inter law
วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บทที่ 8 กฎหมายระหว่างประเทศ

อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ข้อ 11-20


อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล

ข้อ 11

สัญญาบัตรตราตั้งทางกงสุลหรือการแจ้งการแต่งตั้ง

 

            1. ในการแต่งตั้งแต่ละครั้ง รัฐผู้ส่งจะมอบเอกสารในรูปสัญญาบัตรตราตั้งหรือสารที่คล้ายกันให้แก่หัวหน้าสถานทำการทางกงสุล ซึ่งรับรองตำแหน่งฐานะของหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลและโดยหลักทั่วไปจะระบุชื่อเต็ม ประเภท

และชั้นของหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล เขตกงสุล และที่ตั้งของสถานทำการทางกงสุล

            2. รัฐผู้ส่งจะส่งสัญญาบัตรตราตั้งหรือสารที่คล้ายกันโดยผ่านวิถีทางการฑูตหรือทางอื่นที่เหมาะสมไปยังรัฐบาลแห่งรัฐซึ่งหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลจะปฏิบัติหน้าที่ในอาณาเขตของรัฐนั้น

            3. หากรัฐผู้รับเห็นชอบ รัฐผู้ส่งอาจส่งหนังสือแจ้งไปยังรัฐผู้รับซึ่งมีข้อความดังที่กำหนดไว้ในวรรค 1 ของข้อนี้ แทนสัญญาบัตรตราตั้งหรือสารที่คล้ายกันได้

 

ข้อ 12

อนุมัติบัตร

 

           1. หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลจะได้รับการยอมรับให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ได้โดยการอนุมัติจากรัฐผู้รับ ซึ่งเรียกว่าอนุมัติบัตร การอนุมัตินี้ไม่ว่าจะเป็นในรูปใดก็ตาม

            2. รัฐซึ่งปฏิเสธที่จะให้อนุมัติบัตร ไม่มีพันธะที่จะให้เหตุผลในการปฏิเสธเช่นว่านั้นแก่รัฐผู้ส่ง

            3. ภายใต้บังคับของบทบัญญัติของข้อ 13 และ 15 หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลจะไม่เข้ารับหน้าที่จนกว่าจะได้รับอนุมัติบัตรแล้ว

 

ข้อ 13

การยอมรับหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลเป็นการชั่วคราว

 

            ในระหว่างที่รออนุมัติบัตร หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลอาจได้รับการยอมรับให้เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว ในกรณีนั้น บทบัญญัติของอนุสัญญานี้จะใช้บังคับ

 

ข้อ 14

การแจ้งเจ้าหน้าที่ในเขตกงสุล

 

            ในทันทีที่หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลได้รับการยอมรับให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ แม้เป็นการชั่วคราว รัฐผู้รับจะแจ้ง

เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในเขตกงสุลทันทีรัฐผู้รับจะทำให้แน่ใจด้วยว่ามีมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลสามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ได้ และได้รับประโยชน์ของบทบัญญัติของอนุสัญญานี้

 

ข้อ 15

การปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล

 

            1. ถ้าหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลว่างลง ผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการอาจกระทำการในฐานะหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลเป็นการชั่วคราว

            2. คณะผู้แทนทางทูตของรัฐผู้ส่ง หรือหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลถ้ารัฐนั้นไม่มีคณะผู้แทนเช่นว่านั้นในรัฐผู้รับ หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจใดของรัฐผู้ส่งถ้าหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลไม่สามารถกระทำได้ จะแจ้งชื่อเต็มของผู้รักษาการหัวหน้าสถานทำการไปยังกระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับหรือไปยังเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทรวงนั้นกำหนด โดยหลักการ

ทั่วไป การแจ้งนี้จะต้องกระทำล่วงหน้า รัฐผู้รับอาจยอมรับบุคคลซึ่งมิใช่ทั้งตัวแทนทางฑูตหรือเจ้าพนักงานกงสุลให้เป็น

ผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความยินยอมของรัฐผู้รับ

            3. เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้รับจะให้ความช่วยเหลือและความคุ้มครองแก่ผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการ ในขณะที่ผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการรักษาการหัวหน้าสถานทำการอยู่นั้น บทบัญญัติของอนุสัญญานี้จะใช้กับบุคคลผู้นั้นบนพื้นฐานเดียวกันกับหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลที่เกี่ยวข้องอย่างไรก็ดี รัฐผู้รับไม่มีพันธะที่จะให้แก่ผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการซึ่งความสะดวก เอกสิทธิ หรือความคุ้มกันใดที่หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลได้อุปโภคภายใต้เงื่อนไขต่าง  ซึ่งผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการนั้นมีไม่ครบถ้วน

            4. ในกรณีที่อ้างถึงในวรรค 1 ของข้อนี้ เมื่อสมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่ทางฑูตของคณะผู้แทนทางฑูตของรัฐผู้ส่งในรัฐผู้รับได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐผู้ส่งให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการบุคคลผู้นั้นจะคงได้อุปโภคเอกสิทธิ

และความคุ้มกันทางฑูตต่อไป ถ้ารัฐผู้รับไม่คัดค้าน

 

ข้อ 16

อาวุโสระหว่างหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล

 

            1. หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลจะมีลำดับในแต่ละชั้นตามวันของการให้อนุมัติบัตร

            2. อย่างไรก็ตาม ถ้าหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลได้รับการยอมรับให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวก่อนได้รับอนุมัติบัตร อาวุโสของหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลนั้นจะกำหนดตามวันของการยอมรับชั่วคราวนั้น อาวุธนี้จะคงไว้หลังจากการให้อนุมัติบัตร

            3. ลำดับอาวุโสระหว่างหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลสองคนหรือมากกว่า ซึ่งได้รับอนุมัติบัตรหรือการยอมรับ

ชั่วคราวในวันเดียวกัน จะกำหนดตามวันที่ยื่นสัญญาบัตรตราตั้ง หรือสารที่คล้ายกันหรือการแจ้งที่อ้างถึงในวรรค 3 ของ

ข้อ 11 ต่อรัฐผู้รับ

            4. ผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการจะมีลำดับอยู่หลังหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลทั้งปวง และในระหว่างกันเองแล้ว ผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการจะมีลำดับตามวันที่เข้ารับหน้าที่ในฐานะผู้รักษาการใน

ตำแหน่งหัวหน้าสถานทำการดังที่ได้ระบุไว้ในการแจ้งซึ่งกระทำตามวรรค 2 ของข้อ 15

            5. เจ้าพนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลจะมีลำดับในแต่ละชั้นหลังหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลอาชีพ ตามลำดับและตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในวรรคก่อน

            6. หัวหน้าสถานทำการทางกงสุลจะมีอาวุโสสูงกว่าเจ้าพนักงานกงสุลซึ่งไม่มีสถานะนั้น

 

ข้อ 17

การปฏิบัติหน้าที่ทางฑูตโดยเจ้าพนักงานกงสุล

 

            1. ในรัฐที่รัฐผู้ส่งไม่มีคณะผู้แทนทางฑูต และไม่มีคณะผู้แทนทางฑูตของรัฐที่สามเป็นผู้แทนอยู่ เจ้าพนักงานกงสุลอาจได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ทางฑูตได้ด้วยความยินยอมของรัฐผู้รับ และไม่กระทบกระเทือนต่อสถานะทางกงสุล  ของบุคคลนั้น การปฏิบัติหน้าที่เช่นว่านั้นโดยเจ้าพนักงานกงสุลจะไม่เป็นการให้สิทธิใดแก่เจ้าพนักงานกงสุลนั้นที่จะเรียกร้องเอกสิทธิและความคุ้มกันทางฑูต

            2. หลังจากที่ได้แจ้งรัฐผู้รับแล้ว เจ้าพนักงานกงสุลอาจกระทำการเป็นผู้แทนของรัฐผู้ส่งในองค์การระหว่างรัฐบาลใดก็ได้ เมื่อกระทำการเช่นนั้นบุคคลดังกล่าวจะมีสิทธิที่จะได้อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันใดที่ได้ประสาทให้แก่ผู้แทนเช่นว่าโดยกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ หรือโดยความตกลงระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลใดโดยบุคคลนั้น บุคคลนั้นจะไม่มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มกันจากเขตอำนาจเกินกว่าความคุ้มกันซึ่งเจ้าพนักงานกงสุลมีสิทธิที่จะได้รับตามอนุสัญญานี้

 

ข้อ 18

การแต่งตั้งบุคคลคนเดียวกันเป็นเจ้าพนักงานกงสุลโดยรัฐสองรัฐหรือมากกว่า

 

            โดยความยินยอมของรัฐผู้รับ รัฐสองรัฐหรือมากกว่าอาจแต่งตั้งบุคคลคนเดียวกันเป็นเจ้าพนักงานกงสุลในรัฐนั้นได้

 

ข้อ 19

การแต่งตั้งสมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่กงสุล

 

            1. ภายใต้บังคับของบทบัญญัติของข้อ 20 22 และ 23 รับผู้ส่งอาจแต่งตั้งสมาชิกในคณะเจ้าหน้าที่กงสุลได้โดยเสรี

            2. รัฐผู้ส่งจะแจ้งชื่อเต็ม ประเภทและชั้นของเจ้าพนักงานกงสุลทั้งปวง นอกจากหัวหน้าสถานทำการทางกงสุลไปยังรัฐผู้รัฐ โดยให้มีเวลาเพียงพอที่จะให้รัฐผู้รับใช้สิทธิตามวรรค 3 ของข้อ 23 ได้ถ้ารัฐผู้รับประสงค์เช่นนั้น

            3. หากกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้ส่งกำหนดไว้ รัฐผู้ส่งอาจขอให้รัฐผู้รับให้อนุมัติบัตรแก่เจ้าพนักงานกงสุล นอกเหนือจากหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล

            4. หากกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับกำหนดไว้ รัฐผู้รับอาจให้อนุมัติบัตรแก่เจ้าพนักงานกงสุล นอกเหนือจากหัวหน้าสถานทำการทางกงสุล

ข้อ 20

ขนาดของคณะเจ้าหน้าที่กงสุล

 

            เมื่อไม่มีความตกลงอย่างชัดแจ้งในเรื่องขนาดของคณะเจ้าหน้าที่กงสุลรัฐผู้รับอาจกำหนดให้รักษาขนาดของคณะเจ้าหน้าที่ไว้ภายในขอบเขตที่พิจารณาเห็นว่าสมเหตุผลและปกติ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์และสภาวะในเขตกงสุลและความจำเป็นของสถานทำการทางกงสุลแห่งนั้นโดยเฉพาะ

หมายเลขบันทึก: 179514เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2008 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท