"ปรัชญา"...ของการทำช็อคโกแล็ต


ประเด็นที่หารือกันคือ การหาเกณฑ์เพื่อมาใช้เป็นมาตรฐานในการวัดว่า อย่างไรจึงจะเรียกว่า "พบเห็นได้บ่อย" หรือ "พบเห็นบ้าง" ควรจะต้องวัดกันอย่างไร?

คุณปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย

วันพุธที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑

ห้องประชุม ๑ ชั้น ๔

บริษัท บาแรมยู จำกัด

             วันนี้ทีมงานฯนำโดยอ.อิทธิพล ปรีติประสงค์ ได้มีโอกาสมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับผู้มีผลงานชิ้นล่าสุดคือ ช็อคโกแล็ต โดยได้เดินทางมาพูดคุยกันที่บริษัท บาแรมยู ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเพราะนอกจากจะได้เจอพี่ปรัชญาแล้ว ยังเจอน้องจีจ้า นางเอกคนเก่งของภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของพี่ปรัชอีกด้วย แต่ให้บังเอิญว่าไม่ได้ทักทายกันเนื่องจากน้องจีจ้าต้องรีบไปเข้าห้องซ้อม (ไม่รู้ว่าเตรียมไว้สำหรับเรื่องอะไรต่ออีก เป็นความลับ...)

            ประเด็นต่างๆ ที่ทีมงานได้คุยกับพี่ปรัชในวันนี้คือ เรื่องการนำเสนอระบบการจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ในแบบที่ไม่นับกันเป็นนาที แต่นับกันด้วยรายละเอียดอื่นๆ แทน (ซึ่งก็คือการวิเคราะห์ในเรื่องเพศ (S) ภาษา (L) และความรุนแรง (V))

            นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องของแนวทางการส่งเสริมภาพยนตร์เพื่อให้เข้าตามมาตรา ๒๖ (๑) ที่ว่าด้วยภาพยนตร์ที่ต้องส่งเสริมและควรสนับสนุนให้ดู ซึ่งในเรื่องนี้พี่ปรัชญาได้บอกว่า ควรเน้นไปที่เนื้อหาของหนังเป็นหลัก ไม่ควรไปเน้นที่เรื่องอื่นๆ

           และได้มีการหารือกันในเรื่องของโครงร่างกฎกระทรวงที่ว่าด้วยเรื่องการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อภาพยนตร์ ซึ่งได้คุยกันใน ๒ เรื่องใหญ่ๆ คือ เรื่องการพิจารณาจัดระดับความเหมาะสมในเรื่องเกี่ยวกับเพศ ประเด็นที่หารือกันคือ การหาเกณฑ์เพื่อมาใช้เป็นมาตรฐานในการวัดว่า อย่างไรจึงจะเรียกว่า "พบเห็นได้บ่อย" หรือ "พบเห็นบ้าง" ควรจะต้องวัดกันอย่างไร

           ซึ่งแต่เดิมทางร่างของฉบับสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์ฯเคยเสนอให้นับเป็น "นาที" แต่ทางด้านอ.อิทธิพล เสนอให้นับเป็น "ระดับความถี่" กับ "ระดับความเข้ม" ซึ่งทุกแนวทางยังคงต้องถกกันต่อไปว่า อย่างไหนจะชัดเจนกว่ากัน แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม พี่ปรัชได้เสนอว่าให้ภาควิชาชีพเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยกำหนดให้เรตกันเองก่อน (Self Regulation) ทั้งนี้จะทดลองให้เรตกันเองก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้จริง เพื่อให้คนในวงการคุ้นชินกับวิธีการดังกล่าวและสามารถควบคุมมาตรฐานงานสร้างของตนเองได้ว่า ตนอยากจะให้หนังที่กำกับจัดอยู่ในเรตไหนอย่างไร ซึ่งในที่ประชุมทุกคนต่างเห็นดีด้วย

            ในประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องตราสัญลักษณ์เกี่ยวกับเรตติ้ง พี่ปรัชญาให้ความเห็นว่า เห็นควรให้ใช้สัญลักษณ์ที่เป็นตัวเลขเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีความชัดเจนดีและเป็นที่เข้าใจกันอย่างสากล ซึ่งในต่างประเทศหลายประเทศมักใช้ตัวเลขเพียงอย่างเดียว การมีตัวอักษรกำกับในสัญลักษณ์มีประเทศที่เลือกใช้ลักษณะดังกล่าวน้อยมาก

            การพูดคุยหารือกันกับพี่ปรัชญาในวันนี้ ทีมงานฯได้นัดแนะกับพี่ปรัชญาว่า คงต้องมีการพูดคุยกันอีกรอบ ในครั้งหน้าจะเชิญผู้กำกับภาพยนตร์มาร่วมพูดคุยกันเพิ่มเติมด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และควรต้องมีภาพยนตร์ที่ลองมาใช้ดุลยพินิจพิจารณาถกเถียงกันเป็นตุ๊กตาดูก่อนด้วย เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า สิ่งใดมีความเป็นไปได้และสิ่งใดเป็นเรื่องที่ตัดสินกันลำบาก (ซึ่งหมายความว่า จะต้องกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนอีกครั้ง)

            กำหนดการที่จะพูดคุยกันอีกครั้ง ทีมงานฯคาดว่าน่าจะเป็นช่วงประมาณปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งผู้เขียนจะได้นำข่าวมาบอกเล่าสู่กันฟังอีกครั้งนะคะ

หมายเลขบันทึก: 181657เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2008 23:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพิ่งได้มาอ่าน บันทึกนี้ได้เห็นทีมวิจัยหลายคนเลยนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท