การป้องกันปัญหายาเสพติด


ป้องกันยาเสพติด

การป้องกันปัญหายาเสพติด

ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดเป็นปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อน ทั้งในด้านสาเหตุการเกิดปัญหา และแนวทางการแก้ไข ดังจะเห็นได้จากการที่มีความพยายามในการแก้ไขนี้ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ มาเป็นระยะเวลานาน แต่ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดก็ยังคงมีอยู่ และทวีความรุนแรงมากขึ้นในบางพื้นที่  หนึ่งในกระบวนการสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ กระบวนการป้องกัน อย่างไรก็ตาม มีความเข้าใจผิดที่เกี่ยวข้องกับ กระบวนการนี้หลายประการ อันเป็นผลให้มาตรการป้องกันที่ได้กระทำไม่บรรลุผลในทางปฏิบัติเท่าที่ควร ยังคงมีผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดรายใหม่เพิ่มขึ้น บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการป้องกันดังกล่าวเพื่อช่วยให้มีการกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การป้องกันปัญหายาเสพติดนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ การป้องกันระดับปฐมภูมิ การป้องกันระดับทุติยภูมิ และการป้องกันระดับตติยภูมิ ทุกระดับมีความสำคัญ การป้องกันที่ดีควรดำเนินมาตรการป้องกันทั้งสามขั้นตอนไปพร้อมกัน จะเลือกปฏิบัติเพียงขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดมิได้ รายละเอียดของแต่ละขั้นตอนมีดังนี้

1.      ขั้นปฐมภูมิ หมายถึง มาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ประชากรทั่วไป และประชากรกลุ่มเสี่ยง ใช้/เสพยาเสพติด

2.      ขั้นทุติยภูมิ หมายถึง มาตรการเพื่อคัดกรอง และค้นหาผู้ป่วยที่เสพ/ติดยาเสพติดในชุมชน และให้การบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพ อย่างทันการณ์ เพื่อช่วยลดผลเสียทั้งต่อผู้เสพและสังคมที่เป็นผลจากการเสพยาเสพติด 

3.      ขั้นตติยภูมิ หมายถึง มาตรการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข

ในขั้นปฐมภูมินั้น การป้องกันมิได้จำกัดอยู่เพียงการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องยาเสพติดเท่านั้น มีความเข้าใจผิดว่าการสอนเรื่องพิษภัยของยาเสพติดจะช่วยลด ความอยากรู้อยากลอง หรือ ขู่ให้เด็กกลัวไม่อยากลองใช้ยาเสพติดได้ ในความเป็นจริง ความอยากรู้อยากลองของเด็กเป็น เรื่องธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ด้วยซ้ำในบางครั้ง สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่ ไม่ให้เขามีความอยากรู้อยากลอง แต่ให้เขาอยากรู้อยากลองในเรื่องดีๆ ซึ่งทำได้โดยการเพิ่มเรื่องดีๆ ที่น่ารู้น่าลอง ให้มากขึ้นรอบรอบตัวเด็ก ถ้าเข้าใจตามนี้ท่านผู้อ่านคงจะนึกต่อได้ว่า การป้องกันยาเสพติดที่ดีนั้น ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องยาเสพติดเลยก็ได้  นอกจากการป้องกันด้วยวิธีให้ความรู้แล้ว การป้องกันยาเสพติดอาจทำด้วยการพัฒนาสถาบันครอบครัวให้ดีขึ้น ซึ่งทำได้ตั้งแต่การสนับสนุนการวางแผนครอบครัว วางแผนครอบครัวนะครับมิใช่เพียงแค่สนับสนุนการคุมกำเนิด หมายความว่า สนับสนุนให้คู่สมรส มีการวางแผนครอบครัวที่ดี มีลูกเมื่อพร้อม  นอกจากนี้การส่งเสริมทักษะการเป็นพ่อแม่ที่ดีก็เป็นสิ่งสำคัญ  พ่อแม่หลายรายไม่เคยรู้ทักษะการดูแล และการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านจิตใจของเด็ก ทำให้เด็กโตมาในครอบครัวที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาด้านจิตใจและอารมณ์  จนกลายเป็นวัยรุ่นที่มีปัญหาและติดยาในที่สุด การป้องกันยาเสพติดอาจรวมไปถึงบริการให้คำปรึกษาสำหรับเด็กที่มีปัญหา  ช่วยให้เด็กมีทางออกในการแก้ปัญหาที่โดยไม่ต้องหันไปพึ่งยาเสพติด การพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรม โดยสรุปคือ เนื่องจากปัญหายาเสพติดเป็นผลพวงจากปัญหาอื่นๆหลายประการ ตั้งแต่ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเลี้ยงดู ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ การป้องกันปัญหายาเสพติดขั้นปฐมภูมิที่ดี จึงควรที่จะมุ่งไปที่การแก้ปัญหาต้นเหตุเหล่านั้นด้วย

การป้องกันขั้น ทุติยภูมิ ซึ่งได้แก่การค้นหาผู้ป่วยที่เริ่มติดยาและให้การรักษาแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้เนื่องจาก โรคติดยาเป็น โรคติดต่อทางสังคม ผู้เสพจะเป็นผู้ที่แนะนำและชักชวนให้เพื่อนๆ ลองใช้ยาเสพติด การมุ่งบอกให้ผู้ถูกชวนปฏิเสธเพียงอย่างเดียวมักไม่เป็นผล  ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่ชวนมักไม่ชวนเพียงครั้งเดียว แต่จะชักชวนหลายครั้ง ครั้งใดที่ผู้ถูกชวนมีสภาพจิตใจที่เข้มแข็งก็จะปฏิเสธได้ แต่ถ้าผู้ที่ถูกอยู่ในช่วงที่ไม่สบายใจ ก็จะถูกชักจูงให้ลองใช้ยาเสพติดได้โ ดยง่าย การค้นหาผู้เสพผู้ติดและรีบให้การบำบัดรักษาจึงเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่สำคัญประการหนึ่ง

การป้องกันขั้นสุดท้ายหรือขั้นตติยภูมิ คือ การฟื้นฟูสภาพผู้ติดยาเสพติดให้กลับเป็น คนดีของสังคม ผู้ป่วยเหล่านี้เปรียบเสมือน วัคซีน ของสังคม เป็นผู้จะช่วยในการรณรงค์ การป้องกันปัญหายาเสพติดในขั้นปฐมภูมิได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในขั้นทุติยภูมิ มีความหวัง ที่จะเลิก และกลับเป็นคนดีของสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

   กล่าวโดยสรุป การป้องกันปัญหายาเสพติดทั้งสามระดับ ล้วนมีความสำคัญ มาตรการในแต่ละขั้นมีผลช่วยให้มาตรการในขั้นอื่นๆทำได้ดีขึ้น การดำเนินการป้องกันจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการไปพร้อมๆกันทั้งสามขั้นตอนจะเลือกทำเพียงขั้นใดขั้นหนึ่งมิได้ นอกจากนี้มาตรการป้องกันในขั้นปฐมภูมิไม่จำเป็นต้องเป็นมาตรการที่พูดถึงเรื่องยาเสพติดเท่านั้น แต่อาจเป็นมาตรการที่แก้ไขปัญหาที่ก่อให้เกิดปัญหายาเสพติดโดยไม่พูดถึงเรื่องยาเสพติดเลยก็ได้

 

หมายเลขบันทึก: 189459เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2008 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณครับ

ถ้าจะช่วยกันเผยแพร่แนวคิดนี้ต่อ ก็จะเป็นพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท