เสียงก้อง(ฤทธิ์ดี) สะท้อน How to เรตติ้งภาพยนตร์


ที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้ใจแคบนะ เราใจกว้างมาก มากจนกระทั่งรู้สึกว่า กว้างขนาดนี้ได้ยังไง

23 เมษายน 2551 เวลาหกโมงเย็นกว่าๆ พี่ก้อง (ก้อง ฤทธิ์ดี) คอลัมนิสต์และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในเครือบางกอกโพสต์ มาพบทีมงาน ME พร้อมกับสายฝนที่กระหน่ำลงมาอย่างแรง ที่จริงนัดในวันนี้เรานัดกันที่สยามพารากอน แต่ให้บังเอิญว่าอ.โก๋ (อ.อิทธิพล) มีคิวประชุมแทรกด่วนที่สสส. จึงต้องเปลี่ยนที่นัดมาเป็นร้านกาแฟ Blue Planet ข้างๆ ตึกสสส.แทน เย็นนี้เราจึงได้นั่งคุยกันกับพี่ก้องท่ามกลางสายฝนในร้านกาแฟ

จุดประสงค์ของการคุยวันนี้มี 3 ประเด็นหลักคือ การหาแนวทางหรือหาเกณฑ์ให้กับภาพยนตร์ที่ควรจะได้รับการส่งเสริม ตามพรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ฉบับพ.ศ. 2551 (ตามมาตรา 26 วงเล็บ 1) และการหากลไกที่จะมาสนับสนุนให้หลักการดังกล่าวสามารถทำงานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ / การ Classification ตามช่วงวัย ใช้เกณฑ์อะไรในการพิจารณา รวมถึงเรื่องการเซ็นเซอร์ (หรือหมวดห้ามฉาย ตามมาตรา 26 (7))*

พี่ก้อง เริ่มกล่าวถึง ความประหลาดที่ต้องมี เรต P ทำเอาพวกเรางงว่า อะไรคือเรต P ปรากฏว่า เรต P นั่นก็คือ Promote (หรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 26 (1) นั่นเอง) เมื่อเราเข้าใจตรงกันแล้วว่าอะไรเป็นอะไร เราจึงได้ประเด็นต่างๆ มาจากพี่ก้องมากมาย อาทิ

„ เกณฑ์การจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ควรจะให้มีการทดลองใช้ช่วงหนึ่ง ก่อน จากนั้นต้องมีการปรับปรุงเกณฑ์เหล่านั้นให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งอ.โก๋เสริมประเด็นนี้ว่า ต้องทำให้ภาคสังคมมีเสียงที่ดังมากพอที่ภาคนโยบายจะต้องรับฟังด้วย

„ ในต่างประเทศการจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์จะเป็นเพียงไกด์ไลน์(Guide Lines)ให้ปฎิบัติ ดังนั้นการปฎิบัติของโรงภาพยนตร์จึงทำได้เพียงแค่ดูๆ เท่านั้น เพียงแต่โรงภาพยนตร์อาจจะมีความผิดขึ้นมาได้เมื่อมีการถูกร้องเรียน และจากประสบการณ์ของพี่ก้องก็บอกเล่าว่าบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ (ในต่างประเทศ) ก็ไม่ได้มีตำรวจไปคอยยืนตรวจ

„ สิ่งที่สังคมในต่างประเทศเป็นห่วงคือ เรื่องของความรุนแรง (Violence) ในขณะที่สังคมไทยสิ่งที่เป็นห่วงคือ เรื่องทางเพศ (Sex) ซึ่งเกณฑ์ในการพิจารณา(เรต)เมื่อเทียบกันแล้วก็อาจจะเท่าๆ กัน เพียงแต่เน้นสิ่งที่คำนึงถึงแตกต่างกันเมื่อเทียบสังคมของไทยกับต่างประเทศ

 

 

นอกจากนี้สิ่งที่พี่ก้องเป็นห่วงมากที่สุดในเรื่องของการจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์นี้ ก็คือ เรื่องของ คน ที่จะมาใช้กฎหมาย เพราะยังไม่รู้ว่าจะเป็น ใคร ที่จะมาใช้กฎเกณฑ์เหล่านั้น และจะมีความเข้าใจในกฎเกณฑ์เหล่านั้นมากน้อยเพียงใด เพราะที่ผ่านมาโดยตัวบทกฎหมายจะกำหนดให้อธิบดีกรมต่างๆ มาร่วมพิจารณา แต่ในความเป็นจริงก็คือ พวกเขาไม่เคยมา และส่งตัวแทนมาเท่านั้น สุดท้ายแล้วก็จะทำให้กลับไปยืนที่จุดเดิมคือ หนังอะไรก็จะกลายเป็นเรต 20 ปีไปหมด

ในขณะที่ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ นอกจากเรื่องทางเพศ (SEX) ที่สังคมไทยมีความละเอียดอ่อนสูงอยู่แล้ว ยังมีเรื่องของความมั่นคงของรัฐ เรื่องของสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ที่สำคัญอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง

และอีกประเด็นหนึ่งที่พี่ก้องพูดไว้ได้อย่างน่าสนใจก็คือ ...ที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้ใจแคบนะ เราใจกว้างมาก มากจนกระทั่งรู้สึกว่า กว้างขนาดนี้ได้ยังไง ..เช่นภาพยนตร์ปีที่แล้วเรื่อง Pan’s Labyrinth (แพนส์ แลบิรินธ์ อัศจรรย์แดนฝัน มหัศจรรย์เขาวงกต) ซึ่งหน้าหนังดูเป็นหนังเด็ก แต่เนื้อหาจริงๆ เป็นเรื่องการเมือง มีความโหดร้าย ฯลฯ แต่สุดท้ายแล้วเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีก็ได้เข้าไปดู นั่นมันก็แสดงว่า เราใจกว้าง ...ผมก็เลยคิดว่า กฎหมายที่มาใหม่ก็เพียงแต่ทำให้ดูมีรูปแบบมากขึ้น ดังนั้นความใจกว้างของเรามันก็น่าจะยังมีอยู่...

  

หมายเหตุ : มาตราที่สำคัญของพรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อภาพยนตร์และเกมคอมพิวเตอร์ มีมาตรา 26 (1) (7) โดยมีรายละเอียดดังนี้ (เฉพาะมาตรา 26)

มาตรา 26 ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์กำหนดด้วยว่า ภาพยนตร์ดังกล่าวจัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด ดังต่อไปนี้

(1)   ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้ดู

(2)   ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป

(3)   ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป

(4)   ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป

(5)   ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป

(6)   ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู

(7)   ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร

ความใน (6) มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ดูซึ่งบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส

 

หมายเลขบันทึก: 179306เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2008 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะแนท

ชอบชื่อบันทึกอีกแล้วค่ะ

เรตที่เหมาะสม ต้องมีคนจัดเรตที่เหมาะสมด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณค่ะพี่แจ๋ว

เรื่องของ "คน" ที่จะมาจัดเรต

เท่าที่ได้พบปะพูดคุยกับคนในวงการภาพยนตร์มา

รู้สึกได้ว่า เป็นเรื่องที่พวกเขากังวลมากเป็นอันดับต้นๆ

(ประมาณ Top Five)จนบางทีรู้สึกว่า

ห่วงมากกว่าตัวเนื้อหาพรบ.เองซะอีก

ซึ่งก็น่าเห็นใจไม่ใช่น้อย หลังจากเจอวิธีของเซ็นเซอร์มานานร่วม 70 ปี

ขอจัดเหรตให้กระทู้นี้ เหมาะสำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัย :)

แนท...จะไม่ให้คนทำหนังกังวลได้อย่างไรล่ะคะ

คอมพิวเตอร์ดีอย่างไร รถดีอย่างไร เรตจัดไว้ดีอย่างไร ก็ต้องมีคนรู้จักใช้นะคะ

ขอบคุณค่ะคุณกวิน

ที่จัดกระทู้นี้ให้เป็น ท.ทั่วไป ^_^

พี่แจ๋วก็เข้าใจปัญหาดีนี่นา...

ฉะนั้นเราต้องพยายามทำให้คนหมู่มากเข้าใจ และรู้จักใช้ประโยชน์จากเรตให้ได้มากที่สุด

เพื่อที่ว่า จะได้มุมมองที่สะท้อนจากภาคสังคมกลับไปสู่ผู้ที่มีหน้าที่จัดเรต

(ซึ่งบางครั้ง การทำตามหน้าที่อาจจะไม่ใช่การใช้อย่าง "เข้าใจ" ก็ได้)

ดังนั้นเราต้องมาประชาสัมพันธ์ให้ภาคสังคมรับรู้ร่วมกันเยอะๆ นะคะ

จะได้ช่วยกัน-ช่วยกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท