เจ้าหญิงป่วน ณ ปัตตานี
เด็กหญิง ประเสริฐ (أُخْتٌ صَغِيْرَةٌ ) รัศมีแห่งดวงตา เจ้าหญิงป่วน ณ ปัตตานี

เหตุการณ์อิสรออ์และมิอฺรอจญ์ของท่านนบี จบ


อิสลามนั้นง่าย ถ้าคุณรู้จัก

ประวัติอิสรออ์และมิอฺรอจญ์
อุลามาอฺอิสลามจำนวนมากมีทัศนะว่าเหตุการณ์อิสรออฺและมิอฺรอจญ์เกิดขึ้นก่อนการอพยพ 1 ปี นั่นคือ ปีที่ 12 แห่งความเป็นศาสนทูตของท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
ส่วนเดือนที่มีการอิสรออฺและมิอฺรอจญ์นั้น รายงานที่ดีที่สุดระบุว่าเหตุการณ์อิสรออฺและมิอฺรอจญ์เกิดขึ้นในเดือนเราะบีอุลเอาวัล โดยที่ อิบนิอับบาส และญาบิร (รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา) กล่าวว่า
(وُلِدَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَامَ الْفِيْلِ يَوْمَ الاِثْنَيْنِ الثَّانِي عَشَرَ مِنْ رَبِيْعِ الأَوَّلِ، وَفِيْهِ بُعِثَ، وَفِيْهِ عُرِجَ بِهِ إِلَى السَّمَاءِ، وَفِيْهِ هَاجَرَ، وَفِيْهِ مَاتَ)
“รสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถูกให้กำเนิดในปีช้าง วันจันทร์ที่ 12 เดือนเราะบีอุลเอาวัล ในเดือนนี้ท่านถูกแต่งตั้งเป็นรสูล และในเดือนนี้ท่านถูกพาขึ้นสู่ฟากฟ้า (มิอฺรอจญ์) และในเดือนนี้ท่านเดินทางฮิจญ์เราะฮฺ (สู่มหานครมะดีนะฮฺ) และในเดือนนี้ (อีกเช่นกัน) ท่านได้เสียชีวิตลง” (บันทึกโดยอิบนุ อบีชัยบะฮฺ ในอัลมุศ็อนนัฟ และอัลญูซกอนีย์ ในอัลอะบาฏิล เล่ม 1 หน้า 126 ด้วยสายรายงานที่เศาะหีหฺตามเงื่อนไขของอัลบุคอรีย์ (ดูหนังสือ ตารีฆเมาลิด อันนะบี ของฏ็อรฮุนีย์))
นี่คือทัศนะของอุลามาอฺผู้สอบสวนพิสูจน์ส่วนใหญ่ เช่น อัซซุฮฺรีย์ และอุรวะฮ์ และนี่แหละคือทัศนะที่ถูกต้อง วัลลอฮุอะลัม

ยังมีอีกทัศนะหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของผู้คนส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าสายรายงานของมันจะไม่เศาะหีหฺก็ตาม หนำซ้ำอุลามาอฺหะดีษบางท่านยังถือว่าเป็นรายงานปลอมอีกด้วย นั่นคือทัศนะที่ว่า เหตุการณ์อิสรออฺและมิอฺรอจญ์เกิดขึ้นในค่ำคืนที่ 27 ของเดือนเราะญับ (ดู อัลบิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ, เล่ม 3 หน้า 109, ฟัตหุลบารีย์, เล่ม 7 หน้า 204)

อิบนุกะษีร (เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. 774) กล่าวว่า “ส่วนบางคนเข้าใจว่าเหตุการณ์อิสรออฺเกิดขึ้นในช่วงต้นของคืนวันศุกร์ ในเดือนเราะญับ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของคืน (อัรเราะฆออิบ) ซึ่งแปลว่า “ของขวัญอันมีค่า” ซึ่งได้มีการประดิษฐ์ละหมาดเราะฆออิบที่เป็นที่รู้จักกันในค่ำคืนนั้น โดยที่ทัศนะดังกล่าวไม่มีต้นตอ หรือที่มาและหลักฐานใดๆสนับสนุนเลย” (ดู อัลบิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ, เล่ม 3 หน้า 109, ละหมาดเราะฆออิบนี้เป็นละหมาดที่อุตริที่น่ารังเกียจยิ่ง และได้รับการปฏิเสธจากบรรดาอุละมาอฺอิสลาม เช่นอันนะวะวีย์ และอัสสะยูฏีย์ เป็นต้น (ดู ชัรห์เศาะหีหฺมุสลิม, เล่ม 8 หน้า 20, อัลอัมรุ บิลอิตติบาอฺ วันนะฮฺยุ อัน อัลอิบติดาอฺ, หน้า 167))

อบูชามะฮฺ (เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. 665) (ดู อัลบาอิษ อะลาอินการ อัลบิดะอฺ, หน้า 71 )  และอิบนุหะญัร อัล อัสเกาะลานีย์ (เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ.852) (ดู ตับยีน อัลอุญับ บิมา วะเราะดะ ฟีชะฮฺริ เราะญับ, หน้า 11) กล่าวว่า “มีนักประวัติศาสตร์บางคนระบุว่า (เหตุการณ์อิสรออ์เกิดขึ้นในเดือนเราะญับ) ทัศนะนี้เป็นทัศนะที่โกหกอย่างชัดแจ้ง”

เหตุการณ์อิสรออ์และมิอฺรอจญ์

1. การปรากฏตัวของมะลาอิกะฮฺ
มีรายงานหนึ่งระบุว่า “ขณะที่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กำลังนอนพักอยู่ในบ้านของท่านที่เมืองมักกะฮฺ ในสภาพที่เอนกายและง่วงนอนอยู่นั้น ฉับพลัน หลังคาบ้านของท่านก็ถูกเปิดออก และญิบรีลก็เข้ามาในบ้าน และพาท่านนบีมุหัมมัดออกสู่มัสยิดอัลหะรอม” (เศาะหีหฺอัลบุคอรีย์, เล่ม 1 หน้า 91, เศาะหีหฺมุสลิม, เล่ม 1 หน้า 148)

ขณะที่อีกรายงานหนึ่งระบุว่า “ขณะที่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กำลังเอนกายอยู่ที่หะญัร (ตำแหน่งที่อยู่ระหว่างหินดำกับมะกอมอิบรอฮีม) ซึ่งถูกขนาบข้างด้วยหัมซะฮฺ บินอัลดุลมุตเฏาะลิบ และญะอฺฟัร บิน อบีฏอลิบ  ในสภาพที่ง่วงนอน ก็มีมะลาอิกะฮฺจำนวนหนึ่งเข้ามาหา โดยได้ถือภาชนะทองคำที่บรรจุด้วยหิกมะฮฺและอีมานมาด้วย” (เศาะหีหฺอัลบุคอรีย์, เล่ม 4 หน้า 248, เศาะหีหฺมุสลิม, เล่ม 1 หน้า 147)

อิมามอันนะวาวีย์ กล่าวว่า หิกมะฮฺ คือ วิชาความรู้ที่ประกอบด้วยการรู้จักอัลลอฮฺ พร้อมกับช่วยสร้างความความตั้งใจที่ลึกซึ้ง เป็นสิ่งที่ช่วยขัดเกลาจิตใจ การทำให้มองเห็นสัจธรรมอย่างชัดเจน เพื่อที่จะได้นำมาปฏิบัติ และเพื่อปกป้องตนเองจากการเป็นปฏิปักษ์ต่อสัจธรรม” (ดู ฟัตหุลบารีย์, เล่ม 1 หน้า 461)

2. ผ่าอกท่านนบีมุหัมมัด
จากนั้น มะลาอิกะฮ์ญิบรีลจึงได้ผ่าหน้าอกของท่าน เริ่มจากลำคอไปจนถึงใต้สะดือของท่าน แล้วก็เอาหัวใจของท่านนบีออกมาทำความสะอาดด้วยน้ำซัมซัมในภาชนะทองคำใบหนึ่งจนสะอาด หลังจากนั้นก็บรรจุฮิกมะฮฺและอีมานลงในอกของท่าน เสร็จแล้วจึงได้เย็บประกบหน้าอกของท่านให้ติดกันเหมือนเดิม (เศาะหีหฺมุสลิม, เล่ม 1 หน้า 147 )

ด้วยเหตุนี้ อนัส บิน มาลิก จึงกล่าวว่า “แท้จริง ฉันเคยเห็นรอยเย็บดังกล่าวที่หน้าอกของท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลออุอะลัยฮิวะสัลลัม” (เศาะหีหฺมุสลิม, เล่ม 1 หน้า 147)

อุละมาอ์บางท่านกล่าวว่า “การผ่าอกในครั้งนี้เป็นการผ่าครั้งที่สาม หลังจากที่มีการผ่าครั้งแรกเมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นเด็กอยู่ ต่อมาได้มีการผ่าครั้งที่สองเมื่อครั้งที่ท่านถูกแต่งตั้งให้เป็นรสูล” (ดู อัลบิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ, เล่ม 3 หน้า 111, ฟัตหุลบารีย์ เล่ม 7 หน้า 205) วัลลอฮุอะอฺลัม

3. บุรอก
หลังจากนั้น ได้มีการนำสัตว์ตัวหนึ่งที่มีรูปร่างสีขาวและลำตัวยาวคล้ายกับม้า ลำตัวของมันจะใหญ่กว่าลา แต่จะเล็กกว่าล่อ มีชื่อว่า “บุรอก” เพื่อใช้เป็นพาหนะในการเดินทางอิสรออฺและมิอฺรอจญ์ในครั้งนี้
บุรอกเป็นสัตว์ที่เคยเป็นพาหนะของนบีท่านก่อนๆมาแล้ว (ดู สีเราะฮฺอิบนุฮิชาม, เล่ม 1 หน้า 397, อัลบิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ, เล่ม 3 หน้า 109, ฟัตหุลบารีย์, เล่ม 7 หน้า 205) มันสามารถก้าวเท้าแต่ละก้าวได้ไกลจนสุดสายตา (เศาะหีหฺอัลบุคอรีย์ เล่ม 4 หน้า 248, เล่ม 8 หน้า 207, เศาะหีหฺมุสลิม, เล่ม 1 หน้า 147)

บุรอกมาปรากฏตัวในสภาพที่มีพร้อมทั้งอานนั่งและสายบังเหียน ตอนแรกมันแสดงอาการพยศและลำบากในการขับขี่ ดังนั้นญิบรีลจึงกล่าวแก่มันว่า “บุรอกเอ๋ย! ทำไมเจ้าจึงเป็นอย่างนี้? ข้าขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า แท้จริงยังไม่เคยมีมัคลูกท่านใดขับขี่เจ้าที่จะมีเกียรติในทัศนะของอัลลอฮ์ยิ่งไปกว่าเขาผู้นี้” หลังจากนั้นมันจึงเชื่องลง (มุสนัดอะหมัด, เล่ม 3 หน้า 164, สุนันอัตติรมิซีย์, เลขที่ 5138, เป็นหะดีษหะสัน เฆาะรีบ และอิบนุหิบบานถือว่าเป็นหะดีษที่เศาะหีหฺ)

4. การเดินทางอิสรออฺ (เดินทางกลางคืนสู่มัสยิดอัลอักศอ)
หลังจากท่านนบีมุฮัมมัดขึ้นนั่งบนหลังบุรอกเรียบร้อยแล้ว ท่านก็เริ่มเดินทางพร้อมกับมะลาอิกะฮฺญิบรีล (อะลัยฮิสลาม) มุ่งสู่บัยติลมักดิส (เศาะหีหฺอัลบุคอรีย์, เล่ม 4 หน้า 248, เศาะหีหฺมุสลิม, เล่ม 1 หน้า 147) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองอีเลีย (สีเราะฮฺอิบนุฮิชาม, เล่ม 1 หน้า 396) ประเทศปาเลสไตน์ในปัจจุบัน
การเดินทางกลางคืน (อิสรออฺ) ในครั้งนี้ ท่านนบีมุฮัมมัด ได้หยุดละหมาดในหลายสถานที่ด้วยกัน ดังนี้
1. ที่เมืองยัษริบ หรือฏ็อยยิบะฮ์ (เมืองมะดีนะฮฺในปัจจุบัน)
2. ที่เขาซีนาย ซึ่งเป็นสถานที่ที่อัลลอฮฺทรงตรัสกับนบีมูสา
3. ที่เมืองมัดยัน ใกล้กับต้นไม้ของท่านนบีมูสา (อะลัยฮิสลาม)
4. ที่บัยติลละห์มิน สถานที่ให้กำเนิดนบีอีซา (อะลัยฮิสลาม) (สุนันอันนะสาอีย์, เล่ม 1 หน้า 222, ดะลาอิล อันนุบูวะฮฺ ของอัลบัยฮะกีย์, เล่ม 2 หน้า 356 ด้วยสายรายงานที่เศาะหีหฺ)

และการเดินทางกลางคืน (อิสรออฺ) ในครั้งนี้ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้พบเห็นเหตุการณ์ต่างๆหลายอย่าง
อัลลอฮฺทรงตรัสว่า
وَمَا جَعَلْنَا الرُّؤيَا الَّتِي أَرَيْنَاكَ إِلاَّ فِتْنَةً لِّلنَّاسِ
“และเรามิได้ทำให้การมองเห็นภาพต่างๆที่เราได้แสดงแก่เจ้า (ในค่ำคืนมิอฺรอจญ์) นอกจากเพื่อเป็นการทดสอบศรัทธาอย่างหนึ่งสำหรับมวลมนุษย์” (อัลอิสรออฺ :60)
อิบนุ อับบาส  กล่าวว่า คำว่า “รุอฺยา” ในที่นี้หมายถึง การมองเห็นสายด้วยสายตาภายนอก ในสภาพที่กำลังตื่นอยู่ต่อภาพต่างๆที่ประกฎต่อหน้าท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในค่ำคืนอิสรออฺขณะที่ท่านถูกพาเดินทางไปยังบัยตุลมักดิส (เศาะหีหฺอัลบุคอรีย์, เล่ม 4 หน้า 250, มุสนัดอะหมัด, เลขที่ 1916, 3500 ด้วยสายรายงานที่เศาะหีหฺ, เพราะคำว่า “รุอฺยา” สามารถใช้กับความฝันและกับการมองด้วยสายตาปกติขณะที่ตื่นอยู่ (ดู ซาดุลมะสีร, เล่ม 5 หน้า 53))

5. ส่วนหนึ่งของภาพที่ปรากฏให้เห็น
1. นบีมูสา อะลัยฮิสสลามกำลังยืนละหมาดอยู่บนหลุมศพของท่าน (เศาะหีหฺมุสลิม, เล่ม 4 หน้า 185)
2. ชนกลุ่มหนึ่งที่กำลังปลูกพืชและเก็บเกี่ยวในวันหนึ่ง ทุกครั้งที่พวกเขาเก็บเกี่ยว สวนและไร่นาของเขาที่ถูกเก็บเกี่ยวแล้วจะกลับคืนสู่สภาพเดิมเหมือนกับก่อนที่จะมีการเก็บเกี่ยว ท่านนบีมุหัมมัด จึงถามญิบรีลถึงข้อเท็จจริงของดังกล่าว
ญิบรีลตอบว่า “พวกเขาคือกลุ่มชนที่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ พวกเขาจะได้รับผลบุญถึง 700 เท่า” (มุสนัดอัลบซซาร,เลขที่ 55, ตะฮฺซีบุลอาษาร ของอัตเฏาะบะรีย์, เลขที่ 727, ตัฟสีรอัตเฏาะบะรีย์, เล่ม 15 หน้า 6, 15)
3. ชนกลุ่มหนึ่งกำลังใช้ศีรษะตัวเองทุบลงบนก้อนหินใหญ่ ทุกครั้งที่พวกเขาใช้ศีรษะทุบลงบนก้อนหิน ศีรษะของพวกเขาจะแตกกระจาย แต่แล้วก็จะถูกทำให้กลับคืนสู่สภาพปกติเหมือนเดิม แล้วพวกเขาก็จะใช้หัวของพวกเขาทุบลงบนก้อนหินอีกอย่างไม่หยุดหย่อน
ดังนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมจึงถามญิบรีลว่า “โอ้ ท่านญิบรีล พวกเขาเหล่านี้เป็นใครหรือ?”
ญิบรีลตอบว่า “พวกเขาเหล่านี้คือผู้ที่หนักศีรษะที่จะก้มกราบต่ออัลลอฮฺ (ละหมาด)” (ดะลาอิล อันนุบุวะฮฺ ของอัลบัยฮะกีย์, เล่ม 2 หน้า 398)

ยังมีภาพต่างๆอีกมากมายตามที่มีระบุในหะดีษที่บันทึกโดยอัตเฏาะบะรอนีย์ อัลบัยฮะกีย์ อัลบัซซารฺ และอื่นๆ แต่ส่วนมากเป็นหะดีษที่เฎาะอีฟ (อ่อน) (มัจญ์มะอฺ อัซซะวาอิด, เล่ม 1 หน้า 65-73, ดะลาอิล อันนุบุวะฮฺ, เล่ม 2 หน้า 398)

6. บัยตุลมักดิส
ในที่สุดนบีและญิบรีลก็เดินทางไปถึงบัยตุลมักดิส (เมืองอีเลีย ประเทศปาเลสไตน์) ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงผูกบุรอกไว้ที่เสา (ประตูของมัสยิดอัลอักศอ) ซึ่งในอดีต บรรดาท่านนบีคนก่อนๆก็เคยผูกมันไว้กับเสาต้นนี้เช่นกัน (เศาะหีหฺมุสลิม, เล่ม 1 หน้า 145)

เสร็จแล้ว นบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เดินเข้าไปในมัสยิดอัลอักศอ และท่านได้ละหมาดสุนัตสองร็อกอัต (ด้วยการเป็นอิมามนำละหมาดแก่บรรดานบีก่อนหน้าท่าน) หลังจากนั้นท่านนบีก็เดินออกมาจากมัสยิดในสภาพที่กระหายอย่างมาก ดังนั้นญิบรีล (อะลัยฮิสสลาม) จึงนำภาชนะสองใบมาเสนอแก่ท่านนบี ใบหนึ่งบรรจุสุรา และอีกใบหนึ่งบรรจุนมสด ท่านนบีมองดูทั้งสอง แล้วท่านก็เลือกเอาภาชนะที่บรรจุนมสด ญิบรีล อะลัยฮิสสลามจึงกล่าวแก่ท่านว่า “มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์แห่งอัลลอฮฺที่พระองค์ทรงประทานทางนำ (ฮิดายะฮฺ) แก่ท่าน จนท่านเลือกเอาสิ่งที่เป็นฟิฏเราะฮฺ (ธรรมชาติบริสุทธิ์ หมายถึง อิสลามและความเที่ยงธรรม (เศาะหีหฺมุสิลม, เล่ม 1 หน้า 145)) หากแม้นว่าท่านเลือกเอาสุรา ประชาชาติของท่านย่อมต้องหลงทางอย่างแน่นอน” (เศาะหีหฺอัลบุคอรีย์, เล่ม 6 หน้า 240, 241)

 

ขอขอบคุณ อิกเราะอฺออนไลน์
เรียบเรียง โดย อบูอัชบาล

หมายเลขบันทึก: 183613เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2008 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อัลฮำดูลิลละห์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท