บางคนบอกว่าตอนนี้เมืองไทยไม่น่าอยู่เพราะอากาศ เริ่มร้อนแล้ว บางคนว่ามันไม่น่าอยู่ตลอดปีเพราะอากาศมีแต่ร้อนมากกับร้อนน้อย ไม่มีอากาศเย็น
คนเคยไปอยู่ระเทศที่อากาศหนาวมากๆ อย่างแคนาดา จะพูดตรงกันข้ามว่าเมืองไทยน่าอยู่ แม้จะร้อนไปหน่อย แต่แดดออกทั้งปี ทำให้มีความรู้สึกสดใสตลอดทั้งปี ในเมืองหนาวอากาศสลึมสลือชวนง่วงนอน
แต่ก็น่าแปลกที่คนเมืองหนาวกลับดูคึกคักจริงจังเวลาทำงาน ในขณะที่คนเมืองร้อนอย่างบ้านเรา กลับดูสบายๆไม่เร่าร้อน (ในการทำงาน) สวนทางกับอากาศที่มากด้วยความร้อน(แรง)
จนบางคนบอกว่านี่แหละที่ทำให้เมืองไทยไม่น่าอยู่ เพราะคนไทยมีจุดอ่อนอย่างนี้ อย่างนั้น สารพัดจะสาธยาย
สรุปว่าหลายคนยลตามช่องก็จะได้สาเหตุที่ตัวเองคิดว่าประเทศตัวเองไม่น่าอยู่ ที่อื่นน่าจะดีกว่า
สมัยก่อนช่วงรัฐบาลเผด็จการทหาร ผมเคยได้ยิยบางคนบอกว่าเมืองไทยไม่น่าอยู่เพราะเป็นเผด็จการ ถ้าเป็นไปได้จะไปอยู่เมืองนอกที่เป็ฯประชาธิปไตยกว่า
คนพูดที่จริงแล้วไม่มีปัญญาจะไปแม้ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเบี้ยน้อยหอยน้อย
แต่อย่างน้อยก็บอกให้ผมรู้ว่า องค์ประกอบทาการเมืองก็ถูกเอามาเป็นตัวเปรียบเทียบว่าประเทศเราน่าอยู่หรือไม่น่าอยู่
ถ้าถามใครต่อใครว่า อะไรทำให้ประเทศๆหนึ่งน่าอยู่หรือไม่น่าอยู่
เชื่อว่าส่วนใหญ่จะสาธยายถึงสภาพทางสาธารณูปโภค เช่นน้ำไหล ไฟ สว่าง ทางดี มีตึกสูงๆ พื้นที่สีเขียวแยะๆ โรงมหรสพดีๆ ฯลฯ บางคนก็พูดถึงสภาพแวล้อมที่สะอาดสดใส คนมีจิตใจดี เป็นมิตรน่าคบค้า
แต่น่าจะมีน้อยคนมากที่จะบอกว่า จะน่าอยู่ต้องมีนโยบายที่ดี
ทั้งที่ว่าไปแล้ว นโยบายสาธารณะเป็นสิ่งสำคัญเพราะมันกำหนดความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม
ใครหรือกิจการใดจะต้องเสียภาษีเท่าไร เมื่อได้ภาษีแล้วเอาไปทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้
ระบบบริการสาธารณสุขใครจะจ่ายสตังค์ เท่าไร ชาวบ้านจ่ายส่วนใหญ่ หรือรัฐบาลจ่ายส่วนใหญ่
การศึกษาใครจ่าย มากน้อยแค่ไหน
ธุรกิจจะโฆษณามอมเมาไปเรื่อยโดยอ้างว่าเป็นระบบการค้าเสรี หรือว่าการโฆษณาของบางอย่าง เช่น ยา ยาสูบ สุรา ทำไม่ได้ เพราะจะทำให้ประชาชนบริโภคผิดๆ (มากไป ผิดกาละเทศ ผิดกับโรค)
เราอยากให้ต่างประเทศเอ้เงินมาลงทุนแยะๆ เศรษฐกิจจะได้โตมากๆ หรือเราอยากจะค่อยๆขยายตามความสามารถ หรือเราจะให้ต่างประเทศมาลงทุนอย่างมีเงื่อนไข เพื่อให้มั่นใจว่าในที่สุดคนที่เป็นเจ้าของยังจะต้องเป็นคนในประเทศไทย ไม่ใช่บริษัทที่มีฐานสำคัญอยู่นอกประเทศ
และยังมีตัวอย่างอื่นๆอีกมากมาย ของเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากนโยบายของประเทศทั้งสิ้น
และที่แน่ๆย่อมทำให้ประเทศน่าอยู่มากหรือน่าอยู่น้อยแตกต่างกันไป
นโยบายสาธารณะที่ดี จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม คนมีฐานะดี มีเงินมาก มีอำนาจมาก จะมาเอาเปรียบคนที่เงินน้อยกว่า ฐานะด้อยกว่าไม่ได้
แถมยังมีกลไกที่จะช่วยให้เกิดการแบ่งปัน
บางคนเข้าใจว่า นโยบายสาธารณะมีแค่สองแบบ คือทุนนิยม กับคอมมิวนิสต์ แม้จะไม่ชอบทุนนิยม แต่ก็ไม่ชอบคอมมิวนิสต์มากกว่า จึงนึกดีใจอยู่ว่า แม้ทุนนิยมจะมีจุดอ่อนก็ยังดีกว่าเป็นคอมมิวนิสต์
แต่ความจริงก็คือความจริงแล้ว ระบบเศรษฐกิจ แบบเดียวกันก็มีความแตกต่างกันได้ และสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างก็คือนโยบายสาธารณะที่แตกต่างกัน
ดร มาเลอห์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกที่เป็นชาวเดนมาร์ก บอกว่าประเทศเดนมาร์กเป็ฯประเทศทุนนิยมชัดเจนมาก
แต่มีนโยบายสาธารณะที่ตกทอดกันมาหลายสิบปีแล้วว่า ในแง่สังคม จะต้องมีนโยบายที่เน้นความเป็นธรรมในสังคม ระบบสวัสดิการสังคม และระบบประกันสุขภาพ รวมทั้งระบบบริการสาธารณสุขของประเทศนี้จึงมีรัฐเป็นผู้กำหนด และดูแลบริหารจัดการ
แม้กระทั่งชนิดของยาที่มีจำหน่ายในประเทศก็ไม่ได้มีเป็นหมื่นตำรับ แบบประเทศไทย และที่จริงมีไม่ถึงพันตำรับด้วยซ้ำไป คนของเขาก็มีสุขภาพดี และคนของเขาก็ไม่รู้สึกว่าได้บริการสุขภาพชั้นสอง
เวลารัฐบาลที่ไม่ชอบระบบประกันสุขภาพ พยายามจะมาล้มล้าง ก็จะถูกโต้ตอบจากประชาชน ในที่สุดก็ต้องหาทางปรับปรุงประสิทธิภาพมากกว่าจะมายกเลิก
หลายคนบอกว่าอยากอยู่ในประเทศอย่างประเทศแถบสแกนดีเนเวีย (แต่ขออากาศที่ไม่หนาวเย็นตลอดปีแบบนั้น) เพราะมีระบบต่างๆในสังคมที่ดีมาก
อีกประเทศหนึ่งที่มีคนพูดถึงบ่อยๆคือประเทศแคนาดา (แต่ก็ไม่เอาอากาศแบบแคนาดาเหมือนกัน)
ที่ไปพูดพาดพิงถึงประเทศอื่นก็เพราะมันเป็นตัวอย่างที่ หลายคนจะบอกว่าน่าอยู่ เพราะมีนโยบายที่ดี และมีการทำตามนโยบายที่ดีอย่างต่อเนื่องด้วย
ไม่ได้ดีแค่คำขวัญหรือโฆษณาสวยหรู หรือดีแค่ตอนต้นๆสักพักก็เละเทะดูไม่ได้
นโยบายสาธารณะเปรียบไปแล้วก็สำคัญยิ่งกว่า เสาเข็มที่ตอกเป็นฐานเวลาสร้างบ้าน ถ้าเปรียบกับบ้านมันก็เป็นเหมือนโครงสร้างของบ้านทั้งหลังด้วย
ถ้าบ้านออกแบบมาไม่ดีก็ไม่น่าอยู่
ประเทศถ้ามีนโยบายสาธารณะไม่ดีก็ไม่น่าอยู่เหมือนกัน
คุณว่าไม๊ แล้วตอนนี้คุณว่านโยบายสาธารณะบ้านเรามันเข้าท่าแค่ไหน แล้วเราควรทำยังไงจึงจะเกิดนโยบายสาธารณะที่ดีๆ
ไม่มีความเห็น