ยุทธการขยับ CAR...5) การติดสลากระบุขวดน้ำยา (ยิงกระสุนนัดเดียวได้นก 3 ตัว)


การติดสลากระบุขวดน้ำยา...เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการทำงาน โดยเฉพาะงานที่มีผู้ปฏิบัติร่วมกันหลายๆคน

ก่อนที่จะมีการเตรียมการขอรับรองมาตรฐาน ISO 15189 เราก็มีประสบการณ์เรื่องรับการตรวจประเมินจาก auditor ขององค์กรต่างๆมาหลายครั้งหลายคราแล้ว  เป็นที่รู้กันดีในกลุ่มห้องปฏิบัติการว่า ถ้าผู้ตรวจประเมินมาเยี่ยมเมื่อไรละก็...สิ่งแรกที่ท่านต้องถามถึงและขอดูทันทีก็คือ "ขอดูสารตัวอย่างควบคุม (control) ที่ใช้กับการทดสอบนั้นๆหน่อย..." สิ่งที่จะดูก็คือคุณภาพของ control  วันหมดอายุ  และความครบถ้วนของระดับค่า control ที่เราเลือกใช้

รู้ทั้งรู้อยู่อย่างนี้แล้ว แต่ก็ยังพลาดจนได้  เมื่อคราวที่ อ.หมอนิศารัตน์ จากราชวิทยาลัยมาตรวจเยี่ยม (ต้นเดือน ก.พ.) อาจารย์ก็ขอดู control ตามคาด โดยดูวันหมดอายุที่ระบุไว้ข้างหลอด  จำนวน control แต่ละระดับที่เราทำ (ตอนนั้นเราทำเพียง 2 ระดับ คือ ระดับปกติ กับระดับต่ำ/สูง ) อาจารย์ถามว่า "รู้ไหมว่า ใครเป็นคนเปิดน้ำยาขวดนี้?  เปิดใช้เมื่อไหร่?  และใช้ได้จนถึงเมื่อไหร่?...จ๊ะ..."  ตอบไม่ได้เลยค่ะ เพราะเราคิดว่าเวลาน้ำยาหมด เราก็เปิดหลอดใหม่ ใช้ไปจนหมด แล้วก็หยิบหลอดใหม่ไปเรื่อยๆ  อาจารย์บอกว่า "ไม่ด้าย..ย.. control ที่เปิดใช้งานควรแล้วควรระบุด้วยว่าใช้ได้จนถึงเมื่อไหร่  ไม่ใช่ใช้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมด"...  ว่าแล้วท่านก็ให้ CAR ข้อที่ 106 มาว่า  "ไม่มีการติดสลากขวดน้ำยา  ไม่ได้เขียนวันเปิดใช้น้ำยาสำเร็จรูป" 

เราก็แก้ไขตามคำแนะนำ  โดยเน้นย้ำให้ผู้ที่เปิดใช้น้ำยาเขียนไว้ข้างหลอดว่าเปิดใช้เมื่อไหร่?  ใครเป็นคนเปิด?  และใช้ได้จนถึงเมื่อไหร่?  ทุกครั้งที่เปิดน้ำยาหลอดใหม่...

ดูท่าจะไปได้สวย  จนกระทั่ง อ.นฤดี จาก สมป. มาตรวจประเมิน เป็นดังคาดค่ะ ท่านก็ขอดู control ที่เราใช้ในการควบคุมคุณภาพ CBC ที่ขอรับรองมาตรฐาน ISO15189 ในครั้งนี้หน่อยซิ  

พี่เม่ยรีบไปเปิดตู้เย็นหยิบมาให้ท่านดู  "อืมม์ มีการเขียนระบุไว้ข้างหลอดครบถ้วน แต่...เอ๊ะ! ทำไมทำ control แค่ 2 ระดับเองล่ะ" 

พี่เม่ยตอบว่า "เราคิดว่าทำเพียง 2 ระดับก็เพียงพอแล้ว (ตีความจากคำว่า normal and abnormal) จึงคิดประหยัดเลือกทำ abnormal เพียงแค่ระดับสูง หรือต่ำ อย่างใดอย่างหนึ่งก็พอ..." 

"ไม่ด้าย...ย...ต้องทำให้ครบทั้งสามระดับค่ะ สูง กลาง ต่ำ..." อีกแล้วค่ะ จึงเป็นที่มาของ CAR ตามข้อกำหนดที่ 5.6.1 ว่า "ไม่ได้ทำ control ทั้ง 3 ระดับที่หน่วย CBC"    ฮือ...ฮือ ยังไม่พอ ในระหว่างที่อาจารย์สอดส่ายสายตามองไปในตู้เย็นนั่นเอง ท่านก็เหลือบไปเห็น control อีกขวดหนึ่งที่มีการเปิดใช้ในงานอื่นวางอยู่  ช่างกระไรเลยที่ขวดนั้นไม่มีการเขียนไว้ว่าใครเปิด เปิดเมื่อไหร่ ใช้ได้ถึงเมื่อไหร่  เสร็จเลยเรา ท่านก็เลยแถม CAR มาให้อีกหนึ่งเรื่องตามข้อกำหนดที่ 5.3.3 ว่า "ไม่ได้บ่งชี้วันหมดอายุของ e-check ที่ CBC " 

หลังจากได้รับ CAR ทั้งสองเรื่องนี้ เราก็มาทบทวนกัน ก็ได้เหตุผลของการที่ไม่ระบุไว้นั้นว่าเพราะขวดน้ำยาเล็กมาก  เขียนไม่ค่อยถนัด จึงคิดว่าใช้ไปก่อนเดี๋ยวว่างๆค่อยมาเขียนทีหลัง.... บังเอิ๊ญ อาจารย์ท่านมาเห็นเข้าเสียก่อน

ไม่เป็นไรค่ะ  ไหนๆก็ต้องแก้ไขแล้ว พี่เม่ยจึงพิมพ์ตารางเล็กๆที่มีช่องให้เติมชื่อ วันที่เปิดใช้ วันหมดอายุ ลงบนแผ่นสติ๊กเกอร์ขนาด A4 ไว้ให้ใช้งานกันดีกว่า เพียง 1 แผ่นก็ใช้งานกันได้นานมาก
หลังจากนั้นก็ถ่ายรูปตัวอย่างที่เราใช้สติ๊กเกอร์นี้ติดสลากที่หลอดน้ำยาขณะเปิดใช้งาน  แถมด้วยการถ่ายให้เห็นว่าเราแก้ไขให้มีการทำ control ทั้งสามระดับด้วยแล้ว
แก้ไขได้เรียบร้อยค่ะ ...คราวนี้เตรียมการเพียงครั้งเดียวแก้ไขได้ 3 CAR (เรียกว่ากระสุนนัดเดียว ได้นก 3 ตัว) ค่อยคุ้มค่าเหนื่อยหน่อยนะ พี่เม่ย ซู่...ซู่..
คำสำคัญ (Tags): #iso15189
หมายเลขบันทึก: 182588เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2008 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตามมาเรียนรู้ กับ พี่เม่ย ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท