บันทึกการทำงาน (ของพี่นก)


อันดับแรกที่เราจะต้องทำ คือ ทำให้สมาชิกเกิดความศรัทธาและเชื่อมั่นในการทำงานของคณะกรรมการ

             วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ทางกลุ่มได้กำหนดไว้  คือ  เราจะทำอย่างไรที่จะให้สมาชิกกลุ่มและคนทำงานหรือคณะกรรมการได้ดำเนินกิจกรรมของกลุ่มให้บรรลุ  แต่การทำงานมักจะมีปัญหาให้เราคิดและแก้ไขทุกครั้ง  อันดับแรกที่เราจะต้องทำ  คือ  ทำให้สมาชิกเกิดความศรัทธาและเชื่อมั่นในการทำงานของคณะกรรมการ  เมื่อคณะกรรมการสามารถที่จะตอบคำถามให้กับสมาชิกได้  สิ่งแรกที่เราจะได้  คือ  ความเชื่อมั่นของสมาชิก ฉะนั้น  สิ่งที่เราจะต้องพัฒนาด้านการทำงาน  ด้านความคิด  และอีกหลายอย่างที่เราจะต้องฝึกฝน  คือ  ต้องยึดหลักคุณธรรม 5 ประการให้มั่นตามที่ได้เขียนไว้ครั้งแรก  สิ่งที่จะต้องปฏิบัติแล้วให้เห็นผลจากการปฏิบัติจึงทำให้เกิดการพัฒนาของสมาชิกเอง  ฝึกให้สมาชิกมีวินัยในการออมเพื่อให้ตนเอง  ให้ผู้อื่น  ให้สังคม  และได้ให้มากกว่าเงิน 1 บาทที่เราช่วยกันออม  ช่วยให้ชุมชนเรารู้จักคำว่าพอเพียง  ไม่เบียดเบียนผู้อื่น  เราจึงตั้งเป้าหมายในการทำงาน  คือ  ทำอย่างไรให้สมาชิกสามารถลดรายจ่าย  เพิ่มรายได้  และขยายโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการพาองค์กรด้วย  ที่ได้รวมตัวกันขึ้นเพื่อให้เกิดกองทุนสวัสดิการชุมชน  โดยใช้จุดศูนย์รวมใจที่คนในชุมชนเคารพสักการะ  จึงกำหนดให้วัดเป็นสถานที่ในการรวมตัวกันดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม  เราจะได้เห็นภาพจากคนที่ไม่เคยเข้ามาในวัดก็จะได้เห็นภาพคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการปฏิบัติที่ใช้วัดเป็นศูนย์รวมใจ  รวมคน  รวมทุกๆด้านที่มีอยู่ในชุมชน  การรวมคนที่หลากหลายความคิดให้มารวมทำกิจกรรมร่วมกันได้  มันเป็นเรื่องที่ว่าง่ายก็ง่าย  จะว่ามันยากก็ได้  เพราะ  เมื่อเราปฏิบัติงานมาช่วงหนึ่งจึงทำให้เราเข้าใจคนในชุมชนมากขึ้น  และรู้ว่าตัวเราที่มีโอกาสดีกว่าและอาจจะมีความพร้อมมากกว่าคนอื่น  ควรจะยึดมั่นที่จะทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้  และอยากจะเห็นสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนที่ดีขึ้นกว่าเดิม  แต่ต้องมีผู้ที่กล้าดำเนินกิจกรรมนี้  เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดี  ยอมขายความคิดของเราที่คิดว่ามันควรจะเป็นอย่างที่เราคิดว่าดี  ยอมที่จะปรับเปลี่ยนทุกอย่างแม้มันไม่ใช่สิ่งที่ต้องการของชุมชน
            การทำงานวันแรกที่เราเริ่มทำงานเป็นวันที่เราตื่นเต้นมาก  เพราะ  เราไม่เคยทำงานให้กับชุมชนบ้านตัวเองเลย  ทำแต่ให้ตัวของเราเอง  วันแรกที่เราเริ่มทำงาน  คือ  วันที่ 15 สิงหาคม  2545  เริ่มรับสมัครสมาชิกรุ่นแรกจำนวน 262 คน  การทำงานของคณะกรรมการทุกคนมันเป็นเรื่องใหม่จึงทำให้เราหวั่นวิตกขึ้นมาว่าจะเกิดปัญหาอะไรตามมา  การทำงานเราได้แบ่งหน้าที่ให้แต่ละคนทำงานจึงไม่รู้ว่าใครถนัดการทำงานด้านไหนบ้างจึงใช้การทำงานครั้งนี้เป็นตัวชี้วัดการทำงานของคนทำงานหรือคณะกรรมการ  จากที่เราเริ่มแจกชุดสมัคร  ให้กรอกใบสมัครการเป็นสมาชิก  บางคนก็เขียนหนังสือไม่เป็น  บางคนอ่านหนังสือไม่ออก  เมื่อเป็นแบบนี้เราจะเห็นภาพที่เราไม่ค่อยได้เห็นในสังคมปัจจุบันเท่าไหร่  จึงเกิดมีคนที่อาสาสมัครเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการรับสมัคร  คือ  กรอกใบสมัครให้กับคนที่อ่านไม่ได้  เขียนไม่ได้  อ่านใบสมัครให้ฟัง  มีการพบปะกันขึ้นทุกวันเสาร์แรกของทุกเดือน  โดยที่ทุกคนได้มีส่วนร่วม  แลกเปลี่ยนความคิดเห็น  สังเกตจากการทำงานของคณะกรรมการ  สมาชิกก็จะออกความคิดเห็นให้ว่าควรจะทำแบบไหน  สิ่งที่คณะกรรมการได้รับกลับมา  คือ  การปรับโครงสร้างการทำงานจากคนไหนที่ทำงานไม่ทันต่อเหตุการณ์หรือไม่มีความสามารถพอก็จะขอกลับไปเป็นสมาชิกธรรมดา  โดยคัดเลือกตัวแทนขึ้นมาทำงานแทนกันใหม่  เราก็จะได้คนทำงานให้กับกองทุนด้วยใจรักที่จะทำงานให้กับชุมชน 
            จากเดือนแรกที่เราเปิดรับสมัครและได้ให้ความรู้ไปทุกครั้งที่มีการออม  สมาชิกที่สมัครแล้วก็เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้กับกองทุนได้อีกทาง  โดยที่คณะกรรมการต้องทำงานกันอย่างเข้มแข็งและมีความอดทนสูง  ทางกองทุนได้เปิดรับสมัครเป็นสมาชิกทุกเดือน  และมีคนสนใจเป็นสมาชิกมีตลอด  เราจึงคิดว่ากองทุนนี้เป็นสิ่งที่จะช่วยให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามที่เราเคยฝันไว้  ความฝันของเราจะเป็นจริงหรือเปล่าหนอ  เขียนไปชักจะท้อใจเป็นบางครั้ง  แต่ไม่ถอยน่า  จะบอกให้ถ้าวันไหนเราเกิดท้อหรือถอยมันเหมือนกับเราเป็นคนที่ไม่สู้กับสิ่งที่เราน่าจะชนะมันได้  จึงคิดและเกิดให้เรามีความคิดจะทำงานต่อ  เราจึงแผนต่อไปว่าจะทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นรูปเป็นร่าง  และเห็นได้อย่างชัดเจนอย่างไร 
            อันดับแรก  เราต้องกหาสถานที่ที่จะให้เห็นกองทุนเป็นรูปขึ้นมาให้ได้  เราจึงเป็นผู้โชคดีอีกแล้วที่ได้ความอนุเคราะห์จากคนในชุมชนและได้เป็นคณะกรรมการกองทุนด้วยสนับสนุนให้เราใช้สถานที่ห้องเช้าที่ว่างเป็นสำนักงานกองทุน  ความฝันเราเริ่มเป็นจริงอีกแล้ว  เมื่อเราได้สถานที่เป็นสำนักงานกองทุนที่เล็กๆแต่ก็อบอุ่น  ทุกเมื่อที่เราได้นั่งทำงานจากเอกสารที่กระจัดกระจายเราก็เอามารวมไว้ที่สำนักงาน  แบ่งจัดเก็บเอกสารให้เป็นหมวดหมู่  กำหนดวิธีการทำบัญชีด้วยมือไปก่อน  เพราะ  เราทำงานด้วยทุนของชุมชน  สิ่งไหนที่มีความจำเป็นจะต้องใช้  เราก็จัดหามาใช้เพื่อให้สมาชิกเกิดความมั่นใจในการเป็นสมาชิกกองทุนให้มากที่สุด  แต่เราก็เจอปัญหาทุกครั้งที่ทำงาน  แต่เราก็ไม่ท้อก็ได้เข้าร่วมประชุมกับเครือข่ายฯ  เมื่อเราสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง  โดยการประชุมแต่ละครั้งจึงรู้ว่าการทำงานของกลุ่มอื่นก็มีปัญหาเหมือนกันแต่ก็ได้แก้ไข  เราจึงนำสิ่งที่เราได้รับมาปรับปรุง  เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของเราบ้าง  ชักเมื่อยมือแล้ว  ยิ่งเขียนก็ยิ่งมัน  ขอไปเล่นน้ำให้ชื่นใจก่อนนะแล้วจะกลับมาเขียนให้อีก


ยุพิน   เถาเปี้ยปลูก/ผู้เขียนบันทึก
วิไลลักษณ์   อยู่สำราญ/ผู้พิมพ์บันทึก

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 19153เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2006 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
แอ๊ด วิจัย โครงการหลวง

เคยไปเจอพี่นกครั้งนึง กับ อ.ตุ้ม กับ อ.ภีม ชอบมากครับ ตอนนี้ผมกำลังศึกษาแนวคิดนี้อยู่ เพราะชาวบ้านที่แม่แตงเกิดความสนใจ เขามีหนี้สินกันมากเหลือเกิน จนอยากที่จะแก้ไขกัน ผมคิดว่า การเงินชุมชน น่าจะเป็นเครื่องมือที่แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ดี ไว้ต่อไป คงมีโอกาสได้ขอคำแนะนำจากพี่นก นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท