ประวัติภาควิชาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก มน.


          อาจารย์นิธิรัตน์  เนินเพิ่มพิสุทธิ์  อุตส่าห์ถอดความจากคำบรรยายของ อาจารย์ทวีสุข (ศ.ทวีสุข   กรรณล้วน) มาให้  เมื่อคราวปีการศึกษา 2550 ซึ่งภาควิชา CVT เชิญท่านมาสอนนิสิต CVT ชั้นปีที่ 2 และ 3  เรื่อง  ประวัติภาควิชาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก มน. เป็นเรื่องที่มีค่าควรบันทึกไว้ ดังนี้


          วันนี้อาจารย์รู้สึกตื่นเต้นที่ได้มาพบนิสิตชั้นปีที่ 2 , 3 ต้องขอขอบคุณภาควิชาด้วยนะคะ ก่อนอื่นต้องขอย้อนอดีตเนื่องจากหัวข้อที่อาจารย์ได้มาพูดนี้คือประวัติความเป็นมาคือมันผ่านมาแล้ว 10 กว่าปี

          ตั้งแต่ประวัติการก่อตั้ง ปัญหาของการผ่าตัดในประเทศไทย และการดำเนินการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ ก็คิดว่าจะเป็นประเด็นหลักๆ และมันก็มีคำพูดอยู่คำพูดหนึ่ง “การเรียนรู้วันวานก็สามารถที่จะสานต่อเรื่องราวในอดีตได้” และก็จะมีคำกลอน “อันวันไหนไม่สำคัญเท่าวันนี้ เป็นวันที่สำคัญกว่าวันไหน วันพรุ่งนี้มะรืนนี้ดีอย่างไร ก็ยังไม่สำคัญเท่าอนาคตที่จะมา”

          เมื่อซักประมาณปี 2538 ตอนนั้นอาจารย์ก็ได้รับทาบทามให้มาจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ ซึ่งสมัยนั้นถนนหน้ามหาวิทยาลัยยังเป็นแบบวิ่งสวนทางได้  ซึ่งตอนที่มานั้นคณะสหเวชศาสตร์ยังไม่มี ยังเป็นทุ่งนาอยู่ และโรงพยาบาลก็ยังไม่เกิด และก็ถ้าจำไม่ผิดคณะสหเวชศาสตร์นี้น่าจะเปิดใช้ประมาณปี 2546

          ดังนั้นคนรุ่นแรกๆหลายๆ รุ่นยังไม่ได้ใช้อาคารนี้เลย ซึ่งเมื่อปี 2539 มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งให้อาจารย์เป็นคณะกรรมการการจัดตั้งคณะ ดังนั้นคณะจะมีสาขา เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด และก็มีคำเขียนว่าศาสตร์และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องและมีความจำเป็นต่อประเทศชาติ ซึ่งสาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกก็เป็นสาขาหนึ่งที่นำเข้ามาเพราะว่ามีความจำเป็นก็เลยทำแผนเข้าไปในมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยก็รับเข้าไว้ในหลักการ

          แต่ต้องขอย้อนกลับไปว่าทำไมต้องให้สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกอยู่ในโครงการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ ถ้าเรามาดูปัญหาสาธารณสุข ในเรื่องราวของการตายของประชากรภายในประเทศเราพบว่าอุบัติเหตุเป็นสาเหตุของการตายอันดับหนึ่ง ส่วนอันดับสองก็จะเป็นโรคหัวใจกับโรคมะเร็ง และก็มีเอกสารยืนยันหลายๆอันว่าโรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของประชากร ถ้าเราย้อนมาดูว่าการรักษาโรคหัวใจในประเทศเรารักษากันอย่างไร นอกจากการรักษาทางยาหรือการออกกำลังกายต่างๆแล้วก็ตามถ้าไม่ได้ผล เราก็ต้องผ่าตัดหัวใจโรคที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดหัวใจก็มีอยู่หลายโรครวมทั้งการเปลี่ยนหัวใจ แล้วประวัติการผ่าตัดหัวใจในประเทศไทยมีมาแล้วประมาณ 30 ปี ส่วนการเปลี่ยนหัวใจที่สามารถเปลี่ยนได้สำเร็จประมาณ 20 ปี และส่วนใหญ่ศัลยแพทย์ผ่าตัดในประเทศไทยก็ไปเรียนมาจากต่างประเทศ ถ้าเราย้อนไปดูการผ่าตัดในต่างประเทศเขามีมาประมาณ 50 – 60 ปี โดยมีการผ่าตัดหัวใจครั้งแรก โดยการผ่าตัดฝังเส้นเลือดเข้าไปในกล้ามหัวใจได้สำเร็จ ประมาณ 50 กว่าปีที่แล้วแต่สามารถเปลี่ยนหัวใจได้ประมาณ 40 ปีก่อนประเทศไทย 20 ปี ซึ่งในจังหวะที่ประเทศไทยได้ทำการผ่าตัดได้ ต่างประเทศก็ได้มีการค้นพบยาที่สามารถกดระบบภูมิคุ้มกันที่จะไม่ให้มีการปฏิเสธหัวใจที่เราใส่เข้าไปได้

          ถ้าเราย้อนกลับมาดูที่ 30 ปีที่แล้วในประเทศไทยการผ่าตัดหัวใจจริงแล้วในการผ่าตัดแต่ละครั้งหมอผ่าตัดคนเดียวไม่สามมารถทำได้ ต้องอาศัยกลุ่มบุคคลในการผ่าตัด คือ ศัลยแพทย์ทางหัวใจหรือทรวงอก วิสัญญีแพทย์ พยาบาล และคนที่คอยควบคุมเครื่องหัวใจและปอดเทียมขณะผ่าตัด ซึ่งขณะที่ผ่าตัดผู้ป่วย หัวใจจะไม่ทำงานเราใช้เครื่องเข้าไปทำงานแทนแต่การที่เราจะสามารถใช้เครื่องได้เราต้องรู้หลายอย่าง เช่น รู้ทาง Electronic  Pharmacology, Anatomy, Physiology เทคนิคการปลอดเชื้อ ซึ่งบุคลากรต้องคุมเครื่องได้ปลอดภัยและต้องสามารถเฝ้าระวังอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นที่สอดคล้องระหว่างผู้ป่วยกับเครื่อง

          ซึ่งก่อนจะมีร่างหลักสูตรขึ้นมาได้มีการทำมาแล้วในประเทศไทยประมาณ 17 – 20 ปี ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในขณะนั้นก็คือเจ้าหน้าที่ ในหน่วยงานที่ใกล้มือมาฝึก โดยแพทย์เป็นผู้สอนให้ใช้เครื่องมือและดูแลคนผู้ป่วยแทน ซึ่งขณะนั้นมีโรงพยาบาลที่ทำการผ่าตัดได้ไม่เกิน 10 แห่ง มีแต่โรงพยาบาลใหญ่ และต่อมาประชาชนที่เป็นโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้การผ่าตัดต้องรอเป็นเวลา 1 – 2 ปี และก็มีปัญหาอีกว่าคนที่แพทย์นำมา training ต้องใช้ระยะเวลานานเพราะคนที่นำมามีความรู้พื้นฐานที่แตกต่างกัน และการ training ก็สามรถ training ได้จำนวนจำกัดและมาตรฐานของแต่ละที่ก็แตกต่างกัน จึงกลายเป็นปัญหา

          พอทำมาเป็นเวลา 20 ปีทางสมาคมสัญญีแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทยก็เลยติดต่อสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรที่จะมาคอยดูแลงานทางด้านนี้โดยตรง ซึ่งทางสมาคมได้ไปติดต่อที่มหาวิทยาลัยมหิดลก่อนเมื่อประมาณปี 2538 และก็มีการร่างหลักสูตร และก็มีการติดขัดบางประการ

          และปี 2539 อาจารย์ก็ได้ย้ายมาเป็นผู้อำนวยโครงการการจัดตั้งที่มหาวิทยาลัยนเรศวร และก็ได้มาเสนอที่มาหาลัยนเรศวรท่านอธิการก็รับไว้ในหลักการและพอปี 2540 อาจารย์ก็เสนอมหาวิทยาลัยที่จะตั้งคณะกรรมการร่างหลักสูตรโดยทำร่วมกับสมาคมสัญญีแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย และสมาคมก็ได้ส่งหมอผ่าตัดหลายท่านเข้ามาร่างหลักสูตรด้วย โดย อ.ปริญญา อ.ประดิษฐ์ชัย อ.ณรงค์  อ.สมบูรณ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ทั้งนั้นเลยซึ่งทุกท่านเป็นศัลยแพทย์ ในส่วนของทางชมรมนักปฏิบัติการหัวใจและปอดสมัยนั้นก็เป็น คุณบังอร คุณนิภา มาเป็นกรรมการ นอกนั้นก็เป็นอาจารย์ที่เราเชิญมา ท่านอ.ยุพันธ์ อ.ปองศรี และในส่วนของเจ้าหน้าที่หัวหน้ากองบริการ คุณสุจินต์เป็นคนคอยประสานงานกับทางมหาวิทยาลัย

          ซึ่งในการที่จะร่างหลักสูตรจะทำอะไรต้องได้มาตรฐานทั้งในระดับสากล ซึ่งในตอนนั้นประเทศไทยก็ไม่มีต้นแบบ ในต่างประเทศก็ไม่มี แต่มีหลักสูตร Perfusionist โดยเป็นหลักสูตรหลังปริญญาซึ่งคนที่จะทำได้ต้องจบปริญญาแล้วเป็นหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อจบหลักสูตรแล้วจะทำงานในกรอบควบคุมเครื่องอย่างเดียว แต่ในกรณีของประเทศไทยถ้าเราทำในส่วนของการควบคุมปอดและหัวใจเทียมเพียงอย่างเดียวจะทำให้สายงานตัน เลยคิดว่าจะทำอย่างไงให้คนที่เรียนรักในสายงาน จึงได้คิดนำมาเปิดในระดับปริญญาตรี และก็ร่างหลักสูตรเป็นวิทยาศาสตร์บัณฑิต ให้กรอบงานกว้างโดยทำงานที่ไม่ต้องทำเฉพาะในห้องผ่าตัด แต่เราสามรถทำงานได้อย่างน้อย 3 กรอบงาน คือ

          สามารถที่จะควบคุมการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม

          สามารถที่จะใช้เครื่องมือประคับประคองผู้ป่วยได้  เช่น ในห้อง ICU  ห้องสวนหัวใจ

          และก็ยังสามารถมีความรู้พื้นฐานพอที่จะสามารถไปศึกษาในสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้

          นอกจากนี้ก็ยังมีหลักสูตรที่สร้างไว้ให้เป็นหลักสูตร 4 ปี พร้อมทั้งมีจรรยาบรรณวิชาชีพ และต้องสร้างให้มีบุคลิกภาพที่ดีมีกระบวนการในการทำให้คนไข้สบายใจ

          และตอนนี้เรามีบัณฑิตทั้งหมด 6 รุ่นแล้วซึ่งรุ่นแรกๆ ยังไม่มีอาคารเรียนใช้ โดยในสมัยที่เปิดสาขารุ่นแรกอาจารย์ต้องไปชี้แจงเกี่ยวกับสาขาว่าเรียนแล้วไปทำอะไร   เนื่องจากปี 2540 ร่างหลักสูตร และปี 2541 รับนิสิตเป็นรุ่นแรก ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีอาจารย์เลย เราต้องเชิญอาจารย์มาสอนในระยะต้นๆ และก็เกิดการคิดว่าจะทำอย่างไรให้บัณฑิตเข้าไปอยู่ในวงการวิชาชีพ ต้องยอมรับว่าเป็นวิชาชีพใหม่และคนที่ทำงานเก่าเขาก็ยังอยู่แต่เราต้องยอมรับว่าการที่เรามาเป็นบัณฑิตได้ รุ่นพี่เราก็เป็นคนสอนงานเราเวลาเราจบแล้วก็อย่าคิดว่าเราจบแล้วสาขาอื่นจะมาเอาใบประกอบวิชาชีพเราได้อย่าไรแต่เราต้องคิดว่าพี่ที่แหล่งฝึกทุกท่านนี้คือครูที่มาสอนเรา

          อาจารย์ขอฝากว่าการที่เราจบแล้วเราจะต้องทำตัวให้เข้าไปสู่ระบบงานไปพร้อมกับรุ่นพี่หรือคนที่เขาทำงานมาอยู่ก่อนแล้ว และสาขาเราก็มีใบประกอบโรคศิลป์ มาประมาณ 3 ปี โดยก่อนจะได้มาคณะก็ติดต่อไปยังกระทรวงสาธารณสุข โดยให้อาจารย์ปริญญา และอาจารย์บังอร ช่วยเป็นผู้แทนคณะเป็นกรรมการพิจารณาในด้านรายละเอียด และชี้แจงเกี่ยวรายละเอียดกับกฤษฎีกาก่อนที่จะประกาศเป็นกฎหมาย ก่อนการออกใบประกอบโรคศิลป์ โดยกรรมการวิชาชีพก็จะเป็นโดยตำแหน่งคือหัวหน้าภาควิชา ตอนนี้ถ้าเรามีกรรมการวิชาชีพมากพอเราก็จะสามารถก่อตั้งเป็นสมาคมได้ ส่วนเรื่องจะมีสภานั้นต้องเอาไว้ทีหลังเลยเพราะต้องมีปริมาณพอสมควรก่อน ก่อนที่จะมีสมาคมนั้นเราต้องตามสมาชิกให้ได้ก่อนเพราะหลายคนจะไม่ค่อยมีเวลา อาจารย์ก็ขอฝากไว้จะทำอะไรก็อย่ารีบร้อนเดี๋ยวจะวงแตกเสียก่อน

หมายเลขบันทึก: 184974เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2008 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท