สภาองค์กรชุมชนบ้านจำรุง จ.ระยอง


สภาองค์กรชุมชน บ้านจำรุง

 

                บ้านจำรุง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 7 ต.เนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง เป็นชุมชนเกษตรกรรมทำสวนผลไม้ และปลูกยางกันมาก ชุมชนมีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอยู่ที่ การฟื้นทรัพยากร คน ดิน น้ำ ป่า โดยทุกเรื่องสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ทั้งหมด 24 กลุ่ม/องค์กรชุมชนมีเป้าหมายเดียวกัน ไม่ว่ากลุ่มนั้นๆ จะเริ่มต้น ดำเนินกิจกรรมอะไรกับคนกลุ่มใดในชุมชน แต่ก็จะมีการขยายแนวคิด ขยายกิจกรรมเพื่อมุ่งตอบสนองเป้าหมายนี้ นอกเหนือจากการคิด และทำกันเองในหมู่บ้านแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงเครือข่ายในตำบลอีกด้วย โดยมีบ้านจำรุง เป็นพี่เลี้ยง

 

การฟื้นคน สร้างกลุ่มให้มีชีวิต

                การพัฒนาทางความคิดให้กับแกนนำ และคนในชุมชน ต้องการที่จะเห็นคนบ้านจำรุงกลับมามีความคิดแบบพึ่งตนเอง ยึดหลักความพอเพียง ไม่เห็นแก่ตัว ช่วยเหลือแบ่งปันกันแบบเดิมที่เคยเป็นมา แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องกลับไปใช้วิถีชีวิตแบบเดิมเช่นในอดีตทั้งหมด เน้นที่ฐานคิดของคนเป็นสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันสภาพวิถีชีวิตของคนในชุมชนต่างตนต่างอยู่มากขึ้น กลัวว่าจะเกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปแบบนั้น จึงกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มกัน

 

            กลุ่มที่เข้มแข็ง ดูได้ง่ายๆ จาก

                1. การมีกิจกรรมทำร่วมกันอย่างต่อเนื่อง กลุ่มมีชีวิต เคลื่อนไปได้เอง ถึงไม่มีพี่เลี้ยง กลุ่มเขาก็ทำไปได้ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุทำกิจกรรมของเขาเอง กลุ่มวิทยุชุมชนก็มีการออกอากาศเสียงตามสายทุกวัน กลุ่มออมทรัพย์ก็มีการออมต่อเนื่อง

                2. การทำกิจกรรมเรื่องหนึ่งแล้วขยายไปสู่อีกเรื่องหนึ่งได้ โดยมีแกนนำ กลุ่มคนเล็กๆ จากกลุ่มใหญ่ที่แตกตัวมาทำกิจกรรมใหม่ๆ เช่น กลุ่มผู้ใช้นำมีคนสนใจ 4-5 คน ทำธนาคารขยะชุมชน ต่อมาไม่นานก็เพิ่มสมาชิกเป็น 100 กว่าคน

                3. มีกติกาน้อย แต่สามารถควบคุมดูแลกันได้ตามจารีตการอยู่ร่วมกันของชุมชน ใช้คุณธรรม จริยธรรมกำกับ บ้านจำรุงจึงไม่มีระเบียบของกลุ่ม มีแต่แนวคิดปฏิบัติ ทำอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติวิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น สมาชิกที่เก็บขยะคิดว่า ถึงไม่มีใครทำ แต่ฉันทำทุกวัน ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อส่วนร่วมที่อยู่ในชีวิตประจำวัน

 

            แกนนำเข้มแข็ง พวกหัวไว ใจสู้

                แกนนำจำเป็นจะต้องมีความแข็งแรงทางความคิด มีใจคิดทำเพื่อส่วนร่วม เสียสละประโยชน์ส่วนตน เป็นพวกกล้าคิด กล้าทำ เริ่มจากความถนัด ความสนใจทำเรื่องใกล้ตัว

                แล้วก็ก็จะเกิดการขยายกลุ่มใหญ่ขึ้นมาเอง มีคนมาร่วมทำเพิ่มขึ้น แกนนำจำเป็นจะต้องมีเป็นคนที่สื่อสารดี ประสานส่งต่อข้อความข่าวสารถึงกันได้ตลอด หากทั้ง 9 หมู่บ้านมีแกนนำพวกหัวไว ใจสู้ สัก 10 คน รวม 90 คน คนทั้งตำบลก็สามารถจะพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ปัจจุบันแกนนำแต่ละคนมีใจ และระดับความสามารถ ความพร้อมในการทำงานไม่เท่ากัน จึงอยู่ที่การบริหารทีมของตำบลให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

                ปัจจุบันการบอกว่า อบต.เข้มแข็ง ไม่ได้หมายความ สมาชิก อบต. ทุกหมู่บ้านจะเข้มแข็ง และ ตำบลเข้มแข็ง ก็ไม่ได้หมายว่า ทุกหมู่บ้านจะเข้มแข็ง แต่สิ่งที่สำคัญคือ การสร้างเครือข่ายให้คน กลุ่ม ชุมชนที่เข้มแข็งสามารถหนุนช่วยกลุ่มที่อ่อนแออยู่ได้ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติจริง

 

เวทีสภาองค์กรชุมชน

                เหตุที่กล่าวถึงแกนนำ และกลุ่มนี้ จะนำมาสู่ สภาองค์กรชุมชนบ้านจำรุง พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มในชุมชน หรือจะเรียกว่า เวทีประชุมประจำเดือน ที่ทุกกลุ่มจะเข้ามารายงานสถานการณ์ความคืบหน้าว่ามีการดำเนินงานในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทำเรื่องอะไรไปถึงไหน อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นการติดตามหนุนเสริมกัน นอกจากนี้ในแต่ละครั้งจะหยิบยกนำประเด็นปัญหาของชุมชนมาวิเคราะห์ พร้อมหาทางแก้ไขร่วมกัน ชาวบ้านทุกคนจะรับทราบข่าวสารการประชุม หากในวันประชุมมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเขาก็จะมาเข้าร่วมประชุม หากมีกรณีพิพาทขัดแย้งกันในชุมชน สภาก็จะเชิญทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาเจรจาตกลงร่วมกันในเวทีกลางนี้ โดยเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้นำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงของตนเอง ที่ผ่านมาก็มีการขัดแย้งกันทางความคิดเกิดขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ชุมชนเกิดความแตกแยก ทุกคนจะยอมรับข้อตกลงร่วมกัน เนื่องจากรากฐานความสัมพันธ์ของชุมชนเป็นเครือญาติ เป็นเพื่อนพ้องน้องพี่กัน

 

องค์ประกอบของสภาองค์กรชุมชน

                สภาองค์กรชุมชนบ้านจำรุงมาจาก 24 กลุ่ม/องค์กรชุมชน ที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีกลุ่มหลักๆ ที่ดำเนินกิจกรรมมายาวนาน และขยายผลสมาชิก กิจกรรมให้เติบโตขึ้น เพื่อตอบสนองปัญหาและความต้องการของชุมชน ดังนี้

                กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เป็นกลุ่มแรกที่เกิดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่เกษตรเข้ามาส่งเสริม มีสมาชิกแม่บ้านรุ่นเก่า จนถึงปัจจุบัน (อายุ 40-70 ปี) 20 คน มาทำกิจกรรมร่วมกันแรกๆ ทำการปลูกถั่ว ทำทุเรียนทอด เพราะมีทุเรียนมาก โดยไปศึกษาดูงานที่ จ.จันทบุรี และกลับมาทำเป็นแห่งแรกๆ ของ จ.ระยอง เมื่อก่อนรวมกลุ่มกันทำทุเรียนทอด บางฤดูกาลผลไม้ ถึงช่วงไม่มีทุเรียน ก็ไม่ได้มาทำร่วมกันตลอด ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นต่างคนต่างทำต่างขายเอง บางบ้านก็ยังทำขายอยู่ ส่วนบางบ้านก็ไม่ได้ทำแล้ว ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้าน ได้หันมาทำน้ำยาล้างจานแชมพู จากข้อมูลบัญชีครัวเรือนจะเห็นรายจ่ายของพวกนี้ จึงเห็นว่าเราสามารถทำใช้เองได้เช่นกัน และขายด้วย เงินกำไรที่ได้ จะนำเข้ากองทุนกลุ่ม มีเงินหมุนเวียนประมาณ 150,000 บาท สมาชิกจะได้ทั้งผลิตภัณฑ์ไปใช้ และสามารถได้กู้เงินคนละไม่เกิน 10,000 บาท คิดดอกเบี้ยปีละ 1 บาท ทางกลุ่มจะต้องรับผิดชอบบริหารจัดการตนเองให้ได้ เพราะเงินกู้นี้จะเอาไปทำอะไรก็ได้ แต่สิ้นปีต้องใช้คืน ซึ่งไม่มีใครทำผิดกฎระเบียบ ใช้คืนกันทุกคน หากไม่เช่นนั้นจะถูกเพื่อนบ้านประณาม เพราะเป็นเครือญาติกัน รู้จักกันหมดทุกคน

                กลุ่มสตรีอาสาหมู่บ้าน แตกยอดมาจากกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งกรมพัฒนาชุมชนให้การสนับสนุน จัดตั้งกลุ่มมาได้ 10 ปีแล้ว (ปี 2537) มีสมาชิก 76 คน รวมกลุ่มกันทำกะปิ น้ำปลา เป็นอาชีพเสริม โดยอาชีพหลักทำสวน ทำยาง ก็ยังทำอยู่เป็นรายได้หลัก วัตถุดิบในการผลิตจำพวกเคย ปลาเล็กปลาน้อย มีทั้งจากคนในชุมชนไปหามา และซื้อจากบ้านถนนกระเพา อยู่ชายฝั่งทะเล อย่างฤดูกาลที่มีเคย ชาวบ้านก็จะออกประมงไปหาไปมา ทำแปรรูปอาหาร กะปินั้นทำอยู่บ้าง แต่น้ำปลาทำตลอด กิจกรรมนี้ยังได้ไปเชื่อมโยงกับกลุ่มสตรีอาสา ระดับตำบล ที่ทำเหมือนกัน แต่เป็นธุรกิจที่ใหญ่กว่าเป็น หนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงไปลงหุ้น และรับจ้างทำที่ตำบลมากกว่า ทางกลุ่มในหมู่บ้านจึงมีทุนน้อย ประมาณ 20,000 บาท ชาวบ้านต้องทำกันเองทุกกรรมวิธี แต่ก็ขายดี ขายทั้งใน และนอกชุมชน ไม่ต้องไปหาตลาด ก็มีคนมาซื้อหมด ชาวบ้านจำรุง จึงได้กินน้ำปลา น้ำหนึ่ง (หัวน้ำปลา) ที่มีคุณภาพดีจากชุมชนเอง

                ร้านค้าชุมชน เป็นกลุ่มก่อตั้งขึ้น ในปี 2529-2530 เนื่องจากสาธารณสุขมีโครงการกองทุนยาสนับสนุนหมู่บ้านต่างๆ ทางชุมชนจึงเข้าร่วมทำด้วย โดยมีคุณหมอบานเย็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหมู่บ้านประสานให้ เพื่อนำงบประมาณมาทำกิจกรรมพัฒนาชุมชน ไม่ต้องไปเรี่ยไรกันแต่ละครั้งอย่างที่เคยทำมา เกิดเป็นกองทุนยา และกองทุนร้านค้าไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์สาธารณสุขมูลฐานอีกด้วย ช่วงเริ่มต้นชาวบ้านได้ไปศึกษาดูงาน และเตรียมคนให้พร้อม มีการประชุมลงมติร่วมกันที่จะทำร้านค้าชุมชน โดยไปกู้ยืมจากโครงการนี้มา 30,000 บาท และสมาชิกลงหุ้นคนละ 50 บาท มาลุงทุนค้าขาย ที่ตั้งร้านค้าเดิม มีชาวบ้านบริจาคพื้นที่ให้ แต่เมื่อย้ายแล้วก็ให้ตัวอาคารกับเจ้าของที่ดินไป ช่วงปีแรกสมาชิกจะผลัดเปลี่ยนเวรกันขาย แต่วิธีการนี้ไม่ดี มีคนมาทำบ้างไม่มาบ้าง คุมบัญชี และสินค้าไม่ได้ จึงเปลี่ยนมาเป็นจ้างคนขายตลอด เพื่อสะดวกในการบริหารจัดการ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 3,800 บาท ซึ่งปัจจุบันจะปรับมาเป็น 4,500 บาท ส่วนคณะกรรมการสหกรณ์ร้านค้า จะเปลี่ยนทุกปี ส่วนใหญ่จะได้คณะกรรมการคนเดิมมาทำงานต่อ เพราะมีความน่าเชื่อถือ โปร่งใส ไว้ใจได้

                ร้านค้าชุมชน เป็นกิจกรรมที่เติบโตขึ้น มีผลกำไรให้สมาชิก และชุมชน ต่อมาจึงขยายร้านค้ามาอยู่ที่ใหม่ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก SIF ที่แห่งนี้จึงเป็นทั้งร้านค้า และศูนย์รวมที่ทำการของกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน ทั้งศูนย์วิทยุชุมชน ชมรมผู้สูงอายุ ชมรมเปตอง ฯลฯ จากร้านค้าชุมชน จึงเปลี่ยนเป็น กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน ขึ้น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนได้มากขึ้น โดยผลกำไรร้านค้า จะแบ่งเป็น 30% เข้างบพัฒนากองทุนหมู่บ้าน และอีก 70% นำมาปันผลให้สมาชิกที่ถือหุ้น รวมเงินเฉลี่ยคืนสมาชิก 1% ร้านค้าชุมชน จึงถือเป็นพี่เลี้ยงของกลุ่มต่างๆ เช่น วิทยุชุมชน ไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ เพราะใช้ที่ร่วมกัน เป็นการประหยัดต้นทุนการผลิตได้มาก

                กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน เป็นแหล่งทุนของชุมชน ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร ก็ต้องใช้เงินทุนนี้ ซึ่งมุ่งเน้นการนำเงินไปสร้างสาธารณะประโยชน์อย่างเดียว เช่น ซ่อมถนน ซ่อมไฟฟ้า ทำเสียงตามสาย จัดงานประเพณี ฯลฯ เหลือเงินทุนประมาณ 20,000 บาท

                ชมรมอินทรโชติ เป็นที่รวมกลุ่ม แกนนำรุ่นใหม่ คนทกิจกรรมสาธารณะประโยชน์เหตุที่ใช้ชื่อนี้ เพราะลูกหลานในชุมชนทุกวัน ต่างเป็นศิษย์โรงเรียนบ้านจำรุง (หรือ อินทรโชติ) สมาชิกชมรมส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นพ่อรุ่นแม่ เริ่มแรกมีสมาชิก 20 คน จนถึงปัจจุบันเป็น 100 กว่าคน โดยแต่ละครอบครัวจะส่งตัวแทนมาเข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรม มีการทำงานแบ่งเป็น 5 กลุ่มย่อย มีการออมเงินร่วมกัน รวมแล้ว 40,000 กว่าบาท เพื่อนำไปใช้ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น งานบุญ งานประจำปี อย่างเวลามีงานศพ ซึ่งเป็นเครือญาติกันอยู่แล้ว ก็จะแบ่งกลุ่มกันไปช่วยงานตามแต่ละวัน มีเวรกลุ่มรับผิดชอบ ทำด้วยใจอาสา ช่วยทั้งเงิน ช่วยทั้งแรง ซึ่งสมาชิกความสามารถที่หลากหลาย มีทั้งคนที่เป็นช่างไฟ คนทำอาหาร คนทำงานประดิษฐ์ ตกแต่ง ดอกไม้จัดงาน ฯลฯ ซึ่งจะเห็นว่า บ้านจำรุง มี สวัสดิการชุมชนด้านแรงงาน เป็นพลังสำคัญในการทำงานต่างๆ

                จากการหากิจกรรมมาทำร่วมกัน เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน ในประเพณีสงกรานต์ กีฬาเปตอง เป็นกิจกรรมสำคัญที่ทำให้คนทุกรุ่นมารวมตัวรวมใจกัน เป็นทั้งคนเล่น คนเชียร์สนามเปตอง จึงเป็นพบปะพูดคุยกัน จนเกิดเป็น ชมรมเปตอง ขึ้น ที่มีการหมุนเวียนไปแข่งขันกับหมู่บ้านต่างๆ ในหลายจังหวัด ภาคตะวันออก จน บ้านจำรุง ได้รับรางวัล และมีชื่อเสียงระดับชาติ เข้าร่วมเป็นสมาชิกอยู่ในสหพันธ์กีฬาเปตองแห่งประเทศไทย ทำให้มีกิจกรรมการแข่งขันไปเชื่อมสัมพันธ์กับคนจากที่ต่างๆ มากมาย ชุมชนจึงได้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอยู่เสมอ นอกจากนี้ทางโรงเรียนก็ได้บรรจุกีฬาเปตอง ซึ่งถือเป็นกีฬาท้องถิ่น เข้าไปในหลักสูตรการศึกษา โดยให้แกนนำชมรม ไปสอนวิชานี้ให้ลูกหลานในชุมชนเอง

                กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งกลุ่มกิจกรรมที่ต่อยอดมาจาก ร้านค้าชุมชน ในช่วงที่ได้งบประมาณจาก SIF มีการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุขึ้นปัจจุบันมีสมาชิก 84 คน ช่วงอายุ 50-60 ปี ขึ้นไป บางกิจกรรมที่ทำเช่น ข้าวซ้อมมือ ต้องใช้ทั้งแรงงาน และกำลังคนด้วย หากมีแต่กำลังกายทางหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านไม่ชอบใช้เครื่องออกำลังกายที่สาธารณสุขจัดมาให้ แต่ถ้าทำข้าวซ้อมมือมาก สมาชิกคนสูงอายุ จะเหนื่อยมาก จึงทำกิจกรรมกันแต่พอดี ให้สุขภาพแข็งแรง ได้พบปะพูดคุย มีกิจกรรมทำร่วมกัน และมีรายได้ด้วย เพราะหากอยู่บ้านคนเดียวก็เหงา มารวมกลุ่มกันดีกว่า การผลิตเครื่องสีข้าว ได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรพบุรุษเคยทำกัน มาประยุกต์ทำใหม่ใช้เอง ข้าวที่ได้มา จะให้สมาชิกไว้กินและขาย ซึ่งทางร้านค้าก็ช่วยขายให้ ขายดี เพราะของดี มีไม่มาก

                ต่อมาได้ทำ กิจกรรมห้องอบสมุนไพร ที่นอกเหนือจากผู้สูงอายุจะใช้บริการแล้ว ชาวบ้านทั้งในและนอกชุมชน ยังสามารถใช้บริการได้ ครั้งละ 10 บาท แต่ถ้าเป็นสมาชิกเสีย 100 บาทต่อเดือน ใช้บริการกี่ครั้งก็ได้ จะเปิดทุกวันตอนเย็น แต่ช่วงหลังๆ ไม่ได้เปิดทุกวันตามสภาพการณ์ มีคนทำยาหม้อสมุนไพร ไปหาวัตถุดิบจากในหมู่บ้านเป็นหลัก เช่น มะกรูด ขมิ้น ใบมะขาม ส้มป่อย ฯลฯ

                กลุ่มผู้ใช้น้ำ เป็นกลุ่มที่พัฒนาชุมชนอำเภอเข้ามาสนับสนุนให้เอาปุ๋ยมาขาย เงินที่ได้มาให้เอาไปบริหารจัดการกันในกลุ่ม มีประมาณ 60,000 บาท นำเงินนี้ไปให้สมาชิกกู้ และทางกลุ่มนำไปใช้คืนหน่วยงานตอนสิ้นปี ดอกเบี้ยจากกากรปล่อยกู้นี้  จะเอมาพัฒนาแหล่งน้ำ แต่ปัจจุบันชุมชนไม่ได้มีปัญหาแหล่งน้ำมากนัก เพราะมีอ่างเก็บน้ำ อยู่ทางตอนบนของหมู่บ้านเพียงแต่ต้องดูแลรักษาให้ใช้ราชการได้ดี ทางกลุ่มจะพบปัญหาว่า สมาชิกมักไปกู้เงินนอกระบบมาใช้คืนกลุ่มตอนสิ้นปี จึงพัฒนามาทำกลุ่มออมทรัพย์ร่วมกัน ในปี 2537 สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำต้องเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ด้วย ปัจจุบันมีสมาชิก 89 คน ฝากเงินอย่างน้อย 20 บาทต่อเดือน มีเงินหมุนเวียนแสนกว่าบาท ให้สมาชิกกู้อย่างเป็นระบบขึ้น ทางกลุ่มจะส่งเสริมทุกกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ และนำกำไรมาเข้ากลุ่มบริหารจัดการต่อ กลุ่มนี้จึงเปรียบเป็นกลุ่มสร้างอาชีพและรายได้ที่ชาวบ้านเลือกทำกันเองตามความชอบความถนัด

                กองทุนเงินล้าน เป็นกองทุนใหญ่ที่รัฐนำลงมาให้ชุมชน ซึ่งจากระบบการออมทรัพย์และการกู้ยืมของชาวบ้าน ชุมชนจะบริหารจัดการไปสู่ การจัดสวัสดิการชีวิต ในอนาคต เช่น เงินชดเชยรายได้ ค่ารักษาพยาบาล ทุนสงเคราะห์ต่างๆ ฯลฯ ให้กับชาวบ้าน ที่ผ่านมาได้มีสวัสดิการชุมชนเกิดขึ้นมาก แต่เป็นประโยชน์ร่วมกันของชุมชน ทางชุมชนจะต้องขยายสวัสดิการให้ครอบคลุมชีวิตชาวบ้านโดยตรง เพื่อเป็นหลักประกันในชีวิต ที่ผ่านมา กำไรจากกองทุนได้แบ่งเป็นเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากในชุมชน แต่ก็เป็นเงินที่ไม่มากนัก คนที่เดือดร้อนจริง จะมีญาติพี่น้องช่วยเหลือ อีกทางชุมชนจะประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือต่อไป

                สำหรับสวัสดิการด้านสุขภาพ ชุมชนมีสาธารณสุขหมู่บ้าน และ อสม. เป็นหลักในการดูแลซึ่งกันและกัน ตรวจสุขภาพอยู่เสมอ และ อสม. ก็มีระบบสวัสดิการฌาปนกิจศพร่วมกัน หากมีสมาชิกเสียชีวิต อาสาสมัครจะถูกเก็บคนละ 100 บาทต่อ 1 ศพ ส่วนหากเป็นญาติสายตรงเสียชีวิต จะเก็บคนละ 50 บาท

                ในอนาคตชาวบ้านตั้งใจว่า จะสร้างเม็ดเงินของตนเอง และคืนเงินให้กับรัฐ เพราะโครงการนี้มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการมาก ทั้งระบบเอกสารบัญชี และชาวบ้านไม่สามาถนำเงินไปทำอย่างอื่นในรูปแบบต่างๆ

หมายเลขบันทึก: 180679เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2008 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
อยากทราบเกี่ยวกับธนาคารขยะและธนาคารชุมชนบ้านจำรุง

อยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคารขยะและธนาคารชุมชนในบ้านจำรุงมากๆเลยจ้ารบกวนนำรายละเอียดลงในเว็บไซต์ด้วยนะคะจักขอบพระคุณอย่างสูง

อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายอย่างละเอียดมากๆเลยค่ะ ไปดูงานที่นั่นมาแล้วได้มานิดหน่อยไม่คิดว่าตนเองจะได้เรียนรายวิชาที่เกี่ยวข้องขนาดนี้เสียดาย และต้องทำรายงานเป็นงานวิจัยอีกด้วย อยากไปอีกรอบเฮ้อออออออออออออ จะเป็นกรุณายิ่งนักหากช่วยส่งผ่านอีเมล์ ขอบพระคุณอย่างสูง

การบริจัดการธนาคาร ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเรื่องการบริหารเงินหรือขยะ ใช้หลักการเดียวกัน ต่างกันเพียงว่า เราทำแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการเป็นเจ้าของร่วม ผลประโยชน์ที่ได้ตกกับสาธารณะมากกว่าตัวบุคคล

งานเครือข่าย เป็นหลักที่ยกระดับจากตัวบุคลมาเป็นกลุ่มกิจกรรม แล้วเรา(กลุ่ม)พบกันทุกเดือนเพื่อปรับทุกข์ปันสุข ที่เรียกว่าเวทีเชื่อมประสานเครือข่าย ปัจจุบันมีพรบ.สภาองค์กรชุมชน รองรับการทำงาน ที่เรียกว่าเวทีสภาองค์กรชุมชนตำบล........ นั่นเอง ใกล้ ๆ บ้านคุณอาจจะมีก็ได้ ลองสอบถามดู

อยากได้เบอร์โทรติดต่อค่ะ อยากคุยเรื่องชุมชนต้นแบบ ว่าเป็นอย่างไร

อยากขอเข้าไปถ่ายทำรายการค่ะ

มาจากรายการ โมเดิร์นวาไรตี้ค่ะ

ตอนนี้บ้านจำรุงมีเว็บไซต์แล้วนะครับ
มีเรื่องราวดีๆ มากมายทั้งเรื่องเล่าชุมชน ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยชีวิต คลิปวีดีโอชุมชนต่างๆ
http://sites.google.com/site/banjumrung

สวัสดีครับคุณชาติชาย วันนี้คณะทำงานชาติหลายท่านที่เห็นจำได้ ก็มีท่านจินดา ท่านไพรชุมพล และท่านกำนันสุรินทร์ ลงพื้นที่ดูงานสภาองค์กรชุมชนที่ ตำบลลอสินธ์ จังหวัดพัมลุง และที่ตำบลควนรูจังหวัดสงขลา ไม่ทราบท่าอยู่ในคณะด้วยหรืไม่ครับ

ชาติชาย เหลืองเจริญ

เรียนท่านผู้เฒ่า ผมอยู่ในคณะกรรมการด้วย ไปเยี่ยมเยียนเรียนรู้ที่ สินแพรทอง และได้เคารพวีรบุกรุษ สตรี ถังแดง ได้ความรู้มาแยะมา มาควนรูเห็นงานหลายอย่างที่น่าจะนำไปใช้ได้ในพื้นของตัวเอง งานเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง มีลักษณะคล้ายกับสินแพรทองเป็นอย่างมาก ขอบคุณกับการเดินทางครั้งนี้ ชาติชาย เหลืองเจริญ

ดีจังเลย อยากกลับบ้านไปทำแบบนี้บ้าง แต่สมาชิกยังรวมตัวกันไม่ได้เลย ต่างคนต่างอยู่

ชัยพัชร์ ทิพย์โยธิน

กลับจากระยองมีคำถามมากมายทั้งสาระและไร้สาระ ผมตอบเพียงกระบวนการสร้างคนแบบบ้านจำรุง ผู้บริหารคิดวิธีข้าราชการมีหน้าที่ทำ การสร้างงานอยู่ที่ศรัทธาใช้เวลามากกว่า4ปี การมีส่วนร่วมของชุมชนสำคัญ ที่สุดการนำนโยบายไปปฏิบัติ การวิเคราะห์นโยบายเหล่านี้ล้วนเป็นอุดมการณ์ที่กำลังขับเคลื่่อน

ขอ mail บ้านจำรุง และเบอร์โทรด้วยครับ

สุดยอดเลยบ้ารจำรุง ผมไปมาแล้วค้นหาในwww.บ้านจำรง.org

มีโปรแกรมไปดูงานบ้านจำรุง แต่ไม่ทราบว่าจะติดต่อกับใคร ช่วยแนะนำด้วยค่ะ

 

น่าเสียดายคนบ้านจำรุงขาดความสามัคคี ถ้ามีความสามัคคีกันทั้งหมู่บ้านน่าจะเจริญมากกว่านี้

ลองไปเถอะคุณจะประทับใจ นำความรู้มาประยุกต์ใช้กับชุมชนที่อยู่แล้งสังคมที่บ้านคุณ ชุมชนของคุณจะน่าอยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท