หมอบ้านนอกไปนอก(65): นโยบายสุขภาพ


การบริหารงานในองค์กรสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการบริหารความรู้สึกของคนในองค์กร ความรู้สึกเป็นเรื่องของจิตใจ ถ้าเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมขึ้น ส่งผลต่อจิตใจของคนทั้งองค์กรทำให้ขาดขวัญกำลังใจ ความสามัคคีและลดทอนความุม่งมั่นทุ่มเทในการทำงานลงได้ ผลงานโดยรวมขององค์กรจะลดลง

 สัปดาห์สุดท้ายของการเรียนวิชาเลือก (สัปดาห์ที่ 33) ท้องฟ้าแจ่มใส แดดจ้า อากาศอุ่นขึ้นราว 15-16 องศาเซลเซียส ไม่มีฝนพรำ สว่างเร็ว กว่าจะมืดก็สามทุ่ม ผู้คนเริ่มใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นลง วิ่งออกกำลังกายกันมากขึ้น ยามเย็นร้านอาหารริมถนนเปิดบริการนอกร้านเพื่อให้ลูกค้ากินดื่มรับแดดอุ่นอย่างเต็มที่ ผมเริ่มรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก แม้ผมจะชอบเรื่องบริหารมากกว่านโยบาย แต่การเลือกนโยบายทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งที่ผมไม่เคยรู้หลายๆเรื่องก็ถือว่าคุ้มค่

วิชาเลือกนโยบายสุขภาพ (Health Policy) เป็นหลักสูตรอบรมระยะสั้นของสถาบันด้วย เปิดรับบุคคลภายนอกมาร่วมอบรม มีนักศึกษาปริญญาโท 13 คนและบุคคลภายนอก 18 คน มาจากประเทศในเอเชีย แอฟริกาและอเมริกาใต้ เนื่องจากมีทุนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ระยะเวลา 2 เดือนเต็ม มีประเมินผลโดยการสอบหลังอบรม วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับอบรมสามารถมีบทบาทและเข้าร่วมพัฒนานโยบายสุขภาพในประเทศของตนเองได้

เนื้อหาหลัก (Module) มี 6 ส่วนคือ 1) บทบาทของรัฐ (Role of State) การเงินในระบบสุขภาพ (Financing in Health System) 2) กระบวนการนโยบายสุขภาพและระบบสุขภาพแห่งชาติ (Health policy process and national health system) ที่เรียนเกี่ยวกับกระบวนการศึกษาวิจัยและเครื่องมือในการวิจัยนโยบายสุขภาพเช่นการวิเคราะห์นโยบายสุขภาพ การสัมภาษณ์เชิงเจาะลึก การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder analysis) การวิเคราะห์ปัจจัยภายในภายนอกหรือSWOT Analysisและการจัดประเด็นสำคัญทางนโยบาย (Agenda setting)

3) ผู้มีบทบาทในระบบสุขภาพนานาชาติ (Actors in international health) ที่เชิญองค์การระหว่างประเทศทั้งเอ็นจีโอ องค์การแบบMultilateral agency, Bilateral agency เช่น DFID, WB, AIDCO, WHO, AEDES, CORDAID เป็นต้น 4) นโยบายในเรื่องการควบคุมโรคและอนามัยการเจริญพันธุ์ (Policy issues in disease control and reproductive health) เรียนเกี่ยวกับระบบการเงิน ทรัพยากรมนุษย์และการสร้างความเข้มแข็งในระบบสุขภาพกับเอดส์ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการควบคุมวัณโรค มาลาเรียและการรักษาแบบที่บ้านเป็นฐาน (Home based treatment)และการทำแท้ง ที่เป็นประเด็นอ่อนไหวและแตกต่างกันมากในหลายๆประเทศ

5) การวิเคราะห์ระบบสุขภาพทั้งระบบกรณีศึกษาประเทศยูกานดา (The Ugandan health system week) เป็นการจำลองให้นักศึกษาเป็นผู้เชี่ยวชาญลงไปวิเคราะห์ระบบสุขภาพของประเทศยูกานดาทั้งระบบ มีตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน ภาคปฏิบัติ ภาคสถาบันการศึกษาและกลุ่มเอ็นจีโอจากยูกานดามานำเสนอข้อมูลร่วมกับการวิเคราะห์ค้นคว้าจากเอกสารทำการศึกษาและนำเสนอในประเด็นหลักๆ 5 เรื่องคือกำลังคนด้านสุขภาพ บทบาทของรัฐ ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน การเงินด้านสุขภาพและโครงการแนวดิ่ง (Vertical program) กับระบบสุขภาพ

นักศึกษาแต่ละคนจะได้รับมอบหมายงานให้วิเคราะห์ระบบสุขภาพของประเทศตนเองแล้วทำสไลด์นำเสนอไม่เกิน 30 แผ่น มีงานกลุ่มประเด็นสำคัญ (Thematic Assignment on specific health policy) กลุ่มละ 1 เรื่อง จัดทำเป็นสไลด์และนำเสนอ ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมจากภายนอกต้องทำโครงการทางด้านนโยบายสุขภาพคนละ 1 เรื่องส่งและนำเสนอด้วย ในแต่ละสัปดาห์มีผู้ดูแลหลักสูตร (วิมกับวาลาเรีย) มาสรุปประเด็น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันเนื่องจากมีวิทยากรมาจากหลายหน่วยงานเรียกว่าInformation sessions and Wrap-up sessions

ในเรื่องการประเมินผล สำหรับนักศึกษาอย่างพวกผมคิดเป็น 12 % ของทั้งหลักสูตร มีการประเมินผลจากการทำกิจกรรมกลุ่ม การวิเคราะห์ระบบสุขภาพของประเทศตนเอง มีการสอบข้อเขียน 2 หัวข้อคือบทบาทของรัฐและการเงินด้านสุขภาพ และมีการสอบปากเปล่าในภาพรวมทั้งระบบ

นโยบายสุขภาพ มีส่วนสำคัญต่อระบบสุขภาพของประเทศ ระบบสุขภาพมีความซับซ้อนสูงมาก การกำหนดนโยบายสุขภาพจึงเป็นเรื่องยาก เกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่ม หลากความต้องการ ต้องมีการเจรจาต่อรองอย่างมากกว่าจะออกมาเป็นนโยบายและลงสู่การปฏิบัติได้  องค์ประกอบที่สำคัญของนโยบายมี 4 อย่างคือCPAC มาจาก Context ต้องดูบริบทของประเทศทั้งในเรื่องสถานการณ์ โครงสร้าง วัฒนธรรมและการเมือง Process กระบวนการกำหนดนโยบายตั้งแต่กำหนดประเด็น สร้างนโยบาย นำนโยบายลงสู่การปฏิบัติจนถึงการประเมินนโยบาย Actors ผู้ที่มีบทบาทในเรื่องนโยบายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคม Contents เนื้อหาของนโยบายว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง

วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน 2551 เป็นวันสำหรับครอบครัว อยู่บ้านพัก ตอนบ่ายอ่านหนังสือเตรียมสอบ ตอนเย็นพาเด็กๆไปเดินเล่น ไปที่สนามเด็กเล่นริมน้ำสเกลด์

วันจันทร์ที่ 21 เมษายน 2551 เป็นวันนำเสนอผลงานกลุ่มทั้ง 5 กลุ่ม เริ่มจากบทบาทของรัฐในระบบสุขภาพ นำเสนอโดยเอ็ดวิน เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการนำเอาตัวแบบของภาครัฐมานำเสนอและมีการสรุปประเด็นวิเคราะห์ประเทศโคลอมเบีย หลังการนำเสนอมีการตอบข้อซักถามจากผู้เข้าร่วมเสวนาและอาจารย์ กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มผมนำเสนอเกี่ยวกับกำลังคนด้านสุขภาพโดยวิลเลียม กลุ่มที่สามเป็นเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพด้านการเงินของคนจน นำเสนอโดยกัดดัม กลุ่มที่สี่เป็นเรื่องโครงการเฉพาะโรค (แนวดิ่ง) กับระบบสุขภาพโดยทู้กับโคร่าและกลุ่มบทบาทภาคเอกชนในระบบสุขภาพโดยนาร์มีน

แต่ละกลุ่มมีเวลารวม 1 ชั่วโมง ให้จัดสมาชิกกลุ่มเป็นผู้ดำเนินรายการเอง มีอาจารย์ 5 คน (รวมโคชของแต่ละกลุ่ม) ร่วมฟังและประเมินโดยวิมเป็นผู้ประเมินและวิพากษ์ในภาพรวม กลุ่มผมทำสไลด์แค่ 15 นาทีเพราะบรูโนบอกว่านำเสนอแค่ 15 นาทีไม่ต้องใส่เนื้อหาเข้าไปมาก เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ วิเคราะห์ปัญหา วิเคราะห์ทางเลือกและเสนอกลยุทธ์ในการแก้ไข จึงไม่ได้นำทฤษฎีมาใส่เลย มีเพียงกรอบในการวิเคราะห์ปัญหาเท่านั้น ส่วนกลุ่มอื่นๆมีการนำทฤษฎีมาใส่ค่อนข้างเยอะนำเสนอถึง 30-35 นาที

วิมสรุปว่ากลุ่มแรกทำได้ดีมาก ส่วนกลุ่มผมโดนวิจารณ์แรงๆมาก ขนาดบอกว่าผิดหวัง วาลาเรียก็พูดทำนองเดียวกัน ขณะตอบคำถามเราให้วิลเลียมตอบก่อนเพราะเป็นเรื่องแทนซาเนีย ประเทศเขา เราโดนวิมต่อว่าว่าเป็นงานกลุ่มต้องช่วยกันตอบ ในขณะที่กลุ่มแรกก็ตอบคำถามแค่คนนำเสนอคนเดียวเหมือนกัน เราไม่ได้สรุปประเด็นทางทฤษฎีมานำเสนอเลย ทำให้ถูกมองว่าไม่ค่อยทำไร มีการวิจารณ์อีกหลายประเด็น กลุ่มที่สามก็โดนเยอะเหมือนกันแต่ไม่หนักเท่าผม ส่วนกลุ่มที่สี่และห้ามีข้อวิจารณ์พอควรแต่เป็นหลังเบรกแล้วทำให้นุ่มนวลลงไปมาก ตอนพักเบรกหลังกลุ่มผมนำเสนอ บรูโนซึ่งเป็นโคชของเราค่อนข้างเครียดมากคุยกับวิมและวาลาเรียอยู่พักใหญ่

ผมนั่งวิเคราะห์แล้วว่าหลายกลุ่มนำเสนอแต่ทฤษฎี ไม่มีทางออกสำหรับแก้ปัญหา เป็นเพียงนำเสนอข้อมูลเช่นกัน ใช้เวลานำเสนอนานมากจนเหลือเวลาอภิปรายน้อย ผมเอาสไลด์นำเสนอของทุกกลุ่มมานั่งวิเคราะห์อีกรอบ ผมคิดว่าการประเมินของวิมไม่เป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับทุกกลุ่ม ดูเหมือนลำเอียง ผลงานของทุกกลุ่มไม่ต่างกันมากนัก ผมจึงเขียนอีเมล์ถึงวิมแสดงความไม่เห็นด้วยกับการประเมินของเขาพร้อมบอกเหตุผลด้วยว่าทำไมผมจึงคิดอย่างนั้น บูโคลาเองก็ส่งอีเมล์ไปหาวิมเช่นกันแต่เป็นเรื่องความรู้สึกเสียใจและผิดหวังกับการประเมิน วิลเลียมผู้นำเสนอก็เช่นกัน ผมคิดว่าในชีวิตคนเรานั้นการเปรียบเทียบระหว่างกันนั้นมีอิทธิพลมาก ถ้าคนหนึ่งทำแบบเดียวกันแล้วได้มากกว่าตนเอง เราย่อมไม่พอใจแน่นอน เป็นความปกติของมนุษย์

ตอนผมตรวจข้อสอบนิสิตแพทย์ ผมต้องมีคำตอบมาตรฐานไว้ก่อน เวลาตรวจก็จะตรวจข้อเดียวกันของทุกคนในเวลาเดียวกันจนครบทุกคน เพื่อเปรียบเทียบกันว่าที่เขาตอบมานั้น คำตอบที่คล้ายๆกันเราให้คะแนนเขาเท่าๆกันหรือไม่ แล้วจึงเริ่มตรวจข้อต่อๆไปจนครบ ตอนออกข้อสอบและตรวจข้อสอบหัวหน้าสถานีอนามัยเพื่อปรับเป็นระดับ 7 หรือข้อสอบผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอที่ตากก็ทำแบบเดียวกัน ตอนที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตากผมก็เน้นเสมอว่าเราต้องใช้บรรทัดฐานเดียวกันกับทุกคน เจ้าหน้าที่จึงจะรู้สึกว่ายุติธรรม ถ้าอะลุ่มอล่วยคนหนึ่งคนอื่นๆก็ต้องได้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะคนสนิท เช่นเรื่องการลาพักร้อน โดยปกติให้ยื่นลาก่อน 5 วันทำการ แต่ถ้ามีเหตุผลเร่งด่วนให้เสนอก่อน 1 วันได้เดือนละ 1 ครั้ง เป็นต้น

หรืออย่างเรื่องขอไปราชการ ประชุม อบรม ก็กำหนดให้ชัดเจนเลยว่าให้ขอไปได้ตามความต้องการคนละ 1 ครั้งต่อปี แต่ถ้าโรงพยาบาลส่งให้ไปไม่นับครั้ง ถ้าขอเกินกว่านี้ให้พิจารณาเป็นรายๆไปตามความจำเป็นของหน่วยงาน ส่วนการไปเป็นวิทยากรภายนอกให้ไปได้ตามที่หน่วยงานอื่นเสนอขอมาแต่อย่าให้เสียงานของตนเอง การบริหารงานในองค์กรสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการบริหารความรู้สึกของคนในองค์กร ความรู้สึกเป็นเรื่องของจิตใจ ถ้าเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมขึ้น ส่งผลต่อจิตใจของคนทั้งองค์กรทำให้ขาดขวัญกำลังใจ ความสามัคคีและลดทอนความุม่งมั่นทุ่มเทในการทำงานลงได้ ผลงานโดยรวมขององค์กรจะลดลง

วันอังคารที่ 22 เมษายน 2551 เป็นการนำเสนอโครงการของผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 5 โครงการ ไม่บังคับให้นักศึกษากลุ่มผมเข้าฟัง จึงมีเฉพาะผู้เข้าร่วมประชุม มีผม เกลนด้าและพี่เกษมเข้าร่วมแจมด้วย มีวิมเป็นผู้ประเมินและวิพากษ์ นำเสนอเกี่ยวกับพนักงานสุขภาพชุมชนในเอธิโอเปียโดยโคร่า โครงการช่วยเหลือแบบSWaPในระดับจังหวัดที่โมแซมบิคโดยลีโอนาโด โครงการปรับการวิจัยลงสู่ปฏิบัติการในเรื่องนโยบายสุขภาพในแทนซาเนียโดยแรงเก้ โครงการนโยบายเรื่องเอดส์โดยวิลเลียมและการศึกษาปัญหาขาดแคลนกำลังคนด้านสุขภาพในยูกานดาโดยริชาร์ด

ช่วงพักเบรก วิมขอคุยกับผมเรื่องการประเมินผลกลุ่มนำเสนอเมื่อวาน จากการที่ผมส่งอีเมล์ให้ และเล่าให้ผมฟังว่าทางอาจารย์ทั้ง 5 คน ได้มีการประชุมกันหลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอ มีการอภิปรายกันอย่างมาก หลายคนมองว่าวิมค่อนข้างประเมินเชิงลบกับกลุ่มผม วิมบอกว่าเขาแฟร์ที่รับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาและบอกว่าคะแนนกลุ่มผมก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร ผมบอกว่าผมไม่ได้ต้องการคะแนน แต่ผมต้องการการประเมินที่เป็นบรรทัดฐานมากกว่า

วิมบอกว่าขอโทษที่เกิดความคลาดเคลื่อนของการประเมินไปจากมุมมองของเขาและส่งอีเมล์ขอโทษถึงพวกเราทุกคนในกลุ่ม สิ่งที่ทำให้ผมตะลึงก็คือการที่อาจารย์ขอโทษนักศึกษาไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในหลายๆแห่ง เป็นสปิริตที่แรงอย่างมาก และสร้างความประทับใจที่ผมมีต่ออาจารย์วิมอย่างมาก เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งครูและอาจารย์ต่างก็ได้เรียนรู้จากกันและกัน ปัญหาในครั้งนี้น่าจะเกิดจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของผู้ออกแบบคำถามหรือกิจกรรมกับโคชและนักศึกษา ทำให้ทำงานได้ไม่ตรงใจหรือตรงกับความต้องการ

วันพุธที่ 23 เมษายน 2551 เป็นการนำเสนอโครงการของผู้เข้าร่วมอบรมอีก 5 โครงการแต่ผมไม่ได้เข้าร่วมฟัง เนื่องจากประเด็นที่นำเสนอไม่ได้อยู่ในความสนใจนักและก็ไม่ได้บังคับเข้าฟังอยู่แล้ว ผมไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุด ตอนเย็นพาภรรยาและลูกๆไปเดินเล่นในเมือง

วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน 2551 เป็นการสอบช่วงแรกสอบการเงินในระบบสุขภาพที่มีข้อสอบ 5 ข้อ คะแนนเต็ม 5 คะแนน แล้วปรับเป็น 20 คะแนน ถือว่าเป็นข้อสอบที่มีคะแนนต่อข้อแพงมาก ถ้าพลาดก็เสียไปหลายคะแนนต่อข้อ แล้วต่อด้วยบทบาทของรัฐในระบบสุขภาพที่มีข้อสอบแค่ข้อเดียวให้เขียนวิเคราะห์และบรรยายความคิดเห็น ยากเหมือนกัน ตอนบ่ายว่าง ตอนเย็นพาลูกๆไปเล่นที่สนามเด็กเล่น

วันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2551 เป็นการสอบปากเปล่าคนละ 15 นาที มีห้องสอบสองห้อง คือห้องวิมกับปาเป้ อีกห้องมีจอร์จกับบรูโน มีเซน ผมสอบตอนเที่ยง 15 นาที กับวิมและปาเป้ มีคำถามหลายคำถามพอสมควร ทั้งเกี่ยวกับระบบสุขภาพของไทยและการนำความรู้จากการเรียนไปประยุกต์ใช้ในเมืองไทยและปิดท้ายด้วยคำถามของวิมที่ถามว่าถ้าจะให้คำแนะนำแก่ยูกานดาในการพัฒนาระบบสุขภาพของเขา ผมจะให้คำแนะนำเรื่องอะไร ผมคิดว่าผมตอบได้ทุกคำถามแต่จะตรงใจอาจารย์หรือไม่ ไม่รู้

ตอนบ่ายมีการประเมินหลักสูตรวิชาเลือก ประเมินในแบบฟอร์มประเมิน 9 หน้า ครอบคุลมภาพรวมทั่วไป เนื้อหา กระบวนการเรียนการสอนเป็นรายบุคคลและเข้ากลุ่มประเมินแต่ละประเด็นด้วยกัน แล้วนำเสนอผลการประเมินต่ออาจารย์ ที่เราเห็นตรงกันก็คือเนื้อหาบางเรื่องใช้เวลามากเกินไปเช่นเรื่องเกี่ยวกับองค์กรช่วยเหลือระหว่างประเทศ ในขณะที่บางเรื่องเวลาน้อยไปเช่นการเงินด้านสุขภาพ ต่อจากนั้นมีงานเลี้ยงปิดหลักสูตร

ตอนเย็นวิม จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำให้พวกเราที่เข้าอบรมที่บ้านพัก บรรยากาศในงานเป็นกันเองดีมาก สนุกสนาน วิมกับภรรยาหุงข้าวและทำกับข้าวไทยเลี้ยง พิซซ่า ไอศกรีม วิมเชิญผมและครอบครัวไปด้วย งานเลิกประมาณสามทุ่มครึ่ง กลับบ้านพักรีบนอนพักเอาแรงไปเที่ยวพรุ่งนี้

วันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2551 ตื่นเช้าทานอาหารแล้ว นั่งรถรางไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟกลางแอนท์เวิป พาภรรยาและลูกๆไปเที่ยวบรัสเซลส์ ค่ารถไฟวันหยุดราคาถูกลงเกือบครึ่งหนึ่งสำหรับผู้ใหญ่และฟรีสำหรับเด็กๆ ลงรถไฟที่สถานีรถไฟกลางบรัสเซลส์ซื้อตั๋วรถไฟใต้ดินหรือเมโทรแบบ 1 วัน (สองคน 4 ยูโร เด็กๆฟรี) เมโทรที่บรัสเซลส์ไม่มีที่กั้นเสียบบัตรแบบที่อื่นๆ ใช้ตอกบัตรธรรมดา นั่งรถเมโทรไปลงที่สถานีเฮเซลไปเที่ยวชมอะตอมเมียม เดินถ่ายรูปบริเวณรอบๆ ไม่ได้ขึ้นไปข้างบนเพราะคนรอคิวแถวยาวมาก เดินออกไปใกล้ๆกันเข้าไปชมเมืองจำลองหรือมินิ-ยุโรป ค่าตั๋วเข้าชมแพงพอควร น้องแคนกับขิมสูงเกิน 120 ซม. ต้องซื้อตั๋ว ส่วนขลุ่ยเข้าชมฟรี

ในเมืองจำลอง มีการจำลองสถานที่สำคัญของประเทศต่างๆในยุโรปมาให้ชมในอัตราส่วนเล็กลง 25 เท่า เช่นหอนาฬิกาที่ลอนดอน หอไอเฟลที่ปารีส หอเอนเมืองปิซาที่อิตาลี เดินชมเมืองจำลองกว่า 2 ชั่วโมง นั่งทานอาหารกลางวันกันก่อน แล้วขึ้นรถรางไปที่พิพิธภัณฑ์กองทัพเบลเยียม เป็นอาคารแบบโบราณขนาดใหญ่ภายในมีนิทรรศการเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการรบ ชุดทหารในยุคต่างๆ ห้องจำลองเรือรบ ห้องจำลองในเครื่องบิน รถถัง ดาบ ปืน และพิพิธภัณฑ์เครื่องบินรบ บริเวณโดยรอบพิพิธภัณฑ์เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ มีคนมานั่งพักผ่อน เดินเล่น อาบแดดกันเยอะ

เสร็จแล้วนั่งเมโทรกลับไปที่สถานีรถไฟกลาง ลงเดินย่านเมืองเก่า เดินไปตามถนนหินโบราณ ผ่านตลาดนัดวันเสาร์ ผู้คนนักท่องเที่ยวเยอะมาก เดินเบียดเสียดกันไปบนถนนหินแคบๆ หลากหลายไปด้วยร้านขายอาหาร ช๊อคโกแลตและร้านขายของที่ระลึก  เดินไปจนถึงลานหน้าที่ว่าการเมือง แดดร้อนแรงมาก นั่งพักเอาแรงกันสักพัก เดินต่อไปถ่ายรูปรูปปั้นหนูน้อยเมเนเกน พิส เดินกลับแวะชมและซื้อของที่ระลึกตามทางจนถึงสถานีรถไฟกลับแอนท์เวิป

การเดินทางท่องเที่ยวไปกับครอบครัวที่มีเด็กๆไปด้วยนี้ ไม่สามารถเดินหรือเที่ยวได้มากแห่งเหมือนตอนไปกับพี่เกษมสองคน เพราะเด็กๆเดินมากๆก็เหนื่อย ต้องนั่งพักบ่อย ต้องกินโน่นกินนี่ การเที่ยวด้วยตนเองในยุโรปต้องเดินมาก แคน ขิม ขลุ่ยก็เก่งที่เดินได้ไกลๆ และไปเที่ยวได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ บางช่วงขลุ่ยก็ขี่หลังพ่อบ้าง ขี่หลังพี่แคนบ้าง ขิมให้อุ้มเป็นบางครั้ง ผมกับแคนสะพายเป้ใส่ของกินคนละใบ การไปเที่ยวกับครอบครัวมีความสุขมากกว่ามาก

พิเชฐ  บัญญัติ(Phichet Banyati)

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

29 เมษายน 2551, 10.09 น. ( 15.09 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 179491เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2008 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อยากทราบความหมายของระบบสุขภาพและนโยบายสุขภาพ กระบวนการต่างๆ เพื่อเอาไปสอบค่ะ เรียนต่อเนื่องเวชปฏิบัติฯ ด่วนคะเพราะเป็นข้อสอบเขียน

เข้าไปหาอ่านได้ในThailand Health Profiles ในเว็บไซต์ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณุสข www.moph.go.th ครับ

มีเขียนและอธิบายไว้ชัดเจนทั้งฉบับภาษไทยและภาษาอังกฤษ

หรือลองอ่านที่ www.thaiblogonline.com/members/manasu/

หรือที่ http://gotoknow.org/blog/thaikm/243153

และที่ http://kmnrct.nrct.go.th/healthstategic/pdf/2547/enabling/01e.pdf

ขอให้โชคดีครับ

จากเด็ก มน. ที่เคยได้ฟังการบรรยายจากอาจารย์

พอดีอยากเรียนเรื่องนโยบายสุขภาพกับ ดร.ศุภสิทธิ์ เลยเข้ามาหาข้อมูลเพื่อไปลองสอบดูไม่คิดว่าจะได้เจออาจารย์ ดีใจมากเลยค่ะ และเนื้อหาที่อาจารย์เขียนมีประโยชน์มากด้วย...ขอบคุณมากนะคะ ขอให้อาจารย์มีความสุขที่เมืองนอกเหมือนตอนที่อยู่รพ.บ้านนอก (เอ๊ย...บ้านตากค่ะ)...หนึ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท