ชีวิตของหญิงที่ติดเชื้อเอช ไอ วี


การติดเชื้อเอช ไอ วี

       เมื่อเดือนที่แล้ว  ออกไปเก็บข้อมูลที่โรงพยาบาลศูนย์  ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด  เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่  ที่มีผู้มารับบริการมาก  มากเสียจนเข้าใจว่าคนส่วนมากชอบพูดกันว่าเป็นโรงฆ่าสัตว์  เพราะผู้ที่ทำหน้าที่ให้การบริการดูแลรักษา  ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่  เป็นหมอ  เป็นพยาบาล  หรือแม้กระทั่งเป็นคนงาน  ล้วนแต่มีท่าทางที่เร่งรีบ    พูดจาห้วนๆสั้นๆคำไม่ไพเราะหู  แต่ก็เข้าใจและให้อภัยนะ  เพราะรู้ว่าเขางานยุ่งทั้งคนไข้ทั้งญาติมารวมกันที่นี่เหมือนกับมาตลาดนัด แถมคนใข้บางคนก็สื่อสารกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง  ก็เป็นแบบนี้แหละ  ได้แต่เห็นใจและเข้าใจในภาระงานที่มีมาก  มากเสียจนทำให้สุขภาพจิต  ของผู้ให้บริการเสียไป  เนื่องจากความเครียดในการทำงาน แม้ว่าทางโรงพยาบาลก็พัฒนาระบบการให้บริการ  ให้รวดเร็วทันใจผู้รับบริการอยู่เสมอๆ  แต่ก็ยังไม่ทันใจคนที่มารับบริการหรือญาติคนใข้  ทำให่ต่างคนต่างเครียดในต่างภาวะกัน  ต้องทำใจ  และเข้าใจทั้งสองฝ่าย

       มาที่เรื่องของเราดีกว่า  วันนี้ได้มาทำการประเมินระบบบริการของโรงพยาบาลว่ามีการดำเนินการเพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกและการดูแลหญิงหลังคลอดและครอบครัวที่ติดเชื้อเอช ไอ วี เป็นไปตามมารตฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้หรือไม่  และมีการดำเนินการอย่างไร  โดยการไปดูจากเอกสารการแพทย์ที่มีการบันทึกข้อมูลการให้บริการ  ตั้งแต่  OPD  CARD  ไปจนถึงใบรายงานการบันทึกต่างๆ  เริ่มตั้งแต่ห้องบัตร  งานฝากครรภ์  งานห้องคลอด  งานหลังคลอด  งานการตรวจชันสูตร(แลปด์)  งานการจ่ายยา  งานการจ่ายนมผสมให้กับเด็กที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอช ไอ วี กลับไปกินที่บ้านทุกเดือน  งานการติดตามเด็กมาเจาะเลือดตรวจเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอ วี ในกรณีผู้ปกครองไม่พาเด็กมาตรวจเลือด  ถ้าครบกำหนดโรงพยาบาลจะต้องตามมาตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก  นี่เป็นหัวข้อคร่าวๆ  ในการประเมินคุณภาพของการดำเนินงานในโรงพยาบาล   และยังต้องสัมภาษณ์ผู้ให้บริการในแต่ละแผนกที่กล่าวมาแล้ว  รวมทั้งแพทย์ที่ให้การดูแลรักษา  ตลอดจนสัมภาษณ์หญิงหลังคลอดที่ติดเชื้อเอช ไอ วี  ด้วยว่าเขาได้รับบริการจากโรงพยาบาลอย่างใดบ้าง  จากการเก็บข้อมูลพบว่า  มีการให้บริการเป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนดไว้ 

            และจากการที่ได้สัมภาษณ์หญิงหลังคลอดที่ติดเชื้อเอช ไอ วี  6 คน  โดยสัมภาษณ์ทีละ 1 คนจะไม่เจอกัน  เพราะเคยบอกแล้วว่าหญิงหลังคลอดที่ติดเชื้อจะไม่ค่อยเปิดเผยตนเอง  กลัวคนอื่นจะรู้แล้วจะโดนสังคมรังเกียจ อย่างที่ได้เคยเล่าไปบ้างแล้ว  การได้สัมภาษณืหญิงหลังคลอดเหล่านี้  ก็ได้เห็นถึงความรักของคนที่เป็นแม่ที่มีต่อลูกว่าทุกคนมีความปราถนาดีต่อลูกอยากจะเห็นลูกมีความเจริญเติบโต  มีสุขภาพดี  แม่หลังคลอดที่เราสัมภาษณ์ทุกคน  บอกกับเราว่าตอนกินยาต้านไวรัสเมื่อตอนตั้งครรภ์นั้นจะไม่ยอมให้ลืมกินยาเป็นอันขาด  เพราะรู้ดีว่าการกินยาขณะตั้งครรภ์จะมีผลต่อลูกในครรภ์  ว่ามีโอกาสจะติดเชื้อจากแม่เพิ่มขึ้นถ้าแม่กินยาไม่ครบหรือไม่สมำเสมอ   และเมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว  ก็จะต้องให้กินยาต้านไวรัสในลูกอีก 1 - 6 สัปดาห์   ซึ่งการให้ยาต้านไวรัสในเด็กแรกเกิดจะมีความยุ่งยากมากเพราะเด็กยังดื่มไม่เป็นต้องใช่ตัวดูดยาน้ำ  ที่ทางแพทย์เรียกว่า  dropper  ค่อยๆหยอดให้ลูกกินทุกๆ 6 ชั่วโมง  ไม่ว่าจะดึดดื่นแค่ไหนก็ตาม  แม่ก็ต้องตื่นมาให้ยาลูกให้ครบตามกำหนดทุกมื้อ  เราถามเขาว่าเขาทำได้อย่างไร   คำตอบที่เหมือนกันคือตั้งนาฬิกาปลุก  เพราะไม่อยากให้ลูกได้รับยาไม่ครบ   เพื่อลูกจะได้ไม่ติดเชื้อจากแม่   อยากให้ลูกเป็นปกติอย่าได้เหมือนกับตนเอง  ตอนที่พูดถึงลูกหลายคนนำตาซึม  บางคนก็นำตาไหลออกมา  เราต้องให้กำลังใจกันยกใหญ่  คนทำงานก็หวังเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน หัวอกแม่ก็เป็นแบบนี้แหละ  เราเข้าใจอย่างซาบซึ้งเพราะเราก็เป็นแม่เหมือนกัน  

          มีแม่อยู่คนหนึ่งที่ตั้งท้องแล้วลูกตายในครรภ์เมื่อคลอดออกมาแล้วลูกไม่มีชีวิต  ตัวแม่เองมีความรู้สึกผิดมาตลอดที่ไม่สามารถมีลูกให้สามีได้  ตัวสามีเองก็อยากจะมีลูกมาก  ตนเองก็ไม่เปิดเผยผลเลือดว่าติดเชื้อเอช ไอ วี ให้สามีทราบ  เพราะในอดีตเคยมีคนรักมาก่อน  สามีปัจจุบันได้ตรวจเลือดแล้วพบว่าไม่ติดเชื้อ  เอช ไอ วี  ก็กลัวถ้าจะบอกเรื่องการติดเชื้อของตนเองใหสามีทราบแล้ว  สามีรับไม่ได้  ก็จะเลิกกับตนเอง  ความลับเรื่องผลเลือดจึงเป็นความลับมาตลอด  เวลาจะมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจหรือรับยาต้านก็ไม่กล้ามาเพราะมีญาติพี่น้องทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล  ถ้าเห็นว่ามาหาพยาบาลคนนี้จะต้องทราบทันทีว่าตนเองติดเชื้อ  จึงมีความกังวลใจอยู่ตลอดเวลา  จะปล่อยให้มีลูกใหม่เพื่อสามีจะได้สมหวังก็กลัวว่าสามีจะติดเชื้อจากตนเอง  เพราะปัจจุบันใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเวลาหลับนอนกับสามี   เธอได้แต่โทษตนเองว่าทำหน้าที่ภรรยาไม่ดีเพราะไม่สามารถมีลูกให้กับสามีได้  ความทุกข์ใจจึงอยู่กับตัวเธอมาตลอด  อยากมีลูกแต่กลัวสามีจะติดเชื้อ เอช ไอ วีจากตัวเธอ เรื่องนี้ไม่มีใครช่วยเธอได้นอกจากตัวเธอเองต้องมารับการปรึกษากับพยาบาลที่ให้การปรึกษาและเธอต้องหาทางคลี่คลายปัญหาด้วยตัวเธอเอง    ฟังแล้วก็เศร้าใจ  นี่คือชีวิตจริงที่เหมือนกับในนิยายต่างคนก็ต่างปัญหา  และไม่มีใครแก้ปัญหาให้ได้นอกจากตัวเอง

         เรื่องเอดส์นั้นมีปัญหาซับซ้อนซ่อนเงื่อนอีกหลายปมต้องค่อยๆแก้ออกทีละปม  ปมแรกที่ต้องแก้คือให้ผู้ที่ติดเชื้อเอช ไอ วี เห็นคุณค่าในตัวเอง  ว่าเราเพียงแค่มีเชื้เอช ไอ วีอยู่ในร่างกายเท่านั้น  คุณค่าความเป็นคนไม่ได้อยู่ที่การติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ  แต่อยู่ที่การกระทำของตนเองนั่นแหละที่จะสร้างคุณค่าให้กับตนเองแค่ไหน   คนทำงานเรื่องเอดส์  จึงต้องเจอกับปัญหา ร้อยแปด พันเก้า ถ้าจิตใจไม่เข้มแข้ง  ทำงานได้ไม่นานก็ต้องขอเปลี่ยนงานย้ายงานใหม่  เราคนทำงานก็ต้องคอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน   และให้การสบับสนุนแก่ผู้ปฏิบัติงานให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เท่าทีจะสบับสนุนได้   ถึงตอนนี้ต้องขอพักเพื่อไปเติมกำลังใจให้กับตัวเองก่อน  เพราะเล่าเรื่องแบบนี้แล้วมันรู้สึกเศร้าๆอย่างไรบอกไม่ถูก  บ้ายบายค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 186143เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2008 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณมากๆ คะ ที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์และสิ่งที่ได้พบจากการทำงาน

ดิฉันขอแนะนำเกี่ยวกับการใส่คำสำคัญ คะ การใส่คำสำคัญควรใส่เป็นคำ หรือ ประโยคสั้นๆ ที่สอดคล้องกับเนื้อหาคะ ทั้งนี้เพื่อให้คำสำคัญที่ใส่ไปนั้น เชื่อมโยงไปยังบันทึกอื่นๆ ที่มีคำสำคัญเดียวกันคะ

รบกวนลองศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://gotoknow.org/blog/tutorial4u/tag/คำสำคัญ คะ

เพื่อเป็นประโยชน์ในการใช้งานคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท