เข้าใจวัยเตาะแตะ


ถ้าเราเข้าใจวัยเตาะแตะแล้วคำกล่าวของฝรั่งที่ว่าสองขวบเป็นวัยร้ายกาจ (terrible two) ก็คงจะจัดการได้ไม่ยาก

วัยเตาะแตะหรือวัยเด็กตอนต้น (Toddler) เป็นช่วงวัยที่ต่อจากวัยทารก อยู่ในช่วงอายุ 1ขวบครึ่ง- 3 ขวบ ในวัยนี้จะ

มีพัฒนาการในด้านต่างๆมากมาย ด้านร่างกาย...แขนขาจะยาวขึ้น กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น เริ่มวิ่ง กระโดดได้ ด้านสติปัญญาของเด็กวัยนี้มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการด้านอื่นๆ เช่น ด้านร่างกาย เมื่อเด็กเดินได้ เขาก็จะเริ่มเรียนรู้ และสำรวจโลกภายนอก ช่างคิด ช่างซักถาม เล่นเอาคนที่เป็นพ่อแม่บางคนถึงกับหงุดหงิดในการที่จะหาคำตอบมาตอบลูกไปเลย แต่เขาบอกว่าต้องพยายามตอบลูกให้ได้ทุกคำถาม เพราะถ้าพ่อแม่ตอบลูกไม่ได้ทุกคำถาม แสดงว่าพ่อแม่โง่กว่าลูก บางครั้งคำถามของเด็กต้องการเพียงคำตอบง่ายๆ แค่ตอบเขาก็พอใจ แต่พ่อแม่ คิดหนัก คิดลึกไปถึงไหนๆ แต่ก็ยังหาคำตอบให้ลูกไม่ได้เสียที

เด็กวัยนี้สามารถเข้าใจความหมายของคำ เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ได้มากมาย และนำคำเหล่านั้นมาเชื่อมต่อกันเป็นวลี ประโยคที่มีความหมายใช้ในการสื่อสารได้ในที่สุด ซึ่งเด็กก็เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆเหล่านี้จากพ่อแม่หรือบุคคลใกล้ชิดนั่นเอง ส่วนหนึ่งจากการที่เด็กวัยนี้เป็นวัยช่างซัก (questioning age) ก็จะถามไปเรื่อยว่า นั่นอะไร  หรือ ทำไม..... เช่นตัวอย่าง

ลูก           นั่นอาราย...

แม่           รถไงลูก

ลูก           ทำไมเรียกรถ

แม่           ก็รถมันวิ่ง (แล่น)ได้

ลูก           ทำไมรถถึงวิ่งได้

แม่           ก็เพราะมันมีล้อ

ลูก           ทำไมมีล้อแล้ววิ่งได้

แม่           ??? (คิดไม่ค่อยออกแล้วว่าจะตอบอย่างไร)

ในตัวอย่างนี้ลูกก็ได้เรียนรู้คำศัพท์ไปหลายคำ นำไปสะสมไว้ในคลังสมองของเขา พร้อมที่จะถูกหยิบนำมาใช้ในการสื่อสารของเขาต่อไป เด็กวัยนี้จะยึดตนเองเป็นจุดศูนย์กลาง จากตัวอย่างคำถามคล้ายๆกันที่พ่อแม่จะพบได้ เช่น ขณะนั่งอยู่ในรถและมองเห็นดวงจันทร์ เด็กอาจถามแม่ว่า ทำไมพระจันทร์ถึงตามเรามาเรื่อยเลย

ส่วนพัฒนาการด้านสังคมของเด็กวัยเตาะแตะเราจะเห็นว่าเด็กเปลี่ยนแปลงจากการพึ่งพาผู้อื่นในวัยทารกมาสู่การพึ่งพาตนเอง อยากจะทำอะไรต่างๆด้วยตนเองมากขึ้น เริ่มยอมรับกฎเกณฑ์ของสังคม แม้จะมีความเป็นตัวของตัวเองจนดูเหมือนดื้อ ต่อต้าน แต่พฤติกรรมนี้ก็จะอยู่ไม่นาน เนื่องจากเด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่าการทำอย่างนี้พ่อแม่หรือคนอื่นไม่ชอบ เด็กวัยนี้จะหวงของ ไม่ยอมแบ่งหรือให้คนอื่นยืม พ่อแม่บางคนซื้อไอติมให้ลูกกิน พอไอติมอยู่ในมือของลูกแล้ว ด้วยความที่ไอติมนั้นน่ากินหรืออยากจะลองใจลูกก็ขอลูกกินซักหนึ่งคำ ธรรมชาติของเด็กวัยนี้เขาก็จะไม่ให้ เล่นเอาพ่อแม่บางคนที่ไม่เข้าใจโมโหเสียยกใหญ่ว่าลูกอย่างนี้เลี้ยงไม่ได้แล้ว พอพ่อแม่แก่ตัวลงแล้วลูกคงทอดทิ้งไม่เลี้ยงพ่อแม่เป็นแน่แท้  แต่ถ้าพ่อแม่เข้าใจก็จะไม่โกรธและถือเป็นโอกาสอันดีที่จะสอนลูกให้รู้จักแบ่งปันให้ผู้อื่น และต่อมาเมื่อเด็กโตขึ้นเขาก็จะพัฒนาด้านสังคมต่อไปโดยการเล่นรวมกลุ่มอยู่กับเพื่อน อาจจะเป็นลักษณะต่างคนต่างเล่นก่อน  นานเข้าก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองซึ่งกันและกัน พอใจที่จะเล่นด้วยกันและช่วยเหลือกัน ฟังดูแล้วก็คล้ายๆกับตอนที่พ่อจีบแม่ของลูกยังไงยังงั้น

ด้านพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กวัยเตาะแตะนั้น อารมณ์โกรธเป็นอารมณ์ที่พบได้บ่อย เนื่องจากเด็กมักใช้เป็นข้อเรียกร้องเพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ และเขายังสื่อสารเพื่อบอกความต้องการของตนเองได้ไม่ดีนัก เราจึงพบพฤติกรรมร้องอาละวาดได้บ่อยในเด็กวัยนี้ อารมณ์อิจฉาริษยา เช่น อิจฉาน้องนั้นก็พบได้ เพราะเมื่อเด็กโตถึงช่วงวัยนี้พ่อแม่ก็มักอยากจะมีน้องให้กับลูก พอมีน้องใหม่พ่อแม่ก็หันไปสนใจน้องใหม่แทนตัวเขา เด็กอาจแสดงอาการอิจฉาน้องโดยมีพฤติกรรมแบบเด็กที่อายุน้อยกว่าหรือวัยทารก เช่น ดูดนิ้ว ปัสสาวะราด ถ้าพ่อแม่เข้าใจ เตรียมเด็กล่วงหน้าก่อนที่จะมีน้อง ก่อนพาน้องกลับบ้านและแสดงให้เขารับรู้ว่าพ่อแม่ยังรักและสนใจเขาอยู่เหมือนเดิม ให้เขาได้มีส่วนร่วมในการเลี้ยงน้อง  ปัญหาเหล่านี้ก็จะลดน้อยลงจนหายไป

เด็กวัยเตาะแตะเป็นวัยที่น่ารักมากวัยหนึ่ง เด็กหลายคนพอพูดได้ก็พูดเก่งจนปู่ย่าตายายทั้งรักทั้งหลงถึงกับแย่งตัวกันไปเลี้ยงก็มี พ่อแม่ก็ชอบเพราะนอกจากลูกจะน่ารักแล้วยังเริ่มทำอะไรได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่ให้อดหลับอดนอนจนเหน็ดเหนื่อยมากมายเหมือนในวัยทารก ความจำของเด็กวัยนี้ก็ดีกว่าผู้ใหญ่อย่างเรา ให้ฟังเพลงสองสามรอบก็จำเนื้อเพลงและร้องได้หมด ส่วนเราฟังหลายรอบแล้วก็ยังร้องไม่ได้ซักที ที่สำคัญสัญญาอะไรกับเด็กวัยนี้ก็ต้องทำตามด้วยเพราะเขาจำแม่นจริงๆ ถ้าเราเข้าใจวัยเตาะแตะแล้วคำกล่าวของฝรั่งที่ว่าสองขวบเป็นวัยร้ายกาจ (terrible two) ก็คงจะจัดการได้ไม่ยาก

หมายเลขบันทึก: 189818เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2008 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท