อาศรมภูมิปัญญา: ภูมิปัญญาในการส่งเสริมการเรียนรู้ระดับปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์


ในช่วงออกไปแสวงหาการเรียนรู้ที่อาศรม นักศึกษาจะได้รับการเคี่ยวกรำ จนค้นพบตัวเองว่าสนใจ อยากรู้ อยากวิจัยเรื่องอะไร และเกิดปัญญามองเห็นหัวข้องานวิจัยที่จะเสนอเค้าโครงทำดุษฎีนิพนธ์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ ต้องการเรื่องและมุมมองที่มีความใหม่ แหวกแนว ไม่ซ้ำซาก

 

เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนเดินทางไปขอนแก่น ไปเช้า กลับค่ำ เนื่องจากถูกขอให้ไปร่วมปรึกษาหารือในการที่จะบ่มเพาะนักศึกษาปริญญาเอก ของ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค ในกลุ่มวิชาใหม่ที่(เป็นวิชาเฉพาะด้านเลือก)เพิ่งเปิดปีนี้ คือ กลุ่มการสื่อสารวิทยาศาสตร์

 

หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค นี้เขาเปิดมาหลายปี เดิมมีวิชาหลักที่เป็นวิชาเฉพาะด้านเลือก มีอยู่ ๕ กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขงและหรือภูมิภาคอื่นๆ
  • กลุ่มการเกษตรและสิ่งแวดล้อม
  • กลุ่มการศึกษาและจัดการภูมิปัญญา
  • กลุ่มสาธารณสุขชุมชน
  • กลุ่มเศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชน

 

เมื่อมีการประเมินหลักสูตร พบว่าเข้มแข็งพอที่จะขยายกลุ่มวิชาเฉพาะเลือกล่าสุดจึงได้น้องใหม่คือ

 

  • กลุ่มการสื่อสารวิทยาศาสตร์

 

 

การที่ไปประชุมที่ขอนแก่นก็เนื่องด้วย รศ.สุภาพ ณ นคร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยขอนแก่น นั้นท่านได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ ให้เป็น ประธานอาศรมภูมิปัญญา กลุ่มการสื่อสารวิทยาศาสตร์

 

การที่ผู้เขียนได้เข้าไปมีส่วนในเรื่องนี้นั้นเป็นไปอย่างธรรมะจัดสรรไม่ได้มีแผนมาก่อนเลย ผู้เขียนนั้นเคยร่วมงานกับอาจารย์ สุภาพ หลายปีมาแล้ว ตอนไปช่วยกันทำหลักสูตรปริญญาโทด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้กับมหาวิทยาลัยนเรศวร (น่าเสียดายที่ตอนนี้แผ่วและหลุดไปจากแนวคิดเดิมที่วางไว้)

 

เมื่อหลายเดือนก่อน ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ได้จัดทำหลักสูตรปริญญาเอกด้านนี้ เขาได้มีการคิดรายวิชาและวางรายละเอียดรายวิชากันไปแล้ว ทว่าอาจารย์สุภาพท่านแนะนำให้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ติดต่อขอความเห็น คำแนะนำจากผู้เขียน โดยบอกไปว่าผู้เขียนจบการศึกษาทาง การสื่อสารวิทยาศาสตร์มาโดยตรงและมีประสบการณ์ในการทำงานที่ตรงอีกด้วยเกือบยี่สิบปี เขาคงฟังดูแล้วคิดว่าเราน่าจะพอรู้อะไรดีๆอยู่บ้าง

 

 

 

เมื่อมีผู้ติดต่อมาผู้เขียนก็ยังแปลกใจว่า ในเมื่อมีการวางรายวิชา และลงรายละเอียดรายวิชาไปแล้ว ความเห็น คำแนะนำจากผู้เขียนจะเกิดประโยชน์อะไร ได้รับคำตอบว่าเขาจัดการได้หากต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพราะยังไม่ถึงขั้นสุดท้าย และเขาอยากได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับหลักสูตรใหม่นี้ ขอให้ผู้เขียนช่วยพิจารณา เพิ่มเติม แก้ไขให้ด้วยก็แล้วกัน

 

 

เมื่อบอกกันเช่นนั้น ผู้เขียนก็ขอทำงานให้เต็มที่ นึกถึงว่าหากเราต้องการผลิตบัณฑิตสาขาการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ที่มีความเข้าใจเรื่องนี้ทั้งแนวสากลนิยม ที่ทำกันเป็นกระแสหลัก และสามารถพัฒนาหาวิธีคิด วิธีการในบริบทของประเทศไทยและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคได้ เขาควรรู้อะไร และมีแนวคิดไปในทิศทางไหน เพราะปัจจุบันดูเหมือนภาครัฐและภาคอุดมศึกษา หันมาจับเรื่องการสื่อสารวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น และเรียกชื่อไปต่างๆนานา ทำกันไปต่างๆนานา ส่วนใหญ่หากไม่ผิดเพี้ยนจากศาสตร์ ซึ่งมักไปเอาของฝรั่งเขามาแบบไม่ได้เข้าใจวิธีคิดของเขา เอามาได้แต่ผิว แต่เปลือก หรือหากไม่เลียนแบบกิจกรรมและโครงการ ก็เป็นการทำด้วยแนวคิดล้าหลังแบบที่แม้แต่ฝรั่งก็กำลังวิพากษ์กันเองอยู่

 

ปรากฏว่าทาง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ รับได้กับรายวิชาและรายละเอียดวิชาที่ผู้เขียนแก้ไขวางไปให้ใหม่(เกินครึ่ง ใจกว้างจริงๆ) จึงเป็นที่มาของการไปร่วมประชุมปรึกษาหารือพบกันระหว่างประธานอาศรมภูมิปัญญา กลุ่มการสื่อสารวิทยาศาสตร์ กับอาจารย์ที่จะเป็นหลักในการช่วยกันประสิทธิประสาทวิชา รวมทั้งเชิญอาจารย์หลักและศิษย์ของ อาศรมภูมิปัญญา กลุ่มเศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชน ในฐานะที่จัดการเรียนการสอนมาก่อนหลายปีแล้ว มาช่วยให้ความรู้ว่า การจัดการการเรียนการสอนในลักษณะอาศรมภูมิปัญญานี้เป็นอย่างไร มีปัญหา อุปสรรค หรือไม่อย่างไร

 

 

ขอเล่าถึงการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ในลักษณะ อาศรมภูมิปัญญา สักนิด น่าสนใจและเป็นวิธีการคิดที่นอกกรอบระบบทั่วๆไปมาก

 

  • ในปีแรกนักศึกษาทุกคนจะเรียนวิชาที่เป็นแกนและวิชาที่สัมพันธ์กัน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ โดยเรียนเหมือนๆกันเพราะเป็นวิชาบังคับ (และมีการออกภาคสนามในพื้นที่ประเทศต่างๆในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วย จำไม่ได้ว่าในช่วงปีแรกหรือเปล่า)

 

  • ปีที่สองนักศึกษาจะเลือกกลุ่มวิชาที่ตนสนใจ ๑ กลุ่ม จาก ๖ กลุ่ม เลือกรายวิชาที่ตนเองสนใจสองถึงสามวิชา และไปแสวงหาความรู้ ร่ำเรียนที่ อาศรมภูมิปัญญา แล้วแต่ว่าปรมาจารย์หลักของอาศรมท่านจะอยู่ที่ใด ตัวอย่างเช่น กลุ่มเศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชน อาศรมภูมิปัญญานั้นอยู่ที่บ้านประธานอาศรมคือ ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพ มหาวิทยาลัยฯ ได้จัดพาหนะการเดินทาง ค่าที่พักให้แก่นักศึกษา(ประมาณเดือนละครั้ง)ให้ไปเรียนในบรรยากาศที่ไม่ใช่ห้องเรียน เพื่อให้มีความเป็นอิสระในการเรียนรู้ในบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ นอกนั้นเป็นการติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลาด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ

 

·        ในช่วงออกไปแสวงหาการเรียนรู้ที่อาศรม นักศึกษาจะได้รับการเคี่ยวกรำ จนค้นพบตัวเองว่าสนใจ อยากรู้ อยากวิจัยเรื่องอะไร และเกิดปัญญามองเห็นหัวข้องานวิจัยที่จะเสนอเค้าโครงทำดุษฎีนิพนธ์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ ต้องการงานวิจัยในเรื่องและมุมมองที่มีความใหม่ แหวกแนว ไม่ซ้ำซาก

 

  • นอกจากนี้เมื่อลาจากอาศรม นักศึกษาจะต้องเขียนหนังสือหนึ่งเล่ม เพื่อถอดบทเรียนประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับจากอาศรม เป็นสมบัติส่งต่อมอบให้รุ่นน้องที่จะเข้ามาเรียนในรุ่นต่อๆไป

 

 

  • เมื่อลาจากอาศรมกลับถิ่น ในเทอม และปี ต่อๆไป เป็นการเข้าสู่กระบวนการทำดุษฎีนิพนธ์ตามระบบมาตรฐานสากล

 

 

ขอเล่าคร่าวๆถึงวิธีการเรียนแบบใช้อาศรมภูมิปัญญาเพียงแค่นี้ก่อน

 

ครั้งหน้าจะเล่าถึงแนวคิดการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะสอดคล้อง เหมาะสมกับ หลักสูตร ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค ทีผู้เขียนเสนอไป



ความเห็น (7)

อาจารย์มาขอนแก่น เสียดายจังเลยค่ะไม่ได้พบกัน จะพาไปทานอาหารอร่อยๆของภาคอิสานค่ะ

วันหลังถ้ามาขอนแก่น..อย่าลืมบอกนะคะ

ขอบคุณคุณอุบลP อุบล จ๋วงพานิช มากค่ะที่มีไมตรีจิต ต้องได้ไปทานอาหารอร่อยของอีสานที่ขอนแก่นด้วยกันแน่ๆค่ะ ยังต้องมีธุระไปอีก ครั้งหน้าจะบอกล่วงหน้าค่ะ ดีใจจังเลย

ขอบคุณนุชมากค่ะ แนวโน้วการสื่อสารวิทยาศาสตร์ดูจะสดใสแล้วค่ะ ขออภัยพิมพ์ไทยช้ามากค่ะ

แค่นี้ก่อนนะคะ

พี่ต้ยค่ะ

ต้องกราบขอบพระคุณพี่ตุ้ย- อาจารย์สุภาพ ณ นคร ที่ให้ความเมตตา เอ็นดู และส่งเสริมนุชเสมอมาค่ะ

นุชก็พิมพ์ภาษาไทยช้ามาก กว่าจะหาแต่ละตัวเจอ เป็นพวกจิ้มดีดค่ะ พอมาเขียนบล็อกบ่อยๆก็ดีขึ้นหน่อยนึงค่ะ

หากวงการวิชาการเมืองไทยจะให้ความสำคัญแก่การสื่อสารวิทยาศาสตร์ในฐานะเป็นศาสตร์ นุชคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาประเทศมากนะคะ โดยเราใช้อย่างเข้าใจบริบทของไทยเราจริงๆ

ยินดีที่มีส่วนในกระบวนการนี้ค่ะ

สวัสดีค่ะ พี่นุช

เอเชยจังเลยค่ะ มาอ่าน blog นี้ช้าไปตั้งปีนึง

แต่ความรู้ไม่มีวันหมดอายุใช่มั้ยคะ อิอิ

เอมีส่วนเกี่ยวข้อง 3 ส่วน (พยายามโยง แหะๆ)

คือ เป็นคนสุรินทร์ ไปเรียนที่ขอนแก่น และเป็นลูกศิษย์ อ.สุภาพ ค่ะ :-)

คิดถึงขอนแก่นจังค่ะ

สวัสดีค่ะน้องเอP แม่นีโอ ไม่เชยหรอกค่ะ พี่ก็ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการเรียนการสอนของปีนี้เลยค่ะ

มาเรียนด้วยกันมั้ยล่ะคะ ^___^

สวัสดีค่ะ คนบ้านเดียวกัน อยู่อำเภอท่าเรือ พรนครศรีอยุธยาเหมือนกันเลยค่ะ

ดีใจที่เจอคนบ้านเดียวกัน ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ ตอนนี้เป็น นศ ป เอก ที่สุรินทร์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท