ตลาดนัดความรู้สหกิจศึกษา (๒)


เล่าจากนักศึกษาที่ผ่านสหกิจศึกษาและผู้แทนจากสถานประกอบการเมื่อวานนี้ทำให้มองเกณฑ์เรื่องต่างๆ ได้กว้างขึ้น

ตอนที่

วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑

วันนี้เราเริ่มการประชุมตั้งแต่ ๐๘ น.เพื่อให้สามารถปิดการประชุมได้เร็วขึ้น เนื่องจากผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่จะเดินทางกลับในวันนี้ ระหว่างรอผู้เข้าประชุมให้พร้อมคุณพรรณก็ทำกิจกรรมสันทนาการสั้นๆ

 

กิจกรรมยามเช้า

ดิฉันนำเสนอปัจจัยที่เป็นขีดความสามารถหลักในงานสหกิจศึกษา ๘ เรื่องที่คุณอำนวย คุณลิขิต และทีมงานสังเคราะห์จากขุมความรู้ที่ได้จากเรื่องเล่าคือ
๑. การจัดระบบงานสหกิจศึกษา
๒. การสร้างความเข้าใจกับอาจารย์และนักศึกษา
๓. การเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษา
๔. การจัดหาสถานประกอบการให้เพียงพอ
๕. การคัดเลือกงานให้เหมาะกับนักศึกษา
๖. การสร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับสถานประกอบการ
๗. การสนับสนุนนักศึกษาระหว่างการปฏิบัติงาน
๘. การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับสถานประกอบการ

ต่อจากนั้นจึงแนะนำวิธีการสร้างเกณฑ์ระดับความสำเร็จ ๕ ระดับ ก่อนแยกย้ายเข้ากลุ่มทำงานตามที่มอบหมาย ดิฉันขอให้ทำเกณฑ์สำหรับทีมสหกิจศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยนำข้อมูลจากนักศึกษาและสถานประกอบการเข้ามาเป็น input สำหรับการสร้างเกณฑ์ด้วย

 

ช่วยกันสร้างเกณฑ์ระดับความสำเร็จ

เรื่องเล่าจากนักศึกษาที่ผ่านสหกิจศึกษาและผู้แทนจากสถานประกอบการเมื่อวานนี้ทำให้มองเกณฑ์เรื่องต่างๆ ได้กว้างขึ้น อาทิ การเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษา จะต้องเตรียมให้มีคุณสมบัติที่มากกว่าความรู้และทักษะในงานที่จะไปทำ แต่จะต้องมีคุณสมบัติที่พึงประสงค์อื่นๆ ด้วย เช่น การสู้งาน วิ่งเข้าหางาน การวางตัว ฯลฯ ส่วนการสนับสนุนนักศึกษาระหว่างการปฏิบัติงานนั้น มีเรื่องที่ต้องทำมากมายไม่ใช่การมีเพียงอาจารย์นิเทศ เช่น ระบบการ monitor การทำงานของนักศึกษาที่สามารถจะ detect แนวโน้มการเกิดปัญหาได้เร็ว การมีพี่เลี้ยงในสถานประกอบการ การมีพี่จากงานสหกิจศึกษาคอยติดตามดูแล การมีช่องทางการสื่อสารระหว่างกันอย่างรวดเร็วและทั่วถึง เป็นต้น

เมื่อพร้อมเราก็ได้เกณฑ์ที่ทีมสหกิจศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยใช้ประเมินตนเองได้ เมื่อให้ประเมินตนเอง บางทีมก็ไม่เข้าใจใช้วิธี check ว่าของตนมีเกณฑ์ข้อใดบ้างใน ๕ ข้อแทนการประเมินว่าอยู่ที่ระดับใด ต้องอธิบายกันนานพอสมควร ทีมส่วนใหญ่ประเมินตนเองค่อนข้างไปทางดี ทำให้มาคิดได้ว่าเกณฑ์ของเราอาจจะต่ำเกินไป การจับคู่ให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันจึงไม่ครบทุกปัจจัย แต่กระจายให้ครบทุกมหาวิทยาลัย

 

บรรยากาศกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันและกัน

ช่วงบ่ายดิฉันแนะนำว่าหลังจากจบการประชุมครั้งนี้แล้วจะทำอะไรต่อได้อีกบ้าง เพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายสหกิจศึกษา เช่น การจัดกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเว็บล็อก และงานนี้เจ้าภาพลงทุนติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมระบบอินเตอร์เน็ตในห้องประชุมในสัดส่วนประมาณ ๓-๔ คนต่อ ๑ เครื่อง

 

เราสอนวิธีการใช้บล็อกและให้ลองเขียนบันทึกสั้นๆ ด้วย

ปิดท้ายด้วยการ AAR ที่ให้ผู้เข้าประชุมทุกคนได้เขียนและบางคนได้พูด มีทั้งคำชม ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุง ซึ่งทีมงานสหกิจศึกษา มวล. จะรวบรวมเอาไปจัดพิมพ์เป็นข้อมูลประกอบการประเมินผลการจัดประชุมไปด้วย

รศ.ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้เกียรติมานั่งฟัง AAR อยู่ด้วย ช่วยตอบ comment ของผู้เข้าประชุม คำพูดของท่านแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมที่ชัดเจน เป็นการให้กำลังใจทีมจัดงานไปในตัว และกล่าวปิดงาน

การจัดประชุมผ่านพ้นไปแล้ว ดิฉันในฐานะวิทยากรยังไม่แน่ใจว่าจะมีผู้เข้าประชุมจำนวนมากน้อยเท่าใดที่เข้าใจและเห็นประโยชน์ของ KM ในการพัฒนางานสหกิจศึกษา คำถามสำคัญคือใคร ทีมไหนที่จะเป็น แกนนำและเอาจริงเอาจังในการขับเคลื่อนเครือข่ายนี้ต่อไป

สำหรับดิฉันแล้วการประชุม ๒ วันนี้ทำให้รู้จักสหกิจศึกษาดีมากขึ้น ความรู้จากเรื่องเล่าของผู้เข้าประชุมทำให้มองการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติได้กว้างขึ้นกว่าเดิม และเห็นแนวทางที่จะปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติของนักศึกษาพยาบาล

น้องเมย์ ปิติกานต์ เล่าประสบการณ์การมีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้และการเรียนรู้ของตนเองไว้ที่นี่

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 185296เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2008 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท