กระบวนการทางปัญญาและวันครูของผม


วิธีฝึกแบบ อาจารย์ ศ.นพ.ประเวศน์ วะสีและครูของผม

คนเราสามารถฝึกตนเองได้ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งผู้อื่น

ทำทุกอย่างให้เหมือนปกติทุกวัน ผมว่าแนวทางที่ได้จากอาจารย์ก็ดีนะครับ เป็นการฝึกที่ทำให้ตัวเราเกิดปัญญา

1. ฝึกสังเกต

สังเกตในสิ่งที่เราเห็น หรือสิ่งแวดล้อม เช่น ไปดูนก ดูผีเสื้อ หรือในการทำงาน การฝึกสังเกตจะทำให้เกิดปัญญามาก โลกทรรศน์ และวิธีคิด สติ-สมาธิ จะเข้าไปมีผลต่อการสังเกตและสิ่งที่สังเกต

2. ฝึกบันทึก

เมื่อสังเกตอะไรแล้วควรฝึกบันทึก โดยจะวาดรูปหรือบันทึกข้อความ ถ่ายภาพ ถ่ายวีดิโอ ละเอียดมากน้อยตามวัยและตามสถานการณ์ การบันทึกเป็นการพัฒนาปัญญา

3. ฝึกการนำเสนอต่อที่ประชุมกลุ่ม

เมื่อมีการทำงานกลุ่ม เราไปเรียนรู้อะไรมา บันทึกอะไรมา จะนำเสนอให้เพื่อนหรือครูรู้เรื่องได้อย่างไร ก็ต้องฝึกการนำเสนอ การนำเสนอได้ดีจึงเป็นการพัฒนาปัญญาทั้งของผู้นำเสนอและของกลุ่ม

4. ฝึกการฟัง

ถ้ารู้จักฟังคนอื่นก็จะทำให้ฉลาดขึ้น โบราณเรียกว่าเป็นพหูสูต บางคนไม่ได้ยินคนอื่นพูด เพราะหมกมุ่นอยู่ในความคิดของตนเอง หรือมีความฝังใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเรื่องอื่นเข้าไม่ได้ ฉันทะ สติ สมาธิ จะช่วยให้ฟังได้ดีขึ้น

5. ฝึกปุจฉา-วิสัชนา

เมื่อมีการนำเสนอและการฟังแล้ว ฝึกปุจฉา-วิสัชนา หรือถาม-ตอบ ต้องเป็นการฝึกใช้เหตุผล วิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำให้เกิดความแจ่มแจ้งในเรื่องนั้น ๆ ถ้าเราฟังครูโดยไม่ถาม-ตอบ ก็จะไม่แจ่มแจ้ง

6. ฝึกตั้งสมมติฐานและตั้งคำถาม

เวลาเรียนรู้อะไรไปแล้วเราต้องสามารถตั้งคำถามได้ว่าสิ่งนี้คืออะไร สิ่งนั้นเกิดจากอะไร อะไรมีประยชน์ ทำอย่างไร จะสำเร็จประโยชน์อันนั้น และมีการฝึกการตั้งคำถาม ถ้ากลุ่มช่วยกันคิดคำถามที่มีคุณค่าและมีความสำคัญ ก็จะอยากได้คำตอบ

7. ฝึกการค้นหาคำตอบ

เมื่อมีคำถามแล้วก็ควรไปค้นหาคำตอบจากหนังสือ จากตำรา จากอินเตอร์เน็ต หรือไปคุยกับคนเฒ่าคนแก่ แล้วแต่ธรรมชาติของคำถาม การค้นหาคำตอบต่อคำถามที่สำคัญจะสนุก และทำให้ได้ความรู้มาก ต่างจากการท่องหนังสือโดยไม่มีคำถาม บางคำถามเมื่อค้นหาคำตอบ ทุกวิถีทางจนหมดแล้วก็ไม่พบ แต่คำถามยังอยู่ และมีความสำคัญ ต้องหาคำตอบต่อไปด้วยการวิจัย

8. การวิจัย

การวิจัยเพื่อหาคำตอบเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ทุกระดับ การวิจัยจะทำให้ค้นพบความรู้ใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดความภูมิใจ สนุก และมีประโยชน์มาก

9. เชื่อมโยงบูรณาการ

ให้เห็นความเป็นทั้งหมดและเห็นตัวเอง ธรรมชาติของสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยง เมื่อเรียนรู้อะไรมาอย่าให้ความรู้นั้นแยกเป็นส่วน ๆ แต่ควรจะเชื่อมโยงเป็นบูรณาการให้เห็นความเป็นทั้งหมด ในความเป็นทั้งหมดจะมีความงาม และมีมิติอื่นผุดบังเกิดออกมาเหนือความเป็นส่วน ๆ และในความเป็นทั้งหมดนั้นมองให้เห็นตัวเอง เกิดการรู้ตัวเองตามความเป็นจริง ว่าสัมพันธ์กับความเป็นทั้งหมดอย่างไร จริยธรรมอยู่ที่ตรงนี้ คือการเรียนรู้ตัวเองตามความเป็นจริง ว่าสัมพันธ์กับความเป็นทั้งหมดอย่างไร ดังนั้น ไม่ว่าการเรียนรู้อะไร ๆ ก็มีมิติทางจริยธรรมอยู่ในนั้นเสมอ มิติทางจริยธรรมอยู่ในความเป็นทั้งหมดนั่นเอง ต่างจากการเอาจริยธรรมไปเป็นวิชา ๆ หนึ่งแบบแยกส่วนแล้วก็ไม่ค่อยได้ผล
ในการบูรณาการความรู้ที่เรียนรู้มาให้รู้ความเป็นทั้งหมดและเห็นตัวอย่างนี้ จะนำไปสู่อิสระภาพและความสุขอันล้นเหลือ เพราะหลุดพ้น จากความบีบคั้นของความไม่รู้ การไตร่ตรองนี้จะโยงกลับไปสู่วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่ว่าเพื่อลดตัวกู-ของกู และเพื่อการอยู่ร่วมกัน อย่างสันติ อันจะช่วยกำกับให้การแสวงหาความรู้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว มิใช่เป็นไปเพื่อความกำเริบแห่งอหังการ-มมังการ และเพื่อรบกวนการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ

10. ฝึกการเขียนเรียบเรียงทางวิชาการ

ถึงกระบวนการเรียนรู้และความรู้ใหม่ที่ได้มา การเรียบเรียงทางวิชาการเป็นการเรียบเรียงความคิดให้ประณีตขึ้น ทำให้ค้นคว้าหาหลักฐาน ที่มาที่อ้างอิงของความรู้ให้ถี่ถ้วนแม่นยำขึ้น การเรียบเรียงทางวิชาการจึงเป็นการพัฒนาปัญญาของตนเองอย่างสำคัญและเป็นประโยชน์ ในการเรียนรู้ของผู้อื่นในวงกว้างออกไป
ข้อ 8 -9 -10 ขอฝากให้ครูอาจารย์ ที่กำลังจะทำวิทยฐานะด้วยนะครับ
และขอเป็นกำลังใจให้ครูทุกคนที่มีจรรยาบรรณและจิตสำนึกของความเป็นครู
วันครูปีนี้ แม้จะไม่ได้ไหว้ครูใกล้ๆแต่ขอระลึกถึงคำสั่งสอนของคุณครูเสมอครับ
ขอกราบครูที่สอนผมมาตั้งแต่ เล็กจนโตขนาดนี้
อยากบอกว่าสิ่งใดที่ผมเคยผิดพลาดไปก็ขอกราบอภัยด้วยครับ
รักครูทุกคน

มหรรณพแม้สุดกว้างจะกางกั้น
ใช่สำคัญพันธนาการที่หาญมุ่ง
เรือลำน้อยยังคอยว่ายพายพยุง
จนผ่านคุ้งแควใหญ่ในนที
เปรียบดั่งครูคือเรือน้อยที่ลอยล่อง
ศิษย์ทั้งผองคือฝีพายไม่หน่ายหนี
ครูสอนสั่งทั้งตำราวิชาชีวี
จนศิษย์รักข้ามนทีที่แสนไกล
พระคุณครูนั้นสูงค่ามหาศาล
เปรียบประมาณ ฤาแผ่นฟ้าหาควรไม่
พระคุณครูคือธีรภาพตลอดไป
ศิษย์ก้มกราบน้อมไหว้เทอดพระคุณครู

 

 

ผมจำครูประจำชั้นของผมได้ดี พวกคุณจำได้ไหมครับ

ครูอนุบาล ครูเตือนใจ
ครูประถม ครูสายัณห์ ครูสายสมร
ครูประถมปลาย  ซิสเตอร์ภาวดี บราเทอร์สมชาย 
ครูมัธยมต้น ครูสุขเกษม ครูสายพิณ ครูอัปสร
ครูมัธยมปลาย ครูวิภา ครูประภา
ครูตอนปริญญาตรี ครูลัดดา  ครูนพรัตน์ (สองคนนี้เป็น ดร.ครับ ครูดีที่สุดที่เคยมีมา) ครูสายสมร
ครูตอนปริญญาโท ครูเชาว์ (อธิการบดีเก่า เป็นรองศาสตราจารย์แต่ก้อเรียกครูครับ)  ครูสิทธิพร
                        ครูสมหมาย  ครูคุณวุฒิ  ครูสุชาดา ครูดิษกุล ครูสมศักดิ์
(ครูท่านนี้เป็นรองเลขาธิการคุรุสภาเลยล่ะครับ)
และที่สำคัญที่สุดในชีวิตของผมคือ ครูคนแรกของผม ครูทรงศักดิ์ และครูยุวดี คุณพ่อและคุณแม่ที่รักของผมเอง ดีใจมากครับที่ได้เกิดมามีครูกะเขา
  ขอขอบคุณ ทุกคนครับ ที่สั่งสอนผมมาจนมีวันนี้

จาก ลูกศิษย์ของทุกคน

ไม่มีคำสวยหรู จะเรียกครูจะพูดได้
ไม่มีคำอื่นใด จะแทนกันจะแทนคุณ
ไม่มีคำเอื้อนเอ่ย จะเปรียบเปรยพระการุณ
มีเพียงคำขอบคุณ จะเป็นทุนและก้าวเดิน


หมายเลขบันทึก: 187620เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2008 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท