โจรกรรมวิชาการ


 

          วันที่ ๑๙ มิ.ย. ๕๑ บวท. และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ร่วมกันจัดการเสวนาวิชาการเรื่อง “Plagiarism : โจรกรรมวิชาการ?” ตามที่ผมเคยลงบันทึกไว้แล้วที่นี่   โดยมีวิทยากรเพิ่มขึ้นอีก ๑ ท่าน คือ ศ. ดร. มรว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์


          เวลาสำหรับการประชุม ๒ ชั่วโมงไม่ค่อยพอ    แต่ก็เพียงพอให้นักวิจัย/วิทยาศาสตร์ชั้นยอดของประเทศประมาณ ๑๐๐ คน ได้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีกลไก/องค์กร ทำหน้าที่พัฒนาความเข้าใจและทักษะในการที่จะไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรทางวิชาการ    ไม่ทำผิดจรยยาบรรณของนักวิชาการ     หน้าที่สำคัญขององค์กรนี้ คือร่วมกับสถาบันต้นสังกัดของอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา ในการคุ้มครองผู้เกี่ยวข้องกับ scientific misconduct / academic dishonesty    ได้แก่ผู้ฟ้อง  ผู้ถูกฟ้อง  และการสร้างความเชื่อมั่น (trust) ต่อวงการวิชาการ


          จะต้องมีการปลูกฝังในระดับนักเรียน  นักศึกษามหาวิทยาลัย   โดยเฉพาะนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา    ที่ยังมีวัฒนธรรมเขียนรายงาน หรือเขียนบทความวิจัยแบบ cut and paste   คือยังมี plagiarism แบบไม่ตระหนัก    หรือไม่รู้ว่าเป็นความผิดขั้นรุนแรง    และอาจารย์ก็ยังไม่ได้กวดขัน    ยังไม่ได้สร้างวัฒนธรรมวิชาการอย่างเพียงพอ 


          เครื่องมือที่ช่วยให้ตรวจสอบ plagiarism ได้โดยง่ายคือ  eTBlast ซึ่งตรวจสอบความคล้ายคลึงของตัวอักษร    และเว็บไซต์ Deja Vu ที่ประกาศบทความที่มีความคล้ายคลึงกัน ค้นได้เป็นรายประเทศ และเป็นรายคน ซึ่งผมเคยเล่าในบันทึกนี้    และ ดร. จันทวรรณ ลองเอาไปใช้ บ่นว่าเห็นร่องรอย plagiarism ในวิทยานิพนธ์มากเหลือเกิน


          เข้าใจว่า สกอ. และหน่วยงานที่เป็นกลไกแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการของแต่ละมหาวิทยาลัยจะต้องใช้ eTBlast ตรวจสอบ plagiarism เสียก่อนให้ตำแหน่งทางวิชาการ    และจะต้องตรวจสอบวิทยานิพนธ์ด้วย   ผมอยากเห็นมหาวิทยาลัยที่ริเริ่มดำเนินการเรื่องนี้


          แต่ ศ. ดร. ประพนธ์ ปิยะรัตน์ หนึ่งในวิทยากร กระซิบบอกผมหลังจบการประชุมว่า    ไม่อยากให้เราไปไกลเกินไป    จนทุกอย่างกลายเป็น ISO หมด    จนหมด creativity   และ ศ. ดร. สุพจน์ หารหนองบัว กับ ศ. ดร. สมศักดิ์ ปัญหา ก็ให้ความเห็นว่า เราไม่ควรตามฝรั่งไปเสียทุกเรื่อง    เราควรมีแนวทางของเราเอง    แต่ ศ. นพ. สุทัศน์ ฟู่เจริญ แย้งว่า ในเรื่องการวิจัย/วิทยาศาสตร์ ควรมีมาตรฐานเดียว คือมาตรฐานสากล  


          คนที่ศึกษาและมีความรู้เรื่องนี้มากคือ อ. หมอกิตติศักดิ์ กุลวิชิต แห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ    มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ให้เห็นว่าในสหรัฐอเมริกา สังคมของเขาแอนตี้ plagiarism อย่างเข้มงวดอย่างไร   นักเรียนปี ๑ ฮาร์วาร์ด ที่เขียนหนังสือดังเป็นพลุ   และกำลังจะมีรายได้ ๑๐ ล้านเหรียญจากหนังสือเล่มต่อไป   ต้องตกสวรรค์จากร่องรอยของ plagiarism เมื่อมีคนพบและสังคมเชื่อว่ามีบางตอนคัดมาจากแหล่งอื่นโดยไม่อ้างอิง


          ผมสรุปว่า มี plagiarism มากในสังคมไทย ในระดับรายงานของนักเรียน/นักศึกษา   และในวิทยานิพนธ์    โดยเราไม่ได้เอาใจใส่สอนหลักการเรื่องจริยธรรมวิชาการที่จะต้องไม่ลอกเลียนโดยไม่อ้างอิง   สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ action การลงมือทำ    ทั้ง training เพื่อจะสร้างวัฒนธรรมวิชาการแบบยกย่องอ้างอิงผลงานจากสมองของคนอื่น   และในขณะเดียวกันก็รับผิดชอบต่อผลงานของตนเอง    ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการเอาใจใส่ “วิชา Ethics 101” นั่นเอง  

  
          อ. หมอกิตติศักดิ์ บอกว่า ชอบคำ “อ้างโดยไม่อ่าน” ของผม    ที่พบว่าในสหรัฐอเมริกาเกิดถึง ๗๐%

บรรยากาศในห้องประชุม

ศ.นพ.ยงกำลังบรรยาย ศ.ประพนธ์ฟังอย่างสบายใจ

อ.นพ.กิตติศักดิ์ เสนอความคิดเห็น ศ.ดร.ยอดหทัย และศ.ดร.มรกตฟังอย่างทึ่ง

วิจารณ์ พานิช
๒๐ มิ.ย. ๕๑

                              
                             
          
         

 

หมายเลขบันทึก: 190263เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2008 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียน อ.หมอ วิจารณ์

"Plagiarism"  การโจรกรรมข้อมูลทางวิชาการนั้นปัจจุบันเราพบมากมาย และน่าตกใจยิ่งกว่านั้นก็คือเด็กรุ่นใหม่ กลับไม่ได้ตระหนักประเด็นนี้เท่าที่ควร

ในความเป็นจริงเป็นเรื่องของ การผิดจรรณยาบรรณที่ร้ายแรงที่สุดของนักเขียน ผู้กระทำเยี่ยงนี้สิ้นอนาคต รวมถึงสิ้นความชอบธรรม หมดศักดิ์ศรี

ผมมีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนกับ นศ.ระดับบัณฑิตศึกษาบางสถาบัน ก็ได้เน้นย้ำเรื่องนี้ เพราะว่าเราสามารถเข้าถึงข้อมูลกันง่ายมากขึ้น โอกาสการทำ Plagiarism ก็ง่ายมากขึ้น

อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือตั้งใจ

สิ่งนี้เราควรเน้นย้ำให้มาก เพื่อยกระดับ กอบกู้+ศักดิ์ศรี ยกระดับงานวิชาการ และผลผลึกทางปัญญาของสังคมไทยครับ

 

ขอบพระคุณครับ :)

ยินดีที่ได้อ่าน และได้เห็นว่าสังคมวิชาการตระหนักกับเรื่องดังกล่าว แต่สิ่งที่ควรพิจารณาคือ

1. อะไร คือ มาตรฐานที่จะใช้ชี้วัดว่า plagiarism เพราะยังมี definition ที่แตกต่างกันอย่างมาก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การนำมาใช้โดยขาด acknowledgement น่าจะเป็น cut off ต่ำสุดสำหรับเรื่องนี้

2. plagiarism นั้นครอบคลุมทั้ง ตัวหนังสือ รูปภาพ ตาราง และที่สำคัญคือ แนวคิด ประการสุดท้ายนี้มีการนำไปใช้ copy กันอย่างกว้างขวาง

3. เห็นด้วยกับการกวดขันเรื่อง plagiarism สำหรับวิทยานิพนธ์และการขอตำแหน่งทางวิชาการ แต่เรื่องนี้ถ้าจะทำย่อมมีคำถามว่า ผู้ที่เคยทำ plagiarism แล้วได้สำเร็จ การศึกษา และได้ตำแหน่งทางวิชาการไปแล้ว จะดำเนินการอย่างไร จะเกิดการลักลั่นหรือไม่

4. เสียใจที่เห็นหลักฐานตาม website ที่กล่าวอ้าง มีผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน (ระดับนักวิชาการหัวกระทิ ระดับศาสตราจารย์ ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ระดับผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับผู้ได้รับรางวัล) เป็น plagiarist

5. ควรมีระบบให้ความเป็นธรรม มิฉะนั้นจะเกิดการกล่าวหากัน ใช้เป็นประเด็นในการโจมตีกันได้

http://gotoknow.org/blog/systemnews/190731 อ.ธวัชชัยได้เขียนถึง plagiarism ที่กำลังเป็นประเด็นใน GotoKnow อยู่ในขณะนี้ค่ะ

ทีมงานได้ติดตามกรณีดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้วและดำเนินการตามเห็นสมควรแล้วค่ะ เพราะถือว่าเป็น การโจรกรรมทางวรรณกรรม ที่ไม่น่าเกิดขึ้นในสังคม GotoKnow ซึ่งมีนักวิชาการอยู่มากค่ะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท