ความสุขจากการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง


สมองของเราที่มีไว้เพื่อให้เรารู้ความจริง เพื่อให้ทำสิ่งต่างๆ ได้ผล

 บันทึกคำบรรยายของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ในการประชุมประจำปี R2R ที่ศิริราช เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2551

          เมื่อกี้ มีเจ้าหน้าที่มาถามว่ามี slide ประกอบการบรรยายหรือไม่ ผมมีแต่ความสุขที่จะมาแจกจ่าย เขียนออกมาเป็นรูปหรืออะไรไม่ได้

          ขออนุโมทนาศิริราชที่ทำอะไรดีๆ มีความก้าวหน้าไปมาก  ผมอยู่ที่นี่มากว่าครึ่งศตวรรษ เห้นศิริราชย้อนหลังไป 50 ปี  เมื่อตอนหนุ่มๆ  frustrate มากเคยเขียนลงสารศิริราช มีผู้คนฮือฮากันมาก ตอนนี้ศิริราชเหมือนช้างบินได้ ศิริราชใหญ่และเก่า ตอนนี้บินได้และบินขึ้น  เป็นความมหัศจรรย์

          หัวข้อที่ให้มาพูดคุยในวันนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นคนตั้ง เป็นหัวข้อที่ดีเพราะความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากที่สุด แต่มนุษย์กลับไม่เรียนรู้วิธีที่จะสร้างความสุข  เราเรียนอย่างอื่นเยอะไปหมด แต่ไม่เรียนเรื่องความสุข  ความสุขสร้างได้เอง สร้างได้ไม่ยาก หัวข้อนี้จึงมีความสำคญอย่างยิ่ง ความสุขกับการเรียนรู้ การเรียนรู้ทำให้เราฉลาด  ทั้งเรียนรู้ทั้งมีความสุข ก็จะเป็นประโยชน์มหาศาล

          ความทุกข์เกิดจากการโง่เขลา  พระพุทธเจ้าตรัสว่าความทุกข์เกิดจากอวิชชา  ความไม่รู้เป็นปัจจัยให้เกิดการปรุงแต่ง  ต่อไป 12 ขั้นตอน จึงเกิดความทุกข์ขึ้น 

          ถ้าการเรียนรู้ทำให้เรารู้ก็น่าจะทำให้เราเกิดความสุข  ขอขอบคุณผู้ตั้งหัวข้อนี้ขึ้นมา

          เราน่าจะมีความสุขฉับพลัน ไม่รอช้า

 

นิยามของความสุข

          ความสุขคือการสิ้นไปของความทุกข์  ถ้านิยามอย่างอื่นจะยากมาก  เวลาความทุกข์สิ้นไปเราจะมีความสุขเหลือหลาย  เวลาเราไม่สบาย พอหายเราจะมีความสุข

          ความทุกข์คือความบีบคั้น 4 อย่าง (1) ทางกาย เช่น ใครจับเราไปใส่ที่มืด ความเจ็บป่วย, (2) ทางจิต, (3) ทางสังคม เช่น สัมพันธ์กันด้วยอำนาจ, (4) ทางปัญญา อะไรที่มัวซัว ไม่แจ่มแจ้ง มันบีบคั้น  เหมือนนักเรียนเวลาไปโรงเรียนแล้วครูไม่มานี่เฮกันทั้งชั้น ทำไม เพราะเวลาครูมาสอนไม่แจ่มแจ้งทำให้มีความทุกข์  ครูส่วนใหญ่สอนไม่แจ่มแจ้ง เป็นความบีบคั้นของนักเรียน  ความไม่แจ่มแจ้ง ความไม่แทงทะลุ มันบีบคั้นทางปัญญา

          ความไม่บีบคั้น คืออิสรภาพจากความบีบคั้น  หลุดพ้นจากความบีบคั้นทางกาย จิต สังคม ปัญญา

          การเรียนรู้นำไปสู่ความแจ่มแจ้ง  การเรียนรู้นำไปสู่ความสุข

 

การเรียนรู้

          เราคุ้นเคยโดยอัตโนมัติว่าการเรียนรู้คือการท่องหนังสือ 

          เราควรเรียนรู้จากทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต  ท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้จากทุกอย่าง เลี้ยงหมา ปลา ไก่ ไว้เป็นครู  เรียนรู้แม้จากการเจ็บป่วย  เรียนรู้จากทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่จากหนังสือ

          1. เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมที่เรารับรู้มาทั้งปวง สุตตมยปัญญา  มย แปลว่า โดย ทาง สมัยโบราณมีแต่การฟัง  ตอนนี้ต้องรวมหมด ข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เรารับรู้

          2 ปัญญาที่เกิดจากการคิด  จินตามยปัญญา  คือการวิจัย หมายถึงสิ่งที่เรารับรู้เราเอามาวิเคราะห์สังเคราะห์ให้เข้าใจดีขึ้น แต่มันรวมการรับรู้ข้อมูลเข้าไปด้วย  เป็นธรรมชาติของมนุษย์จะต้องมีการวิจัยอยู่ตลอดเวลา

          3. ความรู้จากการลงมือทำ ภาวนามยปัญญา  ภาวนาแปลว่า development ทำให้เกิด  การได้ผล จะทำให้เราเกิดความปิติในผลที่ได้ เราทุกคนเคยเจอตรงนี้ทั้งนั้น  เราทำอะไรสำเร็จไปอย่างหนึ่งจะมีความสุข  นักวิจัยหนุ่มๆ สาวๆ ได้ตีพิมพ์ครั้งแรก  เอา reprint เข้าไปนอนในมุ้งด้วย เพราะมันมีความปิติ  ทำอะไรให้สำเร็จจะมีความสุข  จะมีวิธีจัดการกับตรงนี้ไม่อย่างนั้นจะเป็นบ่อเกิดแห่งความผิดหวัง 

          วิธีคิดนี้มาจากภควัตคีตาบทที่ 3  มหาตมะ คานธีจะถือไว้ตลอดเวลา  อ่านเที่ยวแล้วเที่ยวล่า กัมมะโยคะ การกระทำทุกชนิดคือผล  เราจะชื่นชมยินดีกับผลที่เกิดขึ้น  ผลยังไม่เกิดเราก็กลุ้มใจ  บทนี้เขาบอกว่า โยคะคือการฝึก  กัมมะโยคะแปละว่าการกระทำนั่นแหละคือผล  ต้องชื่นชมกับสิ่งที่เราทำทุกวัน  อย่าไปรอระยะยาวซึ่งต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง อันนี้เป็นเทคนิคที่จะไม่ให้มีความสุข

          ท่านอาจารย์พุทธทาสมีคำสอนประมาณ 29,000 ชิ้น  จะมีการสร้างหอจดหมายเหตุที่สวนจตุจักร  คำสอนของท่านเรื่อง เมื่อแตงโมไม่หวาน เวลากินแกงแล้วไม่อร่อย อย่าไปโกรธ ให้คิดว่าได้พบของใหม่  มนุษย์ชอบพบของใหม่  เด็กจะชอบ explore มาก ได้เรียนรู้ ชื่นชมกับคำใหม่ที่ได้เรียนรู้แล้วก็เอาไปลองใช้  การพบของใหม่เป็นความสุขอย่างหนึ่ง 

          เราต้องทำความเข้าใจว่า การเรียนรู้ขึ้นกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ  ถ้าเราคิดว่าเรามีอำนาจเหนือคนอื่นเราจะไม่เรียนรู้จากเขา  คนที่มีอำนาจจะไม่เรียนรู้ มีอำนาจแล้วคิดใช้อำนาจ ไม่คิดใช้ความรู้  เราเกิดมาในสังคมอำนาจโดยเราไม่รู้ตัวเพราะวัฒนธรรมหล่อหลอมความคิดเรา  หมอจะรู้สึกว่าอยู่เหนือคนไข้ จะฟังน้อย

          การเรียนรู้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขึ้นกับความรู้สึกของเราต่อคนอื่น ปกติมนุษย์จะมีกิเลศ 3 อย่าง ตัณหา มานะ ทิฐิ  ตัณหาคืออยากได้ มานะแปลว่าการชอบใช้อำนาจเหนือคนอื่น ทิฐิแปลว่าเอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่  จะเป็นสัตว์ร้ายสามตัวที่อยู่ในตัวเราทุกคนแล้วทำให้เราขาดการเรียนรู้  เราต้องดูตัวเอง 

          มีตัวอย่าง Dee Hock เป็นคนจน อยู่ที่ Utah ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย แต่ชอบเรียนรู้  ไปทำงานเป็นพนักงานธนาคารอยู่ 20 ปี  ถูกไล่ออกทุกแห่งเพราะความเห็นไม่ตรงกับ CEO เพราะ CEO ชอบใช้อำนาจ  มีการเฉื่อยงาน ทำร้ายกันบ้าง  ต่อมา Dee Hock เป็น founder ของธุรกรรมทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ Visa Card แต่ไม่มีใครใหญ่เหนือใคร  แล้วจะเกิด productivitiy ในองค์กรมาก แกจะบอกว่าแกจะดูสัตว์ร้ายในตัวแก 4 ตัว ว่าเวลาพูดอะไรมันจะออกมาเพ่นพ่านหรือเปล่า ตัวหนึ่งก็คือ ego

          มันอยู่ในตัวเรา ถ้าเรารู้ทันมันจะสงบลง  มันจะดีขึ้นแล้วจะนำไปสู่การเรียนรู้  ถ้าเราเข้าใจแล้วสามตัวนั้นมันลดลงเราก็จะมีความสุขขึ้นและทำให้เรามีความสุขขึ้นด้วย  ถ้ามีสามตัวนี้เขาใส่กัน  เราอยู่ใน mode ของการต่อสู้มา 75-76 ปี ว่าใครจะเอาเปรียบใคร ใครจะทำร้ายใคร  ไปกระตุ้นสมองส่วนหลัง  สมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนเหตุผล ความดี ความงาม จะด้อยลง  น่าเปด็นห่วงสมองของคนไทยทั้งมวล  ต้องช่วยกันรีบออกจากตรงนี้ไปเพื่อไปใช้สมองส่วนหน้า ส่วนของเหตผล ความดี ความงาม

          อาชีพของพวกเราจะช่วยสังคมได้มาก สติปัญญา สถานภาพ เรามีอาชีพในการเยียวยา นอกจากการเยียวยาคนเจ็บ ใช้เยียวยาตนเองและเยียวยาโลกด้วย เพราะโลกป่วยเหลือกำลัง

          พอเราเข้าใจ เราก็มีความสุขแล้วว่าเราจะลดอัตตาของเราลง  เราก็จะไปสู่ mode ของการเรียนรู้มากขึ้น  จุดใหญ่ของเราที่ต้องการปฏิวัติวัฒนธรรม คือเปลี่ยนจากวัฒนธรรมอำนาจไปสู่วัฒนธรรมการเรียนรู้

 

การวิจัยกับการเรียนรู้

          เราเข้าใจผิดที่แยก การศึกษา กับการวิจัยออกจากกัน  ทำให้ขาดปัญญา  ที่จริงการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้

          สมองทำหน้าที่รับรู้ จากที่ตาเห็น หูได้ยิน ประสาทสัมผัสต่างๆ  ถ้าเรารับรู้เข้ามาตรงกับความจริงมากเท่าไร เราก็ฉลาดขึ้น  เมื่อรับรู้เข้ามาแล้วเราก็มาวิเคราะห์สังเคราะห์ให้เป็นปัญญาที่สูงขึ้น  เข้าใจตรงขึ้น  สมองมีหน้าที่วิจัยอยู่เป็นประจำเพื่อให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ

          มนุษย์โบราณเห็นเสือเข้ามาต้องประเมินว่าตัวเล็กหรือใหญ่ จะสู้ได้หรือไม่ จะหนีหรือจะสู้  ต้องประเมินสิ่งต่างๆ ให้ตรงกับความเป็นจริงเพื่อความอยู่รอด

          บางเรื่องที่เราเห็นมันหลอกเราได้ เช่น เมื่อมองตามพื้นโลกจะว่าโลกแบน แต่อาศัยหลักฐานอื่นมาช่วยให้รู้ว่าโลกกลม  การจะทำอะไรได้ผลต้องรู้ความจริง ถ้าใช้ความไม่จริงจะไม่ได้ผล  เราจะไปลงดวงจันทร์ได้ทุกอย่างต้องเป็นความจริงหมด ขนาด การหมุน แรงโน้มถ่วง  ถ้าไม่จริงมันก็ไม่ได้ผล  สมองของเราที่มีไว้เพื่อให้เรารู้ความจริงเพื่อให้ทำสิ่งต่างๆ ได้ผล  ทำไปแล้วก็ประเมินอีกว่าได้ผลจริงหรือเปล่าเพื่อเอามาปรับอีก

          การวิจัยคือวิถีชีวิต วิถีชีวิตคือการวิจัย  การวิจัยอยู่ในทุกหนทุกแห่งไม่ได้แยกตัวอย่างที่เราเข้าใจ

 

การวิจัยโดยชาวบ้าน 

          ผมเคยเป็นประธานอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ของสภาการศึกษา ก็ไปดูการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ  พบว่าการวิจัยจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น ทำให้ค้นพบเรื่องใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน

          ไปที่ภูเรือ ลุงคำป่วน ปลูกดอกไม้เมืองหนาวในหุบเขา  ไปคุยกับแก  คงจบไม่เกินชั้นประถม  แกบอกว่าแกมาดูที่สวนจตุจักรว่าเขาขายอะไรกัน แล้วแกก็ไปทำ อันนี้แกทำวิจัยตลาดแล้ว  แกบอกว่าเวลาปลูกจะไม่ทำวิธีเดียว จะทำหลายวิธีแล้วมาเปรียบเทียบกัน แล้วลองอีก วิธีของแกจะดีขึ้นเรื่อยๆ  แกรวยไม่รู้เรื่อง  ตอนผมไปดูแก มีรถมาบรรทุกดอกไม้ 3 คันรถ  คันละห้าหมื่นบาท   แกปลูกบ้านอยู่ริมเขา ลูกที่มาเรียนกับพ่อก็กลับไปทำงานกับพ่อเพราะพ่อประสบความสำเร็จ  เดิมที่ทิ้งชนบทเพราะชนบทมันล้มเหลว

          ไปคุยกับแม่กิมลั้งที่ลพบุรี  แม่กิมลั้งเป็นคนเห็นคุณค่าของการเรียนรู้มาก  ตอนสาวๆ มีลูกหลายคน  รายได้เดือนละ 500 บาทไม่พอเลี้ยงลูก  เห็นกล้วยแขวนอยู่ก็ถามว่าทำอย่างไรจะให้มีมูลค่าเพิ่ม  ต่อมาก็ทำขนมขาย ทำกับข้าวขาย  รวยไม่รู้เรื่อง  แกเห็นคุณค่าของการศึกษา

          ป้าคนหนึ่งที่เพชรบุรีขายเห็ดนางฟ้า พอเหลือก็เน่า แกก็ตั้งคำถามว่าทำอย่างไรจะมีวิธีเก็บได้ทนและกินอร่อย  ตั้งคำถามอยู่เรื่อยแล้วจะเกิดงานวิจัย  แกทดลองวิธีต่างๆ หนักเขาแกค้นพบวิธีทำเห็ดหยอง กินอร่อย เก็บได้ทน เป็นของใหม่ ไม่เคยมีในโลก เกิดจากการวิจัยของป้าคนนี้

          ที่มาดากาสก้า มีชาวนาคนหนึ่งวิจัยว่าปลูกข้าวอย่างไรให้ได้ผลผลิตมากขึ้น  ได้ค้นพบสิ่งที่นักวิชาการที่ฮาร์วาร์ดก็ไม่รู้ สามารถปลูกข้าวได้ถึง 18 ตันต่อเอเคอร์ โดยใช้เมล็ดพันธ์น้อยลง ใช้น้ำน้อยลง ไม่ใช่ปุ๋ยเลย  ถ้าเมล็ดใกล้กันมันแย่งอาหารกัน  น้ำไปกันปฏิกิริยาระหว่างจุลชีพในดินกับเมล็ด  ใช้น้ำน้อยเพื่อให้มันสัมผัสกัน  ดินมีโอชะ ลำต้นของข้าวก็จะโตเพราะได้ปุ๋ยจากใต้ดิน เขาเรียกว่า HRI นักวิชาการไม่เชื่อ  เพื่อนผมอยู่ ม.โคลัมเบีย Norman เขามาเล่าให้ฟัง

          อันนี้เป็นบทเตือนใจว่าการวิจัยเป็นวิถีชีวิต จะแก้ความยากจนได้ มีตัวอย่างในชุมชนมากที่วิจัยแล้วแก้ความยากจนได้เยอะเลย

          ชุมชนเขาครามที่ จ.กระบี่ เขายากจน ลำบาก เขาไม่รู้ว่าทำไม ไม่มีทางออก  เขาเริ่มตั้งคำถามแล้วเก็บข้อมูล  ตั้งคำถามว่าตำบลของเราใช้น้ำปลามูลค่าปีละเท่าไร ปรากฏว่าใช้เจ็ดแสนบาทต่อปี  ชาวบ้านก็ตั้งคำถามต่อว่าเราทำเองได้หรือเปล่า ตอบทางไหนก็ได้  ถ้าตอบว่าทำไม่เป็นก็ไปเรียนรู้การทำ  ถ้าตอบว่าทำเป็นก็ทำ  เขาทำน้ำปลาเอง  ถามว่าต้องใช้เงินเท่าไร แสนบาท  ได้กำไรมาหกแสนจากการรวบรวมข้อมูลเรื่องน้ำปลา  ถามต่อไปว่าค่าขนมลูกของเราทั้งตำบลปีละเท่าไร ก็ไม่รู้  ถ้าท่านทั้งหลายรู้ตัวเลขแล้วจะตกใจ ขนมหลอกเด็กเอาเงินชาวบ้านไปปีละ 1.7 แสนล้านบาท แล้วทิ้งปัญหาไว้กับเด็ก

          น้ำตาลไปจับโปรตีนทำให้กรอบ เวลาอบเป็ดต้องเอาน้ำตาลทาให้หนังกรอบ  แต่ถ้ากินน้ำตาลมากแล้วเนื้อกรอบ แล้วแก่เร็วด้วย  ถ้าไม่อยากแก่เร็วอย่ากินน้ำตาลมาก  เพื่อนผมคนหนึ่งพบสารที่ไปแยกน้ำตาลออกจากโปรตีนในร่างกาย ปรากฏว่าเป็นหนุ่มสาวอยู่นาน  พยาบาลต้องระวัง เขาผสมความหวานในนมมาแจกเด็กที่ห้องคลอดให้คุ้นเคยกับความหวาน

          เอาจำนวนตำบลทั้งหมดก็จะเป็นตัวเลขที่แต่ละตำบลเสียค่าขนม ที่เขาครามพบว่าเสียค่าขนมลูกหลายล้านบาทต่อปี เห็นตัวเลขก็ตกใจ เกิดจิตสำนึก ตั้งคำถามว่าเราทำขนมให้ลูกกินได้หรื่อไม่  ก็อาศัยภูมิปัญญาขาวบ้านว่าพ่อแม่เคยทำขนมอะไรให้กินได้  ทำขนมให้ลูกกินได้ตั้ง 20-30 อย่าง  หันไปหาภูมิปัญญาดั้งเดิม  เรามีอยู่แล้วเราไม่ได้ใช้  ระบบตลาดทำให้เราทำอะไรไม่เป็น  ทำขนมเหลือขายอีก  ที่เคยขาดดุลย์ตั้งเยอะกลายเป็นบวก

          เขาก็ถามคำถามต่อ เราซื้อเครื่องดี่มปีละเท่าไร  ปีละ 25 ล้านบาท ก็ตกใจมาก เกิดคำถามว่าจะทำอะไรดี มันทำให้ปรับพฤติกรรมการผลิตและการบริโภค

          คำถามต่อไป เราเป็นหนี้เท่าไร เป็นหนี้ใคร ทำไมเป็นหนี้  เขาก็จะเรียนรู้ว่าที่เขาปลูกพืชอย่างเดียวทำให้เขาขาดทุน  เขาก็ปรับเป็นปลูกหลายอย่าง เชื่อมโยงกัน  20-30 อย่าง เรียกว่าวิสาหกิจชุมชน พ้นจากความยากจนเด็ดขาดและถาวร มีสุขภาพดีขึ้น มีความรุนแรงในชุมชนน้อยลง

          เราพยายามบอกรัฐบาลว่ามันไม่ยากในการแก้ความยากจน  ปี 44 ผมไปบรรยายเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนให้พรรคไทยรักไทย  มันไม่ยากถ้าเราทำโดยแนวคิดว่าการสร้างพระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน สร้างจากยอดไม่มีวันสำเร็จ  ฐานของสังคมคือชุมชนท้องถิ่น แต่เราทำอะไรทำจากยอดหมด เศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง ก็ทำจากข้างบน แล้วก็ไม่สำเร็จ  ต้องใช้โมเดลให้เจริญขึ้น ไม่ใช่เจริญลง  ทำจากข้างบนลงข้างล่างก็ไม่สำเร็จ  นักเศรษฐศาสตร์ใช้วิธีทำข้างบนแล้วให้กระจายลง มันไม่สำเร็จ

          ที่ ต.หนองกลางดง จ.ประจวบ หมู่บ้านหนึ่งเขารวมตัวกันเป็นสภาผู้นำชุมชน เก็บข้อมูลของชุมชน มาทำแผนพัฒนาชุมชน แก้ความยากจน ปัญหาสังคมได้ สิ่งแวดล้อมดีขึ้น  หมู่บ้านใกล้กันมาดูว่าทำไมเขาเจริญ  แล้วก็ไปทำสภาผู้นำชุมชน ก็ไม่ดีขึ้น กลับไปดูใหม่ อ๋อเขาใช้ข้อมูล เราไม่ได้ใช้ข้อมูล  เขาก็ไปเก็บข้อมูล ปรากฏว่าดีขึ้น  นี่เป็นการวิจัยโดยชุมชน  พอชุมชนวิจัยเป็น วิเคราะห์ปัญหา วินิจฉัยปัญหา วิเคราะห์ทางเลือกและตัดสินใจทางเลือกที่ถูกต้อง มันเป็นการวิจัย ทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น

          เราอยู่ในภาคที่ลงมือทำ ทุกเรื่องต้องเป็นการเรียนรู้ การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ 

ขั้นตอนของการเรียนรู้

          ผมเคยเขียนเรื่อง 10 step ของการเรียนรู้

1.      ฝึกสังเกต observe

2.      ฝึกบันทึกเพื่อแก้นิสัยเรา คนไทยมีนิสัยไม่ชอบเขียน เมื่อก่อนบันทึกการแพทย์ก็ไม่ค่อยมี ต้องระลึกชาติ  ญี่ปุ่น จีน ฝรั่งชอบบันทึก  เราต้องฝึกตรงนี้  การบันทึกที่ดีทำให้เราฉลาดขึ้น

3.      ฝึกการนำเสนอ presentation การนำเสนอเป็นการเรียนรู้ เป็นปัญญา  เราจะต้องดูว่าใครเป็นผู้ฟัง เขาเรียนรู้แค่ไหน จะนำเสนออะไรก่อนอะไรหลัง

4.      ฝึกการฟัง ต้องฝึก เพราะเราไม่ค่อยฟัง ต่างคนต่างพูด  ถ้าเราฟังดี ตั้งใจฟังดีเราก็ฉลาดขึ้น  ตอนนี้มีคนพยายามส่งเสริมสุนทรียสนทนา  ไม่เน้นการโต้เถียงไปมา เน้นการฟังอย่างลึก deep listening ฟังอย่างตั้งใจ  การฟังคนใดคนหนึ่งอย่างตั้งใจ เป็นการเคารพเขา ความรู้สึกเขาจะดี  สกว.เวลามีนายกใหม่ต้องไป brief นายก ไปแล้วก็ล้มเหลว เพราะนายกท่านไม่มีหูที่จะฟัง

5.      ฝึกปุจฉาวิสัชนา ถามกันไปมา ทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น 

6.      ฝึกตั้งสมมติฐานและคำถาม ว่าเราฟังเรื่องราวทั้งหมด สมมติฐานมี 4 อย่าง คำถามใหญ่ในโลก  อริยสัจทำไมมี 4 เพราะคำถามใหญ่มี 4 คำถาม (1) สิ่งนี้คืออะไร what is it (2) สิ่งนี้เกิดจากอะไร (3) อะไรดีสำหรับอะไร อาจจะเป็นยา วัคซีน (4) ทำอย่างไรจะสำเร็จประโยชน์ ช่วยกันดูคำถามว่าอันนี้สำคัญ  บางทีเราไปถามสิ่งที่เป็น non question ก็มี มันไม่มีประโยชน์ ต้องช่วยกันดูว่าเป็นคำถามที่มีประโยชน์  บางคำถามมีค่าเป็นหมื่นล้าน

7.      แสวงหาคำตอบ จะไปอ่านหนังสือ ค้น internet อะไรก็แล้วแต่ ช่วยกัน  คำถามบางอันไม่มีคำตอบในหนังสือ แต่อาจจะมีคำตอบอยู่ในคนเฒ่าคนแก่  เพราะในคนเฒ่าคนแก่มีความรู้เชิงวัฒนธรรม มีความรู้ที่ถ่ายทอดกันมาแต่ไม่ได้ตีพิมพ์ เรียกว่ามุขปาถะ ต้องไปคุยกับคนเฒ่าคนแก่

8.      ถ้าค้นหมดแล้วก็ไม่ได้ แปลว่าไม่มีความรู้อยู่ในโลก แต่คำถามยังมีอยู่  เราก็ต้องออกแบบการวิจัยเพื่อตอบคำถาม  ได้คำตอบมา ก็เอาไปใช้งาน

9.      เอาความรู้มาบูรณาการให้เกิดปัญญา คือรู้ทั้งหมด  ความรู้ที่แยกส่วนยังไม่ดี และบางทีทำให้เกิดเรื่อง  มันต้องบูรณาการ เหมือนร่างกายเราที่มีความหลากหลายเหลือประมาณแต่เชื่อมโยงกันเป็นเอกภาพ เราจึงเป็นคนอยู่อย่างนี้ได้ มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน  ได้ความรู้มาแล้วต้องพยายามบูรณาการ

10.  ฝึกเขียนจากประสบการณ์ของเรา จากการียนรู้ของเรา จากการวิจัยของเรา พยายามเขียน อาจจะเขียนเรื่องเล่าแบบนวนิยายมีตัวละคร หรือจะเขียนรายงานการวิจัย  คนจะรู้สึกว่าเขียนไม่ได้เพราะการเรียนของเราทำให้เขียนไม่เป็น ถ้าเราอ่านมาก ฝึกเขียนเรื่อยๆ กา

หมายเลขบันทึก: 185305เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2008 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 11:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เราพูดกันทั่วไปว่าเราอยู่ในยุค "สังคมแห่งการเรียนรู้" และเราก็ต้องการ "ความสุข" กันทุกคน ดังนั้น "เคล็ดลับ" การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ก็คือ เราต้องทำให้การเรียนรู้เป็นความสุข ก่อความสุขสนุกสนานและมิตรไมตรี การเรียนรู้ในองค์กรเป็นองค์ประกอบที่ช่วยทำให้องค์กรเป็น Happy workplace และเป็น Healthy Workplace แต่ต้องมีวิธีการเรียนรู้แบบ "เป็นมวย" มิฉะนั้นกระบวนการเรียนรู้นั้นแทนที่จะก่อความสุขกลับก่อความทุกข์ กลายเป็น "เกิดทุกขภาวะจากการเรียนรู้"

ในยุคนี้ คนทุกคน องค์กรทุกองค์กร ชุมชนทุกชุมชน สังคมทุกสังคมต้องมีทักษะในการเรียนรู้ เป็นทักษะที่ถูกต้อง ที่ทำให้การเรียนรู้เป็นบ่อเกิดของความสุข ความสนุกสนาน ความมั่นใจภูมิใจในตนเองและมิตรไมตรี เราต้องมีทักษะในการสร้าง "สุขภาวะจากการเรียนรู้"

ว่างๆมาเล่นเกมส์หรือดูทีวีออนไลน์กันน้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท