตรกรที่มานั้นมาจาก ใจของฉันมาด้วย ที่เป็นข้อตกลงจากเวทีการพูดคุย เพื่อทำหน้าที่ดูแลสมาชิกกลุ่มของตนเอง จำนวน 10 คน/แกนนำ 1 คน ใน Zone พื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ การบริหารจัดการเรื่องน้ำ  เรื่องโครงสร้างดิน  เรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์  และอื่น ๆ  นอกจากนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรแกนนำได้มีโอกาสถอนตัวจากการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย แต่ผลปรากฏว่าไม่มีเกษตรกรคนใดมาถอนชื่อตนเอง

                ทั้งนี้ในการสนับสนุนอาชีพเสริม เลี้ยงวัว"  ก็ใช้วิธีการให้เกษตรกรสมัครใจแล้วมารวมกลุ่มเป็น  กลุ่มผู้เลี้ยงวัว  ที่จะมีการสนับสนุนสินเชื่อ  ส่วนความรู้นั้นก็จะมีการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ให้

                จุดเน้นหนัก  ของการช่วยเหลือเกษตรกรจะมุ่งเป้าหมายไปที่การเสริมความรู้ในแต่ละเรื่องให้กับเกษตรกรปฏิบัติเป็น/มีทักษะ ที่เริ่มจากการสร้างแกนนำไปดูแลเกษตรกรด้วยกัน โดยงานชิ้นที่ 1 ที่ปฏิบัติก็คือ ให้เกษตรกรเก็บตัวอย่างดินมาใช้วิเคราะห์  ที่ดึงเอา หมอดิน ที่เป็นเกษตรกรแกนนำมาเล่าวิธีการให้ฟัง แล้วเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินเป็นผู้เสริมข้อมูล และ ชักชวนให้เกษตรกรมาเรียนรู้ภายใต้วัตถุประสงค์ก็คือ  เพื่อให้เกษตรกรเก็บตัวอย่างดินเป็น ใช้เครื่องมือเป็น เพื่อจะได้ปรับโครงสร้างดินเป็น

                ฉะนั้น การเริ่มงานของโครงการนี้จึงเริ่มที่  ให้เกษตรกรเก็บตัวอย่างดินและตัวอย่างน้ำ เพื่อนำมาเรียนรู้และตรวจวิเคราะห์ด้วยกัน ภายใต้ประเด็น วิธีการเก็บตัวอย่างดิน น้ำ และการใช้เครื่องมือตรวจวิเคราะห์."

                ส่วนบทบาทของนักส่งเสริมการเกษตร (นายรุ่งสุรีย์  เลี้ยงประยูร) ก็คือ 

                    1)  เป็นผู้สร้างบรรยากาศกลุ่ม ให้กับแกนนำเกษตรกรเพื่อให้เกิดความเป็นกันเอง ไม่ตึงเครียด  ผ่อนคลาย  กล้าแสดงออก  และมีเสียงหัวเราะ 

                    2)  เป็นผู้โยงใยเนื้อหาและบทบาทของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ให้มารวมกันและเล่าเนื้อหา/บทบาทของตนเองให้แกนนำเกษตรกรได้ทราบ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรให้กับเกษตรกร 

                    3)  เป็นผู้กระตุ้นแกนนำเกษตรกร โดยนำเอา "ทรัพยากรของหน่วยงาน/โครงการ" มาใช้เป็นตัวนำ หรือตัวเดินเรื่อง เพื่อให้เกษตรกรรู้สึกอยากทำ  อยากร่วม  และอยากได้  แต่การปฏิบัติจะอยู่ภายใต้ข้อมูล/ข้อเท็จจริง และเงื่อนไขของการดำเนินงานร่วมกัน

                    4)  เป็นผู้สร้างแรงจูงใจให้กับเจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมกันจัดกระบวนการกลุ่มกับแกนนำเกษตรกร โดยใช้ภารกิจงานร่วม  ภารกิจงานของตนเอง  ความรู้ความสามารถ/ศักยภาพของตนเอง  ผลที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร  มาเป็นตัวดึงดูดใจ

 

          การทำงานดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ได้มีการก้าวเดินสู่การปฏิบัติจริง  ที่เดินสู่แกนนำเกษตรกรโดยใช้ "ทรัพยากร...เป็นตัวนำ"  หลังจากนั้นก็จะเป็นการก้าวเดินสู่การนำเอา "ความรู้...มาเป็นตัวนำ"  แต่ที้หมดนี้จะอยู่ภายใต้การตัดสินใจของแกนนำเกษตรกรที่จะขยายผลสู่เกษตรกรที่เหลือเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาร่วมกัน.

หมายเลขบันทึก: 193443เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2008 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท