ความเข้าใจผิด ยาเสพติด ที่พบบ่อย


ยาเสพติด

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ การติดยาเสพติด ที่พบบ่อย

 

ติดยาเป็นเรื่องของ “นิสัย” ไม่ใช่โรค

คนส่วนใหญ่ยังมองว่าการติดยาเสพติดเป็นเรื่อง นิสัย หรือ พฤติกรรมไม่ดี ทำให้มองผู้ติดยาเป็น คนไม่ดี ไม่ใช่ คนป่วย ในทางการแพทย์มีหลักฐาน ที่ชัดเจน ว่า ยาเสพติดเข้าไปทำให้การทำงานของสมองผิดปกติ ซึ่งมีผลทำให้ ผู้ป่วยมีอาการติดยา ที่สำคัญความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นสามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีทางการแพทย์ ด้วยเหตุนี้องค์การอนามัยโลกจึงจัดให้ การติดสารเสพติด เป็นความผิดปกติทางจิต ชนิดหนึ่ง มีหลักเกณฑ์การวินิจฉัยที่ชัดเจน  รัฐบาลไทยโดยการประกาศใช้ พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พุทธศักราช ๒๕๔๕ ก็มีเจตนารมณ์เดียวกันในการที่จะปฏิบัติต่อผู้ที่เสพ/ติดยาเสพติด แบบผู้ป่วยมิใช่อาชญากร อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยติดยา ก็เหมือนกับ ผู้ป่วย/คนกลุ่ม อื่นๆ คือ มีทั้ง คนที่ดี และไม่ดี ผสมปนแปกันไป การจะตัดสินว่าคนๆนั้นดีหรือ ไม่ จึงไม่ควรดูที่พฤติกรรมการติดยาอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาพฤติกรรมด้านอื่นๆประกอบด้วย โดยพิจารณาเป็นรายบุคคลไม่เหมารวมว่าผู้ป่วยทุกคนเหมือนกัน กระนั้นก็ตาม คำถามสำคัญที่เราต้องถามตนเองคือ ถ้าเราประเมินว่าเขาเหล่านั้น เป็นคนไม่ดี ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม เราต้องการทำอย่างไรต่อ “กำจัดคนไม่ดีเหล่านั้น” หรือ ช่วยให้คนเหล่านั้นกลับตัวกลับใจเป็นคนดี” 

ติดยาเลิกได้ในเวลาสั้นๆ

คนส่วนใหญ่จะคิดว่าการเลิกยาเสพติดสามารถที่จะเลิกได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่หยุดยาได้ก็หายแล้ว ในความเป็นจริง ทางการแพทย์พบว่า กระบวนการบำบัดรักษาผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้เวลาที่นาน พอที่ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และช่วยให้สมองฟื้นกลับสู่สภาพปกติ จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาไม่น้อยกว่าสามเดือน  นอกจากนี้เนื่องจากผู้ป่วยที่ติดยาเป็นโรคเรื้อรัง มีการกลับเป็นซ้ำได้บ่อย การดูแลรักษาจึงจำเป็นต้องเป็นการดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง โดยต้องมีการติดตามการรักษา ภายหลังจากที่หยุดยาได้ เป็นประจำติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปี เพื่อป้องกันการกลับไปติดซ้ำและช่วยดูแลให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติในสังคม

ติดยาเลิกได้ถ้าใจแข็ง

เป็นความจริงที่ว่า ถ้าคนที่ติดยามีใจที่ เข้มแข็ง เขาจะเลิกยาได้ง่าย แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจ คือ คนติดยาส่วนใหญ่มี “สุขภาพใจ” ที่ไม่ดี หรือ มีใจที่ไม่เข้มแข็ง ถ้าเทียบกับโรคทางกาย ก็คล้ายกับจะบอกว่า โรคจะหายได้ง่ายถ้าผู้ป่วยมีสุขภาพดี คำพูดนี้ถูก แต่ว่าในความเป็นจริง ผู้ที่ป่วยอยู่มักจะมีสุขภาพที่ไม่ดี และเพราะการที่มีสุขภาพที่ไม่ดีนั่นแหละที่ทำให้ป่วย ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ที่ติดยา เป็นเพราะเขามีสุขภาพใจที่ไม่ดี มีจิตใจที่ไม่เข้มแข็งอยู่ก่อนที่จะติดยาแล้ว นอกจากนี้ ยาเสพติดเองยังมีผลต่อสมอง ยิ่งทำให้ จิตใจ อ่อนแอ มากยิ่งขึ้น จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ติดยาส่วนใหญ่ มีความผิดปกติทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล อาการนอนไม่หลับ ความผิดปกติทางด้านอารมณ์ หรือความผิดปกติทางจิตใจอื่นๆร่วมด้วย สูงถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ถ้าจะช่วยให้คนติดยามีใจเข้มแข็ง เขาต้องได้รับการช่วยเหลือทางด้านจิตใจ ผ่านกระบวนการ บำบัดรักษา/พัฒนา/ฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพื่อช่วยให้มีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น กระบวนการดังกล่าวต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ต้องใช้เวลา ครอบครัวและคนรอบข้างต้องเข้าใจ และให้กำลังใจ มิใช่เพียงบอกว่า “ให้ทำใจให้เข้มแข็งเท่านั้น”

คนติดยาทุกคนเหมือนกัน

ขี้ยา หรือ พวกขี้ยา เป็นคำพูดที่ทำให้เข้าใจว่า คนติดยาเป็น คนกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายๆกัน ในความเป็นจริง ไม่มีใครที่เหมือนกันทุกอย่าง ความเข้าใจผิดว่าคนติดยาทุกคนเหมือนกันนี้ ทำให้เข้าใจผิดว่าเราสามารถใช้วิธีการเดียวในการแก้ปัญหาติดยาเสพติดของผู้ป่วยทุกคนได้ ในสภาพความเป็นจริง ผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด มีปัญหาที่แตกต่างกันไป บางรายอาจเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวฐานะดีที่เลี้ยงลูกแบบไม่ปล่อยให้เจอความผิดหวัง เมื่อเจอความผิดหวังในชีวิตจึงหันมาพึ่งยาเสพติด ในขณะที่บางรายมาจากครอบครัวที่แตกแยกขาดความอบอุ่นในครอบครัว บางรายมาจากครอบครัวที่ดีแต่โชคร้ายได้รับประสบการณ์ที่สะเทือนใจและไม่สามารถจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ทำให้ต้องใช้ยาเสพติดเพื่อช่วยให้ลืมเหตุการณ์ดังกล่าว การแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องแก้ตามแต่ปัญหาที่ผู้ป่วยแต่ละรายมี ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบเหมารวมที่ผู้ป่วยทุกรายได้รับการรักษาแบบเดียวกัน 

ผู้ป่วยที่ติดยาสามารถระบุสาเหตุของการติดยาของตนได้

            คำถามหนึ่งที่ผู้ที่ติดยามักจะถูกถาม คือ คำถามว่า เขาติดยาเพราะอะไร ผู้ที่ถามคำถามนี้ หลายครั้ง ลืมคิดไปว่า คำตอบที่ได้รับนั้น แท้จริงแล้วเป็นคำตอบ ของคำถามว่าเขาใช้ยาครั้งแรกเพราะอะไร คำถามสองคำถามนี้ (ติดยาเพราะอะไร กับ ใช้ยาครั้งแรกเพราะอะไร) เป็นคำถามที่ต่างกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ตอบคำถาม “ใช้ยาครั้งแรกเพราะอะไรได้” แต่ไม่สามารถตอบคำถาม “ติดยาเพราะอะไร” ได้ เพราะถ้าผู้ป่วยหาได้ว่าตนติดเพราะอะไร ก็น่าจะแก้ปัญหานั้นได้ ไม่ติดยา คำตอบส่วนใหญ่ จึงเป็นคำตอบ ที่ผู้ป่วยคิดว่าเป็นปัญหา แต่อาจไม่ใช่ปัญหาจริงๆที่ผู้ป่วยมี

เป้าหมายของการรักษา คือช่วยให้ผู้ป่วยเลิกยาได้

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าปัญหาการติดยาหมดลงเมื่อเลิกยาหรือหยุดใช้ยาได้ ความเข้าใจนี้ทำให้คิดว่าการหยุดยาคือเป้าหมายที่สำคัญที่สุดในการช่วยเหลือผู้ป่วย ในทางปฏิบัติเป้าหมายที่สำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือการช่วยให้เขากลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข การช่วยให้บรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวจึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลายส่วน ที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดรักษา ได้รับการศึกษา ได้รับโอกาสให้ประกอบอาชีพที่สุจริต เลี้ยงตนเองได้ในสังคม

การถอนพิษเป็น กระบวนการสำคัญในการ เลิกยา

            ความเข้าใจผิดเรื่องนี้เป็นผลจากการที่ตีความหมายการรักษาขั้น “ถอนพิษ” ผิด โดยเป็นผลจากการแปลคำภาษาอังกฤษว่า detoxification เป็นภาษาไทยว่า “ถอนพิษ” ทั้งที่ในขั้นตอนนี้เป็นการรักษา “อาการถอนยา” มิใช่การถอนพิษ การใช้คำว่าถอนพิษดังกล่าว ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม ว่าการรักษาผู้ป่วยยาเสพติด ต้องทำการถอนพิษ คล้ายๆกับการถอนพิษ จากการได้รับพิษแบบอื่นๆ ทั้งที่ในความเป็นจริง พิษที่เกิดจากการเสพยาเป็นพิษสะสม ที่อยู่ในสมอง การทำให้อาเจียน ไม่ได้ช่วยให้พิษสะสมในสมองออกจากร่างกาย การแก้ไขพิษที่สะสมในสมองจำเป็นต้องให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูเพื่อช่วยให้สมองกลับมาอยู่ในสภาพปกติ มิใช่การกระตุ้นการอาเจียน การขับถ่าย เหมือนกับการได้รับพิษ กลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ภาพการรักษาผู้ป่วย โดยการทำให้ผู้ป่วยอาเจียนดังกล่าว ยังก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า กระบวนการถอนพิษเป็น ขั้นตอนสำคัญในการบำบัดรักษาผู้ป่วย ในความเป็นจริงขั้นตอนที่สำคัญมากที่สุด คือ ขั้นตอนการฟื้นฟูสภาพที่มุ่งให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข

การลงทุนรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติดเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่า

            หลายครั้งที่จะมีคำถามว่า ทำไมรัฐถึงควรลงทุนในการให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด เอาเงินไปพัฒนาเรื่องอื่นที่คุ้มกว่ามาเสียให้กับผู้ที่ติดยา ไม่ดีกว่าหรือ คำตอบคือ การรักษาผู้ที่ติดยา มิได้เป็นการช่วยเฉพาะผู้ที่ติดยาเท่านั้น แต่เป็นการช่วยสังคมรอบๆผู้ติดยาด้วย ไล่ไปตั้งแต่ครอบครัวผู้ป่วยเอง ถ้าท่านมีโอกาสได้ คุยกับครอบครัวของผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดว่า การที่คนในครอบครัวเขาติดยาหนึ่งคนมีผลกับครอบครัวอย่างไรบ้าง และถ้าคนที่ติดยาเลิกยาได้จะช่วยครอบครัวได้อย่างไรบ้าง ท่านจะเข้าใจว่าการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ติดยาช่วยครอบครัวของเขาได้มากมายเพียงใด นอกจากผลกระทบต่อครอบครัวแล้ว การให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดยัง ช่วยสังคมได้อย่างมากอีกด้วย องค์การอนามัยโลกพบว่าการลงทุนในเรื่องการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติด จะช่วยลดการสูญเสียที่เกิดจากอาชญกรรมที่เป็นผลจากการติดยาลงได้สูงถึงสี่เท่าของเงินที่ใช้ในการรักษาผู้ติดยา นอกจากนี้ถ้านับรวมผลเสียทางด้านเศรษฐกิจจากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้ด้วยแล้ว การรักษาจะช่วยลดการสูญเสียลงได้สูงถึงสิบสองเท่าของเงินที่จ่ายเป็นค่ารักษาผู้ป่วย

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถกระทำได้โดยใช้เวลาสั้นๆ

            มีความเชื่อผิดๆว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใดๆก็ตามเราสามารถกระทำได้โดยการ นำไปผ่านกระบวนการอบรม หรือ เข้าค่าย โดยใช้ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่วันได้ ในความเป็นจริงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา มีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ ลองนึกถึงพฤติกรรม ไม่ดีของตัวท่านเองที่ท่านต้องการเลิก ท่านสามารถเลิกพฤติกรรมนั้น ได้โดยง่ายหรือไม่ ยิ่งร้ายไปกว่านั้น ถ้าพฤติกรรมนั้นเป็นพฤติกรรมที่ ผู้อื่น ต้องการให้ท่านเลิก (ไม่ใช่ความต้องการของท่านเอง) การส่งให้ท่านไปเข้ากิจกรรมเพื่อให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว ช่วยให้เลิกพฤติกรรมเหล่านั้นได้เลยหรือไม่ ในทางปฏิบัติการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา มีความต่อเนื่อง การเข้าค่ายอบรม อาจเป็น “จุดเริ่มต้น” ของการปรับพฤติกรรม แต่การเข้าค่าย อบรมเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีมาตรการติดตาม หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่นที่ต่อเนื่องตามมาด้วย มาตรการเหล่านี้ต้องมีระยะเวลาต่อเนื่องที่ยาวนานพอที่ทำให้มั่นใจว่าพฤติกรรมไม่ดีที่เราต้องการปรับเปลี่ยน ถูกทดแทนด้วยพฤติกรรมดีที่เราต้องการจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของนิสัยของผู้ที่เราปรับพฤติกรรม มิใช่เป็นการปรับพฤติกรรมเพราะกลัวมาตรการการลงโทษเท่านั้น  

 

 

 

 

 

 

หากท่านต้องการข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่อง ยาเสพติดและแนวทางแก้ไข สามารถค้นหาข้อมูลได้จากเว็บไซด์ โครงการจัดการองค์ความรู้เรื่องยาเสพติด ( www.akm.in.th) หรือติดต่อโดยตรงที่โครงการได้ที่ โทร. 02 273 0172

 

คำสำคัญ (Tags): #ยาเสพติด
หมายเลขบันทึก: 189458เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2008 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เหมือนว่าแฟนติดยาไม่รู้จะทำยังไง เค้าเคยติดยามาแล้วแล้วรู้สึกว่าจะคบเพื่อนไม่ค่อยดีเลย ไม่รู้จะดูอย่างไงแล้ว

พาไปรักษาเถอะครับ ติดยาเป็นโรค ป่วยก็ต้องรักษา อย่าพยายามช่วยด้วยตนเองเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท