008 : เทพ คือ สัญลักษณ์แห่งชนชั้น? ตอนที่ 1/2



ในสนธิสัญญาระหว่างอาณาจักรฮิตไทต์กับอาณาจักรมิทันนีเมื่อราวปี 1380 ก่อนคริสตกาลนั้น ฝ่ายมิทันนีได้อ้างถึงชื่อเทพเจ้าบางองค์ที่น่าจะสะดุดตาเราคนไทยไม่น้อยทีเดียว เช่น มิตระ (Mitra) วรุณ (Varuna) อินทร์ (Indra) และ นาสัตยะ (Nasatyas)

[อ่านบันทึกเกี่ยวกับ ฮิตไทต์ ของเพื่อนใน G2K ได้ที่ : อาณาจักรฮิตไตต์]

 

ชื่อของเทพเหล่านี้ทำให้นักประวัติศาสตร์ตีความว่า อาณาจักรมิทันนีของพวกเฮอร์เรียน (Hurrian) นั้น น่าจะมีชนชั้นนำเป็นชาวอินโดอารยัน (Indo-Aryan) เป็นแน่แท้

อย่างไรก็ดี ชื่อของเทพเจ้าที่กล่าวถึงนี้อาจจะมีความลึกซึ้งมากกว่าที่ปรากฏ!

ในปี ค.ศ. 1929 นักวิชาการชาวฝรั่งเศสที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของภาษาชื่อ ชอร์ช ดูเมซิล (Georges Dumezil) ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Flamen-Brahman ซึ่งเสนอว่า สังคมของชาวอินโด-ยูโรเปียนในยุคโบราณนั้นมีการแบ่งผู้คนออกเป็น 3 ชนชั้น โดยแต่ละชนชั้นมีหน้าที่ (function) โดยเฉพาะของตน

ชอร์ช ดูเมซิล (Georges Dumezil)

หน้าที่แรกเกี่ยวข้องกับอำนาจการปกครอง ซึ่งมีชนชั้นนักบวชคอยกำกับดูและในแง่ของกฎหมาย และพิธีกรรมทางศาสนา-ไสยศาสตร์  หน้าที่แรกนี้จะมีเทพ 2 องค์เป็นสัญลักษณ์ โดยเทพองค์หนึ่งแทนกฎหมาย (เรื่องทางโลก) ส่วนอีกองค์แทนศาสนา-ไสยศาสตร์ (เรื่องเหนือโลก)

หน้าที่ที่สองเกี่ยวข้องกับอำนาจทางการทหาร ซึ่งมีชนชั้นนักรบเป็นผู้ใช้กำลังปกป้องคุ้มครองผู้คน หรือใช้กำลังเช้ารุกไล่ศัตรู   หน้าที่นี้จะมีเทพเกี่ยวกับสงครามเป็นสัญลักษณ์

หน้าที่ที่สามเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ สุขภาพและปากท้องของผู้คน ซึ่งมีเกษตรกรทำหน้าที่เพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์  หน้าที่นี้จะมีเทพคู่แฝด โดยคู่แฝดมักจะมีความเกี่ยวข้องกับม้า ทั้งนี้มักจะมีเทพีอีกองค์หนึ่งเป็นสัญลักษณ์ร่วมอยู่ด้วย


แนวคิดของดูเมซิลซึ่งแบ่งหน้าที่ของคนในสังคมเป็น 3 ส่วนหลักๆ นี้เรียกว่า Trifunctional hypothesis
ซึ่งผมขอแปลว่า สมมติฐานไตรกิจจา ไปพลางๆ ก่อน

แนวคิดนี้บางทีก็เรียกว่า Tripartition model หรือ แบบจำลองไตรภาค ด้วยเช่นกัน

(ดูเพิ่มเติม : Trifunctional Hypothesis ใน Wikipedia)

ลองมาดูตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมโดยเปรียบเทียบเทพต่างๆ ในสังคมอินโด-ยูโรเปียนโบราณ น่าจะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

ดูเมซิล ระบุว่า สำหรับหน้าที่ด้านการปกครองนั้น พวกอินโด-อารยันจะใช้พระมิตระกับพระวรุณเป็นตัวแทน ส่วนพวกนอร์ส (Norse) จะใช้เทพไทร์ (Tyr) กับ เทพโอดิน (Odin) ทั้งนี้ พระมิตระและเทพไทร์เป็นสัญลักษณ์แทนกฎหมาย ส่วนพระวรุณและโอดินเป็นสัญลักษณ์แทนศาสนา

หน้าที่ด้านการทหาร พวกอินโด-อารยันใช้พระอินทร์ พวกนอร์สใช้ทอร์ (Thor) และพวกโรมันใช้เทพอังคาร (Mars) เพราะเทพทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นเทพแห่งสงครามทั้งสิ้น



ทอร์ (Thor) : เทพแห่งสายฟ้าของชาวนอร์ส


หน้าที่ด้านความอุดมสมบูรณ์และปากท้องของผู้คน พวกอินโด-อารยันก็มีเทพนาสัตยะ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นคู่แฝดที่มีพระพักตร์เป็นม้า และมีชื่อเรียกว่า พระอัศวิน (อัศวะ = ม้า) องค์หนึ่งมีนามว่า พระนาสัตยอัศวิน ส่วนอีกองค์มีนามว่า พระทัศรอัศวิน



พระอัศวิน

สำหรับเทพีที่เป็นสัญลักษณ์ในกรณีนี้คือ พระสรัสวดี ซึ่งในมหาภารตะถือกันว่าเป็นผู้ให้กำเนิดน้ำอันบริสุทธิ์ สำหรับทำความชุ่มชื่น เพื่อความผาสุกหรือความสมบูรณ์ของพันธุ์รุกขชาติและสรรพสัตว์

หันไปดูพวกกรีก-โรมันกันบ้างจะพบว่ามี คาสเตอร์ (Castor) และพอลลักซ์ (Pollux) ชื่อนี้คงจะคุ้นหูคนที่ชอบดาราศาสตร์ เพราะเป็นดาวสองดวงหลักในราศีเมถุน (เดือนมิถุนายน) นั่นเอง

คาสเตอร์ และพอลลักซ์ (Castor & Pollux)

ชาวโรมันถือว่าคาสเตอร์และพอลลักซ์เป็นผู้พิทักษ์ม้า โดยเฉพาะคาสเตอร์นั้นควบคุมม้าได้เก่งฉกาจ สามารถปราบม้าพยศให้เชื่องได้โดยง่าย สำหรับเทพีที่เป็นสัญลักษณ์ คือ เฮเลน (Helen) ในตำนานสงครามโทรจัน ซึ่งถือกันว่าเป็นสตรีที่สวยที่สุดในโลก


คงพอจะเห็นเค้าลางของสมมติฐานไตรกิจจากันบ้างแล้ว....

เอาไว้คราวหน้าจะชวนไปดูตัวอย่างเพิ่มเติม พร้อมข้อโต้แย้งของคนที่ไม่เชื่อกันอีกสักครั้งนะครับ

 

อ่านตอนจบ

 

 


 

ขุมทรัพย์ทางปัญญา

เนื้อหาส่วนใหญ่ในบทความนี้ ผมสรุปมาจากบางส่วนของหนังสือ In Search of the Indo-Europeans เขียนโดย J.P. Mallory, Thames & Hudson Ltd (ISBN-13 : 978-0-500-27616-7)

ดูรายละเอียดหนังสือเล่มนี้ใน Amazon dot com


ประวัติของบทความ

  • ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ ท่องเวลา ผ่าอารยธรรม เซ็คชั่น จุดประกาย เสาร์สวัสดี
  • ดัดแปลงเพื่อนำลงใน GotoKnow เพื่อประโยชน์สาธารณะ
  • ตีพิมพ์ในหนังสือ ถอดรหัสสัญลักษณ์ปริศนา, สนพ. สารคดี

ขอขอบคุณ

หมายเลขบันทึก: 187885เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2008 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีครับ

  • แวะมาอ่านครับ สนุกดี ไม่เครียด อิๆ
  • เรื่องเทพเจ้าอินโด-ยุโรเปียน เชื่อมโยงกันได้หมดอย่างน่าสนใจ แต่มีเงื่อนทางภาษาศาสตร์อยู่บ้าง
  • เคยอ่านบทความ ชื่อคล้ายๆ In Search of the Indo-Europeans ใน Scientific American หลายปีแล้ว ว่าด้วยถิ่นกำเนิดโบราณ ออกไปเชิงโบราณคดีครับ
  • จะตามอ่านตอนต่อไปครับ ;)

สวัสดีค่ะอาจารย์

ดีใจที่ได้เห็นบันทึกนี้ค่ะ เพราะมันต่อเติมเต็มได้พอดี : )

เล่มนี้เขียนถึงฮิตเลอร์ด้วยรึเปล่าค่ะ หรือว่ากล่าวถึงแต่สมัยโบราณ

จะติดตามต่อไปค่ะ ขอบคุณมากๆค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์หมู

      เรื่องเทพของพวกอินเดีย-ยุโรป (อินโด-ยูโรเปียน) นี่น่าทึ่งจริงๆ ด้วยแหละ 

      ตอนแรกที่รู้ว่าคนในอารยธรรมโบราณกว่า 3,000 ปีก่อน อย่างอารยธรรมมิทันนี (Mitanni) ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ก็นับถือพระอินทร์ (Indra) ทำให้อึ้งไปเลย อีกอย่างก็คือ ทำให้ "ภาพลักษณ์" ของพระอินทร์ที่มีอยู่ขยายขอบเขตออกไปอีกด้วย

      เคยอ่านเจอว่า ตามคติในศาสนาเชน (Jainism) นั้น หัวหน้าของพระอินทร์ทั้งมวล คือ องค์ศักรินทร์ (ชื่อเหมือน ผอ. สวทช. ที่ทำงานของพี่เลยแฮะ..555) ก็เป็นโต้โผในการจัดการให้ท่านศาสดามหาวีระ (หรือเจ้าชายวรรธมาน ในขณะนั้น) มาเกิดอีกต่างหาก

      นิตยสาร Scientific American เคยลงอีกเรื่องหนึ่งของ Prof. Renfrew แต่จะหนักไปทางกำเนิดของภาษาอินเดีย-ยุโรปครับ (สนใจบทความนี้ไหม?)

      ไว้นึกอะไรออกจะมาชวนโม้กันต่อครับ ;-)

 

สวัสดีครับ

      อาจารย์มัทนา ต้องขอบคุณอาจารย์ด้วยเช่นกันที่ วางโครงเรื่องใหญ่ไว้ในบันทึกชุด เรียนรู้ความเหมือนของศาสนาต่างๆ จากประวัติศาสตร์ยุคสมัย Axial เพราะทำให้ขยายผลต่อได้อย่างสะดวก แล้วแต่ว่าจะสนใจแง่มุมไหน

      หนังสือ The Great Transformation ของ Karen Armstrong ที่อาจารย์แนะนำไว้นี่ น่าสนใจมาก น่าจะมีการแปลเป็นภาษาไทย

      ถ้ายังไม่มี และอาจารย์จัดเวลาแปลจนจบได้ ผมว่าน่าจะมี สนพ. บางแห่งสนใจครับ อย่าง สนพ. สวนเงินมีมา (ที่นี่ออกจะแนวปรัชญา - ผมกำลังทำงานอยู่ด้วย โดยร่วมแปลหนังสือชื่อ Quantum and the Lotus) หรือ สนพ. เมืองโบราณ (ที่นี่อยู่ในเครือของ สนพ. สารคดี ที่ผมคุ้นเคยมาก เพราะทำหนังสือมาด้วยหลายเล่มแล้ว)

      หนังสือ In Search of the Indo-Europeans ของ J.P. Mallory นี่หนักไปทางโบราณคดีครับ หนุนด้วยหลักฐานทางภาษาและเทพปกรณัม (เหมือนชื่อรองของหนังสือ) เรื่อง Aryan Myth ที่ฮิตเลอร์นำไปใช้นั้น กล่าวถึงแบบแตะๆ เท่านั้นครับ

ไว้เดี๋ยวจะหาโอกาสไปแสดงความคิดเห็นในบันทึกของอาจารย์บ้างครับ ^__^

 

อาจารย์บัญชามายุแบบนี้ มัทเริ่มมีแรงอยากแปลต่อแล้วค่ะ

จริงๆก็ตั้งใจแปลให้จบเล่มค่ะ แต่ต้องใช้พลังมากเหลือเกิน ต้องค่อยๆทำไป อยากทราบขั้นตอนการขอลิขสิทธิ์แปลหนังสือเหมือนกันค่ะอาจารย์ว่าเค้าจะอนุมัติได้อย่างไร เค้าจะเชื่อมัทเหรอ เพราะมัทไม่ได้เรียนมาทางนี้ แต่สนใจแล้วก็ค้นคว้าเพิ่มเติมเองทั้งนั้นอ่ะค่ะ

ขอบคุณครับพี่ชิว อ่านแล้วชักมองภาพลางๆออกแล้วครับ

สวัสดีครับ อาจารย์มัท (ขอเรียกสั้นๆ แบบนี้ละกัน ;-) )

       ในกรณีที่แปลออกมาตรงๆ เรื่องขอลิขสิทธิ์นี่เป็นงานของ สนพ. ครับ แต่เราต้องขายไอเดียให้กับ สนพ. นั้นได้ก่อน

       แต่ถ้าเป็นการเรียบเรียงเนื้อหามาจากหลายๆ เล่ม แล้วเขียนด้วยสำนวนตนเอง ก็ลองไปอ่านบันทึกนี้ได้ครับ

       เขียนหนังสือขาย : ประสบการณ์ & ข้อมูลน่ารู้

       ไว้ผมจะแวะไปคุยกับที่บล็อกของอาจารย์เพิ่มเติมนะครับ ขอเวลาสักพักหนึ่ง

  

      

 

สวัสดีครับ เดอ

        ระหว่างเขียนตำนานเทพเจ้าไปนี่ เผลอๆ อาจจะคิดทฤษฎีใหม่เองก็ได้นะ  แล้วอย่าลืมเล่ามาบ้างละกัน ^__^

ตอนนั้นเราเชื่อสิ่งนี้มากกว่าสิ่งนั้น

ตอนนี้เราเชื่อสิ่งนั้นมากกว่าสิ่งนี้

แต่...ที่สุดแล้ว

ทั้งสองสิ่ง ทั้งสิ่งนั้นและสิ่งนี้ต่างล้วนคือ "ธรรม" คือ อันเดียวกัน

ธรรมที่ไหลไปแห่งการณ์ปรากฏตามเหตุของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป...มีเริ่มต้นและมีจุดจบ

นี่คือ สภาวะแห่งเป็นไปของทุกสรรพสิ่ง...

 

http://gotoknow.org/blog/kapoommind/289232

 

สวัสดีครับ กะปุ๋ม

         จะว่าไปแล้ว ความเชื่อของแต่ละคนน่าจะมาจากเหตุอย่างน้อย 2 อย่าง คือ เจอหลักฐานด้วยตนเอง กับ ถูกกับจริตของแต่ละคนนั้น

         มีอย่างอื่นอีกไหมหนอ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท