ตอนที่55 เรื่องของดินดาน


ดินที่ผ่านการไถพรวน เพื่อการปลูกพืชไร่ มาเป็นระยะเวลานาน ทำให้โครงสร้างของดินเลวลง ธาตุอาหาร ในดินลดลง และ ทำให้เกิดดินดานขึ้น

เป็นโอกาสดีของผู้เขียนที่สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท อยู่ใกล้กับศูนย์ส่งเสริมวิศวกรรมเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท  หมู่ที่ 4 ต.เขาท่าพระ อ.เมือง จ.ชัยนาท จึงเป็นผลดีที่จะได้หาความรู้เพิ่มเติมหลังจาก ล้าหรือเกิดความจำเจกับข้อมูล และเรื่องราวเก่าๆ จึงไปหาความรู้เพิ่มเติมกับอาจารย์ประสิทธิ์  โพธิ์ยี่ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมวิศวกรรมเกษตรที่ 1 (ที่เรียกว่าอาจารย์เพราะผู้เขียนไปหาความรู้จาก ผอ.ประสิทธิ์ เป็นประจำ) พร้อมทั้งประสานขอความร่วมมือ  แบ่งปันงานสนับสนุนเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดชัยนาท  คือได้รับการให้บริการระเบิดดินดานในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังจำนวน 23 ไร่ ในพื้นที่ตำบลไพรนกยูง  อำเภอหันคา เพราะสภาพดินเสื่อมโทรม  มันสำปะหลังจะตายหลังจากฝนทิ้งช่วงไม่นาน และผลผลิตจะต่ำมาก

เมื่อได้รับการตอบรับจากอาจารย์ประสิทธิ์  โพธิ์ยี่  ในการให้บริการระเบิดดินดาน(ไม่รู้ไปแบ่งงบประมาณมาจากไหน ไม่ถามกลัวเปลี่ยนใจ) โดยวางเงื่อนไขการมีส่วนร่วมของเกษตรกรสมทบจำนวน 300 บาท/ไร่  เมื่อประสานงานกับพี่สมบุญ  เมฆอินทร์   เกษตรตำบลไพรนกยูง  เวลาผ่านไปเพียง 7  ชั่วโมงก็ได้รับคำตอบเสนอเกษตรกรจำนวน 3 ราย คือ นายสมพงษ์  แย้มยิ้ม จำนวน 6 ไร่ นายมาโนช   จำนวน 7 ไร่ และนายยอด   ใจมั่น ผู้ใหญ่บ้านหมู่8 ต.ไพรนกยูง จำนวน 10 ไร่  ซึ่งจะทำการไถระเบิดดินดาน และไถตัดดินดาน  พร้อมเตรียมดินให้  เกษตรกรมีหน้าที่เพียงไถยกร่องก็ปลูกได้  ก่อนจะดำเนินการผู้เขียนได้ไปสำรวจพื้นที่กับ อ.ประสิทธิ และ ผอ.ดวงเดือน   สมวัฒนศักดิ์ ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาการผลิต  สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เขต 1 ชัยนาท  และพี่สมบุญ  เมฆอินทร์ ไปดูพื้นที่ดำเนินการจากดวามพร้อมที่จะนำเสนอเกษตรกร และความพร้อมของเกษตรกรผู้ร่วมโครงการฯ อีกทั้งการให้บริการจากผู้ใหญ่ยอดที่อำนวยความสะดวกตลอดระยะของการดำเนินงาน  สร้างความพึงพอใจให้กับผู้เกี่ยวข้องอย่างมากที่เดียว

ในการนี้ผู้เขียนได้รับความรู้จากอาจารย์ประสิทธิ์  โพธิ์ยี่  นำเรื่องของการระเบิดดินดานมาฝาก ดังนี้

ดินดาน คือ

 ดินที่ผ่านการไถพรวน เพื่อการปลูกพืชไร่ มาเป็นระยะเวลานาน ทำให้โครงสร้างของดินเลวลง ธาตุอาหาร ในดินลดลง และ ทำให้เกิดดินดานขึ้น

ดินดานเกิดจาก

1.       การไถพรวนในระดับเดียวกันนาน ๆ หลายปี ทำให้เกิดดินดานใต้รอยไถ

2.       น้ำหนักของรถแทรกเตอร์เอง ก็ทำให้ดินถูกอัดแน่นและเกิดดานขึ้น

3.       การใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าไปขนผลผลิตในแปลงปลูกพืช น้ำหนักของรถจะทำให้ดินอัดแน่นมากขึ้น และทำให้โครงสร้างของดินเสีย

ดินดานสร้างความเสียหายอย่างไร

1. เมื่อเกิดดินดาน น้ำฝนที่ตกลงมา ไม่สามารถไหลผ่านชั้นดินดานได้

2. น้ำฝนจะพัดพาเอาหน้าดินและปุ๋ยไหลทิ้งไป

3. ในช่วงฝนไม่ตก น้ำจากใต้ดินไม่สามารถเคลื่อนตัวผ่านชั้นดินดานขึ้นมาให้พืชใช้ได้

4. รากพืชไม่สามารถชอนไชผ่านชั้นดินดานเพื่อหาน้ำและอาหาร โดยเฉพาะในหน้าแล้ง

ทำไมต้องระเบิดดินดาน

ปกติแล้วพืช  จะดูดน้ำจากดินทางรากพืช  ซึ่งบริเวณส่วนปลายของรากพืชจะสามารถดูดน้ำได้ดี กว่าส่วนอื่น คือประมาณ 4-5 ซม.จากปลายรากขึ้นมา จะมีรากเส้นเล็ก ๆ เรียกว่ารากขนอ่อน ทำหน้าที่ดูดอาหาร ดูดน้ำ และยึดลำต้นให้ติดแน่น รากขนอ่อนเหล่านี้  จะแทรกไปตามช่องระหว่างเม็ดดิน และดูดน้ำที่เกาะอยู่รอบ ๆ เม็ดดินหรือในช่องว่างระหว่างเม็ดดิน เนื่องจากรากพืชต้องการออกซิเจนสำหรับหายใจด้วย ซึ่งถ้าเกิดสภาพดินดานรากพืชจะไม่ขยายตัวไประดับต่ำกว่าน้ำใต้ดิน เพราะจะมีออกซิเจนและแร่ธาตุที่  เป็นประโยชน์ต่อพืชอยู่น้อย

ดังนั้น ควรทำการระเบิดดินดาน เพื่อให้รากพืชสามารถหยั่งลึกลงไปหาอาหาร และน้ำในดินชั้นล่าง ได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้พืชสมบูรณ์และให้ผลผลิตดี  ส่วนหน้าดินก็ต้องพรวนหน้าดินให้ละเอียดเพื่อมิให้น้ำจากดินชั้นบนระเหยไปหมด

ประโยชน์ของการไถระเบิดดินดาน

1.       เพื่อปรับปรุงโครงสร้างดิน ทำให้ดินโปร่ง รากหยั่งได้ลึก

2.       ลดความแน่น แข็ง ของดิน

3.       เก็บสะสมน้ำไว้ใช้เมื่อฝนแล้ง

4.       ป้องกันน้ำขัง

เครื่องมือระเบิดดินดาน

ไถระเบิดดินดานโดยทั่วไปมีชื่อเทคนิคว่า SOILER หรือ RIPPER มี 2 แบบ คือ

1. แบบสั่นสะเทือน

2. แบบไม่สั่นสะเทือน

    ไถระเบิดดินดานที่ดีต้องมีลักษณะ ดังนี้

ในขณะไถ ปลายขาที่อยู่ในดินจะยกดินขึ้นและต้องทำให้ดินแตกตัวและฟูขึ้น หน้าดินต้องไม่ถูกรบกวน และดินชั้นล่างจะต้องไม่ม้วนตัวขึ้นมาปนกับหน้าดิน

²  สามารถทำลายชั้นดินดานตั้งแต่ 20-60 ซม.

²  ภายหลังการไถ เนื้อดินจะแตกร่วน ชั้นดินที่ถูก อัดแน่น (Compaction Soil) จะถูกทำลายโดยไม่นำเอาดินดานชั้นล่าง (Sub Soil) ขึ้นมาปนกับดินชั้นบน    (Top Soil)

²  ส่วนหน้าของขาไถ จะต้องบางที่สุดเพื่อลดแรงฉุดลาก

²  มุมของขาไถจะต้องไม่ม้วนเอาดินส่วนล่างขึ้นมา

²  ไถจะต้องกินดินดีในทุกสภาพพื้นที่เพาะปลูก

²  เล็บที่ปลายขาต้องช่วยทะลุทะลวงชั้นดินดานที่แข็ง และไถผ่านไป เนื้อดินก็จะถูกยกขึ้นมาให้ร่วนซุย ดินจะแตกแยกซ้าย/ขวา จากขาไถและจากระบบสั่นสะเทือนของไถ

เครื่องมือระเบิดดินดาน

เราจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเตรียมดินที่เรียกว่า  ไถระเบิดดินดาน หรือ ไถตัดดินดาน มาทำลายชั้นดินดาน เมื่อชั้นดินดานถูกทำลาย น้ำฝนสามารถซึมลงใต้ดิน เก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และให้ความชุ่มชื่นแก่ดิน ดินจะฟูขึ้น ทำให้มีช่องทางเดินของน้ำและอากาศ เมื่อไม่มีชั้นดินดานรากพืชจึงสามารถชอนไชลงไปในดินได้ลึก สามารถดูดน้ำจากใต้ดินดี และช่วยให้ต้นพืชไม่เหี่ยวเฉา ในหน้าแล้ง

 

หลังจากใช้ไถระเบิดดินดาน

ทำลายชั้นดินดาน น้ำจากใต้ดินจะเคลื่อนตัวสู่ผิวดินได้สะดวก ทำให้ดินมีความชุ่มชื้นตลอด เมื่อฝนทิ้งช่วงพืชจะไม่ตาย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ . . .

² สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท หมู่ที่ 2  ต.เขาท่าพระ อ.เมือง จ.ชัยนาท โทรศัพท์ 0-5642-1512

² ศูนย์ส่งเสริมวิศวกรรมเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท หมู่ที่ 4 ต.เขาท่าพระ อ.เมือง จ.ชัยนาท โทรศัพท์ 0-5647-6596

²กองส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โทรศัพท์ 0-2940-6178 ,0-2940-6185

หมายเลขบันทึก: 180582เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2008 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท