ยุทธพงษ์
นาย ยุทธพงษ์ ยุทธ (ที่บ้านเรียก บ่าว) ฉิ่งวังตะกอ

เรื่องเล่าจากชุมชน


จนความเจริญแต่รวยน้ำใจ

วันนี้ (จันทร์ ที่ 26 พฤษภาคม 2551)  ผม(เส้นนี้) รีบตื่นนอนตั้งแต่เช้า เพราะนัด อสม.หมู่ที่5 บ้านโหมง

ตำบลพระรักษ์  ไว้ว่าจะเข้าหมู่บ้านเพื่อร่วมให้บริการตรวจคัดกรง เบาหวาน ความดันโลหิต ประเมินสภาวะสุขภาพ และเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรัง รวมทั้งผู้พิการ  เวลา 08.00 น. พี่ตู่ (จิระภรณ์  ชุมแสง) หัวหน้า สอ. ก็มาถึง มีผู้ป่วยมารับบริการจำนวน 2 ราย ในขณะที่พี่ตู่ให้บริการอยู่นั้น พี่เล็ก (นายมานิตย์  สมวงศ์) ประธาน อสม.หมู่ที่ 5 ก็มาถึง สอ. (เวลาประมาณ 08.20 น.) ผมกำลังเตรียมอุปกรณ์ที่จะออกไปให้บริการ ทีมปูกระเบื้องก็มาถึง อีกประมาณ 10 นาที พี่ปอง (นางผกาพันธ์  ทิพย์จ้อย) อสม.อีกท่านก็มาถึง ช่วงนี้ว่างคนไข้แล้ว พี่เล็กบอกพวกเราว่า ไม่ได้มาเร่งหมอนะครับแต่จะมาช่วยขนอุปกรณ์ พวกเราบอกว่าไม่เป็นไร เพราะเครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องเจาะเบาหวาน และแบบฟอร์มก็ไม่เยอะ เดี๋ยวจะขนไปเอง  พี่ปองบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวจะเอาใส่ตะกร้ารถ จยย.ไปให้  เราเลยฝากน้องที่มาปูกระเบื้องว่า หากมีผู้มารับบริการให้รอซักพักเพราะเดี๋ยวจะมีหมอเข้ามา เพราะเราสองคนต้องออกไปหมู่บ้าน จากนั้นเราก็เริ่มออกเดินทาง โดยรถ จยย. มีผมเป็นคนขับและพี่ตู่ซ้อนท้าย พี่เล็กแลพี่ปองก็ขับ จยย. (คนละคัน) ตามมาติดๆ  วันนี้ฝนไม่ตก ทางเลยไม่ลื่น แต่เชื่อเหอะว่าลำบากและกันดารสุดๆ ซอยที่เราไปกันในวันนี้ เรียกว่า ซอยคลองเงิน ได้ยินจากปากชาวบ้านมานานแล้วว่า แค่ฝนตกติดต่อกันซัก 1 วัน ทางจะขาด น้ำจะท่วมทาง เดินทางไปมาไม่ได้เลย วันนี้โชคดีที่ฝนไม่ตกเลย ทางไม่ลื่น แต่เชื่อไหมว่า สภาพทางซึ่งเป็นหินแดง ยังคงมีร่องรอยของน้ำกัดเซาะ เป็นหลุมเป็นบ่อและรอยน้ำไหล ขึ้นเขาลงห้วยตลอดเส้นทางที่จะไปถึงจุดนัดหมาย (บ้าน อสม.แดง (นางสุดใจ   ฤทธิ์มนตรี) ซึ่งอยู่ห่างจาก สอ. ประมาณ 15 ก.ม.  ตั้งแต่เริ่มทำงานมา วันนี้เป็นวันที่ทรหดในการขับรถจริงๆ หลบหลุม หลบร่อง ขึ้นเขา ลงห้วย  เราสี่คนไปถึงจุดนัดใช้เวลาเกือบชั่วโมงแน่ะ(ก็แวะทักทายคนนู้นคนนี้ตลอดเส้นทางนี่นา) ที่จุดนัดมีชาวบ้านประมาณ 30 คนรออยู่ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา(เพราะเสียมามากแล้ว อิอิ) เราเลยรีบลงมือให้บริการ โดยให้ อสม.ช่วยกันวัดความดันโลหิต  และเจาะหาระดับน้ำตาลในเลือด ตลอดจนชั่งน้ำหนัก วัดรอบเอว ประเมินดัชนีมวลกาย ส่วนผมก็ให้สุขศึกษาและแจกแผ่นพับสุขศึกษา เรื่อง โรคไข้เลือดออกและมาลาเรีย  อีกประมาณ 10 นาที  สมาชิก อบต.ศิลป์ (โกศิลป์ คงเขียว) ก็มาทักทายพวกเรา และขอรับบริการด้วย พี่ศิลป์บอกว่า ปีหน้ามีข่าวลือว่า จะมีการแยกหมู่บ้านนี้ เป็นหมู่ที่ 10 บ้านคลองเงิน (ตามชื่อซอยและน้ำตก) ออกจากหมู่ที่ 5 บ้านโหมง ตำบลพระรักษ์ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ชาวบ้านบอกว่าน้ำตกคลองเงินที่กล่าวถึงอยู่ห่างจากจุดนัดนี้ขึ้นไปอีก ประมาณ 10 ก.ม. เป็นน้ำตกที่สวยงามมาก  ถึงตอนนี้ ผมนึกในใจว่าถึงอยากจะไปยลความงามของน้ำตกมากแค่ไหนก็ต้องอดใจไว้ก่อน รอไว้รอบหน้าเหอะ วันนี้ขอเอางานก่อน เพราะถ้าจะไปเที่ยวต้องขับรถไปอีก 10 ก.ม. วันนี้คงไม่ได้งานชัวร์(ป้าบบบ) เลยละความคิดที่จะไปเที่ยวน้ำตกและลงมือทำงานต่อไป ชาวบ้านยังคงมารับบริการต่อไปเรื่อยๆจนถึงเวลาเที่ยงครึ่งจึงหมดผู้รับบริการ เราเลยเก็บภาพเป็นที่ระลึกไว้ (งกหลักฐาน อิอิ) ก่อนขอตัวกลับ

ช่วงกลับลงมาจากยอดดอย(รู้สึกแบบนี้จริงๆ)

ก็ได้แวะเยี่ยมตาย้ง (นายกิมย้ง  เบิกอรุณรุ่ง) ซึ่งเป็นผู้ป่วยอัมพฤกษ์ซีกซ้ายจากการผ่าตัดเนื้องอกในสมองเมื่อ 12 ปีที่แล้ว อาศัยอยู่กับภรรยาและลูกๆ เป็นร้านค้าเล็กๆ สุดที่ผมจะทนหิวเพราะเที่ยงกว่าแล้ว เลยซื้อขนมกินรองท้องก่อน  เพราะพี่เล็กบอกว่า เดี๋ยวให้ไปและกินมื้อเที่ยงที่บ้านแก ส่วนแกกับภรรยา และพี่อู๊ด (นายสุภาพ  ศรีจันทร์)กับภรรยา ขอตัวไปเตรียมมื้อเที่ยงก่อนโดยให้พวกเราตามไปกับพี่ปองทีหลัง

เยี่ยมตาย้งเสร็จบ่ายโมงแล้ว เราจึงได้ออกเดินทางไปบ้านพี่เล็ก ช่วงจะถึงบ้านพี่เล็ก เราขับรถข้ามสะพานปูน ซึ่งยังมีร่องรอยของน้ำที่กัดเซาะสะพาน น้ำในลำคลองช่างใสน่าอาบมากๆ มองไปทางขวามือเห็นน้ำตกเตี้ยๆไหลผ่านโขดหินเสียงดังเพราะมากๆ เลยขอจอดรถลงไปดู พี่ปองบอกว่าเขาเรียกว่า น้ำตกยายบัว และสะพานนี้เขาก็เรียกว่า ...........ใช้แล้วครับ สะพานยายบัว ช่วงฝนตกติดต่อกันประมาณ 2 วัน จะมีน้ำป่าไหลหลากจนท่วมสะพาน ทำให้เส้นทางโดนตัดขาด ลำบากในการเดินทาง  ไม่รอช้าผมรีบจอดรถ แล้วก็ลงไปเก็บภาพทั้งน้ำตกและศาลเพียงตาด้วยความตื่นเต้นและประทับใจ  ถามพี่ปองว่า ทำไมเขาเรียกว่าน้ำตกยายบัว พี่ปองบอกว่า ชาวบ้านคลองเงินเล่าต่อๆกันมาว่า ในอดีตบ้านคลองเงินมีความทุรกันดารและลำบากในการเดินทาง ชาวบ้านสมัยนั้นต้องบุกเบิกทางโดยอาศัยทางลากซุงของช้างเพื่อจับจองที่ดินทำกินและตั้งบ้านเรือน สมัยก่อนไม่ค่อยมีผู้คนเข้ามามากนัก แต่มียายแก่คนหนึ่ง ชื่อ ยายบัว ซึ่งกล่าวว่าเป็นบุคคลแรกที่เข้ามาบุกเบิกเพื่อจับจองที่ดินทำกินและสร้างบ้านเรือน ก่อนหน้าที่จะชักชวนคนอื่นๆเข้ามาในภายหลัง ซึ่งผู้ที่เข้ามาสร้างถิ่นฐานบ้านเรือนในภายหลังได้ศรัทธาและให้ความเคารพนับถือยายบัวเป็นอย่างมาก  จนกระทั่งยายบัวอายุมากขึ้น สุขภาพเริ่มแย่ ยายจึงได้เดินทางมาพักอยู่ใต้ร่มไม้ใกล้ๆกับน้ำตก และได้เสียชีวิตลงที่นั่น  ชาวบ้านจึงให้ชื่อน้ำตกแห่งนี้ว่า น้ำตกยายบัว ตั้งแต่นั้นมา ปัจจุบันมีการตั้งศาลเพียงตา เรียกว่า ศาลยายบัว ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับน้ำตก บริเวณหัวสะพานยายบัว 

 นี่ถ้าไม่ติดว่าหิวมื้อเที่ยงมากๆและนัดชาวบ้านช่วงบ่ายไว้ที่บ้าน อสม.จุรี ยอดอุดม ล่ะก็ จะนอนพักชมน้ำตกซักครึ่งวัน (ถึงไม่ถึงน้ำตกคลองเงินแต่ก็คุ้มแล้ว สวยมากๆธรรมชาติสุดๆ)  ขับรถมาถึงบ้านพี่เล็ก เวลาบ่ายโมงครึ่ง อาหารเที่ยงยังไม่เสร็จ(เตรียมเลี้ยงหมอหลายอย่าง) เราเลยถือโอกาสเยี่ยมลูกชายพี่เล็กซึ่งพี่เล็กบอกว่าพิการทางสมองมาแต่กำเนิด (แต่ดูๆแล้ว น้องเขาก็ช่วยเหลือตัวเองได้ เดินได้ เพียงแต่เดินเซๆ และพูดไม่ชัดแค่นั้นเอง  นอกนั้นก็ปกติ  เราสงสัยว่าพัฒนาการน้องเขาคงดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับที่พี่เล็กเล่าอาการตอนเด็กๆและคิดว่าไม่มีวี่แววว่าจะมีอาการดีขึ้นได้ขนาดนี้)   อาหารเสร็จ เราก็ปูเสื่อและลงมือลงช้อนกันทันที อาหารบ้านๆแต่อร่อยมากๆ(รึว่าเพราะหิว) 

ขณะนั่งกินข้าว พี่เล็กเล่าว่า ลุงสิทธิ์ (นายบุญสิทธิ์  ศักดิ์ชุมพล) พลัดต้นสะตอ (เพราะร่มไม่กาง) เมื่อ 3 วันก่อน กระดูกหัก ไปรับการรักษาที่โรงพยาบลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เพิ่งกลับมาพักที่บ้านเมื่อวานนี้เอง  ออกจากบ้านพี่เล็กเลยแวะเยี่ยมลุงสิทธิ์ ซึ่งนอนเข้าเฝือกบริเวณข้อมือซ้ายและข้อเท้าขวา ส่วนลำตัวเข้าเฝือกคล้ายเสื้อเกราะไว้ด้วย ภรรยาแกบอกว่ากระดูกสันหลังบริเวณสะเอวร้าว ลุงสิทธิ์บอกว่า ขึ้นต้นสะตอแล้วพลาดไปเกาะกิ่งผุ ร่มไม่กางเลยหล่นลงมากระดูกหัก ที่ใส่เสื้อเกราะไว้เพราะเขาจะส่งไปรบที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วแกก็หัวเราะ (แหมลุงสิทธิ์ ช่างเป็นผู้สูงอายุ (66 ปี) ที่อารมณ์ขันจริงๆ ที่สำคัญยังขึ้นต้นไม้ไหวแสดงว่ายังแข็งแรงมาก มาพลาดท่าเอาก็ตอนร่มไม่กางนี่แหละ อิอิ  รีบหายนะลุง  วันที่ 10 ของทุกเดือน  เรายังต้องให้ลุงมาช่วยนำสวดมนต์ ก่อนเปิดการประชุมของชมรมผู้สูงอายุนะครับ)  ออกจากบ้านลุงสิทธิ์ เวลา บ่ายสองโมงครึ่ง ก็ขับรถทุกพี่ตู่ขึ้นเขาลงห้วย มาถึงบ้านพี่จุรีเกือบบ่ายสามโมงแล้ว ชาวบ้านมานั่งรอกันเพียบ ที่กลับไปแล้วก็มี เลยรบกวนให้ อสม. ไปตามมาใหม่ ให้บริการจนถึงห้าโมงเย็น (วันนี้คุ้มจริงๆ) หมดผู้รับบริการ เลยขอตัวกลับสถานีอนามัย ก่อนกลับของฝากเพียบ สับปะรดเอย กล้วยเอย เสียดายทุเรียนยังไม่สุก  ที่สำคัญเราได้สะตอมาด้วย(แต่ไม่ใช่สะตอของลุงสิทธิ์นะครับ อิอิ) พรุ่งนี้อิ่มกันแน่ๆ

กลับถึงสถานีอนามัยเวลา 17.10 น.  น้องเอก (ณัฐพงษ์  พรหมสถิตย์) บอกว่าวันนี้คนไข้เยอะมากๆ เลยอดมื้อเที่ยง (น่าสงสารจัง พวกพี่ก็เคยเจอแบบนี้แหละน้องเอ้ยๆๆๆ) น้องเอกเลยขอตัวกลับบ้าน(ไปทานข้าวเที่ยงตอนห้าโมงกว่าๆ)  จากนั้นพี่ตู่ก็ขอตัวกลับบ้านไปอีกคน  ส่วนพี่นี (สุนี  ตั้งประดิษฐ์) วันนี้ไปติดต่อร้านวัสดุก่อสร้างครับ ก็สั่งของมาเพิ่มเพื่อปรับปรุงสถานีอนามัยนั่นแหละครับ (ไม่แน่ใจว่าอดมื้อเที่ยงรึป่าว อิอิ) ส่วนน้องลูกจ้าง (น้องตุ๊กตา)  วันนี้ติดธุระเลยไม่ได้มาหุงข้าวให้พวกเรากินกันครับ  พรุ่งนี้คงพร้อมหน้าพร้อมตากันครับ  ช่วงนี้ไม่มีคนไข้ครับ ผมเลยมีเวลาลงมือเล่า (จิ้มแป้นพิมพ์อย่างช้าๆ แนบรูป มีคนไข้ก็วางมือไปให้บริการ) จนเสร็จนี่แหละครับ  วันนี้ช่างเหนื่อย เมื่อย ล้า ไปหมดเลย ตื่นมาคงปวดเมื่อยน่าดู พรุ่งนี้ก็ต้องตื่นแต่เช้าเพราะนัดไว้อีก 1 หมู่ แล้วเจอกันพรุ่งนี้นะครับ หลับฝันดีนะครับ บ๊ายบ่ายๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

หมายเลขบันทึก: 184669เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2008 00:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • แวะมาเติมเต็ม "กำลังใจ" นะครับ
  • เป็นบันทึกที่คุณภาพคับแก้วจริงๆ... อ่านแล้วได้ทั้งสาระและความบันเทิง ...ชื่นชมว่าเยี่ยมจริงๆ ครับ แม้จะเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานในชุมชนสักเพียงไหน ก็ไม่ลืมที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ที่พบเจอ ...ทั้งเรื่องงาน วิถีชีวิต เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่พบเจอตลอดเส้นทาง ...
  • ยังไงก็พักผ่อนด้วยนะครับ พรุ่งนี้จะได้มีแรงลงชุมชน และนำเรื่องราวดีๆ + สนุกๆ มาฝากพวกเรากันอีก
  • ขอบคุณครับ...

แวะมาเยี่ยมครับพี่ยุทธ และเป็นกำลังใจให้กับอีกหนึ่งคนทำงานของพะโต๊ะนะคร๊าบสู้ๆ (ท้อได้แต่อย่าถอยนะคร๊าบ)

ขอบคุณนะครับ.....ที่เป็นส่วนหนึ่งในชุมชน

ฝากบอกอสม.แดงด้วยนะว่าเป็นห่วง

ยุทธพงษ์ ฉิ่งวังตะกอ

ผู้ไม่แสดงตนเป็นใครครับ เป็นญาติ อสม.แดงรึป่าว ไม่บอกชื่อแล้วผมจะไปบอก อสม.แดงได้อย่างไรว่าใครเป็นห่วง

นายคมกฤษ ฤทธิ์มนตรี

สู้นะคับพี่ยุทธเป็นกำลังใจให้เสมอคับ เพราะความสุขที่แท้จริงเกิดจากภายใจ ขอให้มีกำลังใจอย่างเต็มล้นนะคับ

ครูหมออนามัย วสส.ขกใ

แวะเข้ามาให้กำลังใจครับผม ขอให้มีความสุขกับการทำงานนะครับ

พี่หมอมีรูปน้ำตกคลองเงินอีกปะครับ

เอาสาระความรู้มาฝากครับ

 

พื้นฐานการเยียวยาผู้ป่วยไตวาย

จงกล้าเปลี่ยน....

ข้อเท็จจริงในผู้ป่วยไตวาย

ภก.ศุภรักษ์ ศุภเอม

ผู้ป่วยไตวาย ถือ เป็นผู้ป่วยหนักกลุ่มใหญ่ที่สุด ในอำเภออุบลรัตน์ คือมีมากกว่า 220 คนเลยทีเดียว ผู้ป่วยไตวาย หลายคน ต้องทุนทุกข์ทรมานจากการไตวาย เนื่องจากโรคไตวาย มีภาวะแทรกซ้อนมากมายได้แก่ ซีด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง คัน หลายคนมีโรคหัวใจแทรกซ้อน บางคนมี อาการผมร่วง คนไข้ไตวายหลายคนปัสสาวะไม่ออก ทำให้ตัวบวม เหนื่อยหอบได้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายโดยมาก จะเสียชีวิต เนื่องจากการเข้าถึงการฟอกไต ยังเป็นสิ่งใหม่มากของ ผู้ป่วยในชนบท ทั้งที่ปัจจุบันผู้ป่วยสามารถล้างไตผ่านทางหน้าท้องได้ฟรีแล้ว

 

สำหรับผู้ป่วยไตวายที่มีค่า Cr ตั้งแต่ 1.7 -6.0 mg/dL นั้นยังไม่ใช่ไตวายระยะสุดท้าย ยังมีโอกาสรอดชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องฟอกไต โดยเฉพาะในคนไข้ที่ไตวายมาไม่นานค่า Cr มักต่ำกว่า 3.5 mg/dL ยังมีโอกาสฟื้นฟูสภาพไตได้ โดยเราต้องดูแลผู้ป่วย ให้ดี เพื่อที่จะจัดการ ลด ภาวะทำลายไตของร่างกายซึ่งได้แก่ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะยูริกแอซิดในเลือดสูง นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง สารทำลายไตได้แก่ เกลือโซเดี่ยม และยาบางชนิดอีกด้วย ดังนั้นการเยียวยาผู้ป่วยไตวายก็เพียงแค่

 

  1. ควบคุมความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงค่าปกติ

  2. จำกัดการบริโภคเกลือ และน้ำของผู้ป่วย

  3. รักษา โรคเกาต์ ด้วยยาลดกรดยูริค

  4. หลีกเลี่ยงยาและสารที่มีพิษต่อไต

  5. เสริมกำลังใจ ชมเชย หาจุดแข็ง เพื่อให้คนไข้เปลี่ยนพฤติกรรม

  6. ลดข้าว และแป้ง หากน้ำตาลในเลือดสูง

  7. ออกกำลังกายเบาๆ เป็นประจำทุกวัน

ข้อมูลเหล่านี้ แนวทางพวกนี้

ใครๆ ก็ทำได้ ครับ

เภสัชกร พยาบาล แพทย์ จนท. สาธารณสุขชุมชน  นักกายภาพบำบัด

เอาความรู้ ชุดนี้ ไปดูแลผู้ป่วยไตวาย ผู้ป่วย

เพียงแต่ การเยียวผู้ป่วย ต้องอดทนและขยันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท