รู้ดีก็ยุ่ง รู้ไม่ดีก็ยิ่งยุ่ง...


อันความรู้ในสังคมทุกวันนี้ “รู้ดีก็ยุ่ง รู้ไม่ดีก็ยิ่งยุ่ง...”

ความรู้ทางโลกนั้นได้ชื่อว่าเป็นความรู้เฉพาะกาล อันความรู้เฉพาะกาลย่อมใช้ได้เฉพาะกาล เมื่อกาลหนึ่งผ่านไป กาลใหม่ผ่านเข้ามา ความรู้นั้นย่อมลดคุณค่า เสื่อมราคา ทอนประโยชน์ และอาจเกิดโทษขึ้นได้ เพราะความรู้นั้นจะกลายเป็นความ “ลังเลสงสัย” เมื่อความรู้ใหม่กับความรู้เก่ามาชนกัน

คนในสังคมทุกวันนี้ต้องวกวนอยู่ด้วยเรื่องของกาม กิน และเกียรติ
“กาม” เป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรน
“กิน” เป็นเรื่องที่ต้องแสวงหา
“เกียรติ” เป็นเรื่องที่ต้องแบกไว้

ความรู้ใดที่นำมาซึ่ง กาม กิน และเกียรติได้ มนุษย์จักแสวงหาและศรัทธาความรู้นั้น
ความรู้ใดที่ตัดทอนกำลังของ กาม กิน และเกียรติ มนุษย์นั้นย่อมจัก ลังเลและสงสัย

อันความรู้ที่ผู้คนจำหน่าย จ่าย แจกกันในทุกวันนี้หาใช่ความรู้ที่บริสุทธิ์ เปรียบประดุจน้ำตาลที่หวานแต่เคลือบไปด้วยยาพิษก็มิปราน

ยิ่งรู้มากยิ่งยุ่งมาก ยุ่งจิต ยุ่งใจ เพราะมนุษย์นั้นขาดซึ่ง “สติ” กำกับอยู่ในใจไว้รู้เท่ารู้ทัน
เมื่อเจอกาม สติหาย
เมื่อไม่ได้กิน สติวาย
เมื่อกินมาก สติล้มละลาย
ยิ่งเจอเกียรติไซร้ สติกระจัดกระจาย มิรู้ทัน

อันต้นเหตุที่ก่อซึ่งความลังเลสงสัย (Uncertainty ) อันเป็นสิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม และเกิดเป็นอกุศลกรรมที่กั้นจิตซ้ำให้เศร้าหมองและทอนปัญญาให้อ่อนกำลังนั่นคือ “ความรู้...”

ความรู้ที่ไม่บริสุทธิ์ ความรู้ที่เคลือบแคลง แฝงกิเลส ความรู้ที่มีผู้อยากให้เรารู้ รู้เพื่อเอา มิได้รู้เพื่อให้ รู้แล้วเราจักได้จักเสียไปซึ่งทรัพย์กายและทรัพย์ใจอเนกอนันต์

อันว่าทางทั้งหลาย มรรคคือองค์แปดนี้ ประเสริฐที่สุด
อันว่าบททั้งหลาย บท ๔ คืออริยสัจสี่นี้ ประเสริฐที่สุด
อันว่าธรรมทั้งหลาย วิราคะ หรือการปราศจากจากความกำหนดยินดีในกามนั้น ประเสริฐที่สุด
บรรดาสัตว์ ๒ เท้า พระพุทธเจ้าผู้มีจักษุนั้น ประเสริฐที่สุด
(พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน)


ความรู้ในชีวิตนี้แบ่งออกไปสามจำพวก
พวกหนึ่งนั่นคือ ความรู้ที่จำเป็นต้องรู้...
ความรู้ที่จำเป็นต้องรู้นั้นคือเรื่อง “ชีวิต”
ชีวิตคือลมหายใจใคร ๆ รู้
ชีวิตคือการต่อสู้ควรศึกษา
ชีวิตคืองานตระการตา
ชีวิตมีคุณค่าควรคุ้มครอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ในมรรคมีองค์ ๘ นั้น ไปเป็นเพื่อทัศนะอันบริสุทธิ์ เป็นทางที่ให้มารหลงติดตามมาไม่ได้ อีกซ้ำทุกข์นั้นให้หมดสิ้นไป ความรู้ในองค์ ๘ แห่งมรรคไซร้จะช่วยดับความลังเลและสงสัยในชีวิตนี้ได้โดยพลัน

ความรู้สองคือความรู้ที่ควรรู้...
ได้แก่ ความรู้ในเรื่องที่เราจะต้องไปรับใช้เขา ไปบริการเขา ไปทำงานให้เขา เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัย ๔ สำหรับดำรงชีวิตและเรียนรู้เรื่องชีวิต ความรู้นี้ต้องขวนขวายหาความรู้ให้ดี ต้องก้าวหน้าและพัฒนาต่อไป

ความรู้สามคือ ความรู้ที่รู้ก็ได้ไม่รู้ก็ได้...
อันว่าความรู้เรื่องโลก เรื่องจักรวาล เรื่องหนัง เรื่องละคร เรื่องประเทศนั้น ประเทศนี้ เรื่องใครจะด่าใคร ใครทำร้ายใคร ใครฆ่ากัน ใครโกรธแค้นแก่งแย่งชิงดีกัน เรื่องราวเหล่านี้นั้น ไม่รู้ได้เป็นดี

แต่ในความรู้ทั้ง ๓ ประเภท นั้นมีเหตุต้องเคลือบแคลงและสงสัย เพราะทุกวันนี้มีภัยแฝงกับความรู้นั้นต่าง ๆ นานา

สุดท้ายจะเป็นอย่างไรเรานั้นต้องพึ่งตนเองในการคัดการกรอง “สติ” ที่มีศีลเป็นบาทเป็นฐานนั้น เป็นสติและสมาธิที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก หากเรารักษาศีลให้ดี สตินี้จะรู้อย่างเท่าทัน
รู้กาย รู้ใจนั้นประเสริฐแท้
แต่เรื่องความรู้ภายนอกนั้น ขอเพียงรู้สักแต่ว่ารู้ เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่า สักแต่ว่านี้หนาจะเป็นทางดับวิจิกิจฉาได้โดยพลัน

หรือถ้าใจเด็ด และเด็ดขาด ใช้ศรัทธาตัด ใช้ศรัทธาพิฆาตได้จักดี
ศรัทธาที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ศรัทธาที่ตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนตรัย
ศรัทธาในพระธรรมคำสั่งสอนไซร้ เด็ดใจจริง

สุดท้าย ศีล สมาธิ ปัญญา ไตรสิกขานี้เน้นแน่นหนัก
ไตรสิกขานี้หากแจ่มชัดจิตจักก้าวหน้าในคุณธรรม
อันธรรมนั้นจะนำจิตให้บรรลุซึ่งคุณความดี
กุศลกรรมจะนำจิตให้สดใสและส่งผลให้ปัญญามีกำลัง
ตั้งมั่นอยู่ในไตรสิกขานั้น นิวรณ์ ๕ ดับขาดกัน ข้ามได้เอย...


หมายเลขบันทึก: 187127เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2008 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ตามมารับคำสอน คะ

ขอบพระคุณท่านมาก สำหรับงานเขียนดีดี ไว้เตือนสติ คะ

ได้อ่านหนังสือ ตัวกู ของกู ของท่านพุทธทาส เมื่อคืน เขียนไว้ด้วยอย่างน่าประทับใจว่า

ในขณะที่ไม่ถูกอุปาทานว่า ตัวกู-ของกู เข้าสิง ก็หาได้เป็นทุกข์แต่ประการใดไม่ แม้ว่าร่างกายจะกำลังถูกเชือดเฉือนอยู่ หรือจิตใจกำลังมีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มาทำทรมานอยู่ ถ้าเผอิญอุปาทานว่า ตัวกู-ของกู เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว อาการแห่งความทุกข์ก็ไม่มี ในทำนองที่ตรงกันข้าม หากว่าร่างกายของก็ไม่ถูกเบียดเบียนเลย จิตใจของเขาก็ไม่มีอะไรมาทรมานเลย แต่ถ้าเขาเกิดมีการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาเท่านั้น อาการแห่งความทุกข์ก็ปรากฎออกมาทันที ฉะนั้นจึงเป็นอันกล่าวได้ว่า ตัวกู ว่า ของกู เข้ามาเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยเสมอไป ความทุกข์จึงจะเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้เริ่มมองเห็นทุกข์ ที่เป็นเพราะพิษสงแห่งความบีบคั้นของสิ่งที่เรียกว่า ตัวกู-ของกู นั่นเอง ที่หันกลับมาเล่นงานตัวเองเข้าเสียแล้ว

สิ่งนี้เองทำให้ปัจเจกชนอย่างตัวฉันไม่ได้รับความสงบเย็น ทำให้สังคมรอบๆไม่สงบสุข

ทำให้สังคมโดยรวมในวงกว้างขึ้นไม่สงบสุขไปด้วย

ทุกหน่วยย่อยล้วนเกี่ยวพันและเป็นส่วนหนึงในส่วนที่ใหญ่กว่า

ทุกการกระทำเราย่อมมีผลต่อสังคมโดยรวม small things can cause big consequence

กิเลสนี้ไวมาก กิเลสนี้เองทำให้เราทุกข์

แต่การได้เห็นทุกข์ ก็มีส่วนดีคือทำให้ได้เห็นธรรม

บอกตัวเองว่า คงไม่สายเกินไปที่จะตั้งใจแน่วแน่ด้วยศรัทธา ที่จะลดละกิเลสนั้น

ค่อยๆ ไม่ต้องกดดัน ตัวเอง

การกระทำสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ ช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยกาย วาจา ใจ ในความถูกต้อง จิตใจเบาสบาย ความอยากทางด้านกิเลสจะไม่สามารถมาทำให้เราร้อนใจได้เลย 

คิดดี พูดดี ทำดี

บุญรักษา 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... สังสารวัฏนี้หาเบื้องต้นเบื้องปลายได้โดยยาก สัตว์ที่พอใจในการเกิด ย่อมเกิดบ่อย ๆ และการเกิดใดนั้นตถาคตกล่าวว่าเป็น “ความทุกข์” เพราะสิ่งที่ติดตามความเกิดมาก็คือ ความแก่ชรา ความเจ็บปวดทรมาน และความตาย...
ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความแห้งใจ ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ

อุปมาเหมือนเห็ดที่โผล่จากดินแล้วนำดินติดขึ้นมาด้วย
หรืออุปมาเหมือนโคซึ่งเทียมเกวียน แล้วจะเดินไปไหนก็มีเกวียนติดตามไปทุกหนทุกแห่ง สัตว์โลกเมื่อเกิดมาก็นำความทุกข์ประจำสังขารติดมาด้วย ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออก “ความทุกข์” ก็ย่อมติดตามไปเสมอ เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบคออยู่ ล้อเกวียนก็ย่อมติดตามไปทุกก้าว...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย...

 เมื่อรากยังมั่นคง แม้ต้นไม้ถูกจะตัดแล้วมันก็สามารถขึ้นได้อีก ฉันเดียวกัน เมื่อบุคคลยังไม่ถอนตัณหานุสัยขึ้นจากดวงจิต “ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่ ๆ...”

ขอบพระคุณมากคะ คุณ scmman และท่านสุญญตา

ท่านทั้งสองกล่าวถูกต้องจริงๆ

แต่อดเพิ่มเติมไม่ได้ว่า

คงไม่หวังถึงการถอนกิเลสให้หมดสิ้นจากจิต ให้สิ้นซาก

เพียงแค่วันนี้ แค่ตอนนี้ตั้งใจ ว่าจะลดละลงไปได้บ้าง และจะลดละกิเลสได้มากขึ้นทุกวันๆก็ ดีมากแล้วอะคะ ที่ตั้งมั่นไว้

แต่กลับไปอ่าน comment ท่านสุญญตา และคุณ scmman อีกทีก็ซาบซึ้งจังคะ

การเติมน้ำทีละหยดย่อมทำให้แม่น้ำนั้นเต็มได้ฉันใด

การประกอบกรรมดี ด้วยการเจริญปัญญาในธรรมนี้ไซร้ ผู้ที่กอบกรรมดีนั้นเล่าย่อมเต็มไปด้วยธรรม

จิตดวงนี้เป็นจิตที่มหัศจรรย์สั่งสมไว้ซึ่งทุกการกระทำ ทุกคำพูด ทุกความคิด ท่านจงตั้งมั่นโปรดทำดี คิดดี และพูดดีเถิด วันหนึ่งนั้นแม่น้ำจะย่อมเต็ม...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท