3S กับการจัดการความรู้ ที่ วศ. (4) เรื่องเล่า KM ในงานผู้สูงอายุ


เรามองที่ว่า แล้วสุขภาพมีจุดดีอะไรบ้าง เพราะว่าสุขภาพช่องปากส่งผลต่อการกิน ภาวะโภชนาการ โรคของระบบทางเดินอาหาร และส่วนของคุณภาพชีวิต เรื่องของความมั่นใจ การเข้าสังคม และความสุข เราจะดึงจุดดีนี้ออกมา เพราะว่าผู้สูงอายุไม่ทุกคนที่ไม่มีฟัน จะมีผู้สูงอายุหลายท่านที่มีสุขภาพ และสุขภาพช่องปากที่ดี เราจะเอาดีตรงนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะมาสร้างบรรยากาศในการดูแลสุขภาพช่องปากให้มากขึ้น

 

เรื่องนี้ เป็นเรื่องเล่าของดิฉันเอง ที่ได้นำ KM เข้าไปใช้ในการ ลปรร. ในงานสร้างเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2549 ค่ะ ซึ่งทำให้เห็นพัฒนาการของชมรมผู้สูงอายุที่ทำกิจกรรม ในเรื่อง สุขภาพช่องปาก ลองฟังเรื่องราวดูกันนะคะ

การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุนี้ได้ทำมาแล้วเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2549 เรามีข้อมูลว่า ผู้สูงอายุมีการสูญเสียฟันร้อยละ 92 ประมาณ 4 ล้านคน แต่มีการสูญเสียฟันทั้งปาก ร้อยละ 8 ประมาณ 300,000 คน เป็นมูลเหตุที่ทำให้เกิดโครงการฟันเทียมพระราชทาน ที่มีการใส่ฟันให้กับผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันเลยขึ้นมา ร่วมกับมีข้อร้องเรียนจากผู้สูงอายุ ที่มีความต้องการการใส่ฟันเทียมทั้งปาก แต่เราไม่ได้มองแต่เพียงเรื่องการใส่ฟัน เรามองไปถึงเรื่องของผู้สูงอายุที่ยังคงมีฟันอยู่ และมีโรคฟันผุ และโรคปริทันต์ ที่พบว่า ผู้สูงอายุมีโรคฟันผุร้อยละ 96 และโรคเหงือกร้อยละ 62 ด้วย

เรามองที่ว่า แล้วสุขภาพมีจุดดีอะไรบ้าง เพราะว่าสุขภาพช่องปากส่งผลต่อการกิน ภาวะโภชนาการ โรคของระบบทางเดินอาหาร และส่วนของคุณภาพชีวิต เรื่องของความมั่นใจ การเข้าสังคม และความสุข เราจะดึงจุดดีนี้ออกมา เพราะว่าผู้สูงอายุไม่ทุกคนที่ไม่มีฟัน จะมีผู้สูงอายุหลายท่านที่มีสุขภาพ และสุขภาพช่องปากที่ดี เราจะเอาดีตรงนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะมาสร้างบรรยากาศในการดูแลสุขภาพช่องปากให้มากขึ้น

ที่ผ่านมาเราได้แก้ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุใน 2 ด้านก็คือ

  • ผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันก็ใส่ฟันเทียม
  • แต่ถ้าผู้ที่มีฟันผุ มีโรคเหงือก เราจะลดการสูญเสียฟัน

และกิจกรรมหนึ่งในโครงการฟันเทียมพระราชทาน ที่เราจะนำเรื่องการจัดการความรู้ไปใช้ นั่นก็คือ เรื่องของการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก เพื่อการส่งเสริมป้องกันโรค และทำอย่างไรที่จะไม่ให้ผู้สูงวัยต้องสูญเสียฟันเพิ่มขึ้นด้วย

เรามองว่า เครือข่ายของเราอยู่ที่จังหวัด จะมีตั้งแต่ศูนย์อนามัย (หน่วยงานของกรมอนามัยที่อยู่ส่วนภูมิภาค) มีทั้งสิ้น 12 เขต เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลฯ นครฯ เป็นต้น ... ศูนย์อนามัยจะเป็นตัวช่วยให้กับเราได้ ในการที่จะไปประสานกับเครือข่ายจังหวัด หน่วยให้บริการที่จังหวัด รวมไปถึงชุมชน ซึ่งจะมีโรงพยาบาลชุมชน หน่วยบริการปฐมภูมิ ไปจนถึงผู้สูงอายุ

ที่เราจะทำคือ จะเน้นที่ การพัฒนากระบวนการ และกิจกรรม เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก ผ่านเครือข่ายผู้สูงอายุในโรงพยาบาล และเครือข่ายอื่นๆ ... ซึ่งกิจกรรมนี้ส่วนกลางทำไม่ได้ด้วยตัวเองแน่นอน เราต้องอาศัยโรงพยาบาลชุมชน หน่วยบริการปฐมภูมิ ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุร่วมมือในการทำกิจกรรมด้วย ... แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะจูงใจเขาให้ทำกิจกรรมเหล่านี้ ให้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ... ซึ่งเป้าหมาย ก็คือ เราต้องการให้เกิดกิจกรรมในผู้สูงอายุ ที่ผู้สูงอายุคิดกันเอง ทำกันเอง ในกระบวนนี้ เราใช้ KM เข้าไปช่วยการขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมที่เราต้องการ เพื่อให้ผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุ มีการประชุมปรึกษาหารือรูปแบบ และจัดกิจกรรมร่วมกัน

ครั้งแรกเราเริ่มที่ เปิดให้ศูนย์อนามัยสมัครเข้าร่วมกิจกรรม เป็นศูนย์อนามัยนำร่อง ศูนย์ฯ ที่สมัครนำร่อง ได้แก่ ศูนย์ฯ 4 ราชบุรี ศูนย์ฯ 5 นครราชสีมา ศูนย์ฯ 10 เชียงใหม่ ศูนย์ฯ จะไปประสาน หาจังหวัดที่อาสาเข้าร่วมกิจกรรม จังหวัดที่สนใจในครั้งแรก ได้แก่ สุพรรณบุรี เพชรบุรี ราชบุรี บุรีรัมย์ ชัยภูมิ เชียงใหม่ ลำปาง และจังหวัดเป็นผู้ประสานทีมที่มีความต้องการ นำร่องกิจกรรมผู้สูงอายุ ได้ทีมมา 7 จังหวัด 25 ชมรมผู้สูงอายุ

กิจกรรมครั้งแรกสุด

  • เราเริ่มด้วยการประสานกับศูนย์อนามัย เพื่อจัดการประชุมประสานงานโครงการกับจังหวัด และหน่วยงานระดับชุมชนที่เข้าร่วม บางที่ก็จะมีผู้สูงอายุเข้ามาร่วม ลปรร. ด้วย
  • ให้มีการระดมความคิด ประสบการณ์การส่งเสริมสุขภาพช่องปาก
  • เราก็ใช้วิธีของอาจารย์วิจารณ์ พานิช ละค่ะ ว่า KM ไม่ลองไม่รู้
  • และให้ทำเลย โดยใช้แนวทางของอาจารย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ คือ โยนลงน้ำ ... ให้ทำกันเลย
  • ไม่บอกด้วยว่า กองทันตฯ มีแนวทางการทำกิจกรรมนี้อย่างไรบ้าง
  • เราต้องการที่จะรู้ว่า ชุมชนทำกิจกรรมกันเองได้อย่างไร โดยให้เขาลุยไปเลย เพราะว่าด้วยประสบการณ์ พื้นที่มีการทำกันอยู่แล้ว
  • ไม่ได้แนะนำสิ่งใดๆ ... เพียงแต่เตรียมสิ่งสนับสนุนไว้ให้เล็กน้อย ก็จะได้แก่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สำหรับสนับสนุนให้ผู้สูงอายุในชมรม ที่มีกิจกรรมฯ

ปีแรก ก็พบว่า ... เขาทำได้ จากการที่ไปลุยทำเลย แบบว่า สไตล์ใคร สไตล์คนนั้น ในเรื่องของชมรมผู้สูงอายุ ที่มีกระบวนการในการทำกิจกรรมต่างๆ

หลังจากนั้น เราก็ตามไปเยี่ยมชมกิจกรรม เรามี 3 ศูนย์ฯ นำร่อง ก็ลงไปเยี่ยม 3 แห่ง ได้แก่ ที่เขต 10 ไปเยี่ยม ห้างฉัตร ลำปาง ที่นี่มีการจัดอบรมในลักษณะของฐานความรู้ เขามีดีตรงที่เขาไปจับมือ กับ อบต. มาร่วมกันทำกิจกรรมให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุ จะมีเรื่องของการย้อมสีฟัน เพื่อตรวจคราบจุลินทรีย์ ซึ่งตามมาด้วยกิจกรรมแปรงฟันให้สีที่ย้อมนั้นหมดไป ก็แสดงว่า ฟันสะอาด และพบภูมิปัญญาพื้นบ้านที่คุณลุงท่านหนึ่ง หยิบขึ้นมาแสดง เป็นไม้ขัดฟัน ที่พระใช้เพื่อช่วยทำความสะอาดช่องปาก ในช่วงที่ยังไม่มีแปรงสีฟันใช้

ที่ศูนย์ฯ 4 ไปเยี่ยมที่ ห้วยลึก จ.เพชรบุรี เขามีกระบวนการทำกิจกรรมในผู้สูงอายุ โดยเริ่มจาก ศูนย์ฯ ลงไปให้ความรู้ ... ที่นี่เขาระดมไปให้ความรู้กับชมรมที่คัดเลือกมา เรื่องของความคิดเกี่ยวกับสุขภาพฟันที่ดี เป็นอย่างไร และควรทำอย่างไร

และที่ศูนย์ฯ 5 ไปเยี่ยมที่ บุรีรัมย์ อ.พุทไธสง ที่นี่มีกระบวนการอีกแบบหนึ่ง คือ เขาจะไปใช้วัดเป็นที่ชุมนุมของผู้สูงอายุ ก็จะมีพระมาช่วย มาให้การสนับสนุน ผู้สูงอายุก็จะได้รับการสนับสนุนจากพระด้วย เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ซึ่งพระท่านนำมาแบ่งปันให้ผู้สูงอายุ เป็นการระดมทรัพยากรจากพื้นที่ได้อย่างดีทีเดียว

ครั้งนั้นเป็นผลพวง จากที่เราใช้วิธีโยนลงน้ำ และเกิดกิจกรรมจากการที่เราได้ไปติดตามไปดูงานจริงในพื้นที่

และตามมาด้วยครั้งที่ 2 ตามผลปลายปี 2549 เอากลุ่มที่ทำงานเหล่านี้ จากการดูงาน 3 แห่ง รวมกับจำนวนทั้งหมดที่ทำกิจกรรม คือ 25 ชมรมฯ ที่ยังไม่เห็นว่าที่ไหนทำอะไรกันบ้าง เรานำเขาเหล่านั้นมา ลปรร. กัน ที่เอบีน่าเฮ้าส์ จำนวน 13 PCU เพื่อมุ่งหวังที่จะให้เกิดการ ลปรร. และเกิดกิจกรรมการทำงานต่อไป ในปี 2550 ... กลุ่มนี้จะเน้นเนื้อหาในกระบวนการประชุม ลปรร. ก็คือ

  • เรื่องเล่าความสำเร็จ จากที่เรามีชมรม 3 แห่ง ที่เราไปเรียนรู้ และนำมาเล่าบนเวทีครั้งแรก ว่า เขาทำกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุได้สำเร็จ ทำได้อย่างไร
  • และจัดกิจกรรมกลุ่ม เพื่อการ ลปรร. แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามจำนวนศูนย์อนามัยที่เข้าร่วม มีผู้อำนวยการกลุ่ม หรือ Facilitator และมี Note taker ที่เราเชิญมาเฉพาะ ทั้งส่วนกลาง และศูนย์อนามัย
  • ซึ่งจุดนี้ จะสำคัญมาก เนื่องจาก หัวใจของผู้อำนวยการกลุ่ม หรือ Facilitator ที่ดีนั้น จะต้องเป็นผู้สร้างบรรยากาศให้เกิดการเล่าเรื่องในกลุ่ม เรื่องที่เล่าเรื่องแรกๆ จะเป็นการจุดประกายให้มีเรื่องเล่าดีดี เพิ่มขึ้นมาได้ เราต้องหาเรื่องเล่าเริ่มต้นที่ดี ก็จะทำให้เกิดการเริ่มต้นที่ดีของการ ลปรร. ในกระบวนการจัดการความรู้นี้ได้ดีมาก

จากการ ลปรร. ครั้งนี้ ก็สามารถทำให้เกิดเรื่องเล่าต่อยอดขึ้นมาอีกมากมาย ซึ่งเราจะมี Knowledge Assets ที่เกิดจากเรื่องเล่าเหล่านี้ นำไปใส่ในคลังความรู้ เป็นขุมความรู้ ที่ลานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กรมอนามัย Gotoknow.org/kmanamai ซึ่งไปใช้บริการของ สคส. ที่สร้าง Gotoknow.org เพื่อเป็นแหล่งเรื่องเล่าที่เผยแพร่ความรู้สู่เพื่อนร่วมวงการ

ว้นนั้นเราได้เรื่องเล่าความสำเร็จจาก 3 ชมรมผู้สูงอายุ ได้แก่

  • พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ หมอเก้ากันยา นำท่าน อบต. มาร่วมเล่าเรื่องด้วย เพราะว่า ที่นี่ อบต. ช่วยสนับสนุนกิจกรรมผู้สูงอายุค่อนข้างมาก ท่านมาร่วม share ประสบการณ์ว่า ทำไมจึงสนับสนุนงบประมาณเพิ่มให้ที่พุทไธสงนี้
  • อีกที่ที่ไปดูที่ห้างฉัตร ลำปาง แต่วันจริง แจ้ห่มมาเล่าเรื่องกิจกรรมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้น ก็มีเรื่องเล่ากิจกรรมดีดี ที่เขาได้ไปร่วมสร้างเสริมสุขภาพช่องปากให้กับผู้สูงอายุ จนเจอผู้นำที่ดีอย่างคุณพ่อกมล ที่ท่านได้ทำกิจกรรมต่อยอดมากขึ้นมากขึ้น ทุกปี
  • และอีกที่หนึ่งก็คือ ของศูนย์ฯ ราชบุรี น้องยุ้ย มาเล่าเรื่อง ซึ่งจะมีบริบทของการเข้าชมรมในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ศูนย์ฯ จะเข้าไปนำกิจกรรม และหลังจากที่เข้าไปกระตุ้นให้เกิดกิจกรรม กิจกรรมก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่มีส่วนร่วม

หลังจากการเล่าเรื่องบนเวที เราจัดให้มีการ ลปรร. ในกิจกรรมกลุ่ม ก็ได้รับฟังเรื่องราวของกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพของชมรมฯ หลายรูปแบบ อาทิเช่น

  • คุณนิคม เป็นเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย หรือชาวบ้านจะเรียกกันว่า หมออนามัย อยู่ที่ สอ.หลุบโพธิ์ คุณนิคมได้ทำให้เกิดการพัฒนาชมรมผู้สูงอายุที่บ้านหลุบโพธิ์ ด้วยใจเต็ม 100 เพราะว่าได้ทำงานต่อเนื่องตลอด และมีคุณพ่อท่านหนึ่งได้ผลิตไม้คนทาขึ้น เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่ผู้สูงอายุจะช่วยกันผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นอุปกรณ์เสริมในการทำความสะอาดฟันด้วย สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตา และมีจังหวัดสุรินทร์มาเยี่ยมชมกิจกรรม ก็ส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดความอิ่มเอิบใจในการทำกิจกรรมของเขามากขึ้น ตรงนี้ก็เป็นการ ลปรร. ในกลุ่ม ทุกคนจะมาเล่าเรื่อง
  • ประเด็นที่ ลปรร. กันนั้น เราใช้อะไร
    ... เน้นที่เรื่องเล่าความสำเร็จ ในพื้นที่นำร่อง 13 PCU 25 ชมรมผู้สูงอายุ
    ... ให้เล่าวิธีการ กระบวนการที่เขาทำอย่างไรให้เกิดความสำเร็จ
    ... เน้นที่เขาคิดว่า อะไรจะทำต่อไป
    ... และมาสรุปปัจจัยความสำเร็จด้วยกลุ่ม ไม่ได้ให้คนเล่าสรุป ... คนเล่าจะเป็นคนเล่าเรื่องราว วิธีการ และให้กลุ่มที่มองสรุปให้เห็นภาพว่า ผู้เล่าเรื่องนั้นมีความสำเร็จเพราะอะไร ซึ่งจะเป็นการทำทุกคนได้เห็นภาพ ทุกคนได้เรียนรู้ สิ่งที่ผู้เล่ามีความสำเร็จในเรื่องนั้นๆ ด้วยกันทั้งกลุ่ม

กิจกรรมกลุ่มนั้นเราก็จะเน้น Facilitator และ Note taker เครื่องมือที่ใช้จะเป็น Flipchart ที่เขียนบันทึกเรื่องเล่าด้วยปากกาเมจิก นั่นก็คือ ผู้บันทึกต้องเขียนเก่งสักหน่อย เขียนเก่งแบบที่ไม่จำกัดว่า จะต้องรอสรุปคำพูดเขา แล้วค่อยเอามาเขียน เพราะว่าภายใต้คำพูดของเขาจะมีประกายบางสิ่งบางอย่างซ่อนอยู่ในนั้น ถ้าเราสามารถบันทึกได้ทุกคำพูด จะเห็นว่า มีสาระอะไรๆ ที่ค่อนข้างเยอะ และครั้งนั้น ก็ได้พยายามให้มีการบันทึกด้วยเทป หรือ MP3 แต่ก็ไม่ทุกกลุ่มที่ทำได้

ท้ายของการการประชุม จะมีการนำเสนอเรื่องเล่าของกลุ่มในที่ประชุม

และสุดท้ายคือ AAR เป็นการสรุปบทเรียนหลังจากที่ได้เรียนรู้ ซึ่ง AAR ส่วนใหญ่จะให้พูดในเรื่องของ

  • ความคาดหวังก่อนที่จะเข้ามาประชุม
  • เมื่อเข้ามาประชุมแล้ว ได้อะไรเกินคาด
  • อะไรที่ไม่ได้ตามที่คาด และ
  • สิ่งที่จะนำไปทำต่อไป หลังจาก ลปรร. แล้ว

ทั้งหมดนี้ จะทำให้เขาได้ตระหนักว่า เขามาเรียนรู้เรื่องอะไร และเขามีความตั้งใจจะไปทำอะไรต่อ

และเรื่องเล่าในครั้งนั้น ดิฉันก็ได้นำขึ้นเวป ของ สคส. ซึ่งผู้สูงอายุจะมี เวปบล็อกอีกอันหนึ่ง ใช้ชื่อว่า ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ อยู่ที่ http://gotoknow.org/blog/km-dental-nonta เล่าในเรื่องสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ

ผลที่ได้ในการ ลปรร. ครั้งนี้นั้น ก็พบว่า มีกิจกรรมด้านสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุเกิดขึ้นอย่างมากมาย เช่น ที่ชมรมผู้สูงอายุท่านัด ต.ท่านัด อ.ดำเนินสะดวก ราชบุรี ที่ห้างฉัตร และแจ้ห่ม ลำปาง ที่ชมรมผู้สูงอายุบ้านแฮด พุทไธสง บุรีรัมย์ และที่ชมรมผู้สูงอายุบ้านหลุบโพธิ์ อ.บ้านเขว้า ชัยภูมิ และอื่นๆ จาก 3 ที่ที่เราได้ไปดูมา ... และเห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ นั้น เกิดจาก

  • ชุมชนมีส่วนร่วม
  • ชุมชนมีความเข้มแข็ง
  • ผู้นำมีวิสัยทัศน์ และ
  • มีสิ่งสนับสนุน หรืองบประมาณสนับสนุนให้บ้างก็จะดี

เราจะมีแผนปี 2550 ที่เขาทำต่อ

ในส่วนของปี 2551 เรามีการ ลปรร. ในส่วนของผู้สูงอายุ และบุคลากรสาธารณสุข เราจัด ลปรร. 2 ครั้ง ภาคอีสานที่ขอนแก่น และภาคเหนือที่ลำปาง ก็เพื่อความสะดวกของผู้สูงอายุ ที่จะเดินทางมาเข้าร่วม ลปรร. ใกล้ๆ มีจำนวนผู้เข้าร่วม ลปรร. ทั้งสิ้น 459 คน ทำให้เรามีเครือข่ายผู้สูงอายุ 30 จังหวัด 89 ชมรมฯ จากตั้งต้นที่ 11 จังหวัด 32 ชมรมฯ

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นพัฒนาการของการใช้ การจัดการความรู้ ในงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ ซึ่งตั้งต้นจากเล็กๆ ไม่มีอะไรเลย ยังมีน้อยคนที่ไปทำกิจกรรมกับผู้สูงอายุ เพราะว่ามีความรู้สึกว่า การทำงานกับผู้สูงอายุนั้นค่อนข้างยุ่งยาก ... แต่ปัจจุบันทำให้เกิดกลุ่มคนที่อยากทำงานกับผู้สูงอายุมากขึ้น มากขึ้น เนื่องจากพลังของเรื่องเล่า พลังของการ ลปรร. ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า เขาทำได้ เราก็น่าจะทำได้นะ

ตัว KM ที่ดิฉันนำไปนำไปใช้ก็คือ

  • ในส่วนของงาน เรามีการตั้งเป้าหมาย
  • และนำ KM ไปใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนในกระบวนการ
  • เกิดการ sharing
  • ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคน วัฒนธรรม
  • ทำให้เกิดเครื่องมือ สื่อ และการสื่อสาร
  • และสุดท้ายมีเป้าหมายงานที่เกิดขึ้น และสามารถวัดได้ ... ซึ่งในปีนี้เราจะวัดผลงานว่าได้อะไรบ้าง

ในกระบวนการนี้ เราเริ่มกิจกรรมกัน ตั้งแต่เรื่องของเนื้อหาความรู้ จากเอกสาร ตำบล ฐานข้อมูล รวมทั้งความรู้ที่เกิดจากคน (Tacit knowledge) ทำให้เกิดแก่นความรู้ นำไปเผยแพร่ และนำไปปรับให้เหมาะกับการใช้งาน และคงไม่ได้จบแต่เพียงแค่นี้เท่านั้น เพราะว่า กระบวนการนี้คงจะต้องมีการหมุนเวียน ทบทวน ปรับปรุง อีกไม่รู้ว่ากี่ครั้ง จนกว่าที่จะได้องค์ความรู้ที่เหมาะกับพื้นที่นั้นๆ ในที่สุด ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่พื้นที่

ดร.ยุวนุช ได้กรุณาสรุปท้ายเรื่องเล่านี้ว่า

น่าสนใจจริงๆ ค่ะ ... เรื่องของทันตสุขภาพของผู้สูงอายุดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวนะคะ แต่ที่ฟังวิธีการใช้ KM นี้ ก็ได้แนวคิดหลายข้อ

  • เริ่มแรกคือ การดึงจุดดี มาสร้างบรรยากาศ ... แม้ว่าเรื่องของสุขภาพผู้สูงอายุในเรื่องฟันนี่ เริ่มมีปัญหาเยอะมากเลย แต่ก็ดึงจุดดีมาสร้างบรรยากาศ
  • มีการประสานกันไปเรื่อยๆ เพื่อการหาภาคี หาพวก ไม่ได้ทำคนเดียว หน่วยงานเดียว และคงทำไม่ไหว
  • การทำแบบนี้ต้องทำกันทั่วประเทศทีเดียว และเมื่อต้องทำทั่วประเทศ ไม่ได้ไปทำที่ไกลๆ เริ่มจากที่ใกล้ตัวก่อน และหาอาสาสมัคร ภายใต้ Concept ไม่ทำไม่รู้ และให้คนที่ลงมือทำช่วยกันคิดเอง ทำเอง
  • แต่ว่า ทีมที่ไปก็มีการสนับสนุนกัน โดยให้หาตัวอย่างที่ดีมาเล่า มาแจม ให้เริ่มจากเรื่องดี เรื่องสำเร็จ
  • และมีการใช้พื้นที่ที่หลากหลาย ที่เรานึกไม่ค่อยถึงว่า การใช้พื้นที่ที่หลากหลายนี้มาเกี่ยวยังไงกับ KM ... ที่จริงมันก็เป็นเรื่องของการสร้างบรรยากาศเหมือนกันนะคะ เปลี่ยนพื้นที่ที่มีความหลากหลายมากขึ้น
  • ทำแล้วก็มาพบกัน มา Share กัน โดยใช้กระบวนการ KM คือ คิดถึงเรื่องของผู้คนที่จะมาทำให้กระบวนการนั้นสำเร็จ เช่น คิดถึงการที่จะต้องมี คุณอำนวย หรือ Facilitator
  • ที่สำคัญ หลักการสำคัญของ KM ทำแล้วต้องจดบันทึก ไม่ใช่ว่าทำสำเร็จแล้วก็คิดว่าเราจำได้ เพราะว่าเวลาที่ผ่านพ้นไปนั้น แล้วเราก็จะลืม ทำเสร็จแล้วก็เลยต้องนำไป share ไปเล่าใน GotoKnow ต่อไป มีการสรุปบทเรียน
  • และเมื่อทำ KM แล้ว คุยกันแล้ว ก็ต้องตกลงกันให้ได้ว่า เมื่อคุยกันแล้วจะไปทำอะไรดี ที่ภาษา KM เขาเรียกว่า Passion plan ว่า เรามีใจรักที่จะทำ เมื่อเรารู้วิธีการแล้ว เราจะกลับไปทำอะไรกันดี

สิ่งที่คุณหมอพูดและดิฉันสรุปได้มากก็คือ ความสุข ของผู้ที่เข้ามาร่วมทำ KM ทุกคน สิ่งนี้อาจไม่ใช่งานของ วศ. โดยตรง และวิธีคิดนี้ เราเอามาใช้ได้ล้วนๆ เลย

ก็อยากถามจริงๆ ว่า ได้อะไรจากเรื่องเล่านี้ไหมคะ ... นี่ AAR ให้คนพูดนะเนี่ยะ

ร่วมเสวนา กลุ่มผู้สร้างความรู้ ที่ วศ.

 

หมายเลขบันทึก: 193143เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2008 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท