1 ปี ใน gotoknow


ขอเขียนแบบไม่เกริ่นนะครับ
เข้าเรื่องเลย

ชอบ

(1) ผมใช้ gotoknow เป็นพื้นที่พัฒนาความคิดของตัวเอง บางครั้งเอารายงาน หรือข้อสอบที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษมาเขียนใหม่เป็นภาษาไทย เขียนก็ได้ทบทวน ได้ขัดเกลาความคิดไปในตัว บางครั้งก็เอาความคิดที่กำลังเริ่มตกตะกอนมาเขียนเพื่อจะให้ตัวเองเข้าใจกับความคิดนั้นๆ มากขึ้น หรือบางทีผมก็เอาประเด็นที่ผมมองความเป็นไปของบ้านเรากับที่อเมริกามาเปรียบเทียบ แล้วก็ใส่ความคิดของตัวเองไป ในฐานะที่บางทีเป็นคนใน บางทีเป็นคนนอกของทั้งสองฝั่ง
(2) การบริการทางเทคนิคของ gotoknow ดีมากครับ จำได้ว่าทางทีมงานเคยมีปัญหาเรื่อง Server ช้า ก็แก้ไขได้ ชุมชนใน gotoknow เองก็ร่วมมือกับคณะผู้ทำงานดีมากด้วย เช่นตอนที่ทีมงานเคยขอความร่วมมือให้สมาชิกเอาเพลงที่ใส่ไว้ในบล็อกออก ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
ตัวระบบเองก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะ User Interface ผมชอบ functions หลายๆ อย่างของ gotoknow ที่ไม่เหมือน weblog ทั่วๆ ไป ที่ผมชอบมากคือหน้าสารบัญครับ ไม่รู้คนอื่นชอบเหมือนผมไหม ผมรู้สึกว่าเป็นหน้าสรุปบันทึกที่ดีจัง ท้ายที่สุดที่ผมชอบมากคือทางทีมงานมีเทคนิคต่างๆ มานำเสนออยู่ไม่ขาด ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งบล็อก หรือการตามดูความคิดเห็นในอดีต
(3) ผมประทับใจที่ได้รู้จักกับสมาชิกหลายๆ ท่าน ซึ่ง gotoknow เป็นช่องทางเชื่อมต่อที่ผมไม่สามารถไปหาที่อื่นได้ ผมได้ติดตามข่าวคราวกิจกรรมในชุมชนและนิสิตนักศึกษา ได้บริหารสมองกับบันทึกของอาจารย์นักวิชาการหลายท่าน
(4) ประเด็นสุดท้ายที่ผมติดใจ gotoknow คืออารมณ์ของชุมชนที่นี่ครับ คือเป็นชุมชนที่ใจเย็น พูดกันถ้อยทีถ้อยอาศัย มีโกรธ มีติติงกันบ้าง แต่ก็ไม่ด่าทอกันน่าเกลียด จะมีบ้างเวลาที่เราคุยกันในหัวข้อละเอียดอ่อน ก็จะมีคนที่ไม่ยอมเปิดเผยตัวเข้ามาสร้างสถานการณ์ แต่ก็ไม่ค่อยมีคนใส่ใจ (ดี สมน้ำหน้า)

ประเด็นท้าทาย

(1) ประเด็นหนึ่งที่ gotoknow ชูธงไว้ตั้งแต่ผมเข้ามาสัมผัสคือเป็นคลังความรู้ (ไม่ใช่ข้อมูล) ของคนไทย อันนี้ผิดถูกอย่างไร ผมอยากให้เราขยายวงพูดคุยกันนะครับ เพราะผมเองมีปัญหามากๆ กับเส้นแบ่งบางๆ ของความรู้ฝังลึกกับความรู้ประจักษ์ (tacit VS explicit) ผมเข้าใจว่าความรู้มันเป็นระบบหมุนวนที่เข้าและออกจากปัจเจกไปสู่กลุ่มคน คือหมุนจาก tacit ไปเป็น explicit แล้วก็กลับเข้าสู่คนคือไปเป็น tacit อีกครั้ง วิธีการให้ความรู้กลับเข้ามาสู่ปัจเจกอีกครั้งคือการฝังมันเข้าไปในหัว (internalization) ซึ่งวิธีที่นิยมที่สุดคือต้องลงมือปฏิบัติ
ถ้ามองแบบนี้ gotoknow คือพื้นที่เชื่อมต่อให้ความรู้หมุนวนไปได้ คือจุดที่เอาความรู้หลังการปฏิบัติมาแลกเปลี่ยน เพื่อให้คนอื่นนำไปปฏิบัติ ผมว่าประเด็นที่ท้าทายมีอยู่สองมุมครับ (1.1) หนึ่งคือความรู้แต่ละสาขานั้นมีลักษณะแตกต่างกัน (domain specific) การบริหารจัดการความรู้ในองค์กรจึงมีแนวทางที่ชัดเจน เพราะเขาถนัดเรื่องใดเรื่องหนึ่งไป เช่นผมมีปัญหาเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็เข้าไปดูฐานข้อมูลความรู้ของ Microsoft หรือของ Dell ก็ได้คำตอบ เพราะขอบเขตความรู้เขาชัดเจน ส่วน gotoknow มองกว้างกว่านั้น ทำให้มีความท้าทายกว่า ผมเห็นพัฒนาการการจัดหมวดหมู่หัวข้อ ซึ่งก็ช่วยได้ระดับหนึ่งครับ แต่ที่ผมว่าท้าทายกว่านั้นคือการจัดหมวดหมู่ด้วยป้ายคำ (tags) สำหรับผมแล้ว ป้ายคำเหมือนจะเป็นทางเดียวที่ทำให้เราหาข้อมูล (หรือความรู้?) เจอ
(1.2) มุมที่สอง ต่อเนื่องจากข้อแรกนะครับ ผมเชื่อว่าความสำคัญสำหรับกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือแลกเปลี่ยนความรู้นั้น มีสองคำที่สำคัญมากคือคำว่า ร่วมกันทำงาน (collaboration) กับประสานงาน (coordination) สองคำนี้ให้ความรู้สึกคล้ายๆ กันแต่ไม่เหมือนกัน การทำงานร่วมกันนั้นคือมีคนมากกว่าหนึ่งคนมาทำงานงานเดียวกันในเวลาเดียวกัน ณ ที่เดียวกัน ส่วนการประสานงานนั้น คือการทำงานแยกกันแต่สื่อสารกัน ผมมองว่าสุดท้ายแล้วความรู้ที่เกิดในตัวคนนั้นเกิดจากการเข้าไปหยิบจับเนื้องานจริง และสามารถสื่อสารบอกต่อได้ นั้นคือเราต้องเน้นที่การปฏิบัติและนำมาแลกเปลี่ยน เพราะแต่ละคนก็มีวิธีต่างกันไป และทำงานอยู่ในพื้นที่ต่างกัน (same domain, different context)
(2) ในฐานะสมาชิก ผมเองก็ต้องกลับมาถามตัวเองว่าแล้วเราทำตามจุดประสงค์ที่เราตั้งไว้เมื่อตอนเข้าร่วมชุมชนไหม? เหตุที่ผมเข้ามาเป็นสมาชิก ผมได้บอกไว้แล้วในบันทึกแรก และผมเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญนะครับที่เราต้องตั้งเป้าว่าเราจะทำอะไรทำไม? ไม่ใช่เขียนไปเรื่อยๆ เจออะไรก็เขียน เห็นอะไรก็เอามาเล่า มันต้องมีความเกี่ยวเนื่อง และต้องเกาะเกี่ยวไปกับวัตถุประสงค์บ้าง
สิ่งหนึ่งที่ผมตั้งใจไว้ แต่ยังทำไม่ค่อยจะได้คือเอาประสบการณ์มาแลกเปลี่ยน เนื่องด้วยวิชาชีพของผม (เป็นอาจารย์) แต่ตอนนี้กลับมาเป็นนักเรียน ก็เลยไม่รู้จะเล่าอะไรในฐานะอาจารย์ แต่คาดว่าอีกไม่นานคงมีอะไรมาเล่าให้ฟังบ้าง อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการที่ผมกลับมาเป็นนักเรียนอีกหน ทำให้ได้ทบทวนตัวเองมาก คือได้มองทั้งสองมุม ในสองฐานะ ซึ่งมันก็น่าสนใจดี (ทำไมถึงเพิ่งคิดได้ก็ไม่รู้ สัญญาว่าจะเขียนต่อไปในภายหน้า)

ประเด็นอื่นๆ

(1) ผมสงสัยมาตลอดว่าทางทีมงานมีเหตุผลอะไรเป็นสำคัญไหมครับ ที่เลือกจะไม่ใส่ลิ้งค์มิตรสหาย (blogroll) ซึ่งถือว่าเป็น function หลักของ weblog หรือแม้แต่ social network communication (SNC) อื่นๆ ไม่ได้ถามกวนนะครับ ผมว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจดี เพราะว่ามันมีทั้งได้และเสีย ข้อเสียที่ชัดมากคือสมาชิกพยายามจะล่ารายชื่อเพื่อให้ตัวเองมีมิตรสหายเยอะๆ ยิ่งเยอะยิ่งดี เหมือนเป็นคนกว้างขวาง ตรงนี้ทำให้ลดคุณภาพของการสื่อสาร เพราะมัวแต่ไปห่วงปริมาณ ปัญหานี้เห็นได้ชัดมากในชุมชน SNC ตั้งแต่ facebook myspace ไปถึง Hi5
ผมคิดว่าแม้เราไม่มี blogroll เราก็สามารถเชื่อมเครือข่ายไปได้เรื่อยๆ วิธีที่ผมใช้ประจำคืออ่านบันทึกของสมาชิกที่ผมติดตามแล้วก็อ่านความคิดเห็นที่สมาชิกคนอื่นเข้ามาแลกเปลี่ยน ใครแลกเปลี่ยนน่าสนใจ มีมุมมองเจ๋งๆ ก็กระโดดไปอ่านหน้าบันทึกของเขาว่าเขาพูดคุยเรื่องอะไรอื่นๆ อีกบ้าง ถ้าชอบก็เก็บไว้ใน planet มันก็ค่อยๆ ขยายไปได้เรื่อยๆ แต่ข้อดีของ blogroll คือเป็นเสมือนรายชื่อคนที่เราสนิทคุ้นเคย เป็นเสมือนการแสดงกลุ่มเพื่อน ซึ่งที่สุดแล้วเป็นการแสดงความเป็นตัวตนของเราด้วยเช่นกัน
พูดไปแล้ว ข้อเสียมันมากกว่าข้อดี ว่าไหมครับ

ตัดตอนมาสั้นๆ สำหรับ AAR ก็มีเท่านี้ละครับ
ขอบคุณครับ

คำสำคัญ (Tags): #aar#aar-gotoknow#explicit#tacit
หมายเลขบันทึก: 184935เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2008 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เยี่ยมมากเลยครับ มีหลายประเด็นที่คิดไม่ถึง อยากพบอาจารย์ซะแล้ว ฮ่าๆๆๆ

แว้บมาอ่านครับท่านอาจารย์ เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจครับ ขอบคุณมากครับ

ชัดเจนดีครับ รออ่านมุมมองของอาจารย์ในโอกาสต่อไป ผมสนใจคำว่า (collaboration) กับประสานงาน (coordination)ที่อาจารย์เขียนไว้ ผมคิดว่าที่นี้เป็นเสมือนสื่อกลางให้เกิดความร่วมมือและการประสานงาน ทั้งเชิงวิชาการ และ อื่น ๆ บนพื้นฐานของมิตรภาพและความจริงใจที่มีให้กัน

สวัสดีคะ อาจารย์แว้บ

ขอบคุณมากคะ ที่ได้ร่วม aar GotoKnow.org

เป็นอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจคะ

สำหรับเรื่องลิงก์มิตรสหายนั้น ทางทีมงานจะนำไปพิจารณาอีกครั้ง

ตอนแรก คิดว่าแพลนเน็ตที่มาช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ได้ระดับหนึ่ง และต่อไป GotoKnow.org จะพัฒนาเพื่อตอบสนองการสร้างเครือข่ายมากยิ่งขึ้นคะ

ขอบคุณมากนะคะ ที่อาจารย์ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ GotoKnow.org

 

เพิ่มเติมคะ

สำหรับประเด็นที่ 1.2 อาจารย์ธวัชชัยได้ตอบไว้แล้วในบันทึก สามปี GotoKnow กับก้าวต่อไปโดยการสนับสนุนจาก สสส.  เราทุกคนสามารถร่วมพัฒนาประเทศได้คะ

ทุกประเด็นที่ทุกท่านนำเสนอในการ aar จะถูกนำไปรวบรวม และดำเนินการพิจารณาเพื่อปรับปรุง GotoKnow.org คะ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิต

หวังว่าจะมีโอกาสพบอาจารย์ตัวเป็นๆ เช่นกันครับ แต่ตอนนี้ภารกิจนักเรียนกำลังติดพัน

ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามาเยี่ยมเยียนเสมอเลยครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณเอกราช

ทำงานด้วยกัน ทำงานประสานกัน มันคล้ายกันดีนะครับ ผมเองก็เพิ่งมาคิด การที่ผมบอกว่าทำงานด้วยกัน (collaboration) ไม่ค่อยจะมีประสิทธิภาพนั้น ก็อาจจะพูดเกินไปบ้าง แต่ผมว่ามันก็น่าคิดดี ว่าไหมครับ

นักฟุตบอลเล่นบอลกันเป็นทีม แต่ไม่ใช่ว่าสองคนเลี้ยงบอลไปพร้อมกัน หรือว่าสามคนเตะลูกบอลพร้อมกันแล้วทีมจะชนะ มันก็มองได้หลายมุมนะครับ

ขอบคุณครับ

ขอบคุณคุณมะปรางเปรี้ยวเช่นกันครับ

ผมว่าแพลนเน็ตทำหน้าที่คล้ายๆ กับ RSS reader นะครับ แต่มันไม่ได้บอกชัดเจนแบบว่า ใครพวกใคร อะไรแบบนี้

แต่พอเราไม่มี blogroll แล้ว ทำให้มีปรากฎการณ์ใหม่ๆ เช่นสมาชิกใส่นามสกุล แซ่เฮ ก็น่าสนใจดีนะครับ

ขอบคุณครับ

@ เป็นมุมมองที่แตกต่างและหลากหลายดีค่ะ @

 

สวัสดีค่ะ คุณแว้บ

กลับมาอ่านบันทึกนี้อีกครั้งเพื่อเก็บข้อมูลไปปรับปรุงระบบเพิ่มเติมต่อค่ะ

ตอนนี้ทีมงานของ GotoKnow.org มีกำลังคนเพิ่มขึ้นแล้วค่ะ Feature ต่างๆ ก็จะเร่งพัฒนาเพิ่มเติมด้วยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแห่งนี้

เป็นกำลังใจให้นะคะ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท