แผ่นยางพารา


ยางพารา

 : นางสาวชิดชนก ไชยศรี ม.5/5 เลขที่ 16
วันที่ทำการสัมภาษณ์ : 17 พฤษภาคม 2551
สถานที่สัมภาษณ์ : 4 บ.ไร่ม่วง ม.1 ต.น้ำหมาน อ.เมือง จ.เลย 42000
ผู้ให้สัมภาษณ์ : นายประสิทธิ์ คำสิงห์ ( เกษตรกรสวนยางพารา )

ราคาแผ่นยางพาราในขณะนี้ กิโลกรัมละเท่าไหร่?
- แผ่นยางที่ไม่ได้รมควันประมาณ กิโลกรัมละ 70 บาท
- แผ่นยางที่รมควันประมาณ กิโลกรัมละ 80 บาท

ในการเตรียมพื้นที่ปลูกยางพารา ต้องเตรียมการอย่างไร และต้องทำอะไรบ้าง?
- ในการเตรียมพื้นที่ปลูกยาง จะต้องมีทั้งการทำความสะอาดพื้นที่ การวางแนว และ การขุดหลุม
ซึ่งการวางแนวปลูก แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
1.วางแนวปลูกในพื้นที่ราบ จะต้องห่างจากแนวเขตสวนมากกว่า 1.5 เมตร และไม่ขวางทางลม
2.วางแนวปลูกในพื้นที่เอียง จะทำเหมือนพื้นที่ราบไม่ได้ เพราะ จะมีการไหลของน้ำในขณะที่ฝนตก ทำให้เกิดการชะล้างหน้าดิน จึงต้องทำแนวปลูกเป็นแบบขั้นบันได

ในการทำแนวปลูกแบบขั้นบันได สำหรับพื้นที่เอียงจะช่วยให้ประโยชน์กับเกษตรกรและต้นยางอย่างไร?
-ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน
-ป้องกันการชะลางปุ๋ย
-ทำให้รากต้นยางยึดแน่นกับดิน

วิธีการเตรียมหลุมปลูกต้นยางพารามีขั้นตอนอย่างไร?
-การขุดหลุมปลูกยางให้ขุดผึ่งแดดไว้ประมาณ 10 วัน เพื่อให้ดินแห้ง แล้วย่อยดินชั้นบนใส่รองก้นหลุม ส่วนดินชั้นล่างให้ผสมกับปุ๋ยฟอสเฟต (0-3-0) ประมาณหลุมละ 170 กรัม แต่ในที่ที่เพิ่งปลูกยางใหม่ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต้นละ 5 กิโลกรัม รองก้นหลุมกับปุ๋ยฟอสเฟต ขนาดหลุมประมาณ 50 x 50 x 50 เซนติเมตร

ต้นยางที่ใช้ปลูกมี กี่ประเภท อะไรบ้าง?
-2 ประเภท 1. ต้นตอตา 2.ต้นยางชำถุง
ต้นตอตาคือ ต้นกล้ายางที่ได้รับการติดตาด้วยยางพันธุ์ดี แต่ตายังไม่แตกออกมา เมื่อเตรียมพื้นที่ปลูกแล้วจะตัดต้นเดิมที่เหนือแผ่นตา เพื่อที่จะนำไปปลูกในพื้นที่ที่เตรียมไว้
ต้นยางชำถุง คือ ต้นยางที่ได้จากการนำเอาต้นตอตามาชำในถุง จะใช้เวลาชำประมาณ 2-3 เดือน


วิธีการปลูกด้วยต้นกล้าทั้ง 2 ประเภท เหมือนกันหรือไม่?
- ไม่เหมือน

วิธีการปลูกด้วยต้นกล้าทั้ง 2 ประเภท ต่างกันอย่างไร ?
การปลูกด้วยต้นตอตา
-ปลูกในฤดูฝน โดยจะเลือกต้นที่สมบูรณ์ ตานูนโต
-กลบหลุมที่เตรียมไว้ จากนั้นใช้ไม้แหลมขนาดเล็กกว่าต้นเล็กน้อย แทงกลางหลุมให้ลึกเท่าความยาวของราก
-นำต้นตอตามาปักตามรอยแทง ให้แผ่นตาอยู่สูงกว่าดินประมาณ 1 เซนติเมตร
-กลบดินจนเสมอปากหลุมและอัดดินให้แน่น แต่ต้องให้ดินบริเวณโคนต้นสูงกว่าบริเวณรอบๆเพื่อไม่ให้น้ำขังต้นยาง

การปลูกด้วยยางชำถุง
-ปลูกในฤดูฝน เลือกต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง
-ให้รอยต่อระหว่างรากกับตาอยู่ระดับปากหลุม
-ใช้มีดเฉือนก้นถุงออกประมาณ 1 นิ้ว แล้วกรีดถุงด้านข้างให้ขาด แต่ยังไม่ต้องดึงถุงออก คอยๆกลบดินลงหลุมจนเกือบเต็ม แล้วดึงถุงออก กลบดินจนเสมอปากหลุมอัดดินให้แน่นและให้ดินบริเวณโคนต้นสูงกว่าบริเวณรอบๆต้น เพื่อไม่ให้น้ำขัง

การปลูกยางสามารถที่จะปลูกพืชชนิดอื่นแซมได้หรือไม่?
-ได้ พืชที่จะปลูกแซมต้นยาง จะต้องปลูกระหว่างแถวยางในขณะที่ยางอายุไม่เกิน 3 ปี เช่น ข้าวโพด สับปะรด กล้วย ฯลฯ

การบำรุงรักษาต้นยางพารา จะต้องมีวิธีอะไรบ้างและควรดูแลรักษาอย่างไร?
การใช้ปุ๋ย
ปุ๋ยยางพาราก่อนการกรีด
พื้นที่ที่เคยปลูกแล้ว ใช้ปุ๋ยสูตร 20-8-20
พื้นที่ที่ไม่เคยปลูก ใช้ปุ๋ยสูตร 20-10-12
ปุ๋ยยางพาราหลังการกรีด
ทุกพื้นที่ที่ปลูกยาง ใช้ปุ๋ยสูตร 30-5-18

การตัดแต่งกิ่ง
-ไม่ควรแต่งกิ่งในฤดูแล้ง
-แต่งกิ่งแขนง ต่ำกว่าประมาณ 2 เมตร เริ่มตั้งแต่ยางอายุ 1 ปี
-ในสภาพที่แห้งแล้งควรแต่งกิ่งแขนงที่ระดับต่ำกว่า 1.7 เมตร
-อย่าโน้มกิ่งลงมาเพื่อตัดกิ่ง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายกับต้นยาง
-หลังจากการตัดกิ่ง ควรทาสารเคมีป้องกันโรคและแมลงที่รอยตัดทุกครั้ง

วิธีการเปิดกรีดหน้ายางมีวิธีการอย่างไร?
โดยทั่วไปยางพาราเปิดกรีดได้เมื่อมีอายุประมาณ 7 ปีครึ่ง ต้องระวังให้เปลือกเสียหายน้อยที่สุด
วิธีการเปิดกรีด
ใช้ไม้ทาบกับลำต้นแล้วทำรอยจากซ้ายไปขวาให้ได้ความยาวครึ่งหนึ่งของลำต้น ลากต่อลงมาตามขอบไม้ประมาณ 30 เซนติเมตร กรีดเอียงจากซ้ายไปขวา ใช้มีดกรีดยางกรีดเบาๆ เพื่อทำรอยเปิดกรีดให้ลึกถึงเนื้อไม้ตามแนวที่ทำรอยไว้

วิธีการกรีดยางในทุก ๆ ระยะเวลาที่ปลูกเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?
ต่างกันโดยการกรีดยางจะแบ่งตามระยะเวลาการกรีด ได้ 4 ประเภท
1.การกรีดในระยะ 3 ปีแรก จะต้องกรีดครึ่งต้นวันเว้นสองวัน (ใช้กับยางทุกพันธุ์ )
2.การกรีดในระยะ 3 ปีไปแล้ว จะต้องกรีดครึ่งต้นวันเว้นวัน (ใช้กับยางทุกพันธุ์ ยกเว้นพันธุ์ที่เป็นโรคเปลือกแห้งได้ง่าย )
3.การกรีดเปลือกงอกใหม่ จะต้องกรีดครึ่งต้นวันเว้นวัน (ใช้กับยางทุกพันธุ์ )
4.การใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง

วิธีการแปรรูปน้ำยางพารา โดยการทำเป็นแผ่นยางเพื่อนำออกจำหน่ายนั้นมีวิธี หรือข้อควรปฏิบัติอย่างไร?
เมื่อเก็บน้ำยางจากต้นมาแล้วขั้นตอนการทำแผ่นยางมีดังนี้
-กรองน้ำยางเพื่อเอาสิ่งสกปรกออก
-นำน้ำยางใส่ในตะกง ตะกงละ 3 ลิตร
-การผสมน้ำกับน้ำยาง ให้เติมน้ำสะอาดลงในตะกงที่มีน้ำยางอยู่ 3 ลิตรตะกงละ 2 ลิตร
-ใส่กรดฟอร์มิกความเข้มข้นร้อยละ 90 เพื่อให้แผ่นยางแข็งตัวสม่ำเสมอ สำหรับการผสม
น้ำกรดนั้น ให้ใช้กรดฟอร์มิก 2 ช้อนแกงใส่ลงในน้ำสะอาด 3 กระป๋องนมข้นหวาน แล้วกวนให้เข้ากัน
การใช้น้ำกรดในน้ำยางจะใช้ใบพายกวนน้ำยาง 2-3 ครั้ง จากนั้นตวงน้ำกรดที่ผสมแล้ว 1 กระป๋องนมข้นหวาน เทลงในน้ำยางให้ทั่วตะกง ( กรดฟอร์มิก 1 ลิตรจะสามารถทำแผ่นยางได้ประมาณ 90- 100 แผ่น )
-ในขณะที่กวนน้ำยางจะมีฟองเกิดขึ้น ให้ใช้ใบพายกวาดฟองออกจากตะกง เก็บรวบรวมใส่ภาชนะเพื่อขายเป็นเศษยาง ( ถ้าไม่กวาดแผ่นยางออก เมื่อนำแผ่นยางไปรมควัน จะทำให้เห็นเป็นรอยจุดอากาศในแผ่นยาง )
-เมื่อยางจับตัวแล้ว ให้นำยางออกจากตะกงเพื่อนำไปนวด นวดให้ยางหนาประมาณ 1 เซนติเมตร
-นำแผ่นยางที่นวดแล้วเข้าเครื่องรีดเรียบ ให้แผ่นยางหนาประมาณ 3-4 มิลลิเมตร
-เมื่อนำแผ่นยางไปรีดเรียบแล้วจากนั้นนำแผ่นยางเข้าเครื่องรีดดอก เพื่อช่วยให้แผ่นยางแห้งเร็วขึ้น
-ล้างแผ่นยางที่รีดดอกแล้วด้วยน้ำสะอาด
-นำแผ่นยางมาผึ่งไว้ในร่ม ประมาณ 6 ชั่วโมง ไม่ควรนำมาตากแดดเพราะจะทำให้เสื่อมคุณภาพได้ง่าย
- เมื่อนำแผ่นยางไปผึ่งเรียบร้อยแล้วก็เก็บรวบรวมแผ่นยางไว้รอการจำหน่าย หรือนำแผ่นยางที่ผึ่งเรียบร้อยแล้วไปรมควันเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของแผ่นยาง

คำสำคัญ (Tags): #แผ่นยางพารา
หมายเลขบันทึก: 187267เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2008 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

1.เราสามารถตุนแผ่นยางได้นานสักเท่าไร

2.วิธีการเก็บรักษาแผ่นยางไว้ให้นานที่สุดทำได้อย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท