วิพากษ์ : “สื่ออีเลกทรอนิกส์” = มุ่งจัดการความรู้ จริงหรือ?


เราคิดว่าเหรียญมีเพียงสองด้านแต่เราละเลยด้านขอบของเหรียญไปเราจึงมองเหรียญได้ไม่สมบูรณ์แบบ

ครูอาจารย์ก็เหมือนเรือรับจ้าง ครูคอยสร้างความรู้ให้ศิษย์นี้ เราก็เหมือนคนโดยสารที่ดี ๆ ขอให้ครูคนนี้มีความสุขตลอดการ ในสุดท้ายนี้ขอให้อาจารย์มีความสุขและเจริญมาก ๆ ด้วยครับ ในท้ายที่สุดยิ่งกว่านี้ขอให้อาจารย์จำประสบการณ์ที่ดีนี้ไว้ไปจนนานที่สุด...ด.ช.อภิวัฒน์

ผมก็ไม่มีอะไรมากเพราะผมเป็นคนพูดไม่เก่ง ตั้งแต่อาจารย์เข้ามาสอนพวกผมรู้สึกอบอุ่นมากจึงพูดความในใจออกมา รัก... และ... เคา... รพ... อย่าง... มาก..ด.ช.วีรพล

ผมขอให้อาจารย์เรียนจบสูง ๆ  ขอให้อาจารย์มีความสุข ขอบอกว่าอาจารย์เป็นคนดี สอนเก่ง ผมมีความรู้สึกว่าอาจารย์ชอบบอกข้อสอบ เป็นคนยิ้มแยมมีความสุข สุดท้ายนี้ ผมขอให้อาจารย์ประสบความสำเร็จในการงานและหน้าที่เดินทางไปไหนมาไหนขอให้เดินทางโดยสวัสดิ-ภาพ...ลาก่อน.. Thank you…ด.ช.ณรรคพล

อยากจะบอกความในใจว่า ผมอยากให้อาจารย์คนนี้ที่ชื่อคล้าย ๆ กับพี่ของผม ผมจะบอกแล้วนะว่าผมอยากให้อาจารย์มาบันจุที่นี่ท่าเป็นไปได้จะให้อาจารย์ มีแต่ความสุข และท่าอาจารย์แต่งงานแล้วขอให้มีลูกมากมาย เต็มบ้านไม่พอให้เต็มโลกไปเลยนะครับอาจารย์รักและเคารพมาก จากเด็กชายอดุลย์

“Thank you ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะที่ช่วยตีพวกหนูให้เจ็บ! จะรู้สึก Love อาจารย์อีก 2 นาทีและ2 ปีตลอดไป พระคุณที่สาม งดงามแจ่มใส แต่ว่าใครหนอใครเปรียบเปรยครูไว้ว่าเป็นเรือจ้างอะไรไม่ดี ขออภัย ด.ญ.วิภาวรรณ

ผมด.ช.อารยะ..ก่อนที่คุณครูจะจากพวกเราไปนั้นพวกเราคิดถึงคุณครูสอนเรามาจนถึงทุกวันนี้ ต่อไปพวกเราทกคนจะเป็นคนดีของพ่อแม่และครูบาร์อาจารย์ทุกคนและจะไม่ยุงกับเสพติดทุกประเภท ฯลฯ ขอจบเพียงเท่านี้

 ประโยคเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกระดาษหลายๆ แผ่นซึ่งถูกเขียนขึ้นเมื่อร่วมสิบปีก่อนหน้านี้โดยผู้ที่เขียนทั้งหมดเป็นเด็กนักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชน์บางเขนที่เขียนให้ตามความรู้สึกที่อยากจะเขียนในวันสุดท้ายที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสอนอยู่ในโรงเรียนแห่งนั้น และกระดาษเหล่านั้นแทบจะไม่ได้รับความสนใจด้วยการหยิบมาอ่านอีกเลยหลังจากที่อ่านครั้งแรก ๆ เมื่อเกือบสิบปีก่อนจนกระทั่งการเก็บรื้อเอกสารเก่าๆ ในตู้ซึ่งพบถุงพลาสติกเก่าๆ ที่ข้างในมีอะไรบางอย่างถูกห่อหุ้มด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ เมื่อแกะออกดูจึงพบว่าเป็นใบกระดาษที่ลูกศิษย์เคยเขียนให้ พอหยิบมาอ่าน แทบจะจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าลูกศิษย์แต่ละคนหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง แต่พอยิ่งอ่านกลับไปกลับมาความทรงจำเริ่มรื้อฟื้น อ่านไปพร้อมกับความรู้สึกร่วมของตัวหนังสือที่ดูเหมือนไก่เขี่ย เขียนผิด ๆ ถูก ๆ ไม่ตรงตามหลักภาษาไทย ตามแบบฉบับของ เด็กหลังห้อง แต่ดูแล้วเป็นภาษาที่มีชีวิตชีวา แสดงความเป็นตัวตนของเด็กน้อยเหล่านั้นแม้แต่คนที่ไม่ตั้งใจเรียน พูดมากแกล้งเพื่อน ขี้เกียจทำการบ้านหรือบางคนไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียนเลยแต่เมื่อเขามีพื้นที่ในการได้แสดงออกซึ่งอิสระทางความคิด ทางการเขียน เขากลับกลั่นกรองอารมณ์ที่มีอยู่ ณ ขณะนั้นออกมาได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ  เมื่อได้ลองนั่งคิดทบทวนดูจากเด็กชั้น ม.2 ณ เวลานั้นมาถึงตอนนี้คงจะเป็นวัยรุ่นเต็มที่และกำลังก้าวเข้าสู่วัยทำงาน เพราะส่วนใหญ่น่าจะอายุราว 21 22 ปีกำลังจบปริญญาตรี เมื่อคิดได้ได้ก็ลองไล่กดโทรศัพท์ไปตามเบอร์ที่เด็ก ๆ เขียนไว้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเบอร์บ้านที่ขึ้นต้นด้วย 02...เพราะสมัยก่อนยังไม่มีโทรศัพท์มือถือหรืออินเตอร์เน็ตที่ถูกใช้กันเกลื่อนเหมือนในปัจจุบัน แต่เมื่อโทรติดต่อไปตามเบอร์ที่มีอยู่ ส่วนใหญ่ไม่มีชื่อของผู้รับตามที่มีอยู่ นั่นคงเป็นเพราะเด็กส่วนหนึ่งย้ายตามผู้ปกครองมาจากต่างจังหวัดเพื่อทำงานพอเรียนจบบางทีก็ย้ายที่อยู่และย้ายกลับบ้าน หลายหมายเลขถูกยกเลิกการใช้ไปแต่ก็ยังพอมีที่ติดต่อได้บ้างเช่น  ตู่ เด็กที่ไม่ค่อยตั้งใจเรียนในวิชาพระพุทธศาสนา แถมพูดมากในห้อง ตอนนี้บวชเรียนอยู่ เปรียว สาวน้อยเสียงแจ้ว ตอนนี้เรียนบริหารฯปีสุดท้ายสถาบันราชภัฏพระนคร ออย เด็กเรียนผู้ไม่เคยทิ้งเพื่อน กำลังเรียนนิติศาสตร์ ม.รามคำแหงปีสุดท้าย ผีเด็กชายตัวเล็กที่รักการเป็นหญิงมานานจนขนาดที่ตัวเองยังจำไม่ได้ ตอนนี้โกอินเตอร์โบยบินตามหาฝันที่พัทยา ส่วน ต้น เด็กหลังห้องอีกคนโทรศัพท์กลับมาและได้คุยนานที่สุดหลังจากที่ แม่ของต้น เป็นผู้รับโทรศัพท์และจดเบอร์ไว้เพื่อให้ ต้นโทรกลับ ต้นเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่จบม.3 ก็เรียนต่อ ปวช.และ ปวส.ปัจจุบันกำลังเรียนต่อชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ตอนนี้ทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับบริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง ภาพของต้นวันนี้ไม่ใช่เด็กชายที่ไม่ค่อยตั้งใจเรียน เขียนหนังสือผิด ๆ ถูก ๆ อีกต่อไปหากแต่มีวุฒิภาวะที่สูงขึ้น ตามวัยและประสบการณ์ที่ได้รับ ต้นบอกว่าหลังจากที่แม่เอาโน้ตให้ก็รีบโทรศัพท์กลับมา ต้นเล่าว่ายังจำได้ดีในสมัยเป็นนักเรียน ม.ต้น เพราะเคยถูกตีมือ เพราะไม่ทำการบ้าน เคยยืนบนเก้าอี้ เคยตะโกนกลางสนามเพราะคุยในห้องเรียน เคยต้องเดินเก็บจานให้เพื่อนในโรงอาหารเพราะตัวเองไม่เก็บจาน ฯลฯ สิ่งที่เปลี่ยนไปเขาไม่ใช่เด็กที่ซุกซนตามประสาและตามวัยอีกต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้แม้จะเป็นการคุยกันผ่านโทรศัพท์นั่นคือ ความรู้สึก และความ ผูกพันทางจิตวิญญาณ ที่ยังมีอยู่ถึงแม้จะไม่ได้เจอและคุยกันร่วม 10 ปี การสนทนากับ ต้น ซึ่งทำงานด้านเทคโนโลยีและใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทั้งการค้นหาข้อมูล การหาเพื่อน การดูหนังฟังเพลง ฯลฯ ทำให้เราเห็นความสำคัญและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นคงจะเป็นการปล่อยชีวิตให้ไหลเหลิงไปกับคลื่นเทคโนโลยีที่ทำให้เราสะดวกสบายขึ้นจนละเลย จิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ เนื่องจากสังคมเราใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแถมยังเป็นส่วนที่สำคัญมากไปแล้วเสียอีก หลายคนหลายองค์กรนิยมใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดการความรู้ (รวมทั้ง Gotoknow.com ก็เช่นกัน) ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและยังประโยชน์ดังที่เราท่านได้ทราบกันจนหลายคนนิยมที่จะสร้างเครือข่ายใหม่ สร้างเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ ไม่ว่าจะการสร้างบล๊อคหรือแพลนเนตร่วมกันของสถาบันเดียวกันหรือในวิชาเรียนซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สามารถปรับให้เข้ากับยุคสมัย แต่เหรียญมีสองด้านฉันใด(จริง ๆ แล้วมีสามด้านคือด้านขอบด้วย) ในทางตรงข้ามการใช้เทคโนโลยีในการจัดการความรู้ก็ย่อมมีจุดบอดเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เพราะเหตุใดคนถึงได้ไปมุ่งประโคมยกย่องสรรเสริญให้เห็นเฉพาะข้อดีละเลยอีกมิติด้านหนึ่งไปอย่างน่าใจหาย กล่าวคือ

1.   การมุ่งสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้บนสื่ออีเลกทรอนิกส์มีความสะดวกสามารถเสนอข้อมูลได้ในวงกว้างแต่ทำให้สูญเสียกระบวนการทางปัญญาโดยเฉพาะทักษะการเขียนที่ด้อยลง ภาษาวิบัติมากขึ้น ในระดับบุคคล มีการใช้คำผิดความหมาย เขียนคำที่ถูกต้องไม่ได้ ภาษาไทยกลายเป็นภาษาที่เรียนยากกว่าภาษาอังกฤษ เป็นต้น

2.   แม้หลายคนจะสื่อสารผ่านตัวอักษรที่กลั่นกรองจากสมอง จากความคิดและจิตวิญญาณ สู่สาธารณะแต่ก็มีอีกหลายคนที่นิยมใช้ความสะดวกสบายและฐานข้อมูลที่มีอยู่ซึ่งง่ายกว่าการมานั่งคิดวิเคราะห์สังเคราะห์เองด้วยการ Cut- Pate เพื่อสื่อสารข้อมูลสู่สาธารณะนอกจากไม่เป็นการสร้างสรรค์ทางปัญญาแล้วยังเป็นกระบวนการที่ ตัดตอนการตกผลึกทางปัญญา เกิดงานเชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณภาพ ตอกย้ำภาพของการหลงติดกับระบบ มูลค่ามากกว่าระบบ คุณค่า  จึงไม่แปลกที่เราจะพบเห็นข้อคิดข้อเขียนของคนที่เป็นครูบาอาจารย์หลายๆ คน ซึ่งถ่ายทอดได้ดีในเชิงวิชาการ แต่ดูเหมือนจืดชืดขาดความมีชีวิตชีวา ดูกระด้าง ๆ เหมือนข้อมูลที่ผลิตออกจากเครื่องจักรอย่างใดอย่างนั้น

3.   การใช้พื้นที่บนสื่ออีเลกทรอนิกส์เพื่อความสะดวกสบายเป็นกับดักที่ทำให้คนสูญเสียความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เนื่องจากคนขาดการมีปฏิสัมพันธ์กันเฉพาะหน้า โดยเฉพาะคนที่ต้องมีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ เช่น ครูกับลูกศิษย์ เพื่อนร่วมงานในองค์กรเดียวกัน ที่ควรจะต้องมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เข้มข้นมากกว่าการส่งงานหรือการเข้า Comment ตรวจงานในบล๊อค

4.   ในกระบวนการสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ที่สูญเสียไปทำให้คนเหินห่างกันไม่ทราบถึงความคืบหน้า การเปลี่ยนแปลงซึ่งกันและกัน เนื่องจากเจอแต่ตัวตนของกันและกันบนโลกไซ-เบอร์ แม้แต่ตัวอักษรที่สื่อผ่านการพิมพ์ ยังถ่ายทอดความรู้สึก ได้น้อยกว่าการเขียนและการพบปะกันซึ่งหน้าเพราะ นอกจากที่จะได้เห็นงานแล้วยังได้เห็นคน ได้เห็นอากัปกริยา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในระดับที่สูงขึ้น

5.   คุณค่าในความเป็นมนุษย์อันเกิดจากการฝึกตนให้เกิดหัวใจนักปราชญ์ คือสุ จิ ปุ ลิ หรือแม้แต่การสร้างกระบวนการทางปัญญาตามแนวทางที่ ศ.นพ.ประเวศ  ะสี  นักคิดคนสำคัญของเมืองไทยได้ให้แนวทางไว้ เมื่อการฝึกตนให้เกิดกระบวนการทางปัญญามีน้อยลงย่อมส่งผลให้จิตวิญญาณอ่อนล้าลงเนื่องจากต้องปรับตัวให้เข้ากับกรอบเข้ากับระเบียบของเครื่องจักรที่ถูกจัดการโดยมนุษย์ ซึ่งเครื่องจักรเหล่านั้นไม่สามารถจัดการตัวมันเองได้

6.   เรากำลังถูกทำให้เชื่อ จากกลไกการตลาดโดยไม่รู้ตัวทำให้เรายกย่องและเทิดทูนคุณค่าของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนฐานคิดจากการพึ่งตนเองไปสู่การพึ่งพิงและพึ่งพาเทคโนโลยีที่ไม่มีความสามารถในการจัดการตัวมันเอง แต่เทคโนโลยีถูกจัดระเบียบโดยมนุษย์ ซึ่งเป็นกรอบการก้าวพ้นเส้นแบ่งของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อันเกิดจากการพัฒนาจากภายในของตัวมนุษย์เอง

7.   มนุษย์ผู้เป็นผู้สร้างเครื่องจักร เทคโนโลยี ต้องปรับตัวเองให้เขากับเครื่องจักร เช่น ต้องมาทันเวลาตอกบัตร ต้องสแกนลายนิ้วมือ ซึ่งเครื่องจักรเป็นสิ่งที่ไม่มีอารมณ์แต่อารมณ์ความรู้สึกขึ้นอยู่กับสภาวะของการรับรู้และตอบสนองโดยมนุษย์ เราติดต่อสื่อสารกันผ่านอีเมล์กันมากขึ้นแต่ทำไม จดหมายที่ส่งผ่านเครื่องมือเหล่านี้ดูช่างไร้คุณค่าเหลือเกิน เมื่อเวลาผ่านไป หรือเมื่ออ่านแล้วเราก็ลบทิ้งทั้งที่เครื่องจักรเหล่านี้ไม่ได้มาเปล่า ๆ ต้องแลกด้วยเงิน ยิ่งเทคโนโลยีใหม่ ๆ ต้องยิ่งจ่ายสูงขึ้น แต่ความสัมพันธ์ต่อเพื่อนมนุษย์เป็นสิ่งที่ต้องแลกมาจากการปฏิบัติ

8.   เรามีองค์ความรู้ที่เกิดจากการสังเคราะห์และถ่ายทอดประสบการณ์จากกลุ่มคนในหลายมุมมอง เรามีคลังเก็บความรู้ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่แน่ใจว่าเราจะมีผู้อ่านหรือการนำเอาไปใช้จริงได้มากน้อยเพียงใด เพราะกลายเป็นว่าต่างคนต่างมุ่งเขียนในสิ่งที่ตนเองต้องการจะสื่อสาร แต่แทบจะไม่ได้เป็นผู้รักการอ่านเป็นนักอ่านที่ดี ซึ่งยังเป็นลักษณะด้อยของคนไทยที่ยังแก้กันไม่ได้ ซึ่งหากจะเปรียบไปก็เหมือนกับร่างกายเราที่ธรรมชาติสร้างให้เรามีสองหู สองตา สอง(รู)จมูก แต่เรามีปากเดียว หู ตา จมูก เป็นอวัยวะที่จะทำให้เรารับรู้สิ่งภายนอก แต่ปากเป็นอวัยวะที่ใช้สื่อสารจากตัวเราสื่อภายนอก ธรรมชาติสร้างให้เราพูดน้อยกว่าฟังเป็นทุนเดิม แต่เรายังเห็นภาพของการเข้าไปตอบกระทู้หรือบันทึกเกือบทั้งหมดเป็นลักษณะของการสร้างเครือข่ายเพื่อให้ผู้อื่นได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมในบันทึกที่ตนเองเขียน ภาพที่อยากเห็นโดยเฉพาะการเป็นผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยการวิพากษ์จากมุมมองของแต่ละคนจึงยังไม่เกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นไปในรูปของการคล้อยตามทางความคิดต่อเจ้าของกระทู้หรือเจ้าของบันทึกเสียมากกว่า

 

หลักใหญ่ใจความจึงอยู่ที่คำถามว่า เรามุ่งจัดการตน จัดการคน จัดการสังคมด้วยเทคโนโลยี หรือเรากำลังถูกเทคโนโลยีในการจัดการให้นำไปสู่ความเป็นมนุษย์ไซบอร์ค ?



ความเห็น (1)

อาจารย์ยังจำได้เก่งจิงๆๆๆ

หุหุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท