ชาครธมโม
นาย สมชาย ชาครธมโม ชินวานิชย์เจริญ

กระบวนการมีส่วนร่วมของหมอพื้นบ้านอำเภอบ้านดุง


การรวบรวมองค์ความรู้โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก

กระบวนการมีส่วนร่วมของหมอพื้นบ้านในการพัฒนาการตรวจ  วินิจฉัย และรักษาโรคแบบดั้งเดิมของภาคอีสาน  :  กรณี  อ.บ้านดุง  จ.อุดรธานี มี วัตถุประสงค์ของโครงการ

1.     เพื่อศึกษาองค์ความรู้จากหมอพื้นบ้าน  และรวบรวมวิเคราะห์  นำไปสู่การปริวรรต          ภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้าน  อ.บ้านดุง  จ.อุดรธานี

2.       เพื่อจัดทำทะเบียนหมอพื้นบ้านและภูมิปัญญา  อ.บ้านดุง  จ.อุดรธานี

3.       เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลภูมิปัญญาในกลุ่มเครือข่ายหมอพื้นบ้าน

4.       เพื่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ดั้งเดิมของแพทย์พื้นบ้านอีสาน

ความคาดหวังต่อเป้าหมายหลักของโครงการ  คือ การรวบรวมความรู้ของหมอพื้นบ้านในเรื่องวิธีการวินิจฉัยโรค  การรักษาแบบพื้นบ้าน  โดยเน้นในประเด็นการวินิจฉัยโรคเพื่อนำมาจัดการให้เป็นความรู้ที่ชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ได้  ชุมชนได้อัตลักษณ์ของตน คือ ตำราพื้นบ้าน  และความภาคภูมิใจในตัวตนของหมอพื้นบ้าน  นำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน  และเมื่อมีการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปสังเคราะห์  หรือวิเคราะห์ต่อเนื่องใน           เชิงวิชาการแล้วอาจจะทำให้ได้ความรู้ที่ร่วมสมัย  ใช้ประโยชน์ได้จริง  และเป็นที่น่าเชื่อถือในวงกว้างต่อไป         

จากการดำเนินการได้มีการรวบรวมองค์ความรู้โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก  มีแบบฟอร์มสัมภาษณ์เพื่อใช้เป็นแนวคำถามและทีมพี่เลี้ยงได้ให้ข้อมูล (เทคนิคการสัมภาษณ์, แนวคำถาม,องค์ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์พื้นบ้าน,  36 กลุ่มอาการโรคพื้นบ้านอีสาน, การสังเกตอาการ การซักประวัติผู้ป่วย)  แก่กลุ่มเครือข่ายใบชะโนด  พบว่าข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ต้องนำไปสังเคราะห์  โดยบุคลากรที่มีความรู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการแพทย์แผนปัจจุบัน  การแพทย์แผนไทย  ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร  มาร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง  เพื่อขยายกรอบความรู้  มุมมองที่กว้างมากขึ้น  และสามารถลงลึกถึงรายละเอียดขององค์ความรู้  ดังนี้

1. ทีมพี่เลี้ยง  ทำหน้าที่

- จัดเตรียมข้อมูลสนับสนุน  ได้แก่    กลุ่มอาการทางการแพทย์พื้นบ้านอีสาน  36  กลุ่มอาการ,  การวินิจฉัยโรคพื้นบ้านอีสาน  โดย  อ.สวิง        บุญเจิม,  ตำรายาดีอีสาน 

- สรุปเอกสารจากการสำรวจ สัมภาษณ์ของทีมสัมภาษณ์ (ทีมกลุ่มเครือข่ายใบชะโนด)  เบื้องต้น

                                2. ทีมกลุ่มเครือข่ายใบชะโนด  ทำหน้าที่ ผู้ช่วยนักวิจัย

                                                - สำรวจ  และสัมภาษณ์หมอพื้นบ้านตามแบบฟอร์มการเก็บข้อมูล

                                                - ประสานหมอพื้นบ้านในการนัดหมายการประชุมแต่ละครั้ง

                                                - จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดประชุมทุกครั้ง

                                3. ทีมหมอพื้นบ้าน  ทำหน้าที่ นักวิจัย

                                                - ให้ข้อมูลแก่กลุ่มเครือข่ายใบชะโนด  เรื่องการดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้าน

                                                - เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยน  และสรุปบทเรียนร่วมกัน

 

 

คำสำคัญ (Tags): #หมอพื้นบ้าน
หมายเลขบันทึก: 187694เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2008 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2012 00:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

1. คาดหวังว่าจะได้วิธีวินิจฉัยโรคแบบพื้นบ้าน และรายละเอียดของการรักษาโรคนั้นๆ โดยทีมผู้ช่วยนักวิจัยจะเป็นผู้สัมภาษณ์ เก็บบันทึกข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลวิธีวินิจฉัยเบื้องต้น ที่ยังไม่ละเอียดเพียงพอ เนื่องจาก

 ทีมผู้ช่วยนักวิจัยอาจจะขาดความรู้ในด้านการแพทย์พื้นบ้าน

 ขาดเทคนิคที่ใช้ในการสัมภาษณ์ (ส่อไม่ถึงจุด)

 ยังไม่มีเวทีที่จะได้สรุปข้อมูลทั้งหมดร่วมกัน ทำให้ไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่ได้ครบถ้วนและเพียงพอหรือยัง

 ทีมผู้ช่วยนักวิจัยและทีมพี่เลี้ยง ไม่ได้มีโอกาสลงพื้นที่ร่วมกัน ทำให้ไม่ได้ร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงเทคนิคและวิธีการสัมภาษณ์

ซึ่งทีมงานดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้อย่างไรก็ตามในช่วงแรกยังไม่ได้รับความร่วมมือจากหมอพื้นบ้าน เพราะหมอพื้นบ้านยังไม่เข้าใจในการทำโครงการ และเมื่อได้เข้าร่วมประกระชุมหลายครั้ง ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจกรรม หมอพื้นบ้านจึงเข้าใจในวัตถุประสงค์ และเปิดเผยความรู้ วิธีการการดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้านให้กับ กลุ่มเครือข่ายใบชะโนด แต่ยังไม่ได้นำมาวิเคราะห์ให้เป็นกระบวนการให้เป็นรูปเป็นร่าง อย่างเป็นระบบ

การประชุมชี้แจงวัตถุประสงค์และสรุปผลการดำเนินงานเป็นช่วงๆให้แก่ผู้ร่วมโครงการ

 มีการประชุมชี้แจงถึง 4 ครั้ง เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในวัตถุประสงค์ของโครงการ

การดำเนินโครงการทีมพี่เลี้ยงได้ประสานงานกับทีมกลุ่มเครือข่ายใบชะโนดและ หมอพื้นบ้าน ให้มาร่วมประชุมทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยจัดให้มีการประชุมชี้แจงถึง 4 ครั้ง เนื่องจากในช่วงแรกของการดำเนินการ (การประชุม 2 ครั้งแรก) ผู้ร่วมโครงการทั้งหมด (ทั้งตัวผู้เก็บข้อมูลและหมอพื้นบ้านที่จะเป็นทั้งผู้เก็บข้อมูลและให้ข้อมูล) ยังไม่ได้เข้ามารับรู้และทำความเข้าใจ จนกระทั่งในการประชุมครั้งที่ 3 เพื่อติดตามผลการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม มีผู้เสนอว่าน่าจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมดได้เข้าร่วมประชุม จึงมีการจัดประชุมโดยให้ผู้ร่วมโครงการทั้งหมดเข้าประชุมครั้งที่ 4

ช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มชี้แจงโครงการถึงการประชุมชี้แจงครั้งที่ 4 เริ่มตั้งแต่ 25 พ.ย. 2548 ถึง 14 ก.พ. 2549 ในการประชุมแต่ละครั้งใช้เวลา 1 วัน โดยช่วงก่อนที่ทีมพี่เลี้ยงจะเดินทางไปถึง พื้นที่ได้มีการจับกลุ่มพูดคุยกันทำความคุ้นเคยกัน และเมื่อทีมพี่เลี้ยงไปถึงจึงได้เริ่มการประชุม และหลังจากจบการประชุมแล้ว พื้นที่ก็ยังพูดคุยแลกเปลี่ยนกันต่อ

เหมาะสม เพราะ

1. การจัดประชุมชี้แจงถึง 4 ครั้ง นั้นทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมที่เข้าร่วมตั้งแต่ครั้งแรกเริ่มมีความคุ้นเคยกันมากขึ้น และได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้กันทั้งในที่ประชุมและเป็นการส่วนตัว

2.ผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งแรกๆอาจจะยังไม่เข้าใจในวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างชัดเจน เมื่อมีการชี้แจงและทำความเข้าใจในครั้งต่อมา (ครั้งที่ 2 – 4) ทำให้เข้าใจและสามารถอธิบายให้ผู้เข้าร่วมประชุมคนใหม่ได้

3.ในช่วงที่มีการประชุมชี้แจงซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการไปในตัว หมอพื้นบ้านและกลุ่มเครือข่ายใบชะโนดได้เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมมากขึ้น และมีแนวความคิดที่จะสร้างเครือข่ายหมอพื้นบ้านอำเภอบ้านดุงขึ้น

ไม่เหมาะสม เพราะ

1. จากการที่ต้องมีการประชุมชี้แจงถึง 4 ครั้งในเรื่องของวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งเป็นเรื่องเดิม แต่ผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบในครั้งแรกๆ และมาเพิ่มมากขึ้นในครั้งต่อๆมา น่าจะเกิดจากความชัดเจนของการประสานงานเกี่ยวกับการเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาเข้าร่วมประชุม

2.ในการประชุมบางช่วงตรงกับช่วงที่ผู้เข้าร่วมประชุมติดภารกิจส่วนตัว เนื่องจากผู้เข้าร่วมประชุมประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต

ช่วงเวลาในการติดตามผลการสำรวจข้อมูล เป็นช่วงหลังจากที่มีการเก็บข้อมูลไปแล้วระยะหนึ่ง โดยในครั้งแรกตัวแทนกลุ่มเครือข่ายใบชะโนดได้รวบรวม และทีมพี่เลี้ยงได้นำไปเรียบเรียง พบว่าผู้สำรวจบางคนยังไม่ชัดเจนในเทคนิคการสำรวจ จึงทำให้ต้องจัดให้มีการประชุมชี้แจงวิธีการสำรวจและลงบันทึกข้อมูล ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคนิคให้ทีมกลุ่มเครือข่ายใบชะโนด เพื่อให้ข้อมูลจากการสำรวจสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การสร้างการมีส่วนร่วมนอกจากจะเกิดในเวทีประชุมรวมแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรม 2 กิจกรรม คือ เวทีคืนข้อมูลสู่ชุมชนและกิจกรรมเดินป่าภูดูสมุนไพร โดยการจัดกิจกรรมทั้ง 2 กิจกรรม อยู่ในช่วง เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2549 โดยผู้ร่วมโครงการทั้งหมดได้ร่วมกันเสนอการดำเนินกิจกรรมนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่หมดฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ทำให้ผู้ร่วมโครงการและชาวบ้านในพื้นที่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้อย่างเต็มที่

กลุ่มคนที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มเครือข่ายใบชะโนด ทำหน้าที่ ผู้ช่วยนักวิจัยในการสำรวจ และสัมภาษณ์หมอพื้นบ้านตามแบบฟอร์มการเก็บข้อมูล และทีมหมอพื้นบ้านทำหน้าที่ นักวิจัย โดยให้ข้อมูลแก่กลุ่มเครือข่ายใบชะโนด เรื่องการดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้านและเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยน สรุปบทเรียนร่วมกัน ในช่วงเริ่มต้นพัฒนาโครงการทีมพี่เลี้ยงได้นำแนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของหมอพื้นบ้านในการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคแบบพื้นบ้านมาพูดคุยกัน และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แต่เนื่องจากการประสานงานและการคัดเลือกตัวหมอพื้นบ้านยังไม่ชัดเจนจึงมีผู้เข้าร่วมการประชุมน้อยกว่าที่คาดไว้

เมื่อมีการจัดประชุมบ่อยครั้งขึ้น ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการบ่อยครั้งขึ้น ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมเข้าใจมากยิ่งขึ้น จึงมีผู้เข้าร่วมประชุมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การจัดการประชุมในพื้นที่ครั้งล่าสุดเนื่องจากการเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมอพื้นบ้านและกลุ่มเครือข่ายใบชะโนดมาร่วมประชุมให้ครบตามเป้าหมาย

ในการจัดเวทีคืนข้อมูล มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่มากถึง 70 – 100 คน โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาไม่ขาดสาย

ในการจัดกิจกรรมช่วงแรก ที่เป็นการพัฒนาโครงการ จัดเป็นเวทีแลกเปลี่ยน โดยใช้การเขียนบนกระดานเพื่อสื่อสารกัน แต่ละเวทีมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น เวทีชี้แจงวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการเป็นไปในรูปแบบของการสื่อสารทางเดียว ผ่านการพูดคุยกันปากเปล่าและการเขียนบนกระดาน เวทีแลกเปลี่ยนความรู้เป็นไปในรูปแบบการสื่อสารผ่านทางการพูดคุย การใช้ไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียงเป็นอุปกรณ์ช่วยในการพูดคุย การเขียนบนกระดานและเอกสารบางส่วน และเวทีคืนความรู้เป็นเวทีที่หมอพื้นบ้านได้ออกมาแสดงความรู้ความสามารถผ่านทางการพูดคุยกัน ผ่านทางไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียง การจัดบอร์ด และมีตัวอย่างที่สามารถจับต้องได้ เช่น ยาสมุนไพร การทำห้องอบสมุนไพรแบบชั่วคราว การนวด เป็นต้น

การจัดกิจกรรมจะมีกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม คือ

1. เวทีชี้แจงและสรุปผลการดำเนินการ

2. เวทีติดตามผลการดำเนินการ

3. กิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วม (เวทีคืนข้อมูลสู่ชุมชน และกิจกรรม “เดินป่าภู ดูสมุนไพร”)

ในเวทีสร้างการมีส่วนร่วม นั้นมีประธานกลุ่มเครือข่ายใบชะโนด (พี่ชัยพฤกษ์ ค้อมศิรินทร์) ได้เป็นหลักในการดำเนินการพูดคุย และสร้างความเป็นกันเองกับผู้ร่วมกิจกรรม เช่นการเล่าให้ผู้ฟังทราบถึงที่มาของการมาเป็นหมอพื้นบ้านของตน และจุดเด่นหรือความสามารถของตนเองเป็นอย่างไร การแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับข้อมูลของยาสมุนไพรที่ได้เข้าศึกษาในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัวเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังมีทีมบันทึกข้อมูลลงเทปบันทึกเสียง เพื่อจะได้นำมาถอดข้อความโดยสมบูรณ์ต่อไป

สวัสดีค่ะคุณชาครธมโม

  • แวะมาเยี่ยม
  • อะไรที่ใหม่ ๆ ย่อมยากเสมอ
  • ถึงแม้จะยาก แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้
  • เป็นกำลังใจให้ค่ะ

การดำเนินกิจกรรมทั้งหมดนั้น ทำให้มีความสนใจของผู้ร่วมโครงการดังนี้

1.การจัดตั้ง “ชมรมหมอพื้นบ้านสืบสานสมุนไพรไทย อำเภอบ้านดุง”

2.การรวบรวมความรู้ของหมอพื้นบ้านแขนงต่าง ๆ

3.การจัดกิจกรรมเวทีคืนข้อมูลสู่ชุมชน กระจายไปในทุก ๆ หมู่บ้านที่มีหมอพื้นบ้านที่เป็นสมาชิกของชมรม

4.การมีตัวยา / ตำรับยาที่เป็นเอกลักษณ์ของชมรม

5.การจัดกิจกรรมร่วมกัน “เดินป่าภูดูสมุนไพร”ในพื้นที่ต่าง ๆ

6.การควบคุมดูแลกันเองของสมาชิกในการดูแลสุขภาพของชุมชน

เวทีชี้แจงและสรุปผลการดำเนินการ เป็นบรรยากาศของความเป็นกันเอง เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งแรก ๆ ทีมพี่เลี้ยงจะเป็นผู้ยื่นข้อเสนอหรือตั้งประเด็น เพื่อให้เกิดการวิพากย์ วิจารณ์ นำไปสู่การมีส่วนร่วมรับรู้ในการดำเนินการต่อเนื่อง และในการประชุมครั้งหลังๆ ถึงแม้ว่าผู้ร่วมประชุมจะมีคนใหม่มาเพิ่ม ซึ่งทำให้ต้องทำความเข้าใจใหม่ โดยจะเป็นการชี้แจง เพิ่มเติมถึงวัตถุประสงค์ วิธีการดำเนินการ แต่ผู้ร่วมประชุมทั้งหมดก็ไม่ได้มีข้อขัดแย้งอย่างไร และยังเป็นการย้ำให้เกิดความเข้าใจในการดำเนินการมากขึ้น

กิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วม

ในการจัดเวทีคืนข้อมูลสู่ชุมชนนั้น เริ่มแรกจากการที่ได้มีการเสนอว่าหลังจากรวบรวมข้อมูลได้ระยะหนึ่งแล้วน่าที่จะได้จัดเวทีประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ทราบถึงว่ามีการดำเนินการเพื่อการพัฒนาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในพื้นที่ ซึ่งเมื่อเริ่มเสนอประเด็นนี้ให้ผู้ร่วมโครงการทราบ ก็มีการเสนอกิจกรรมต่าง ๆ เช่น จัดให้มีการสาธิตยาสมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ , สาธิตการถอนพิษแมงมุม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย , สาธิตการอบสมุนไพร โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย , สาธิตการนวดพื้นบ้าน เป็นต้น ซึ่งเมื่อถึงวันที่จัดงานได้ใช้พื้นที่วัดบ้านหนองสว่างในการจัด มีการตั้งโต๊ะสาธิต และหมอพื้นบ้าน (หมอสำรวย) ได้นำเต้นท์หลังใหญ่ในการอบสมุนไพรมาติดตั้งตั้งแต่เช้าตรู่ ชาวบ้านในหมู่บ้านได้หมุนเวียนมาฟังและให้ความสนใจกับการสาธิตยาสมุนไพรต่าง ๆ รวมทั้งการนวด เมื่อถึงการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพก็มีหมอพื้นบ้านเข้าสู่เวที แต่อย่างไรก็ตามประเด็นที่พูดถึงจะเน้นไปที่ความสามารถของหมอพื้นบ้านท่านนั้น ยังไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องของอาการของโรคที่หมอพื้นบ้านชำนาญ ซึ่งหากได้พูดถึงประเด็นนี้ก็จะทำให้ชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรมสามารถวิเคราะห์ได้ว่าอาการตรงกับที่ตนเองเจ็บป่วยหรือไม่ แต่ก็ยังมีแม่ที่พาเด็กอ่อนที่มีอาการตรงกับที่หมอเป่ากำเริดเด็กได้อธิบาย ได้นำเด็กที่มีอาการดังกล่าวมาให้หมอเป่ากำเริด ได้สาธิตการเป่าดังกล่าว และก็ยังมีการจับกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันของหมอพื้นบ้านหลายๆท่าน ที่อยู่ในตำบลข้างเคียงกันได้มาทำความรู้จักกัน

การจัดกิจกรรม “เดินป่าภู ดูสมุนไพร” กิจกรรมนี้ก็เช่นเดียวกันว่าเกิดจากการที่ได้มีการพูดคุยกันบ่อยครั้งทำให้เกิดแนวความคิดที่ว่าน่าจะได้ไปเดินป่าร่วมกัน ซึ่งทางพี่เลี้ยงได้ประสานงานไปยังพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภูวัว อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดหนองคาย และกลุ่มเครือข่ายใบชะโนดประสานไปยังเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดหนองคาย เมื่อกำหนดวัน เวลาที่จะดำเนินการแล้ว ผู้ที่ร่วมกิจกรรมเป็นหมอพื้นบ้าน 30 คน ผุ้สนใจสมุนไพรและทีมพี่เลี้ยง 14 คน ซึ่งมีหมอพื้นบ้านบางท่านติดธุระไม่สามารถร่วมกิจกรรมได้ กิจกรรมจัดขึ้นในวันที่ 14 – 15 มีนาคม 2549 เมื่อเดินทางไปถึงได้แบ่งเป็น 5 กลุ่มและเจ้าหน้าที่ของพื้นที่ได้อำนวยความสะดวกในการนำคณะเข้าศึกษาในพื้นที่ จนถึงเวลา 18.00 น. ได้มาร่วมกันนำเสนอว่าได้พบสมุนไพรใดบ้าง รักษาโรคใดได้บ้าง เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรในคณะที่เดินทางมา ซึ่งในเวทีประชุมค่อนข้างเป็นทางการ เมื่อปิดการประชุมของคืนวันแรกแล้ว ทีมงานได้เข้าที่พักและจับกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างไม่เป็นทางการ และเมื่อจัดให้มีการประชุมต่อในวันรุ่งขึ้นทำให้ได้ข้อสรุปที่เร็วขึ้น

การจัดกิจกรรมดังกล่าวซึ่งอยู่นอกพื้นที่ ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และมีผลต่อการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท