ต้นจาก : พืชในอดีตที่มีอนาคตสดใส


ต้นจากเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ให้แอลกอฮอล์ต่อไร่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่น ต้นจากสามารถเป็นแหล่งของแอลกอฮอล์ที่มากกว่ามะพร้าว มันสำปะหลัง และอ้อย หากได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมจะใช้เป็นเชื้อเพลิงยามขาดแคลนได้ดี มีการประเมินว่า ต้นจากสามารถให้น้ำตาลได้ถึง 20 ตันต่อเฮกตาร์ หรือ 3,200 กก.ต่อไร่ และคิดเป็นแอลกอฮอล์ 90 บาร์เรล หรือ 14,300 ลิตรต่อเฮกตาร์ หรือ 2,288 ลิตรต่อไร่ ซึ่งมากกว่าอ้อยถึงสองเท่า

บทความฉบับนี้ตั้งใจเรียก ต้นจาก ว่าเป็นพืชในอดีต เพราะปัจจุบันนี้เราทำลาย ป่าจาก ริมฝั่งปากแม่น้ำทิ้งไปเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่นำไปใช้ทำนากุ้ง และถูกทิ้งร้างเมื่อกุ้งราคาตก น้ำเสีย สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม มีบ้างบางส่วนที่เปลี่ยน ป่าจาก เป็นที่สร้างบ้านเรือน ถนนหนทาง คูคลองระบายน้ำ ยกร่องทำสวนปาล์ม สวนมะพร้าวน้ำหอม เลี้ยงปลาในกระชัง ฯลฯ แต่ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นอีกเมื่อการกระทำเช่นนั้นกลายเป็นการสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เคยขึ้น-ลงเป็นเวลา เมื่อฝนตกลงมามาก ระดับน้ำทะเลหนุนสูง น้ำเค็มก็เอ่อล้นท่วมพื้นที่ 2 ฝั่งแม่น้ำ เมื่อปะทะเข้ากับน้ำเสียจากเขตชุมชนตอนบน สภาพ น้ำเน่า + น้ำนิ่ง ไม่สามารถระบายได้ตามปกติของธรรมชาติ สวนปาล์ม สวนมะพร้าวน้ำหอม ปลาที่เลี้ยงในกระชัง ฯลฯ ที่สร้างกันขึ้นมาก็ถึงคราวได้รับผลกระทบเกิดความเสียหายให้เห็นเป็นระยะ ๆ

ต่างจากในอดีตที่ ต้นจาก เป็นพืชเศรษฐกิจพื้นบ้านของชาวชุมพรที่มีความสำคัญมาก เราใช้ประโยชน์ของใบจากทำฝาบ้าน มุงหลังคา มวนบุหรี่ ทำภาชนะชนิดต่าง ๆ เช่น หมวก ที่ตักน้ำ ไม้กวาด ฯลฯ ส่วนของต้นจากที่เป็นอาหาร ได้แก่ ผล ยอดอ่อน และการปาดน้ำหวานจากต้นจากเพื่อทำน้ำตาล น้ำส้มสายชู แอลกอฮอล์ เครื่องดื่ม ฯลฯ นอกจากนี้ใน ป่าจาก ยังเต็มไปด้วยพืชพรรณธรรมชาติและสัตว์บก สัตว์น้ำที่หลากหลาย นำไปใช้ประโยชน์ทั้งเป็นอาหาร เป็นไม้ใช้สอย และเป็นสมุนไพรรักษาโรค ฯลฯ เรียกว่า ต้นจากเป็นไม้คู่ชีวิตของชาวชุมพรที่อาศัยบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ กันเลยทีเดียว

ผมจึงรู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษเมื่อได้อ่านบทความจาก หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ.2551 คอลัมน์ Active Opinion เขียนโดย รศ.ดร.นพรัตน์ บำรุงรักษ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่อง ต้นจาก : พืชใหม่เพื่อพลังงานทดแทน

บทความนี้ชี้ให้เห็นว่าประเทศมาเลเซียให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา ต้นจาก จนเกิดความก้าวหน้าสร้างเป็นโรงงานกลั่นเอทิลแอลกอฮอล์ หรือ เอทานอล (Ethanol) เชิงพาณิชย์จาก ต้นจาก (Nypa fruticans) โดยบริษัท ไพโอเนียร์ ไบโออินดัสทรี จำกัด ซึ่งประกาศว่ากำลังลงทุนไม่น้อยกว่า 14,000 ล้านริงกิต หรือมากกว่า แสนล้านบาท ในเรื่องนี้

บริษัทดังกล่าวอ้างว่าจะสามารถผลิตแอลกอฮอล์จากต้นจากได้ถึง 6,480 ล้านลิตร เมื่อโรงงานเปิดในปี 2552 บริษัทนี้ได้สัมปทานพื้นที่ป่าประมาณ 62,500 ไร่ จากรัฐบาลเพื่อกิจการดังกล่าว และยังมีข่าวว่ารัฐบาลอินโดนีเซียกำลังพิจารณาเปลี่ยนที่ราบลุ่มทางตอนใต้ของจังหวัดอิเรียน จายา เป็นไร่จากขนาดมหึมาอีกด้วย

จากการทำงานวิจัยพบว่า ต้นจากเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ให้แอลกอฮอล์ต่อไร่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่น ต้นจากสามารถเป็นแหล่งของแอลกอฮอล์ที่มากกว่ามะพร้าว มันสำปะหลัง และอ้อย หากได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมจะใช้เป็นเชื้อเพลิงยามขาดแคลนได้ดี มีการประเมินว่า ต้นจากสามารถให้น้ำตาลได้ถึง 20 ตันต่อเฮกตาร์ หรือ 3,200 กก.ต่อไร่ และคิดเป็นแอลกอฮอล์ 90 บาร์เรล หรือ 14,300 ลิตรต่อเฮกตาร์ หรือ 2,288 ลิตรต่อไร่ ซึ่งมากกว่าอ้อยถึงสองเท่า

ทำไมถึงต่างจากบ้านเรามากขนาดนี้ ?

พื้นที่บริเวณชายฝั่งความยาว 222 กิโลเมตรของจังหวัดชุมพร และพื้นที่ริมฝั่งปากแม่น้ำที่บางส่วนกลายเป็นนากุ้งร้าง รวมกันแล้วคาดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 1 แสนไร่ (พื้นที่ทั้งจังหวัด = 3.75 ล้านไร่) หากมีการฟื้นฟูเพื่อปลูกต้นจากจะเกิดผลดีหลายด้าน ทั้งเป็นแหล่งผลิตน้ำตาล แอลกอฮอล์ น้ำส้มสายชู เป็นที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ เพราะต้นจากเป็นพืชหลักชนิดหนึ่งของระบบนิเวศป่าชายเลน ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่ดีเยี่ยม เนื่องจากมีระบบรากที่ยึดดินได้อย่างแน่นหนาอีกด้วย การปาดตาลก็ไม่ต้องป่ายปีนเหมือนต้นตาลหรือมะพร้าว และไม่ต้องปลูกใหม่ทุกปีเหมือนอ้อย

ที่สำคัญคือ ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่อันตรายและไม่ปลอดภัย

วันนี้ น้ำตาลมะพร้าวที่เคี่ยวขายกันปริมาณ 1 ปี๊บ (25 กก.) ราคาประมาณ 1,000 บาทแล้วนะครับ... ทำให้บางครอบครัวมีรายได้มากกว่าสองหมื่นบาทต่อเดือน สามารถขจัดความยากจนได้อย่างดี น้ำตาลจาก ที่เกือบจะหายไปจากชุมชน/ท้องถิ่นในจังหวัดชุมพรแล้ว หลายคนยืนยันว่า ใช้แปรรูปเป็นเครื่องดื่มทั้งชนิดสดและชนิดสุกที่ต้มแล้ว น้ำตาลจากมีรสหวานเข้มกว่าน้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด และน้ำอ้อย

โดยเฉพาะ ตาลมะยัง ที่เป็นการทำน้ำตาลจากอีกวิธีหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นเครื่องดื่มชั้นเยี่ยมที่เจ้าของบ้านมักรินออกมาต้อนรับแขก บ้านใดทำตาลมะยังมักมีเพื่อนฝูงไปเยี่ยมไม่ขาด แม้แต่พระภิกษุเจ้าของบ้านยังรินน้ำตาลมะยังออกมาถวาย

ใน โครงการพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีชีวภาพ จังหวัดชุมพร ผมจึงถือเรื่องนี้เป็นไฮไลท์ สำรวจ ตรวจสอบ และเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ต้นจาก มาเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ www.cpnbiotec.com ให้มากที่สุด รวมทั้งเปิดพื้นที่ในท้ายบทความให้ท่านผู้อ่านได้เข้ามาแสดงความคิดเห็น นำเสนอข้อมูล ถาม-ตอบ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายของโครงการฯ และตั้งความหวังไว้อย่างแน่วแน่ว่า

ในอนาคตอันใกล้ ชาวชุมพรจะนำ ป่าจาก กลับคืนมาสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับแผ่นดินอย่างยั่งยืน.

 

หมายเลขบันทึก: 192289เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2008 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ก้อดีนะ เหอะ ๆ - -*

อดอิจฉาคนชุมพรไม่ได้ที่มีต้นจากให้ดู แถมยังมีคนคิดอยากฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าจากให้กลับคืนมา ดิฉันเองไม่ได้เป็นคนชุมพรแต่กำเนิด แต่มาเป็นสะใภ้ชุมพรและชอบกินขนมจากมากเลย ผ่านป่าจากและเคยคิดเหมือนกันว่าต้นจากนอกจากใบจะเอาไปทำขนมจากแล้วมีประโยชน์อะไรอีก พอได้อ่านบทความของคุณไอศูรย์มีความรู้เพิ่มขึ้นค่ะ อยากช่วยอนุรักษ์ป่าจากด้วยนะคะจะได้มีขนมจากกินนาน ๆ แถวบ้านดิฉันไม่มีขนมจากค่ะ ขนมส่วนใหญ่ใช้ใบตองห่อเพราะไม่มีต้นจาก

น่าสนใจมากค่ะ ดิฉันคิดว่าจะทำทีซิสเพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานผลิตเอทานอลจากต้นจากและต้นมะพร้าวในประเทศไทยค่ะ

อยากขอคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการผลิตและรายละเอียดเพิ่มเติมค่ะ

ดิฉันติดต่อที่ไหนได้บ้างค่ะ

รบกวนตอบมาทาง อีเมลที่ให้ไว้ด้วยได้มั้ยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ผมเป็นคนหนึ่งที่คิดจะทำให้ต้นจากเป็นธุรกิ

จของท้องถิ่นคับ เด็กปากพนัง

น่าสนใจมากแต่บ้านหนูมี ที่พานทองค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท