เจ้าหญิงป่วน ณ ปัตตานี
เด็กหญิง ประเสริฐ (أُخْتٌ صَغِيْرَةٌ ) รัศมีแห่งดวงตา เจ้าหญิงป่วน ณ ปัตตานี

เหตุการณ์อิสรออ์และมิอฺรอจญ์ของท่านนบี


อิสรออ์ หมายถึง การเดินทางในเวลากลางคืน

คำนำ
อิสรออ์ หมายถึง การเดินทางในเวลากลางคืน
และมิอฺรอจญ์ หมายถึง การเดินทางขึ้นสู่เบื้องบน (หมายถึงฟ้า)
ส่วน “อิสรออ์และมิอฺรอจญ์” ที่เราหมายถึงในที่นี้ คือ การเดินทางในเวลากลางคืนของท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จากมัสยิดอัลหะรอม ณ นครมักกะฮฺอันทรงเกียรติไปยังมัสยิดอัลอักศอ หลังจากนั้นท่านก็เดินทางขึ้นสู่ฟากฟ้าทีละชั้น ทีละชั้น จนไปถึงสถานที่ที่มีชื่อว่า “สิดรอตุลมุนตะฮา” หลังจากนั้นท่านก็เดินทางกลับลงสู่พื้นดินและมุ่งสู่นครมักกะฮฺ อีกครั้งหนึ่ง โดยใช้เวลาในการเดินทางทั้งหมดเพียงหนึ่งคืนเท่านั้น
“อิสรออ์และมิอฺรอจญ์” เป็นปรากฏการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นจริงกับตัวท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เท่านั้น สัจธรรมดังกล่าวได้รับการยืนยันจากอัลกุรอาน หะดีษ และข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
อัลลอฮฺ ทรงดำรัสว่า
سُبْحَانَ الَّذِي أَسْرَى بِعَبْدِهِ لَيْلاً مِّنَ الْمَسْجِدِ الْحَرَامِ إِلَى الْمَسْجِدِ الأَقْصَى الَّذِي بَارَكْنَا حَوْلَهُ لِنُرِيَهُ مِنْ آيَاتِنَا إِنَّهُ هُوَ السَّمِيعُ البَصِيرُ ]
“มหาบริสุทธิ์ยิ่งนัก แด่อัลลอฮฺผู้ทรงนำบ่าวของพระองค์ (มุหัมมัด) เดินทางในยามค่ำคืนจากมัสยิดหะรอมสู่มัสยิดอักศอ ซึ่งเราได้ให้ความจำเริญแก่บริเวณของมัน ทั้งนี้เพื่อเราจะให้เขาได้มองเห็นบางส่วนแห่งสัญญาณของเรา แท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้ได้ยิน ทรงมองเห็นยิ่ง”(อัลอิสรออฺ :1)

สรุปจากโองการอิสรออ์
1. ผู้ที่พาเดินทาง :อัลลอฮฺ
2. ผู้เดินทาง :นบีมุฮัมมัด
3. เวลาเดินทาง :ในคืนหนึ่ง
4. เดินทางจาก :มัสยิดหะรอม (มหานครมักกะฮ์)
   สู่ปลายทาง :มัสยิดอักศอ (บัยตุลมักดิส)
5. จุดประสงค์ :เพื่อให้นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยอิวะสัลลัมได้เห็นความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ

อัลลอฮฺทรงตรัสว่า
وَلَقَدْ رَآهُ نَزْلَةً أُخْرَى، عِندَ سِدْرَةِ الْمُنْتَهَى، عِندَهَا جَنَّةُ الْمَأْوَى، إِذْ يَغْشَى السِّدْرَةَ مَا يَغْشَى، مَا زَاغَ الْبَصَرُ وَمَا طَغَى، لَقَدْ رَأَى مِنْ آيَاتِ رَبِّهِ الْكُبْرَى
“และแท้จริงแล้ว เขา (นบีมุหัมมัด) ได้มองเห็นเขา (หมายถึงญิบรีลหรืออัลลอฮฺ) อีกครั้งหนึ่ง ณ สิดรอตุลมุนตะฮา (ในฟ้าชั้นที่ 7) ใกล้กับที่ตั้งของสวนสวรรค์อันเป็นที่พำนัก ซึ่งเป็นเวลาที่สิดรอตุลมุนตะฮากำลังถูกปกคลุมด้วยบางสิ่ง สายตา (ของมุหัมมัด) ไม่หันเหออกจากจุดที่ได้มองและไม่ล้วงละเมิด แท้จริงเขาได้มองเห็นส่วนหนึ่งของสัญญาณแห่งความยิ่งใหญ่ของพระผู้อภิบาลของเขา” (อัลนัจมุ:13)
เหตุการณ์อิสรออ์และมิอฺรอจญ์ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจโต้เถียงได้อีกถึงความสัจจริงของมัน ผู้ใดปฏิเสธเหตุการณ์อิสรออ์และมิอฺรอจญ์ ถือว่าเขาได้ออกจากศาสนาอิสลามแล้ว โดยมติเอกฉันท์ของปวงประชาชาติอิสลาม เพราะเท่ากับว่าเขาได้ปฏิเสธต่อสัจธรรมของอัลกุรอานที่ชัดแจ้งยิ่ง และเท่ากับว่าเขาได้ทำลายมติที่เป็นเอกฉันท์ของประชาชาติอิสลามในทุกยุคทุกสมัย

สภาพของนบีมุหัมมัดขณะเดินทางอิสรออ์และมิอฺรอจญ์
มีทัศนะที่หลากหลายของนักวิชาการอิสลามเกี่ยวกับสภาพของท่านนบี มุฮัมมัด ในเหตุการณ์อิสรออ์และมิอฺรอจญ์ ส่วนหนึ่งของทัศนะเหล่านั้นคือ
1. อิสรออฺและมิอฺรอจญ์เกิดขึ้นกับวิญญาณของท่านนบีมุฮัมมัดเท่านั้น มิได้เกิดขึ้นกับร่างกายหรือเรือนร่างของท่านแต่อย่างใด (ทัศนะที่โด่งดังที่ถูกพาดพิงไปยังท่านหญิงอาอีชะห์ รอฎิยัลลอฮุอันฮา ด้วยการปลอมแปลงหรือโกหก)
2. อิสรออฺและมิอฺรอจญ์เกิดขึ้นโดยการฝันขณะนอนหลับ (ทัศนะที่ถูกพาดพิงไปยังมุอาวียะฮ์ และอัลหะซัน อัลบัศรีย์)
3. อิสรออฺและมิอฺรอจญ์เกิดขึ้นกับวิญญาณและเรือนร่างของท่านนบีมุฮัมมัด ในสภาพที่ตื่นอยู่ มิใช่นอนหลับ (ทัศนะของอุละมาอฺส่วนใหญ่)* [1]

ทัศนะที่สามนี่แหละคือทัศนะที่ถูกต้อง และนี่คือทัศนะของบรรดาอุละมาอฺสะลัฟ (รุ่นแรก) และเคาะลัฟ (รุ่นหลัง) ไม่ว่าจะเป็นอุละมาอฺด้านนิติศาสตร์ (ฟิกฮฺ) อุละมาอฺหะดีษ หรืออุละมาอฺทางตรรกะวิทยา (อะฮฺลุลกะลาม) (ดู ชัรหฺเศาะหีหฺมุสลิม ของอันนะวะวีย์, เล่ม 2 หน้า 209, อัลบิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ ของอิบนุกะษีร, เล่ม 3 หน้า 113)
 

ยิ่งกว่านั้น อุละมาอบางท่านยังกล่าวว่า ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในหมู่เศาะฮาบะฮฺต่อสิ่งนี้ เพราะทัศนะนี้ได้รับการสนับสนุนและยืนยันโดยหลักฐานมากมาย เช่น

1. อัลลอฮฺทรงเริ่มต้นอายะฮฺอิสรออฺด้วยคำว่า “สุบหานะ”
ตามทัศนะของอุลามาอฺตัฟสีร คำว่า “สุบหานะ” หรือคำสดุดีต่างๆที่ให้ความหมาย “มหาบริสุทธิ์ยิ่ง” เป็นคำที่ถูกใช้สำหรับกิจการที่สำคัญ ยิ่งใหญ่ และอัศจรรย์ หรือฉงนสนเท่ห์ ดังนั้น ถ้าหากว่าเหตุการณ์อิสรออฺและมิอฺรอจญ์เกิดขึ้นกับวิญญาณของท่านนบีในสภาพนอนหลับ หรือในความฝันเพียงเท่านั้น แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ย่อมเป็นเพียงเหตุการณ์ปกติธรรมดาเท่านั้น ไม่ถือว่ายิ่งใหญ่ และไม่มีสิ่งใดที่น่าฉงนสนเท่ห์ (ดู ซาดุลมะสีร ของอิบนุลเญาซีย์, เล่ม 5 หน้า 4, ตัฟสีรอัลกุรอานุลอะซีม ของอิบนุกะษีร, เล่ม 3 หน้า 23, อัลบิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ, เล่ม 3 หน้า 114)  แต่ทว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และน่าอัศจรรย์ยิ่ง ถึงกับมีการปฏิเสธทันทีทันใดจากชาวมุชริกีน และถึงกับทำให้ผู้ที่เข้ารับอิสลามที่มีอิมานอ่อนบางคนตกมุรตัด (หลุดพ้นจากอิสลาม)

2. คำว่า “บิอับดิฮี” ในตอนต้นอายะฮฺของสูเราะฮฺอัลอิรออฺ ซึ่งมีหมายความว่า “ด้วยบ่าวของพระองค์” นั่นคือ นบีมุฮัมมัด ตามหลักภาษาของทุกๆภาษา โดยเฉพาะภาษาอาหรับ คำว่า “อับดุน” หรือ “บ่าว” ถูกใช้เรียกสำหรับเรือนร่างและวิญญาณพร้อมกันทีเดียว หรือใช้เรียกเฉพาะเรือนร่างเท่านั้น จะไม่มีการใช้เรียกสำหรับวิญญาณเพียงอย่างเดียว

3. คำว่า “ อัลบะเศาะรุ” ในอายะฮฺที่ 17 ของสูราะฮฺอันนัจมฺ ให้ความหมายว่า เป็นการดูด้วยดวงตาที่เป้นอวัยวะ และที่สำคัญ “อัลบะเศาะรุ” (สายตา)เป็นอวัยวะของร่างกายที่จับต้องได้ มิใช่อวัยวะของวิญญาณ (ดู ตัฟสีรอิบนุกะษีร, เล่ม 3 หน้า 23)

4. ส่วนหะดีษที่พาดพิงไปยังท่านหญิงอาอิชะฮฺ  ที่ว่า “การเดินทางอิสรออฺของท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมเกิดขึ้นกับวิญญาณเท่านั้น” เป็นหะดีษเมาฎูอฺ (ปลอม) ดั่งที่มีการยืนยันจากบรรดาอุละมาอฺอิสลาม  อาทิเช่น อิบนุดิหฺยะฮฺ และอิบนุสุร็อยจญ์ (สิ้นชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. 313)
เช่นเดียวกับทัศนะที่ว่า “การเดินทางอิสรออฺของท่านรสูลลุลลอฮฺ เกิดขึ้นในความฝันขณะที่ท่านกำลังหลับอยู่ ซึ่งเป็นทัศนะที่มีการพาดพิงไปยังอัลหะสัน บิน อบี อัลหะสัน อัลบัศรีย์ (เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. 110) ด้วยการอุปโลกน์ขึ้นมา เพราะรายงานที่มาจากอัลหะสันเช่นนี้ ไม่เคยมีปรากฏในสมัยของบรรดาเศาะหาบะฮฺ และตาบีอีน แต่ทว่า ทัศนะต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า เหตุการณ์การเดินทางอิสรออฺและมิอฺรอจญ์ของท่านรสูลลุลลอฮฺเกิดขึ้นกับวิญญาณและเรือนร่างรวมกันทีเดียว ในสภาพที่รู้สึกตัว (ตื่น) (ดู มุหัมมัด เราะสูลุลลอฮฺ ของมุหัมมัด อุรญูร, เล่ม 2 หน้า 347-350)

5. การเดินทางอิสรออฺและมิอฺรอจญ์ด้วยเรือนร่างและวิญญาณในสภาพที่รู้สึกตัว ไม่ใช่ในสภาพที่กำลังนอนหลับและไม่ใช่ในความฝัน เป็นความหมายดั้งเดิมและแท้จริง ตามที่มีระบุในอัลกุรอานและอัลหะดีษ  ตามหลักของวิชาการอุศูลุลพิกซ์ ถ้อยคำหนึ่งๆไม่อาจเปลี่ยนจากความหมายที่แท้จริงและดั้งเดิมไปสู่ความหมายที่มีอุปมัย (เปรียบเปรย) หรือสามารถตีความเป็นอย่างอื่น หรือไม่ดั้งเดิม นอกจากว่า จะมีพยานแวดล้อมที่มาสกัดกั้นจากการใช้ความหมายดั้งเดิมและแท้จริงตามสภาพการวินิจฉัยของชะรีอะฮฺและสติปัญญา (ดู ฟัตหุลบารีย์ ของอิบนุหะญัร อัลอัสเกาะลานีย์, เล่ม 7 หน้า 204 )
 

 
-----------------------------
[1]* นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งอื่นๆอีกในหมู่อุละมาอฺเกี่ยวกับอิสรออฺและมิอฺรอจญ์ นั่นคือ
- อิสรออฺและมิอฺรอจญ์เกิดขึ้นในคืนเดียวกันหรือไม่ หรือว่าอิสรออฺเกิดขึ้นในคืนหนึ่ง และมิอฺรอจญ์เกิดขึ้นในอีกคืนหนึ่ง?
- อุละมาอฺส่วนหนึ่งมีทัศนะว่า เหตุการณ์อิสรออฺเกิดขึ้นในสภาพที่กำลังตื่นอยู่ ส่วนมิอฺรอจญ์เกิดขึ้นในสภาพที่กำลังนอนหลับ
- ส่วนอุละมาอฺอีกกลุ่มหนึ่งมีทัศนะว่า เหตุการณ์อิสรออฺเกิดขึ้นถึงสามหรือสี่ครั้งในสภาพที่กำลังตื่นอยู่ (ดู อัลบิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ ของอิบนุกะษีร, เล่ม 3 หน้า 115)

หมายเลขบันทึก: 183612เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2008 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เนื้อหาดี อ่านแล้วเข้าใจง่ายค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท