ดิฉันหายหน้าไปจากบล็อกหลายวันด้วยภารกิจรุมเร้า ขอเล่าเรื่องที่ค้างไว้ตั้งแต่วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๙ นะคะ
ภาพหมู่ในเช้าวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๙ |
AAR จากผู้มาเยือน สรุปรวมจากหลายๆ คน ถ้ามีสิ่งที่ตกหล่นไปบ้าง ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
ตัวแทนจาก รพ.ศิริราช
: คาดว่าจะได้เห็นกิจกรรมการดูแลผู้ป่วย IPD และ OPD ที่ชัดเจน อยากเห็นขั้นตอนการรับบริการ ระบบการให้ความรู้ แรกๆ ยังไม่ค่อยชัดเจน มาได้ตอนหลังๆ ที่พูดถึงผู้ป่วยใน การวัด outcome การดูแลผู้ป่วยยังไม่ชัดเจน สำหรับการจัดค่ายเบาหวาน เป็นเรื่องดีและสร้างสรรค์ ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นไปได้ ทำได้จริง กิจกรรมโดยรวม holistic การไปดูคลินิกเท้า ทำให้มองเห็นภาพและอุปกรณ์ชัดเจน ชมว่าเป็น รพ.ที่เห็นความสำคัญของลูกค้า ประทับใจที่เข้ามาในห้องประชุมแล้วมีป้ายชื่อของทุกคนให้เห็น จะนำ idea นี้ไปใช้ต่อ ยังไม่ได้เรื่องการดูแลผู้ป่วยและ care taker อยู่ PCU ลำบากใจว่าจะเอาตรงไหนไปใช้ได้
สิ่งที่ควรปรับปรุง : อยากไปดูขั้นตอนที่ OPD การพบวิทยากรเบาหวาน การนำเสนอของทีม รพ.เทพธารินทร์ ควรมีรูปภาพแสดง
สิ่งที่จะกลับไปทำต่อ : class สำหรับผู้ป่วย IPD แบบ peer support ทำ discharge planning ปรับรูปแบบในการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยให้เหมาะกับความต้องการ จัดคลินิกสุขภาพเท้า ดูแลเท้า ดูแลแผล การใช้ felted foam ทำ Diabetic shop มีอาหารตัวอย่าง มีคนหนึ่งบอกว่าจะกลับไปทำฐานข้อมูลของผู้ป่วย ปรับปรุงการจัด camp โดยแยกประเภทผู้ป่วยรายเก่า รายใหม่
ทีมจาก รพ.ภูมิพล
: ต้องการดูงานเบาหวานและการดูแลเท้า มานั่งฟังยังไม่เห็นภาพ จะกลับไปทำคลินิกสุขภาพเท้า จัด class สำหรับผู้ป่วย IPD
ทีมจาก รพ.สรรพสิทธิประสงค์
: อยากได้รูปแบบการบริการที่จะเอาไปใช้ได้ สิ่งที่ได้เกินคาดคือคลินิกสุขภาพเท้า บอกไม่ได้ว่าอะไรที่ยังไม่ได้หรือได้น้อย สิ่งที่ควรปรับปรุงก็เหมือนที่คนอื่นๆ บอก (เรื่องสื่อ) จะกลับไปทำคลินิกสุขภาพเท้า แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะกลับไปทำอะไรได้บ้าง
อีกคนกล่าวว่าตนเองเคยผ่านหลักสูตรอบรมพื้นฐานของสมาคมผู้ให้ความรู้มาแล้ว คาดหวังจะได้เห็นรูปแบบการให้ความรู้ เทคนิคการดึงผู้ป่วยมาฟัง ที่ตนเคยทำเหมือนยัดเยียด ได้รูปแบบการจัดคลินิกสุขภาพเท้า รูปแบบการจัด camp เพราะเคยทำแล้ววุ่นวาย สิ่งที่ได้เกินคาดคือการตรวจเท้า การเลือกรองเท้า ได้รับคำแนะนำดีมาก การต้อนรับดีมาก รู้เลยว่ากุลีกุจอเป็นอย่างไร เจ้าหน้าที่ไม่เบื่อที่จะให้ข้อมูล ตอบทุกคำถาม สนใจทุกคน ทึ่งว่ารู้จักใช้พยาบาลให้มีประสิทธิภาพ ให้ความรู้และให้โอกาสพัฒนา สิ่งที่ได้น้อยคืออยากเห็นรูปแบบการให้ความรู้จริงๆ สิ่งที่ควรปรับปรุงคือเรื่องสื่อ การเตรียมข้อมูลให้ครอบคลุม จะกลับไปปรับปรุงงานของตนเอง
ทีมจาก รพ.กรุงเทพคริสเตียน
: อยากรู้โครงสร้างว่ามีใครบ้าง ได้เห็นเครื่องมือที่ใช้ในการดูแลเท้า ได้ idea เรื่องมุมอาหาร
ทีมจาก รพ.ยโสธร
: อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร อยู่ที่ห้องประชุมเสียมากกว่า ควรมีสไลด์หรือหนังสือ จะกลับไปทำ class, camp, มุมอาหาร
ทีมจาก รพ.นพรัตนราชธานี
: ทำงานอยู่ OPD อยากได้ระบบงาน OPD ที่ชัดเจน สิ่งที่ได้เกินคาดคือได้ตรวจเท้า ยังไม่ได้เรื่องโครงสร้างของ OPD ควรปรับปรุงเรื่องสื่อ เอกสารสำหรับแจก เช่น Flow chart จะกลับไปทำคลินิกเท้า
ทีมจาก รพ.แม่สรวย
: ตัวอย่างที่ดีคือทีมงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน คลินิกเท้า และค่ายเบาหวาน จะกลับไปลองทำค่ายเบาหวานสักครั้ง
ทีมจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพฯ
: มาที่เทพธารินทร์เป็นครั้งที่ ๓ มาทุกครั้งก็เห็นการพัฒนา ได้เรื่องมุมอาหาร การทำกลุ่ม ทำ club และค่าย
ทีมจาก รพ.พระจอมเกล้า
: คาดหวังว่าจะเห็นรูปแบบของ รพ.เอกชน รู้สึกประทับใจไปหมด เจ้าหน้าที่ดูดี ได้เรื่องการสอนแบบ class การคิดค่าบริการ คลินิกเท้าดูสมบูรณ์แบบ วิทยากรดูมีความรู้แน่น เห็นผู้ป่วยที่มาใช้บริการก็ดูเขามีความสุขนะ เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำดี
อีกคนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ IPD บอกว่าคาดหวังสูงเพราะชื่อเสียงของ รพ. อยากเห็นระบบว่าอะไรที่โดดเด่น เน้นอยากรู้เรื่อง IPD แต่ที่ได้เน้น OPD ที่ IPD ยังไม่มีอะไรโดดเด่น จะกลับไปจัดทีมให้ได้ ชื่นชมคลินิกสุขภาพเท้า
ทีมจาก รพ.พุทธชินราช
: รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจที่ได้มา อยากจะดูระบบการบริหารจัดการ สิ่งที่ได้เกินคาดคือการดูแลสุขภาพเท้า นอกจากจะดูของผู้ป่วยแล้ว ยังดูของคนทั่วไปด้วย ได้ตรวจเท้า จุดเด่นคือการทำงานเป็นทีม ตนเองมาไกลจึงอยากรู้ประวัติของ รพ.จะได้ไปโปรโมท จะกลับไปเชื่อมต่อกับทีม PCU
อีกคนกล่าวว่า อยากเห็นความเป็น excellence center เห็นว่าทำได้เหมือนสโลแกนคืออบอุ่นเหมือนบ้าน บริการเหมือนญาติ สิ่งที่ได้น้อยคือตัวชี้วัด outcome ที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่ควรปรับปรุงคืออยากจะเห็น OPD, IPD จริงๆ การ approach ผู้ป่วยจริงๆ จะกลับไปทำให้แนวทางการรักษาเป็นแนวเดียวกัน
ทีมกรรมการโครงการ
คุณอุระณี รัตนพิทักษ์ กล่าวว่า success ในระดับหนึ่ง ได้มาเห็นของจริง คำถาม ๑๖ ข้อนั้นสุ่มมาจากบางคน ก็ได้คำตอบตามที่คาดหวัง ดีใจที่ทุกคนมีความคิดที่จะกลับไปทำอะไรต่อ คุณพูนศิริ อรุณเนตร บอกว่าจะกลับไปทำอะไรต่อนั้น ได้จ่ายงานลูกน้องหมดแล้ว ส่วนคุณนุจรี ชื่นยงค์ บอกว่าความคาดหวังนั้นอยากมาเห็นรูปแบบสหสาขาของเอกชน ไม่นึกว่าจะเน้นการให้ความรู้แบบเป็นทีม นึกไม่ถึงว่า รพ.เอกชนจะทุ่มเทเรื่องฝึกอบรมพนักงาน สิ่งที่ได้น้อยและยังไม่ได้ รวมทั้งสิ่งที่ควรปรับปรุงคือการ present งานยังมองภาพไม่ชัดเจน อยากเห็น guideline, flow chart ที่ชัดเจน ยังไม่เห็นว่าเภสัชกรมีบทบาทตรงไหน และน่าจะมีรูปแบบการบริการครบทั้ง Type 1, Type 2 และ GDM จะกลับไปเน้นเรื่องสื่อ
จะเห็นได้ว่าผู้มาร่วมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้มีความคาดหวังและความต้องการที่หลากหลาย บางอย่างก็ได้ตามที่คาดหวัง หลายอย่างก็ยังไม่ได้ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเราไม่ได้ตกลงในเป้าหมายเดียวกัน ต้องขออภัยสำหรับท่านที่ยังไม่ได้ตามที่คาดหวัง ดิฉันได้บอกผู้มาเยือนว่า รพ.เทพธารินทร์เป็น รพ.ธรรมดา เราไม่ได้ "ดี" ทุกเรื่อง และเราแลกเปลี่ยนได้เฉพาะในสิ่งที่เรา "มี" เท่านั้น
ก่อนจากกันทีมผู้มาเยือนได้มีโอกาสแวะดูเครื่อง Hyperbaric เพราะมีคนขอว่า "ขอสัมผัสของจริงสักครั้ง" ต้องขอบคุณคุณหมอและคุณพยาบาลประจำห้องนี้ที่อนุญาตและช่วยตอบคำถามต่างๆ
AAR ของดิฉัน
๑. ความคาดหวัง : คาดหวังว่าตนเองและทีมของ รพ.เทพธารินทร์จะได้เรียนรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่หลากหลายจากผู้เข้ารับการอบรมที่มาจาก รพ.ต่างๆ คาดหวังว่าจะมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างคึกคัก
๒. สิ่งที่ได้เกินคาด : ความคาดหวังในข้อ ๑ บรรลุบางส่วน ส่วนที่ได้เกินคาดคือได้เรียนรู้มุมมองที่หลากหลายจากผู้เข้าอบรม คำชมจากความประทับใจในเรื่องที่คาดไม่ถึง เช่น เรื่องป้ายชื่อ ความเต็มใจในการตอบคำถามของเจ้าหน้าที่ สะท้อนมุมมองด้านบวกของผู้มาเยือน
๓. สิ่งที่ได้น้อยกว่าที่คาด : สังเกตว่าผู้มาเยือนหลายคนไม่ได้เตรียมตัวสำหรับการแลกเปลี่ยน ยังสนใจแบบ "ดูงาน" เสียมากกว่า อาจเป็นเพราะการสื่อสารระหว่างกันยังไม่ชัดเจนนัก และกลุ่มมีขนาดใหญ่
๔. สิ่งที่จะปรับปรุง : กำหนดประเด็นการแลกเปลี่ยนและสื่อสารเรื่องเป้าหมายและรูปแบบของกิจกรรมให้ผู้มาเยือนทุกคนรู้ล่วงหน้า ให้ทีม รพ.เทพธารินทร์เตรียมสื่อประกอบการเล่าเรื่องการทำงานแต่ละด้าน ลดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมลง เพิ่มกิจกรรมการแนะนำ รพ.
๕. สิ่งที่จะกลับไปทำต่อ : เตรียมการสำหรับกลุ่มที่จะมาเยือนจาก ๔ รพ.ในวันที่ ๒๗-๒๘ มีนาคม ๒๕๔๙
วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๙
ไม่มีความเห็น