ทำไม บรอคโคลีจึงเป็นผักที่แสนจะไม่ธรรมดา


เป็นที่ทราบกันดีว่า พืชตระกูลกะหล่ำ-กะหลี่ปลี-บรอคโคลี (cruciferous) เป็น 1 ในสุดยอดพืชต้านมะเร็ง

...

เป็นที่ทราบกันดีว่า พืชตระกูลกะหล่ำ-กะหลี่ปลี-บรอคโคลี (cruciferous) เป็น 1 ในสุดยอดพืชต้านมะเร็ง

วันนี้มีผลการศึกษาที่ช่วยอธิบายว่า ทำไมบรอคโคลีถึงได้เป็น "ที่สุดของที่สุด" ของพืชตระกูลกะหล่ำอีกต่อหนึ่งมาฝากครับ

...

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของมะเร็งในผู้ชายทั่วโลก เป็นรองก็เพียงมะเร็งปอด (ครองอันดับ 1 แบบจองไว้มานานแล้ว)

ผู้ชายทั่วโลกได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากปีละ 680,000 คน และตายจากโรคนี้ปีละ 220,000 คน

...

มะเร็งต่อมลูกหมากพบมากเป็นพิเศษในคนที่อายุ 70 ปีขึ้นไป ประเทศไหนที่มีคนอายุยืนมากๆ โดยเฉพาะซีกโลกตะวันตก (ฝรั่ง) จะมีคนเป็นมะเร็งชนิดนี้มาก

การที่เมืองไทยเรามีคนสูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงพอจะคาดการณ์ได้ว่า ต่อไปจะพบมะเร็งชนิดนี้บ่อยขึ้น

...

ท่านอาจารย์ริชาร์ด มิเตน (Richard Mithen) ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชศาสตร์ และคณะ แห่งสถาบันวิจัยอาหารสหราชอาณาจักร (หมู่เกาะอังกฤษ) ทำการศึกษาวิจัยกลุ่มตัวอย่างที่มีรอยโรคระยะ "ว่าที่มะเร็ง" หรือกลายสภาพจนใกล้เป็นมะเร็ง (precancerous lesions) 24 คน

ท่านให้กลุ่มตัวอย่างกลุ่มหนึ่งกินถั่ว อีกกลุ่มหนึ่งกินบรอคโคลีเพิ่มสัปดาห์ละ 4 ส่วนบริโภค (servings)

...

1 ส่วนบริโภคมีขนาดประมาณเท่าการนำผักผลไม้ขนาดเล็กมาเรียงกันบนฝ่ามือผู้ใหญ่ ไม่นับรวมนิ้วมือ หรือวางเรียงกันบนแผ่น CD 1 แผ่น

ถ้าเปรียบเทียบเป็นผลไม้... 1 ส่วนบริโภคมีขนาดประมาณเท่ากล้วยขนาดกลาง หรือส้มขนาดกลาง 1 ผล

...

ผลการศึกษาพบว่า พืชผักตระกูลกะหล่ำมีสารต้านมะเร็งชื่อ "ไอโซไตโอไซยาเนท (isothiocyanate)" คล้ายๆ กัน ทว่า... เฉพาะบรอคโคลีมีสารต้านมะเร็งชื่อ "ซัลโฟราเฟน (sulforaphane)" มากเป็นพิเศษ

เจ้าสารซัลโฟราเฟนในบรอคโคลีออกฤทธิ์ระดับสารพันธุกรรมหรือ DNA โดยไปเปิดสวิทช์ให้ยีนส์ต้านมะเร็งดีๆ 400-500 ยีนส์ทำงาน

...

ผู้ชายที่ได้รับประโยชน์จากการกินบรอคโคลีมากที่สุดมีประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลก คนกลุ่มนี้จะมียีนส์ หรือชุด DNA ที่ชื่อ 'GSTM1'

ผู้ชายอีกครึ่งหนึ่ง (ที่ไม่มียีนส์ หรือ DNA ชุด 'GSTM1' ก็ได้รับประโยชน์จากบรอคโคลีเช่นกัน แม้จะน้อยกว่าหน่อยก็ตาม...

...

เรียนเสนอให้พวกเรากินผัก ผลไม้ (ผลไม้ทั้งผล ไม่ใช่น้ำผลไม้) ถั่ว รวมกันให้ได้อย่างน้อยวันละ 5 สี 5 ส่วนบริโภค

สำหรับผู้ชายควรกินมะเขือเทศ และบรอคโคลีเสริมเข้าไปหน่อย เนื่องจากอาจมีผลดีเป็นพิเศษในการป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมีการรักษาแบบ "ขนพองสยองเกล้า" นิดหน่อย  

...

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากบางส่วนอาศัยการปรับลดระดับฮอร์โมนเพศชายด้วยการตัดอัณฑะออก

อีกส่วนหนึ่งอาศัยการตัดต่อมลูกหมาก หรือส่องกล้องคว้านต่อมลูกหมากออก ซึ่งก็ "ขนพองสยองเกล้า" เช่นกัน เนื่องจากหลังผ่าตัดอาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ไปไหนก็ราด หรือนกเขาไม่ขันได้

...

ทางที่ดีคือ การป้องกันเสียก่อนด้วยการกินอาหารไขมันต่ำ กินพืชผักให้มากพอ กินถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองบ้าง

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                  

  • Thank Reuters > Michael Kahn. Maggie Fox & Charles Dick ed. > Study shows how broccoli fights cancer > [ Click ] > July 2, 2008. // source > PLoS / Public Library of Science.

...

  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

...

  • ขอขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์ นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลห้างฉัตร > ท่านผู้อนุเคราะห์สถานที่ทำงาน + อินเตอร์เน็ต
  • ขอขอบคุณ > อาจารย์อนุพงษ์ แก้วมา (นี่) + ทีมงานศูนย์แพทย์ชุมชนแม่สัน-เมืองยาว (CMU) + อาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี (ต้อม) + อาจารย์พัสกร บุณยะประภูติ (เบนซ์) > สนับสนุนเทคนิค iT.

...

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > 2 กรกฎาคม 2551.
หมายเลขบันทึก: 191823เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2008 18:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท