เยือนถิ่น.....ศิลปินแห่งชาติกับคุณย่า


วันที่อากาศเป็นใจ  อากาศกำลังสบาย  ๆ เหมาะกับการเดินท่องเที่ยว นับเป็นโอกาสดีที่ได้พาชาวบางกอกเยือนถิ่นศิลปินแห่งชาติ นายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน  ท่านได้รับรางวัล ศิลปินแห่งชาติ  ปี ๒๕๔๙   สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน)   ท่านได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องราวของหนังตะลุง  การแกะหนังตะลุง  อุปกรณ์และเครื่องดนตรีแบบดั้งเดิมของหนังตะลุงที่ใช้ในการแสดงหนังตะลุง ซึ่งท่านได้เน้นย้ำมากและอยากให้นายหนังทุกคนอนุรักษ์ไว้ คือ  เครื่องห้า  ได้แก่  โหม่ง ฉิ่ง  ฉับ  ทับ กลองตุ๊ก  และ  ปี เดินชมตัวหนังตะลุงซึ่งท่านใช้ในการแสดง  และ หนังตะลุงนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นจากประเทศอินโดนีเซีย  ตุรกี  จีน  ฯลฯ  ซึ่งท่านได้จัดแสดงไว้อย่างสวยงาม   นอกจากนั้นพวกเราก็ได้ชมขั้นตอนการแกะหนังตะลุง ซึ่งกว่าจะแกะหนังตะลุงสำเร็จ  ต้องใช้เวลาแรมเดือนทีเดียว นับตั้งแต่นำหนังวัว มาแช่น้ำส้ม  ขูดเอาไขมันที่ติดหนังออก  ตากให้แห้ง  จนสามารถนำมาแกะเป็นรูปหนังตะลุงได้   ทาสี ซึ่งสีที่ใช้จะเป็นสีผสมอาหาร และต้องทาสีทั้งสองด้าน  และที่ติดใจมากพู่กันที่ใช้ทาสีทำมาจากหวาย         

ได้พูดคุยกับกับท่าน  นานพอสมควร  ก็เดินดูรอบ  ๆ ลานบ้านของท่าน  ซึ่งมีของเก่าแก่  เครื่องมือเครื่องใช้สมัยโบราณ   อาทิเช่น  เกวียน  เครื่องมือทำนา  ครกหินโม่แป้ง  เตารีด  ของเล่นในสมัยโบราณ  ฯลฯ  ซึ่งมีมากมายหลายชิ้นที่ในปัจจุบันหาดูได้ยากมาก

หลังจากเต็มอิ่มด้วยความรู้  ก็พาชาวบางกอกรับประทานอาหารมื้อเที่ยงด้วยเมนูขึ้นชื่อของชาวเมืองคอน  ขนมจีนเส้นสด  ที่ทำกันเดี๋ยวนั้น กินกันเดี๋ยวนั้น  มีน้ำแกงใส่กะทิ   ไม่ใส่กะทิ  น้ำพริก  ผักเหนาะมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นผักชีล้อม  ยอดกอก  ยอดมันปู  ลูกเนียง ลูกเหรียง มะละกอดอง  ผักลวกกะทิ ฯลฯ  พร้อมด้วยทอดมันกุ้งกับใบเล็บครุฑ ตบท้ายด้วย มังคุดคัด   น้ำแข็งใส  ขอบอกว่า  หรอยจังหู

นายสุชาติ ทรัพย์สิน 

บ้านเลขที่ ๖ ซอยศรีธรรมโศก ๓ ถ.ศรีธรรมโศก ต.ในเมือง อ.เมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ตัวหนังตะลุง 

การแกะหนังตะลุง

อุปกรณ์ที่ใช้ในการแกะหนังตะลุง

หวายซึ่งนำมาประยุกต์ใช้เป็นพู่กันระบายสี

ขั้นตอนการลงสี 

*************************************************************************************

                          ศิลปินแห่งชาติ  ปี พ.ศ. ๒๕๔๙

               สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน)

                            นายสุชาติ ทรัพย์สิน

ข้อมูลจาก  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ 

http://www.culture.go.th/art2549.php?&code=9

 

 

 

ประวัติชีวิตและผลงาน
นายสุชาติ ทรัพย์สิน เกิดเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๘๑ ที่ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ประวัติการศึกษา
พ.ศ. ๒๔๙๔ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดสระแก้ว อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ประวัติการทำงาน
ตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี ถึงปัจจุบัน เป็นช่างแกะรูปหนังตะลุง
ตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี ถึงปัจจุบัน เป็นนักแสดงหนังตะลุง

ประวัติการสร้างสรรค์ผลงาน

นายสุชาติ ทรัพย์สิน เป็นศิลปินที่เข้าสู่การแสดงหนังตะลุง โดยเริ่มจากการที่นายสุชาติ ทรัพย์สิน มีความสนใจในการวาดรูปตั้งแต่วัยเยาว์ ในขณะเรียนหนังสืออยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ที่โรงเรียนวัดสระแก้ว อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ครูใหญ่ได้เห็นความสามารถในการวาดรูป จึงได้ให้นายสุชาติ ทรัพย์สิน เป็นครูสอนวาดเขียนแก่เพื่อนนักเรียนชั้น ป. ๑ ป. ๔ ประกอบกับ ที่วัดสระแก้วมีการสร้างพระอุโบสถ ระหว่างพักกลางวันนายสุชาติ ทรัพย์สิน จะมานั่งเฝ้าดูการเขียนลายไทย ของช่างทำพระอุโบสถทุกวัน นายต่วน ช่างทำพระอุโบสถ เห็นว่า มีความสนใจจึงได้สอนให้นาย สุชาติ ทรัพย์สิน เขียนลายไทย


เมื่อนายสุชาติ ทรัพย์สิน จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ พ่อเห็นว่านายสุชาติ มีความสนใจ เกี่ยวกับการวาดรูปหนังตะลุงและรูปภาพต่าง ๆ จึงนำไปฝากเป็นศิษย์ของนายทอง หนูขาว ซึ่งเป็น ช่างแกะรูปหนังตะลุง เป็นนักแต่งบทกลอนและแต่งบทนิยายหนังตะลุง เพื่อให้ฝึกการใช้เครื่องมือ แกะหนังตะลุง ในระหว่างเรียนเกี่ยวกับกระบวนการทำรูปหนังตะลุงก็ได้เรียนรู้วิธีการเขียนบทกลอนต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กับการเรียนแกะหนังตะลุง จากการที่มีพรสวรรค์ทางด้านวาดรูปและได้รับการถ่ายทอดให้มี ความรู้เกี่ยวกับการเขียนลายไทย แกะหนังตะลุง และเขียนบทกลอนต่าง ๆ มีผลทำให้เกิดองค์ความรู้หล่อหลอมให้กลายเป็นช่างแกะรูปหนังและเป็นนักแสดงหนังตะลุงมาตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี ประกอบอาชีพ เลี้ยงตนเองและครอบครัวมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ยอมรับทางสังคมว่ามีความชำนาญทั้งทางด้านการแสดง หนังตะลุงและการแกะหนังตะลุงรวมถึงการแกะรูปหนังใหญ่

นายสุชาติ ทรัพย์สิน หรือหนังสุชาติ จะมีลักษณะเด่นและมีข้อแตกต่างจากผู้เล่นหนังตะลุงคน อื่น ๆ ก็คือ เป็นนายหนังตะลุงที่ผลิตรูปหนังตะลุง และประพันธ์บทกลอนและเรื่องหนังตะลุงเพื่อใช้แสดงด้วยตนเอง อีกทั้งยังเป็นช่างแกะรูปหนังที่ทำรูปหนังให้กับนายหนังตะลุงคณะอื่น ๆ ด้วย
นายสุชาติ ทรัพย์สิน เป็นศิลปินที่มีความสามารถเฉพาะตัว เป็นทั้งนักแสดงหนังตะลุงและช่างแกะรูปหนังตะลุง หนังใหญ่ การสร้างสรรค์ผลงานจึงมีกรอบในการทำงานดังนี้

ด้านการแสดงหนังตะลุง

นายสุชาติ ทรัพย์สิน เป็นศิลปินที่มีอุดมการณ์เกี่ยวกับการแสดงที่เน้นการแสดงหนังตะลุง แบบอนุรักษ์ คือ

๑. ไม่นำเครื่องดนตรีสากล เข้ามาประกอบในการแสดงเพราะมีความเชื่อมั่นว่า เครื่องดนตรี หนังตะลุง เครื่องห้า ได้แก่ โหม่ง ฉิ่ง ทับ กลองตุ๊ก และปี่ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีความไพเราะก่อให้เกิดสุนทรียศาสตร์ เหมาะแก่การแสดงหนังตะลุง

๒. เน้นกระบวนการแสดงแบบโบราณ โดยการใช้บทกลอนให้เหมาะกับเนื้อเรื่อง และบทบาทตัวละคร เช่น กลอนแปดใช้ในการพรรณนาเรื่องราว กลอนหกและกลอนสี่ใช้กับอารมณ์รัก บทจีบหรือการใช้กลอนสี่กับอารมณ์โกรธ เป็นต้น

๓. การแสดงเน้นการใช้ข้อมูลข่าวสารและคติสอนใจแก่ผู้ชมควบคู่กับความบันเทิง

ด้านหัตถกรรมช่างแกะหนังตะลุง รูปหนังใหญ่

การทำรูปหนังตะลุงของนายสุชาติ ทรัพย์สิน เน้นความประณีต สวยงาม ผ่านกระบวนการฟอกหนังที่มีคุณภาพ คือ หนังจะมีความใสและไม่มีกลิ่น ซึ่งจะใช้เวลาว่างในตอนกลางวันทำรูปหนังตะลุง ในเวลากลางคืนรับงานแสดงหนังตะลุง นอกจากนี้ยังสร้างสรรค์รูปแบบหนังตะลุงมากขึ้น และได้นำไปเสนอขายตามร้านของที่ระลึกต่าง ๆ รวมถึงตามโรงแรมที่มีร้านขายของที่ระลึกในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็น บุคคลแรกที่ทำรูปหนังตะลุงขายให้กับร้านค้าในลักษณะของที่ระลึก ผลงานชิ้นเด่น ๆ ประเภทรูปหนังใหญ่ ได้แก่ รูปยุทธหัตถี รูปหนุมานครองเมือง รูปช้างเอราวัณ รูปยกรบพระราม รูปพระอภัยมณี รูปหัวนโม รูปประเพณีแห่เรือพระน้ำ รูปชนโค รูปมวยไทย รูปจัดนาง ประเภทรูปหนังตะลุง ได้แก่ ตะลุง ชุดล้อการเมือง ตะลุงชุดอเมซิ่งไทยแลนด์ ตะลุงชุดสึนามิ ตะลุงชุดเขาหลวง ตะลุงชุดคนต่างแดน นอกจากนี้ยังมีการสร้างสรรค์รูปเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น รูปเรือแจวเรือพาย เครื่องบิน โทรศัพท์ สัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น

ด้านการสร้างสรรค์เรื่องหนังตะลุง
หนังสุชาติ ทรัพย์สิน ได้สร้างสรรค์เรื่องหนังตะลุงที่ใช้ในการแสดง ดังนี้
๑. แนวเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ได้แก่ เรื่องรามเกียรติ์ ตอนลิงขาวจับลิงดำ ตอนกำเนิดหนุมาน ตอนศึกกุมภกัณฑ์ ตอนพระบุตรพระรภ ตอนทศกัณฑ์ลักพานางสีดา เรื่องกุหลาบกลางน้ำ เรื่องจันทร์แจ่มฟ้าหน้าผี เรื่องคมในฝัก รักในฝัน เรื่องแก้วปัญหา เรื่องบุปผานางไพร ใช้ในการแสดงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๑๐
๒. แนวเรื่องรักชาติรักแผ่นดิน ได้แก่ เรื่องพระนเรศวรมหาราช เรื่องใครใหญ่ใครอยู่ เรื่องธรรมะย่อมชนะอธรรม เรื่องเกลือจิ้มเกลือ ใช้ในการแสดงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๒๐
•  แนวเรื่องการพัฒนาสังคมและชุมชน ได้แก่ เรื่องแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองเรื่องหมอชาวบ้าน เรื่องมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เรื่องวัฒนธรรมกับการสื่อสาร เรื่องมนุษย์กับวัฒนธรรม ใช้ในการแสดงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐ ปัจจุบัน
๔. แนวเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้แก่ เรื่องรักข้ามแดน เรื่องรักต่างภพ เรื่องคนไทยกับจอมราชันย์แสดงในต่างประเทศ ใช้ในการแสดงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๕๐
นอกจากนี้ พ.ศ. ๒๕๒๐ จนถึงปัจจุบัน ยังมีแนวคิดสร้างสรรค์หนังตะลุงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมเป็นเรื่องสั้น ๆ มาไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ เรื่อง ทั้งนี้ เป็นการเล่น โดยนำเรื่องราวเหตุการณ์ปัจจุบัน และเรื่องราวของผู้ชมมาสร้างสรรค์ เป็นเรื่องหนังตะลุงตามสถานการณ์ต่าง ๆ

 การเผยแพร่ผลงานต่อสาธารณชน
นายสุชาติ ทรัพย์สิน มีผลงานการแสดงหนังตะลุง และทำรูปหนังตะลุงมาไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี ทำให้มีผู้สนใจที่จะมาศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ มีทั้งกลุ่มนักแสดงหนังตะลุง กลุ่มช่างทำรูปหนังตะลุง นอกจากจะมีความรู้เกี่ยวกับงานอาชีพของตนเองแล้ว จากการศึกษาหาความรู้เพื่อใช้ประกอบในการแสดงหนังตะลุง และต้องเดินทางไปแสดงในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วภาคใต้ ได้สัมผัสเกี่ยวกับวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของคนในแต่ละท้องถิ่น ทั้งที่เป็นวัฒนธรรมของคนจีน มุสลิม และไทยพุทธ ประกอบกับเป็นคนชอบสังเกต มีความจำที่แม่นยำ ทำให้มีประสบการณ์ทางด้านวัฒนธรรมซึ่งได้นำมาถ่ายทอดในเชิงวิชาการอยู่เสมอโดยได้รับเชิญเป็นวิทยากร ที่ปรึกษา กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม จนสังคมยกย่องเป็นศิลปินนักวิชาการหรือปราชญ์ท้องถิ่น

การเผยแพร่ต่อสาธารณชนในต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๓๖ ร่วมแสดงมหกรรมหนังตะลุงโลก ณ ประเทศเยอรมัน เมื่อวันที่ ๔- ๑๒ ตุลาคม
พ.ศ. ๒๕๓๙ สาธิตการแกะรูปหนังตะลุง ณ ประเทศฮอลแลนด์ เมื่อวันที่ ๑๐ ๑๗กรกฎาคม
พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้รับเกียรติจากเทศบาลเมืองโตคุชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ให้ไปแสดง
หนังตะลุง เมื่อวันที่ ๑๓ ๒๑ ตุลาคม
การเผยแพร่ผลงานทางสื่อมวลชนต่าง ๆ
-
รายการรอบรู้ถิ่นไทย ตอน : หนังตะลุง ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ ช่อง ๑๑
- รายการผจญภัยไร้พรมแดน ตอน : เมืองคอนเมืองช่าง ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ ช่อง ๕

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ
ผลจากการที่นายสุชาติ ทรัพย์สิน อุทิศตนทำงานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องยาวนานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม อีกทั้งทำงานอาชีพได้อย่างมีคุณภาพ ประสบความสำเร็จทั้งด้านการแสดงหนังตะลุง และทำรูปหนังตะลุง จึงได้รับรางวัลและเกียรติคุณจากหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้
พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้รับรางวัลที่ ๑ และที่ ๓ ในการประกวดหนังใหญ่ จัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช
พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้รับรางวัลที่ ๑ และที่ ๒ ในการประกวดหนังใหญ่ จัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช
พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้รับรางวัลที่ ๑ ที่ ๓ และรางวัลชมเชย ในการประกวดหนังใหญ่ จัดโดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช
พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับรางวัลช่างฝีมือหัตถกรรมดีเด่น กระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องในวันสถาปนากระทรวงอุตสาหกรรม
พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้รับรางวัลดีเด่นในการผลิตงานสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน ประเภทสื่อชาวบ้าน จากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาช่างฝีมือ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับรางวัลธุรกิจทางวัฒนธรรมยอดเยี่ยม จากสำนักงานส่งเสริมธุรกิจแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับรางวัล ในฐานะส่งเสริมกิจกรรมเด็กและวิถีชีวิตการพัฒนาประชาธิบไตย เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพหนังตะลุงเพื่อการแสดง จากจังหวัด นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๓๙
พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับรางวัล THAILAND TOURISM AWARDS ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและโบราณสถาน จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับรางวัลศิลปินดีเด่นของภาคใต้ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

การทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม
นายสุชาติ ทรัพย์สิน เป็นศิลปินและช่างแกะรูปหนังตะลุงที่ยังคงสามารถแสดง หนังตะลุงและแกะรูปหนังตะลุงได้อย่างสม่ำเสมอ และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงวิชาการให้แก่สังคมได้อย่างชัดเจน สามารถสรุปผลงานของหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ได้ดังนี้

๑.
เป็นศิลปินนักอนุรักษ์ นายสุชาติ ทรัพย์สิน เป็นนายหนังตะลุงที่แกะรูปหนังตะลุงเองและแต่งเรื่องหนังตะลุงประพันธ์บทกลอนเพื่อใช้ในการแสดงได้ด้วยตนเอง และเป็นนายหนังตะลุงที่ อนุรักษ์รูปแบบการแสดงแบบโบราณ โดยเฉพาะการใช้เครื่องดนตรีประกอบการแสดงหนังตะลุง (เครื่องห้า) มาตลอดชีวิตการแสดงจนถึงปัจจุบัน
๒.
เป็นผู้เผยแพร่ นายสุชาติ ทรัพย์สิน เป็นนักแสดงหนังตะลุงที่ทำให้การแสดงหนังตะลุงของไทยเป็นที่รับรู้และเข้าใจสู่ระดับสากล เช่น
๒.๑ การได้รับเกียรติให้ไปแสดงหนังตะลุงที่ประเทศเยอรมัน ฮอลแลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฯลฯ
๒.๒ การจัดทำพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงและจัดทำเวทีแสดงหนังตะลุงไว้ที่บ้าน เป็นโอกาส ให้สื่อมวลชนจากต่างประเทศมาถ่ายทำประวัติชีวิตและผลงานของหนังสุชาติ วิธีการทำรูปหนังตะลุงและ การแสดงหนังตะลุงนำไปเผยแพร่ในระดับประเทศต่าง ๆ เช่น สถานีโทรทัศน์ NSK ประเทศญี่ปุ่น นายสุชาติ ทรัพย์สิน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ชาวโลกได้รู้จักหนังตะลุงของไทย
๒.๓ ที่บ้านของหนังสุชาติ ทรัพย์สิน เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับหนังตะลุงในทุกมิติ ทำให้มีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ชมการแสดงหนังตะลุงและซื้อรูปหนังไปเป็นของที่ ระลึก กิจกรรมที่บ้านทำให้ความรู้ความเข้าใจต่อศิลปะการแสดงหนังตะลุงของไทยต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างกว้างขวาง
๓. เป็นศิลปินที่บ่มเพาะและสร้างคนดูหนังตะลุง
นายสุชาติ ทรัพย์สิน เป็นศิลปิน ที่สร้างโอกาสให้กับเยาวชนและคนต่างถิ่นให้ดูหนังตะลุงเป็น ด้วยเหตุที่มีเยาวชนนักเรียนนักศึกษานักท่องเที่ยวชาวไทยที่ไปเยี่ยมชมที่บ้านหนังสุชาติ จะมีโอกาสได้ดูการแสดงหนังตะลุงทุกคน และสามารถ ดูหนังตะลุงได้ทุกเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน
๔.
เป็นช่างอนุรักษ์และผู้ผลิตรูปหนังตะลุงและรูปหนังใหญ่ โดยหนังสุชาติเป็นผู้ทำ รูปหนังให้กับนายหนังตะลุงและเป็นผู้ริเริ่มให้การทำรูปหนังตะลุง กลายเป็นของที่ระลึกของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นช่างทำรูปหนังใหญ่ งานหนังใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อ สังคมคือ การอนุรักษ์และซ่อมหนังใหญ่รวมถึงการทำหนังใหญ่ชุดใหม่ของวัดขนอน จังหวัดราชบุรี ตามโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การจัดทำโครงการอนุรักษ์และสืบสานหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
๕. เป็นศิลปินผู้สืบสานและถ่ายทอด
มีผลงานการสืบสานและการถ่ายทอดเป็นที่ประจักษ์ เช่น
๕.๑ การถ่ายทอดสู่ลูก ลูกของหนังสุชาติสามารถแกะรูปหนังตะลุงและแสดงหนังตะลุงได้ทุกคน
๕.๒ การถ่ายทอดสู่ลูกศิษย์ ได้ถ่ายทอดการแสดงหนังตะลุงกับบุคคล ๓ กลุ่มมายาวนาน คือ สอนให้ศิษย์มีอาชีพเป็นช่างทำรูปหนังตะลุง สอนให้ศิษย์มีอาชีพเป็นนายหนังตะลุง สอนเยาวชนที่สนใจต้องการมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการทำรูปหนังตะลุงและแสดงเป็นหนังตะลุง ไม่เน้นการนำไปประกอบอาชีพ สอนเยาวชนต่างชาติเพื่อการเผยแพร่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สอนครูเพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับนักเรียน
๖. เป็นศิลปินผู้เสียสละ
ได้อุทิศตน เวลาเพื่อสังคม ที่บ้านหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ทุกวันนี้ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมการแสดงหนังตะลุง การทำรูปหนังตะลุง และศึกษาพัฒนาการของหนังตะลุงจากพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง การดำเนินงานดังกล่าวมีระยะเวลายาวนานไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี เป็นอุดมการณ์ทางความคิดของหนังสุชาติและครอบครัวที่ทำขึ้นเพื่อทดแทนคุณของแผ่นดินและเป็นการลงทุนทางวัฒนธรรมให้กับสังคม ด้วยน้ำพักน้ำแรงและทุนทรัพย์ของตนเอง
๗. เป็นศิลปินต้นแบบของสังคม
เป็นแบบอย่างที่ดีของศิลปินที่มีการดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบศีลธรรมมีการต่อสู้ชีวิตจากครอบครัวที่ลำบากมาสู่ความสำเร็จในอาชีพการแสดงหนังตะลุง และช่างแกะรูปหนังตะลุง และยังเป็นศิลปินที่ยึดแนวทางในการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นายสุชาติ ทรัพย์สิน พักอยู่บ้านเลขที่ ๖ ซอยศรีธรรมโศก ๓ ถนนศรีธรรมโศก ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช รหัสไปรษณีย์ ๘๐๐๐๐ โทรศัพท์ ๐ ๗๕๓๔ ๖๓๙๔

 

ข้อมูลจาก  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ 

http://www.culture.go.th/art2549.php?&code=9

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 182046เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2008 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

เอ!!คุ้น ๆ จังเลยค่ะสถานที่ในรูปรู้สึกว่าได้ไปเยี่ยมชมมานานมากแล้วค่ะ...เป็นสิ่งที่ดีนะค่ะเพราะเป็นวัฒนธรรมภาคใต้อย่างหนึ่งที่ขึ้นชื่อเลยค่ะ...ขอบคุณนะค่ะที่นำเรื่องราวดี ๆ มาร่วมแบ่งปันค่ะ

ขอบคุณมากคะ *-*( D.i.N.@ )"+" ที่เข้ามาเยื่ยมชมสวนคุณย่า

  • สวัสดีครับมาเยี่ยมเยียนครับ
  • อืม...คุณย่าเป็นคนใต้เหรอครับ
  • ผมก็คนนคร นะครับ
  • นครสวรรค์ ...
  • สบายดีนะครับ
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท