เพียงแค่ฟังกันบ้างอย่างตั้งใจก็อาจแก้ไขความตึงเครียดระหว่างกัน


ปัญหาคือ ทำอย่างไรให้ผู้ที่มีความขัดแย้งกันได้นั่งลงเจรจากัน โดยมีผู้ที่มีเมตตาบารมีปรากฏชัดแจ้งที่คู่ขัดแย้งเคารพนับถืออาสา/สมัครใจลงมาเป็นคนกลาง ขอให้พระสยามเทวาธิราชดลบันดาลให้บุคคล/กลุ่มคนนั้นปรากฏตัวขึ้นโดยเร็วด้วยเถิด!

ทำอย่างไรให้ผู้ที่มีความขัดแย้งกันได้นั่งลงเจรจากัน โดยมีผู้ที่มีเมตตาบารมีปรากฏชัดแจ้งที่คู่ขัดแย้งเคารพนับถืออาสา/สมัครใจลงมาเป็นคนกลาง ขอให้พระสยามเทวาธิราชดลบันดาลให้บุคคล/กลุ่มคนนั้นปรากฏตัวขึ้นโดยเร็วด้วยเถิด!

เคยเรียนเรื่อง หัวใจนักปราชญ์
ว่าประกอบด้วย สุ จิ ปุ ลิ
สุ คือ สุต (หรือโสต) หมายถึง ฟัง
จิ คือ จิต หมายถึง คิด
ปุ คือ ปุจฉา หมาย ถาม
ลิ คือ ลิขิต หมายถึง จด

หัวใจนักปราชญ์เริ่มที่การฟัง ซึ่งใครๆ ก็คงเห็นด้วย
แต่ปัญหาก็คือ เราไม่เคยได้รับการฝึกวิธีฟัง

เราเคยเรียนวิธีคิด วิธีถาม รวมถึงวิธีจดมาบ้าง
เช่น วิธีคิดสร้างสรรค์ วิธีคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ วิพากษ์ 
วิธีถามแบบ 4W1H วิธีจดแบบ mind map
แต่จำไม่ได้ว่าเคยเรียน วิธีฟัง จากที่ไหนบ้าง
เราจึง ฟังไม่เป็น

เพราะถ้าฟังเป็นเราคง

  • ฟังโดยไม่พูดแทรก พูดสวน
  • ฟังอย่างสงบ
  • ฟังอย่างตั้งใจโดยใช้ทั้งกาย (หู ตา หน้า ตัว) ทั้งใจ ทั้งสมอง
  • ฟังที่เขาพูดให้ครบถ้อยกระบวนความจนจบก่อน
  • ฟังอย่างพยายามเข้าใจสาระที่เขาต้องการสื่อให้มากที่สุด
  • ฟังมากกว่าพูด

ฟังแล้วไม่เข้าใจตรงไหนก็ถามให้เขาอธิบายขยายความ ให้ช่วยยกตัวอย่าง
ถามเพราะอยากรู้จริงๆ ไม่ใช่เป็นการใช้คำถามเป็นอาวุธโจมตีเขา
อย่างที่ได้ยินบุคคลสาธารณะชอบพูดว่า

"ขอถามว่า..." ทั้งๆ ที่ไม่อยากได้คำตอบอะไร เพราะถามเองตอบเองเสียเป็นส่วนใหญ่
การถามแบบนั้นหาใช่เป็นการถามเพราะสนใจใคร่รู้ อยากได้ความรู้ หรือคำตอบอะไรจริงๆ

ปัญหาหลายอย่างในครอบครัวคลี่คลายลงเมื่อสมาชิกทุกคนตระหนักว่า
หลายเรื่องหลายราวเกิดจากที่เราไม่ฟังกันและกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่

  • ไม่ฟังเลย (รู้แล้ว รู้แล้ว ... ฉันรู้หมดแล้ว!)
  • ไม่อยากฟัง (การแสดงอาการไม่อยากฟัง แม้ไม่พูดออกไปเป็นคำพูด ก็เหมือนการพูดว่า "เธอไม่ใช่คนสำคัญสำหรับฉัน")
  • ฟังอย่างไม่ใส่ใจฟัง ฟังครึ่งๆ กลาง (ฟังไม่ได้ศัพท์จับมากระเดียด)

เมื่อตระหนักแล้วก็ หันหน้ามาฟังกัน
หลายอย่างก็เริ่มคลี่คลาย
แล้วก็เข้าใจกันมากขึ้น
รักกันมากขึ้น

ทำนองเดียวกัน ปัญหาหลายอย่างในสังคมก็น่าจะคลี่คลายลงได้
หากทุกฝ่าย ฟังกันและกัน

ไม่ตัดสินกันและกันล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนแต่ละคนจะพูด

  • คุณเลว (โดยสันดาน เลวมาแต่ชาติปางก่อน เลว เลว และเลวบริสุทธิ์ คุณเปิดโปงฉัน ฉันก็จะแฉคุณ)
  • คุณมีวาระซ่อนเร้น (คุณไม่จริงใจหรอก คูณคิดแต่จะปลิ้นปล้อนกะลอนเอาประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้อง)
  • คุณโง่ (แล้วยังอวดฉลาด อวดเก่ง)
  • คุณ "ไม่มีราคา" (ทำไมฉันจะต้องฟังคุณด้วย)
  • ฯลฯ

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ผู้ที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง "วาง" อัตตาลงมานั่งคุยกัน
เมื่อต่างฝ่ายต่างก็มีอคติ มีอารมณ์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการแพ้-ชนะ

ในที่สุดก็อาจมีผู้แพ้-ผู้ชนะ
หรือไม่ก็แพ้ทั้งคู่

ซึ่งมักเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการเจ็บปวดเกิดขึ้น
ซึ่งหากถึงขั้นต้องใช้กำลังลงไม้ลงมือกันก็อาจมีการบาดเจ็บล้มตาย
อาจถึงขั้นที่ไม่อาจอยู่ร่วมชาติกันอีก
บางคนอาจต้องไปอยู่บ้านอื่น เมืองอื่น ประเทศอื่น

ทั้งที่โดยทั่วไปแล้วการชนะทั้งคู่ (win-win) เป็นสิ่งที่พึงประสงค์ที่สุด

ปัญหาคือ ทำอย่างไรให้ผู้ที่มีความขัดแย้งกันได้นั่งลงเจรจากัน
โดยมีผู้ที่มีเมตตาบารมีปรากฏชัดแจ้งที่คู่ขัดแย้งเคารพนับถืออาสา/สมัครใจลงมาเป็นคนกลาง

  • จะเป็นบุคคลหรือกลุ่มคนก็ตามแต่
  • จะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาสก็ตามแต่
  • จะมีสถานภาพใดในสังคมก็แล้วแต่

ขอให้พระสยามเทวาธิราชดลบันดาลให้บุคคล/กลุ่มคนนั้นปรากฏตัวขึ้นโดยเร็วด้วยเถิด!

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
23 มิถุนายน 2551

 

หมายเลขบันทึก: 189812เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2008 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มาร่วมภาวนาและสาธุค่ะ

อาจารย์สบายดีนะคะ การหาคนกลางดูจะเป็นวิธีหนึ่งในการจัดการความขัดแย้งที่น่าจะมีประสิทธิภาพแบบหนึ่งเหมือนกันนะคะ

เพราะเท่าที่จำได้ในขณะเรียนจะมีสี่อย่างคือ

truth  การทำความจริงให้ปรากฎ.. อาจใช้คนกลางที่เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของทุกฝ่าย

trust  สร้างความไ้ว้วางใจ

โดยต้องกอรปไปด้วยความกรุณา  และความยุติธรรมทั้งทางสังคมและทางกฎหมาย..ค่ะอาจารย์ แต่ก็เรียนมานานมากๆจนลางเลือนไม่แน่ใจถึงความชัดเจนถูกต้องของความทรงจำเท่าไหร่นัก

เราไม่"ฟังกันอย่างแท้จริง"ใช่มั้ยคะถึงเป็นเช่นนี้?

สวัสดีค่ะอาจารย์

ตามคุณเบิร์ดมาค่ะ  อิอิ อาจารย์สบายดีไหมค่ะ

คำถามที่ค้างคาใจของคน ทุกคน เราจะหาคนกลางจากตรงไหน  เห็นด้วยกับหมอเบิร์ดนะคะ ว่าเราต้องสร้างความไว้วางใจ จากคนที่เราศรัทธา ขอยกข้อคิดหนึ่งนะคะ ราณีเคยดูหนังเกี่ยวกับธรรมะ เขาบอกว่า คนเราถ้าไม่รู้จักศรัทธาคนอื่น อย่างหวังให้ใครมาศรัทธาเรา (ข้อคิดธรรมะ)

อยากให้โลกนี้มีแต่ได้ กับได้ win- win แต่จะวินวิน ต้องมีคนที่ยอมเพื่อที่จะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าชนะบนความแพ้ จะเกิดอะไรขึ้น ผลที่ตามมาอะไรต้องเสียหายบ้าง

อ่านบันทึกอาจารย์  และก็คิดถึงเพลงเบิร์ด ธงไชย ขึ้นมา  ไม่รู้จะเข้ากันไหม ก็ลองฮัม ๆๆ ดูนะคะ อิอิ  "จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน เหมือนว่าไม่มีวัน จะพรากไป  ทำอะไรได้ดังฝันใฝ่ จุดหมายที่ฝันกันไว้ ก็คงไม่เกินมือเรา  .... จุดหมายที่ฝันกันไว้ ก็คงไม่เกินมือ  ..เรา"

พูดอย่างคนที่ไม่ค่อยเก่งมากเท่าไรนะคะ ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย ถ้ามีอะไรล่วงเกินในข้อเขียนใด

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีคะ อาจารย์เชษฐ

"เพียงแค่ฟังกันบ้างอย่างตั้งใจก็อาจแก้ไขความตึงเครียดระหว่างกัน"

"ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ผู้ที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง "วาง" อัตตาลงมานั่งคุยกัน"

"ไม่ตัดสินกันและกันล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนแต่ละคนจะพูด"

รู้อยู่เต็มอกทุกคน แต่พอถึงเวลา ยอมรับว่ายากเหมือนกัน (ยากจริงๆมากกว่า)

อย่าว่าแต่ฟังเพื่อลดความขัดแย้งตึงเครียด จากกลุ่มที่ขัดแย้งกันเลย

แค่ต้องนั่งฟัง คนที่ "ต่าง" จาก"เรา" ทั้งบุคลิกภาพ ความคิด ฯลฯ ก็ยากแล้ว

ความคิดเราเกิด ความเห็นเราเกิด ความรู้สึกเราต่อคนเล่า ต่อเรื่องที่เล่าเกิด

อาจารย์มีเทคนิค การวางตัวตน ของเราไว้ชั่วคราวมะคะ

แต่ก็เคยลองทำดู แม้ระยะเวลาสั้นๆ พอทำได้ เกิดความสุขมากแบบไม่คาดหวัง

คนที่เราฟังอย่างตั้งใจ อย่างให้ความเข้าใจ แค่นั้นไม่ต้อง "คิดวิเคราะห์หรือหาทางช่วย"

เขาพูดออกมาเองคะว่า "เออ เท่านี้แหระ อยากแค่พูดให้ฟัง สบายใจ แล้ว"

โล่งอกกับเขาไปด้วย เราก็ยิ้มออกมาได้

มารดาข้าพเจ้าเองคะ

อย่างไรเสีย คงต้องฝึก คงต้องลองทำดู บ่อยๆ

ลืมถามว่าอาจารย์สบายดีไหมคะ

หายจากป่วยเล็กๆ หรือยังคะ

ที่เคยบอกว่า อุบัติเหตุเล็กๆ จากการยกของหนัก นะคะ

เรียน อาจารย์สุรเชษฐ

ผมอ่านบทความของอาจารย์ไม่เคยเบื่อเลย เช่น ความรู้สึกของพ่อคนหนึ่ง. เมื่อคนที่ใช้แต่หัวสัมผัสคนอื่นด้วยใจ.และอีกหลายเรื่อง อ่านแล้วทำให้ได้คิด ได้ข้อคิด รวมทั้งกิจกรรม"คุณคือใคร"ที่อาจารย์สอนในวิชา ส.ป.ช. ด้วย

ส่วนเรื่องนี้ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ครับ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.51(เมื่อวาน)ผมดูข่าว เห็น ศจ.เสน่ห์ จามริก ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในความรู้สึกของผม ผมคิดว่า(คิดว่า)ถ้ามีบุคคลสำคัญๆออกมาเสนอแนะ วิจารณ์ หลายๆคนในลักษณะอย่างนี้ ผมว่าสถานการณ์จะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน

ด้วยความเคารพครับ อาจารย์

  • เห็นด้วยกับคุณจรัญว่าต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน
  • หลังพายุใหญ่ลมแรงผ่านไป ฟ้าก็สดใส เวลาผ่านไปพายุใหม่เมฆฝนใหม่ก็ตั้งเค้าอีก
  • สมดุลย์ธรรมชาติเป็นอย่างนี้
  • สมดุลย์ชีวิตก็เป็นอย่างนี้
  • สมดุลย์สังคมก็เป็นเช่นเดียวกัน
  • หวังว่าลักษณะหน้าตาของสมดุลย์สังคม (ระบบการจัดการสังคมระดับประเทศหรือที่เรียกว่าการเมืองระดับประเทศ) จะดีขึ้น นักการเมืองพัฒนาตัวเองขึ้น (ไม่ใช่พัฒนาเล่ห์เหลี่ยมให้โกงแนบเนียนขึ้น) มีคนที่ "รับใช้ประชาชน" จริงเข้ามามากขึ้น
  • แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น หลักประกันที่แท้จริงคือความแข็งแรงของรากหญ้า ซึ่งมีชีวิตส่วนตัวของบุคคลอยู่ที่ปลายแรกแก้ว ชีวิตครอบครัวคือราก สูงขึ้นไปอีกคือชุมชนท้องถิ่น ส่วนการเมืองระดับประเทศเป็นส่วนบน
  • ไม่มีประเทศที่แข็งแรง"จริง"หากท้องถิ่นไม่แข็งแรง
  • ไม่มีท้องถิ่นที่แข็งแรงหากครอบครัวไม่แข็งแรง
  • ครอบครัวที่แข็งแรงก็ไม่มีจริงหากไม่มีสมาชิกครอบครัวที่แข็งแรง
  • ด้วยเหตุนี้ตำบลพอเพียงเกิดไม่ได้โดยปราศจากชุมชน(หมู่บ้าน)พอเพียง และไม่มีชุมชนพอเพียงโดยปราศจากครอบครัวพอเพียง สุดท้ายไม่มีครอบครัวพอเพียงโดยปราศจากบุคคลพอเพียง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท