สภามหาวิทยาลัย : อินทรียปฐพีศาสตร์


 

          บันทึกนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยใช้ “Provocative Mode” หรือยั่วให้แย้ง    แถมยังยั่วโดยคนไม่มีความรู้ (คือตัวผม) ในเรื่องดิน และจุลินทรีย์ในดินเสียอีกด้วย   บันทึกนี้จึงไม่ได้มีไว้ให้เชื่อ   แต่มีไว้ให้เอาไปคิดต่อ ทดลองทำต่อ หวังให้ทำไม่เหมือนที่ผมเสนอ   แต่หวังว่าจะเกิดสิ่งใหม่ หรือนวัตกรรมขึ้นในวงการเกษตรกรรมไทย ในระดับ “ปฏิวัติความคิด”
          ผมเสนอแบบขวานผ่าซาก ว่า ถึงเวลาแล้วที่วงวิชาการไทยจะต้องสร้างศาสตร์เรื่องดินเพื่อการเพาะปลูกขึ้นใหม่    ที่เป็นศาสตร์ดินในพื้นที่เขตร้อนชื้น    และเป็นศาสตร์ที่มองดินเสมือนมีชีวิต


          ผมมีสมมติฐานว่าดินในเขตหนาวหรือเขตอบอุ่นมี “ชีวิต” น้อยกว่าดินในเขตร้อนและชุ่มชื้น    ผมมองว่าความร้อนและชุ่มชื้นนี่แหละ เป็น “ขุมทรัพย์” ที่มองไม่เห็นของเรา    เราจะต้องสร้างศาสตร์ใหม่ขึ้นมาสร้างมูลค่า (capitalize) ตัวขุมทรัพย์ (assets) นี้    อย่าไปรอฝรั่งหรือญี่ปุ่นให้เขานำทาง    เพราะเขาไม่ได้อยู่กับขุมทรัพย์เหล่านี้โดยตรง


          วิธีสร้างศาสตร์ใหม่ ให้ใช้ยุทธศาสตร์ “Recombination” ของแบคทีเรียครับ   ในยามที่อาหารอุดม แบคทีเรียจะสืบพันธุ์แบบแบ่งตัวไปเรื่อยๆ    แต่พอถึงเวลาอาหารขาดแคลน แบคทีเรีย ๒ ตัว จะหลอมรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยน ดีเอ็นเอ หรือ ยีน   แล้วจึงแยกตัวออกจากกัน    กลายเป็นแบคทีเรียที่มีความสามารถใหม่ กินอาหารใหม่เป็น    หรือต่อสู้กับความยากลำบากเก่งขึ้น   แบคทีเรียที่มีความสามารถกระทำกิริยา recombination ก็จะดำรงเผ่าพันธุ์ได้ยืนนาน    แบคทีเรียที่ไม่มีความสามารถนี้ก็จะค่อยๆ สูญพันธุ์ไป ตามกฎของธรรมชาติ Survival of the fittest 

   
          ศาสตร์ใหม่เรื่องดินเพื่อการเพาะปลูกควรผสมพันธุ์ ๓ ศาสตร์ครับ   ได้แก่ศาสตร์ดิน  ศาสตร์เคมี  และศาสตร์จุลชีพ    และศาสตร์เคมีเองต้องมีส่วนผสมของ “เคมีชีวิต” (Organic Chemistry) ให้มากขึ้นกว่าเดิม   คืออย่ามองสารในดินแค่ N P K และแร่ธาตุปริมาณน้อยเท่านั้น


          ที่สำคัญ ต้องใช้มุมมอง “ดินมีชีวิต” ซึ่งหมายความว่า ดินสามารถสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเองได้ โดยเราไม่ต้องเติมลงไป   เหตุที่ดินมีชีวิตก็เพราะในดินมีจุลินทรีย์สารพัดชนิด ที่สามารถเปลี่ยนอินทรียสารและอนินทรียสารให้กลายเป็นสารใหม่ที่มีคุณค่าต่อการเจริญเติบโตของพืช (และสัตว์) ได้   


          ศาสตร์ใหม่ว่าด้วยเรื่องดินเพื่อการเพาะปลูก ควรเน้น Soil Bio-engineering คือให้ดินเติมความอุดมสมบูรณ์ภายในดินเอง    โดยเกษตรกรเรียนรู้วิธีจัดสภาพแวดล้อมให้ “ดินบำรุงตัวเอง”    ไม่เน้นการเติมสารอาหารของพืชลงไปในดินโดยตรง  

 
          นักวิชาการไทยมีโอกาสสร้างความยิ่งใหญ่ด้านวิชาการให้แก่วงการเกษตรกรรมไทย    ในลักษณะที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน   เขียนอย่างนี้อาจจะผิด เพราะจริงๆ แล้วเวลานี้มีหน่ออ่อนในเรื่อง “ดินมีชีวิต” มากมาย  ทั้งที่ดำเนินการโดยเกษตรกรเอง และโดยนักวิชาการกระแสทางเลือก   ถึงเวลาแล้วที่นักวิชาการกระแสหลัก จะเข้ามาใช้การปฏิบัติของเกษตรกร และของนักวิชาการกระแสทางเลือก ในการสร้างศาสตร์ใหม่    ที่ผมลองเรียกชื่อว่า “อินทรียปฐพีศาสตร์” (Organic Soil Sciences) 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๑ พ.ค. ๕๑

        
                 

หมายเลขบันทึก: 182592เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2008 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท