เรื่องเก่าๆที่เรียนมาเทอมที่แล้ว


การบริหารการศึกษาครับ

สภาพปัญหาการบริหารการศึกษา

                     เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้วพบว่า การบริหารการศึกษาปัจจุบันมีกระทรวง ทบวง กรม รับผิดชอบหลากหลายหน่วยงาน ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน รวมทั้งยังมีลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีการจัดทั้งโดย ราชการบริหารส่วนกลาง ดังได้แก่ กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ เป็นหน่วยกำหนดนโยบาย บริหาร และจัดการสนับสนุน ส่งเสริม และติดตามประเมินผล โดยมีการจัดตั้งหน่วยงาน สถานศึกษา เป็นหน่วยบริหารรองลงไป และมีหน่วยปฏิบัติในภูมิภาค ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ได้แก่ ส่วนราชการในจังหวัด โดยรวมเอาแนวนโยบายจากส่วนกลางนำไปสู่การปฏิบัติอำนาจการคิดและตัดสินใจยังขึ้นอยู่กับส่วนกลางเป็นส่วนใหญ่ และ ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น

ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เทศบาล และเมืองพัทยา ซึ่งแม้จะเป็นรูปแบบการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ซึ่งมีผู้แทนประชาชนเป็นคณะบริหารหน่วยงานด้วยก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติการจัดการของหน่วยงานก็ยังไม่มีอิสระเท่าที่ควร เนื่องจากการกำหนดหลักสูตร แผนงานการบริหารบุคลากร และการบริหารงบประมาณ ยังคงถูกกำหนดจากส่วนกลาง คือ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย   ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นกระทรวงหลักที่มีหน้าที่จัดการศึกษาตามกฎหมาย มีหน่วยงาน สถานศึกษาจัดการศึกษาที่หลากหลาย กระจายไปทั่วพื้นที่ทั้งประเทศมากที่สุด ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ยังพบว่ามีจุดอ่อนของการจัดโครงสร้างทางการบริหารการศึกษาที่อุ้ยอ้าย ซ้ำซ้อน กระจัดกระจาย และลักลั่น รวมทั้งขาดเอกภาพทั้งในด้านนโยบายและแผน และการจัดการอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ

                  การแบ่งส่วนราชการลักลั่น

กรมทุกกรมแบ่งส่วนราชการออกเป็นราชการบริหารส่วนกลาง แม้จะมีภารกิจส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคก็ตาม ยกเว้น สำนักงานปลัด-กระทรวงศึกษาธิการ ที่แบ่งส่วนราชการออกเป็นราชการบริหารส่วนกลาง และราชการบริหารส่วนภูมิภาค คือ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการอำเภอ และกิ่งอำเภอ ซึ่งสำนักงานดังกล่าวต้องมีบทบาทเป็นผู้แทนกระทรวง ทำหน้าทีประสานงาน เร่งรัด ติดตาม และประเมินผล และการควบคุมมาตรฐานคุณภาพ ของหน่วยงานสถานศึกษา ซึ่งทั้งหมดเป็นหน่วยงานสถานศึกษาสังกัดส่วนกลาง

                  ความซ้ำซ้อนของการจัดการศึกษา

กรมบางกรมมีความซ้ำซ้อนในการจัดการศึกษา เช่น สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการจัดการประถมศึกษา ได้มีการจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาในโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา กรมสามัญศึกษา ซึ่งมีหน้าที่หลักในการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา กลับทำหน้าที่จัดการศึกษาระดับประถมศึกษาในโรงเรียนศึกษาพิเศษ กรมการศาสนา ซึ่งมีหน้าที่ด้านการศาสนาและส่งเสริมการจัดการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร นักบวช และบุคลากรทางการศาสนา กลับเพิ่มภารกิจการจัดอบรมศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ในวัด ซึ่งบางวัดมีโรงเรียนประถมศึกษาหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของกรมการพัฒนาชุมชนตั้งอยู่ ทำให้เกิดปัญหาการแย่งเด็กเข้าเรียน และปัญหาคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งเกิดจากความไม่สันทัดในการจัดการศึกษาต่างระดับ

ขาดเอกภาพด้านนโยบาย แผน และงบประมาณ

             คุณภาพการศึกษาโดยรวมของไทยแย่ลงมากและกำลังประสบภาวะวิกฤตรุนแรงสาเหตุมาจากจาก
1.การจัดระบบบริหารการศึกษาไม่มีการปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาให้ทันสมัย
2.ระบบการติดตาม ตรวจสอบ ประเมิน ผล และระบบควบคุมคุณภาพไม่มีมาตรฐาน
3.การศึกษาไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดหน่วยงานภายนอกที่ทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ สนับสนุน ส่งเสริม รับรอง และควบคุมมาตรฐานคุณภาพการศึกษาโดยตรง รวมทั้งหน่วยงานภายในที่ทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมมาตรฐานคุณภาพการศึกษาไม่มีศักยภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินงา
           ปัญหาการบริหารการศึกษาต่าง ๆ เหล่านี้ หากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขก็จะทำให้การบริหารและการจัดการศึกษาของไทยประสบวิกฤตรุนแรง ขึ้นไปอีก อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการนำประเทศเข้าร่วม และแข่งขันกับนานาประเทศในยุคการแข่งขันเสรีปัจจุบัน ได้อย่างไร้ประสิทธิภาพ และไม่ทันการ
นอกจากปัญหาข้างต้นแล้วยังมีปัญหาจากครูแบ่งได้ ดังนี้
1. ปัญหาด้านการผลิต ได้แก่ คนดี คนเก่ง ไม่เรียนครู ขาดการประสานงานระหว่างองค์การวิชาครู ผลิตและผู้ใช้ เรียนเนื้อหามากกว่าปฏิบัติ คณาจารย์ย่อหย่อนในการปฏิบัติหน้าที่
2. ปัญหาในการปฏิบัติงาน ได้แก่ ภาระงานของครูมีมากและหลากหลาย แรงจูงใจ (เงินเดือนและค่าตอบแทน) ค่อนข้างต่ำ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่ำ ครูต้องการเปลี่ยนงานอยู่เสมอ
3. ปัญหาด้านการพัฒนา ขาดระบบการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ การอบรมพัฒนา ไม่ตรงตามที่ต้องการ เน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ ขาดการติดตามและประเมินผล ฯลฯ
             ครูยุคใหม่ควรมีคุณภาพและมาตรฐาน ต้องจัดการเรียนการสอนแบบเน้นเด็กเป็นสำคัญ ครูต้องมีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถทางวิชาการ โดยเน้นความสำคัญทั้งกระบวนการเรียนรู้ ของผู้เรียน ความรู้ คุณธรรม และบูรณาการในเรื่องต่าง ๆให้เหมาะสมกับระดับการศึกษา ครูต้องครองตนในความเป็นครู มีจิตวิญญาณ ประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งด้านส่วนตัวและครอบครัว มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีจรรยาบรรณในวิชาชีพครู เป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่น ๆ และครูที่มีคุณภาพนั้น ต้องสามารถประสานกับชุมชนได้ดี เป็นผู้นำทางวิชาการแก่ชุมชน

              การบริหารการศึกษาของไทยมีพัฒนาการมาโดยตลอด นับตั้งแต่การบริหารอย่างไม่มีรูปแบบ ที่จัดโดยบ้าน วัง และวัด ในอดีต จนกระทั่งการบริหารอย่างมีระบบระเบียบแบบแผน มีกฎหมายรองรับอย่างเช่นปัจจุบัน และเมื่อได้ศึกษารูปแบบการบริหารการศึกษาดังกล่าวแล้ว พบว่า มีลักษณะที่แตกต่างกันตามแต่ละยุคสมัย บางยุคบางสมัยก็มีลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง บางยุคบางสมัยก็มีรูปแบบ ของการ กระจายอำนาจค่อนข้างมาก บางยุคบางสมัยก็เป็นแบบกึ่งรวมอำนาจ กึ่งกระจายอำนาจ จนกระทั่งปัจจุบัน ที่ย้อนอดีต มีการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นลักษณะ ของการสวนกระแส กับความเจริญของบ้านเมืองและยุคสมัยปัจจุบัน

           

กมล สุดประเสริฐ และสุนทร สุนันท์ชัย การปฏิรูปการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา รายงาน
........นำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (เอกสารอัดสำเนา) กรุงเทพฯ 2540.

__________ การประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของต่างประเทศ : ระดับก่อนอุดมศึกษา ........รายงานนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (เอกสารอัดสำเนา) กรุงเทพฯ
........2540.

คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน แผนการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2535.

พิณสุดา สิริธรังศรี รายงานการปฏิรูปการศึกษาของประเทศนิวซีแลนด์ รายงานนำเสนอต่อ
........สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (เอกสารอัดสำเนา) กรุงเทพฯ 2540.

รุ่ง แก้วแดง รัฐธรรมนูญกับการศึกษา ของชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
........สำนักนายกรัฐมนตรี .

 

หมายเลขบันทึก: 191062เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2008 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท