สามัคคีเภท


บ้านใดเมืองใดไร้ซึ่งความสามัคคี ไม่ประชุมปรึกษากันเป็นนิจได้แต่อิจฉาริษยา เอารัดเอาเปรียบ เอาแต่ทะเลาเบาะแว้งกัน มุ่งเอาชนะคะคานกันเป็นใหญ่ บ้านนั้นเมืองนั้นอาจจะประสพความบรรลัย

ในสมัยพุทธกาล มีแคว้นวัชชีเป็นแคว้นหนึ่งอยู่ในชมพูทวีป  เป็นแคว้นที่ปกครองโดยคณะของกษัตริย์เรียกชื่อว่ากษัตริย์ลิจฉวี แคว้นวัชชีมีความเจริญรุ่งเรืองเพราะเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีปกครองอาณาประชาราษฎรโดยธรรม มีความสามัคคีเป็นที่ตั้งมีความเข้มแข็งจนเป็นที่ยำเกรงของแคว้นอื่นๆ ไม่มีใครกล้ามารุกราน

      ธรรมที่กษัตริย์ลิจฉวียึดถือคืออปริหานิยธรรม  คือธรรมอันเป็นเหตุแห่งความเจริญ อันได้แก่

  •  
    1. เมื่อมีกิจใดเกิดขึ้นก็ประชุมปรึกษากันในกิจนั้น
    2. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันกระทำกิจอันควรกระทำ
    3. ถือมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีอันชอบอันดีที่มีอยู่  ไม่เพิกถอนหรือดัดแปลงเสียใหม่
    4. เคารพยำเกรงผู้เป็นใหญ่ และเชื่อถือกระทำตามถ้อยคำบัญชาและคำแนะนำสั่งสอนของผู้เป็นใหญ่นั้น
    5. ไม่ประทุษร้ายข่มเหงบุตรภรรยาของกันและกัน
    6. ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นต่อเจดียสถานหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และการกระทำพลีกรรมบวงสรวงตามที่ควรกระทำ
    7. อำนวยการคุ้มครองป้องกันแก่พระอรหันต์ที่มีอยู่ในแคว้น

      ในสมัยเดียวกันนั้นมีแคว้นใหญ่อีกแคว้นหนึ่ง ชื่อแคว้นมคธเมืองหลวงคือนครราชคฤห์มีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นกษัตริย์นักรบที่เรืองอำนาจ วันหนึ่งพระองค์ทรงปรารภกับวัสสการพราหมณ์ถึงการขยายอาณาเขตเข้าไปให้ถึงแคว้นวัชชี

      วัสสการพราหมณ์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถฉลาดปราดเปรื่องรอบรู้ด้วยศิลปวิทยาทั้งหลาย ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อทราบคำปรารภจึงกราบทูลทัดทานว่ากษัตริย์ลิจฉวีมีความสามัคคีสูงยากที่จะทำลายได้ หากจะยึดครองให้ได้ต้องมีกลอุบาย  แล้ววัสสการก็กราบทูลกลอุบายแก่พระเจ้าอชาตศัตรู

      วันหนึ่งเมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูออกว่าราชการท่ามกลางหมู่เสนาอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่พระองค์ได้ตรัสว่าจะยกทัพไปตีแคว้นวัชชี  วัสสการก็เริ่มดำเนินตามกลอุบายโดยกราบทูลทัดทานว่ากษัตริย์ลิจฉวีมีความกล้าหาญ ไม่มีใครจะทำลายได้  การยกทัพไปปราบแคว้นวัชชี จะทำให้แคว้นมคธมีแต่ความพ่ายแพ้อับอายขายหน้าไปทั่วโลก

      พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงฟังก็แสร้งพิโรธเป็นอันมาก จะให้ประหารชีวิตวัสสการ พราหมณ์  แต่ก็เห็นแก่ความดีที่เคยทำไว้จึงยอมลดโทษที่ดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  เพียงให้ลงพระอาญาเฆี่ยนตีอย่างแสนสาหัส  แล้วโกนหัวประจาน  และเนรเทศไปเสียจากแคว้นมคธ

      วัสสการพราหมณ์ เมื่อถูกเนรเทศก็เดินทางรอนแรมไปจนถึงนครเวสาลีของแคว้นวัชชี ความทราบถึงพระกรรณบรรดากษัตริย์ลิจฉวีก็ได้มีการประชุมสภาเพื่อปรึกษาหารือกัน ว่าควรจะขับไล่ไปหรือจะเลี้ยงดูเอาไว้  กษัตริย์ลิจฉวีให้นำวัสสการ พราหมณ์มาเข้าเฝ้า ตรวจดูร่องรอยการถูกลงโทษเฆี่ยนดีและซักถาม ก็หลงเชื่อถ้อยคำของวัสสการที่ประชุมจึงมีมติให้เลี้ยงดูไว้ และให้ทำหน้าที่เป็นครูฝึกสอนศิลปวิทยาแก่ราชกุมารของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี

      วัสสการตั้งใจทำหน้าที่จนเป็นที่ไว้วางใจของกษัตริย์ลิจฉวี แล้วจึงเริ่มแผนการตามอุบายที่กำหนดไว้  คือการทำลายความสามัคคีของบรรดาเหล่ากษัตริย์ ด้วยการทำให้ระแวงสงสัยกันและกัน เริ่มด้วยการให้ราชกุมารบางองค์มาพบเป็นส่วนตัวแล้วแกล้งถามปัญหาธรรมดาๆ ที่รู้กันอยู่ เมื่อองค์อื่นรู้ซักถามว่าสนทนาอะไรกับวัสสการบ้าง  แม้ราชกุมารจะตอบความจริงก็ไม่มีผู้ใดเชื่อว่าเป็นความจริง ทำให้เกิดความระแวงสงสัย และในที่สุดก็เกิดความร้าวฉานในหมู่ราชกุมาร  แล้วก็ลามไปถึงบรรดากษัตริย์ลิจฉวีผู้เป็นพระบิดา ทำให้ความสามัคคีเสื่อมทรามลงจนกระทั่งไม่ยอมเข้าร่วมประชุมสภา  แม้ได้ยินเสียงกลองก็ไม่สนใจเข้าประชุม

      เมื่อวัสสการสังเกตเห็นว่ากษัตริย์ลิจฉวีเกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน  ก็ลอบส่งข่าวถึงพระเจ้าอชาตศัตรูให้รีบยกทัพมาตีแคว้นวัชชี  พระเจ้าอชาตศัตรูเข้ายึดนครเวสาลีได้โดยง่าย  เพราะบรรดากษัตริย์ลิจฉวีเกี่ยงงอนกันไม่มีผู้ใดสนใจออกสู้รบ

      บ้านใดเมืองใดไร้ซึ่งความสามัคคี ไม่ประชุมปรึกษากันเป็นนิจได้แต่อิจฉาริษยา เอารัดเอาเปรียบ เอาแต่ทะเลาเบาะแว้งกัน  มุ่งเอาชนะคะคานกันเป็นใหญ่  บ้านนั้นเมืองนั้นอาจจะประสพความบรรลัยได้ไม่ว่าจะมีการปกครองที่เรียกว่าแบบประชาธิปไตยอย่างในปัจจุบันหรือเป็นการปกครองแบบราชาประชาธิปไตยในแคว้นวัชชีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีนั่นแล

 

 

หมายเลขบันทึก: 180814เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2008 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท