ชีวิตที่พอเพียง : ๕๓๖. ไปเติมเอ็นดอร์ฟินที่เชียงใหม่


 

          วันที่ ๑๗ มิ.ย. ๕๑ ผมบินไปเชียงใหม่ อัดเอ็นดอร์ฟิน ๙๐ นาที แล้วบินกลับ   เป็นพฤติกรรมที่ตามปกติผมจะไม่ทำ    ผมไม่ชอบการประชุมหรือการทำอย่างอื่นแบบกระหืดกระหอบ    แต่วันนี้จำเป็นต้องกลับมาประชุมมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล


          ที่ใช้คำว่า “อัดเอนดอฟิน” หมายถึงเกิดปิติสุขจนเอนดอรฟินหลั่งซาบซ่าเพราะการประชุม คณะอนุกรรมการชุมชนเพื่อพัฒนาร้านเกมคาเฟ่-อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ จังหวัดเชียงใหม่ ส่อประกายว่าจะเกิดกิจกรรมนำร่องที่เป็นนวัตกรรมทางสังคม


          การประชุมนี้จัดโดยโครงการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่นำโดย อ. อิทธิพล ปรีติประสงค์ แห่งสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม. มหิดล    และเวทีแบบนี้ผมเคยไปร่วมครั้งหนึ่งที่อุบล อ่านได้ที่นี่   แต่การประชุมที่เชียงใหม่ครั้งนี้ก้าวหน้ากว่ามาก เพราะทีมวิจัยในพื้นที่ คือทีม ม. พายัพ ได้ทำการบ้านร่วมกับผู้นำในชุมชนมาอย่างดีมาก    และผู้นำชุมชนหลายพื้นที่ก็มีความตื่นตัวมาก 

 
          ในสังคมยุคใหม่ ยุค ICT   ตัวความก้าวหน้าทาง ICT เป็นทั้งคุณและโทษอยู่ในตัวของมันเอง   เวลานี้มีสัญญาณอันตรายระดับวิกฤต ที่คนมีลูกวัยรุ่นจะตระหนก    ว่าลูกจะติดเกมเน็ตหรือไม่    การเล่นเกมเน็ตจะชักนำลูกไปสู่ความเสื่อมเสียหรือไม่    จะห้ามปรามลูกไม่ให้เข้าร้านเกมที่บริการสิ่งเลวร้ายได้อย่างไร    รู้ได้อย่างไรว่าร้านไหนดีร้านไหนไม่ดี

   
          ที่จริงทางราชการ นำโดยวัฒนธรรมจังหวัดและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะควบคุม    แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าทำงานไม่ไหว    และเรื่องมันลึกลับซับซ้อนเกินกว่าที่ทางราชการฝ่ายเดียวจะดำเนินการควบคุมดูแลได้   มีทางเดียวที่จะดำเนินการได้ผล คือทุกฝ่ายจะต้องรวมตัวกันดำเนินการ


          เรื่องซับซ้อนอย่างนี้ กฎหมายตามไม่ทัน   แม้มีกฎหมาย law enforcement อย่างเดียวก็ไม่ได้ผล    ต้องใช้มาตรการทางสังคมเข้ามาช่วย หรือใช้มาตรการทางสังคมนำ    ใช้กฎหมายหนุน

 
          ทุกฝ่ายหมายถึง ร้านเน็ต สมาคมผู้ปกครอง โรงเรียน/สถานศึกษา  ผู้นำชุมชน  นักวิชาการ/วิจัย  และหน่วยราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ได้ประชุมกันมาก่อนหลายครั้ง โดย อ. อิทธิพลได้นำมาลงไว้ที่ 1  2   3     และวันนี้ฝ่ายเหล่านั้นมาร่วมประชุมกัน    สาระ/บรรยากาศของการประชุมน่าชื่นชมยิ่ง    ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด นายชุมพร มณีแสง ประธานการประชุม ก็น่าชื่นชมในความเป็นคนจริง รู้จริง และดำเนินการประชุมโดยเชื้อเชิญคนทุกฝ่ายให้เสนอความเห็น/ความรู้สึก ของตน

 
          คุณไพรัช โตวิวัฒน์ นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนมงฟอร์ดวิทยาลัย เสนอผลการประชุมสมาคม ที่เป็นข้อเสนออย่างสั้นๆ เป็นข้อๆ น่าชื่นชมมาก

 
          ผมขอ AAR ให้แก่ทีม อ. อิทธิพล ดังนี้

ควรดึงตัวแทนเยาวชนระดับมัธยม และระดับอุดมศึกษา เข้ามามีบทบาทด้วย    เยาวชนเองน่าจะเป็นกำลังตรวจตราร้านเน็ตร่วมกับผู้ใหญ่ที่เป็นทีมของชุมชน

 
 ควรมีการให้ป้าย “อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ปลอดภัยและสร้างสรรค์” หรือ “ร้านอินเทอร์เน็ตสีขาว” โดยคณะกรรมการชุมชน

 
 ใช้หลักการแยกแยะ ว่าร้านเน็ตที่ดีมีอยู่ ควรได้รับการสนับสนุน/แนะนำ    ร้านที่ทำชั่วก็ควรได้รับการตักเตือน   ถ้ายังไม่แก้ไข ก็มีการประนาม/จับกุมลงโทษ 


 หลักการแยกแยะ จะนำไปสู่หลักการใช้ความรู้    คือสร้างความรู้ขึ้นมาแยกแยะร้านเน็ตที่ดี vs. ไม่ดี   และทำให้ความรู้นั้นเป็นที่เปิดเผยรับรู้    ใช้สนับสนุนมาตรการทางสังคมและทางกฎหมาย

 

วิจารณ์ พานิช
๑๘ มิ.ย. ๕๑

ท่านรองผู้ว่าฯชุมพร เป็นประธานการประชุม

 

 

คุณไพรัช โตวิวัฒน์ เสนอมติของสมาคมผู้ปกครองอย่างคลอบคลุมและทางสายกลาง

 

บรรยากาศในห้องประชุม

คนซ้ายสุดคืออ.อิทธิพล ถัดมาเป็นเจ้าของร้านเกมส์ทั้ง ๒ คน

   


ความเห็น (2)

พอลงบันทึกปุ๊บ คุณสุรวดี รักดี ทีมงานของ อ. โก๋ ก็ส่งข่าวไม่ค่อยดีมาให้ อ่านดังนี้

สถานการณ์ที่เราควรรู้นะคะ ..ทางผู้ประกอบการได้โทรมาแจ้งเราเรื่องนี้

ว่าร้าน OZONE ร้านใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ทนไม่ไหวจึงดำเนินการเปิดร้าน 24 ชั่วโมงไปซะแล้ว

http://www.cmnetcafe.com/board/index.php?topic=242.15

อ.คะ การทำงานกับกระทรวงมหาดไทยและภาคธุรกิจเพื่อกำไรเป็นของยากค่ะ เป้าหมายของชีวิตในแต่ละมุมต่างกันมาก อำนาจนิยมและกำไรนิยมนั้นอดทนต่อการขาดอำนาจหรือการขาดกำไรไม่ค่อยได้ค่ะ

สิ่งที่ดีที่สุดในงานที่เชียงใหม่ ก็คือ เราสามารถปลูกต้นไม้แห่งความรู้และความรักในเด็กในร้านเกมได้สำเร็จระดับหนึ่ง แต่ต้นไม้นี้อาจเหี่ยวเฉาลงบ้างในบางวันที่ขาดน้ำ (กำไร) หรือโดนแดดเผา (ส่วย)

เราหวังว่า คนทำสวนของเรา ก็คือ "ดร.สุชาดา คณบดีคณะนิติศาสตร์ พายัพ" ซึ่งมีสมญานามว่า "ผู้หญิงเสริมใยเหล็ก" คงทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามาแทนที่ธุรกิจเพื่อกำไรอย่างไร้ใจ

แต่เรื่องส่วย หรือความเฉยชาของภาคราชการ หนูก็คิดไม่ออกว่า จะทำอะไรได้มากไปสอนกฎหมายให้ผู้ประกอบการเพื่อป้องกันตัว

แต่ที่หนูคิดว่า ทีม อ.โก๋น่าจะได้องค์ความรู้ที่จะผลักดันการเกิดขึ้นของคณะกรรมการชุมชนเพื่อสื่อปลอดภัยในร้านเกมที่หาดใหญ่ การลองผิดลองถูกที่ทำมาตลอดปีที่ผ่านมา น่าจะสอนคนทำงานวิจัยเพื่อการพัฒนากลุ่มนี้นะคะ อันนี้ เป็นกำไรทางวิชาการ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท