
ปริญญาชีวิต ตอนที่ ๘
“ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี”
คุณธรรมข้อนี้ผู้เขียนยึดถือเป็นคัมภีร์ ประจำตระกูล ที่ต้องถ่ายทอดให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้รู้ และสามารถนำไปปฏิบัติสืบต่อไป
“อัจฉริยลักษณ์ของ “ป๋าเทพ”
มีกัลยาณมิตรท่านหนึ่งส่งหนังสืออัตชีวประวัติของป๋าเทพ “เทพโพธิ์งาม” มาให้อ่าน ผู้เขียนอ่านรวดเดียวจบ ขณะที่อ่านก็รู้สึกวูบวาบเพราะมองเห็นแต่แง่มุมที่คมคายและงดงามมากมาย
“ป๋าเทพ” เป็นชื่อที่คนในวงการตลกด้วยกัน และคนในวงการสื่อมวลชนพร้อมใจกันตั้งให้แก่ “เทพ โพธิ์งาม” ตลกอัจฉริยะผู้มีพรสวรรค์ในการแสดงตลกชนิด “เกิดมาเพื่อการนี้” ด้วยความคารวะในฝีไม้ลายมือและอัธยาศัยอันกว้างขวางต่อเพื่อนฝูงและคนรุ่นหลัง
เสน่ห์ของป๋าเทพ ไม่ได้อยู่ที่ฝีมือเพียงอย่างเดียว หากสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “ความมีน้ำใจ” และความเป็นคนมองโลกในแง่ดีชนิด “เราทำคุณกับใครให้ลืม” แต่หาก “ใครมีคุณกับเราต้องจำ” นอกจากนั้นแล้วคุณธรรมที่เด่นมากของป๋าเทพ ย่อมได้แก่ความเป็นคนมีธรรมะในหัวใจชนิดสัมผัสได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมะที่เรารู้จักกันในชื่อ “ความกตัญญูกตเวที”
ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ หรือดูจากละครอัตชีวประวัติของป๋าเทพผ่านรายการ “จันทร์เจ้าของ” เราย่อมสัมผัสได้เป็นอย่างดีว่า เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของคนคนนี้ ไม่ใช่เรื่องของฝีมืออย่างเดียว หากเป็นเรื่องของธรรมะที่เขาถือเป็นหลักธรรมประจำใจนั่นต่างหาก
“กตัญญู” หมายถึงความตระหนักรู้ว่าใครมีคุณกับเรา ความไม่ลืมว่าเรามาถึงจุดที่ยืนอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะมีใครอุทิศตนเป็นอิฐก้อนแรกให้ย่างเหยียบกระทั่งได้หยัดยืนอย่างทระนง และความยอมรับอย่างสัตย์ซื่อว่าตนเองไม่ได้เก่งอยู่คนเดียว หากเป็นเพราะยังมีมือแห่งความเอื้ออาทรของผู้คนอีกมากมายคอยประคับประคองอยู่ข้างหลังอย่างมากด้วยน้ำไมตรี จนทำให้ตนมีวันที่รุ่งโรจน์ได้อย่างที่ฝัน
“กตเวที” หมายถึงความตระหนักรู้ว่าใครมีคุณกับเราแล้วไม่ลืมคุณของเขา หากแต่คอยหาโอกาสเอ่ยอ้างถึงความสำคัญของเขาให้สังคมได้ร่วมรับรู้ สรรเสริญ และยินดีตอบแทนพระคุณของเขาที่เราพอจะทำได้ตลอดเวลา กล่าวอย่างรวบรัด กตัญญูกตเวที ก็คือ “รู้ว่าใครมีคุณแล้วไม่เนรคุณ” นั่นเอง
“ป๋าเทพ” เข้ามาสู่วงการตลกได้ก็เพราะมี “ครู” คนหนึ่งเป็นคนให้โอกาสและชักนำเข้ามา ล่วงมาจนถึงวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ป๋าเทพโด่งดังยิ่งกว่าครูแล้ว แต่สถานภาพอันสูงส่งของครูคนนั้นก็ยังคงสถิตอยู่ในใจของป๋าเทพเสมอมาไม่เปลี่ยนแปลง ป๋าเทพไม่เคยลืมครูและไม่เคยถือว่าตนดีเด่นยิ่งไปกว่าครูเลยแม้แต่น้อย ครูของป๋าเทพชื่อ “เด่น ดอกประดู่”
ป๋าเทพเล่าว่าเมื่อแรกเข้าสู่วงการตลก ครูของป๋ามีเรื่องไม่ลงรอยกันกับหัวหน้าวงดนตรีลูกทุ่งวงใหญ่ในขณะนั้น สุดท้ายของการกินเกาเหลาร่วมโต๊ะ ส่งผลให้ เด่น ดอกประดู่ ต้องระเห็จออกมาจากวง พร้อมทั้งยังมีคำขู่ตามหลังมาด้วยว่า ถ้าใครไปส่งเด่น ดอกประดู่ คนคนนั้นก็มีอันจะต้องชะตาขาดตามเด่นไปด้วยเช่นกัน
ในวันที่เด่น ดอกประดู่ เดินออกจากวงดนตรี ไม่มีใครสักคนในคณะตามไปส่ง เพราะทุกคนต่างก็เกรง “ประกาศิต” จากเบื้องบนชนิดหัวหด แต่ตลกหน้าใหม่ตัวเล็กๆคนหนึ่งของวงไม่เหมือนคนอื่น เพราะเขาเป็น “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” ไม่เพียงแต่จะไม่สนใจคำขู่จากเบื้องบนเท่านั้น ทว่าเขายังหายไปจากวงและแอบไปดักรอรถของครูที่จะแล่นผ่านเส้นทางนั้นอย่างอาจหาญด้วยตนเอง
เมื่อรถของครูเด่น ดอกประดู่ แล่นผ่านมาและมองเห็นเทพ โพธิ์งาม นั่งสูบบุหรี่รออยู่ข้างทาง ครูเด่นไม่รอช้าที่จะลงมาถามไถ่ว่าแอบมาส่งตนเองอย่างนี้ ไม่กลัวอาญาสิทธิ์จากหัวหน้าวงหรือ ป๋าเทพตอบด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนแต่ชัดเจนในน้ำเสียงว่า “จะให้ผมลืมคนที่เคยให้โอกาสผมมาก่อนได้อย่างไร”
วันนั้น ทั้งครูทั้งศิษย์ต่างกอดกันกลมน้ำตาคลอด้วยซาบซึ้งในน้ำใจและน้ำธรรมที่หล่อเลี้ยงหัวใจให้ต่างฝ่ายต่างก็รักใคร่ และปรารถนาดีต่อกันและกันอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ยอมทอดทิ้งกันและกันทั้งในยามทุกข์และยามสุข นับแต่นั้นเป็นต้นมาตลกอัจฉริยะทั้งคู่ก็โลดโผนในวงการตลก วงการแสดง และวงการโทรทัศน์มาอย่างโชกโชนและช่ำชอง
เป็นความช่ำชองและโชกโชนถึงขนาดที่คนทั้งวงการยกให้ทั้งคู่เป็นตำนานของตลกที่ไม่อาจไม่กล่าวถึงของวงการตลกเมืองไทยไปแล้ว
คนอีสานถือกันว่า “เกิดเป็นคนอย่าลืมรอยเท้า” คนเหนือเชื่อกัน ว่า “เกิดเป็นคนอย่าลืมบ่อน้ำที่เคยดื่มยามกระหาย” คนไทยภาคกลางกล่าวว่า “เกิดเป็นคน อย่าเป็นวัวลืมตีน”
พระพุทธศาสนาสอนว่า “ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี” บนเส้นทางของการทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่มีใครที่หยัดยืนอยู่ได้อย่างองอาจ สง่างาม เพียงเพราะว่าเขาเป็นคนที่ “เก่งอยู่คนเดียว” มาแต่กำเนิด แท้จริงเบื้องหลังความสำเร็จของคนคนหนึ่ง ล้วนมีผู้ร่วมปิดทองหลังพระอยู่มากมาย
วันนี้....วันที่เราได้หยัดยืนอย่างองอาจสง่าผ่าเผยบนบัลลังก์ทองของความสำเร็จตามสายอาชีพที่ใฝ่ฝัน ถามว่าเรายังคงจดจำใบหน้าของผู้คนที่เคยร่วมปิดทองหลังพระให้กับเราได้บ้างหรือเปล่า?
“อัจฉริยลักษณ์ของ “ป๋าเทพ”
จากหนังสือธรรมาค้าขึ้น ของท่าน ว. วชิรเมธี