เมื่อแสงศตวรรษสาดกระทบเรตติ้งภาพยนตร์ (ตอนที่ ๑)


ในช่วงแรกที่มีการใช้ระบบเรตติ้งนี้คงต้องยอมให้เกิดกรณีบางอย่างขึ้นมา เพื่อให้เป็นประเด็นใหม่ ให้กับสังคมได้คิดและตีความ และแสดงทิศทางการยอมรับในเรื่องนั้นๆ ว่าสังคมคิดอย่างไร

            เมื่อเวลาประมาณบ่ายสองโมงของวันศุกร์ที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๑ ทีมงาน ME นำโดยอ.อิทธิพล ปรีติประสงค์ และข้าพเจ้า ได้มีโอกาสนัดพบกับผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ ซึ่งเป็นหนังที่มีการฉายเพียงโรงเดียว คือ ที่โรงภาพยนตร์สยามพารากอน

การพบกันครั้งนี้ทีมงานฯ ได้พบทั้งผู้กำกับภาพยนตร์คือ คุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล / คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการมูลนิธิหนังไทย และคุณสุภาพ หริมเทพาธิป บรรณาธิการบริหารนิตยสารไบโอสโคป ด้วยว่าพี่เจ้ย(คุณอภิชาติพงศ์)น่าจะถือคติว่า ช่วยกันคิดช่วยกันออกความเห็น จึงเชิญทั้งพี่ลิ (คุณชลิดา) และพี่หมู (คุณสุภาพ) มาร่วมวงสนทนาในครั้งนี้ด้วยกัน (และครั้งนี้ขอเล่ายาวหน่อย จึงแยกเป็น ๒ ตอน)

เปิดฉากการสนทนาในครั้งนี้ เริ่มจากข้าพเจ้าต้องไปขออนุญาตทางร้านคิโนะคูนิยะ คอฟฟี่ (kinokuniya coffee) บนสยามพารากอน ในเรื่องขออนุญาตถ่ายรูป (เฉพาะวงสนทนา) ซึ่งตัวผู้เขียนเอง ลองขอกับทางพนักงานที่ดูแลในส่วนร้านกาแฟดูก่อนแล้ว โดยเริ่มจากพนักงานคนที่ ๑ บอกว่าต้องถามอีกคนก่อน มาถึงพนักงานคนที่ ๒ บอกว่าต้องไปถามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเราก็เดินไปคุย จากนั้นรปภ.ก็พาเราไปพบเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์คนที่ ๑ เขาก็บอกรอสักครู่ ยกหูโทรศัพท์ เมื่อเจ้าหน้าที่จากในโทรศัพท์คนที่ ๑ เดินมาหา เขาก็บอก รอสักครู่ แล้วก็ไปโทรศัพท์ จากนั้นเจ้าหน้าที่ในโทรศัพท์คนที่ ๒ ก็เดินมาหา และก็บอกว่า รอสักครู่ แล้วก็ไปโทรศัพท์ แล้วเจ้าหน้าที่ในโทรศัพท์คนที่ ๓ ก็เดินมาหา และก็บอก รอสักครู่ (ผ่านไปประมาณ ๕ คน) จากนั้นเจ้าหน้าที่ในโทรศัพท์คนที่ ๓ ก็เดินมาบอกว่า ผอ.อนุญาตค่ะ แต่ให้ถ่ายเฉพาะบริเวณที่นั่งคุยกันเท่านั้น ซึ่งทางผู้เขียนก็โอเค และขอบคุณมาก (เพราะการถ่ายภาพสนทนานี้สำคัญต่องานที่กำลังทำอยู่) ผู้เขียนได้แต่คิดในใจว่า ลึกๆ แล้วคนไทย เมื่อขอกันดีๆ เขาก็ให้ พูดกันด้วยเหตุผลก่อน บอกเขาว่าเราเป็นใคร มาจากไหน ต้องการอะไร ให้ได้ไหม พูดกันดีๆ ก็รู้เรื่อง ไม่เห็นต้องใช้ อำนาจ อะไรเลย...จากนั้นผู้เขียนก็ถ่ายรูปได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวใครเขามาว่า...

ประเด็นที่คุยกันในวันนี้ก็คล้ายๆ กันกับที่คุยกับพี่ก้อง (ฤทธิ์ดี) มาก่อนหน้านี้ เพียงแต่ว่า ความเห็นในส่วนนี้จะเป็นความเห็นบนมุมมองของผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้ร่วมวงสนทนา สามารถสรุปประเด็นต่างๆ ได้เช่น

๑. เรื่องความเป็นกลางของคณะกรรมการผู้ตรวจพิจารณา ที่ต้องไม่ใช้อำนาจในการ สั่ง เหมือนในอดีต (ระบบเซ็นเซอร์) และหนังทุกเรื่องควรได้รับการฉาย (ถ้าไม่ผิดกฎหมายเรื่องลามกอนาจาร หรือความมั่นคงของรัฐ หรือเรื่องสถาบันหลักของชาติทั้ง ๓ สถาบัน)

๒. การนำเกณฑ์หนังที่จะถูกห้ามฉายไปอิงกับมาตรา ๒๘๗ ในกฎหมายอาญา ต้องพิจารณาต่อด้วยว่า เกณฑ์ของคำพิพากษาของศาลฎีกาท่านว่าอย่างไร และต้องมีการตีความใน ๒ ลักษณะคือ ดูที่เจตนา กับ การก่อให้เกิดความรู้สึก

๓. เมื่อมีการนำเกณฑ์การจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ในระดับต่างๆ มาใช้ ผู้ที่เป็นคณะกรรมการฯจะต้องไม่กลัวการถูกฟ้อง แต่ต้องเปิดโอกาสให้สังคมได้ถกเถียงกันถึงประเด็นต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งในช่วงแรกที่มีการใช้ระบบเรตติ้งนี้คงต้องยอมให้เกิดกรณีบางอย่างขึ้นมา เพื่อให้เป็นประเด็นใหม่ ให้กับสังคมได้คิดและตีความ และแสดงทิศทางการยอมรับในเรื่องนั้นๆ ว่าสังคมคิดอย่างไร

๔. การจัดระดับภาพยนตร์ที่เข้าข่ายตามมาตรา ๒๖ (๑) เสนอให้มีคณะกรรมการแยกต่างหากจากคณะกรรมการผู้ตรวจพิจารณาจัดระดับความเหมาะสมกับช่วงวัยต่างๆ โดยอาจเป็นลักษณะ คณะกรรมการฯชุดที่ ๑ พิจารณาเฉพาะเรตPromotion คณะกรรมการฯชุดที่ ๒ พิจารณาเฉพาะเรตติ้ง ส่วนคณะกรรมการฯชุดที่ ๓ พิจารณาเฉพาะภาพยนตร์ที่เข้าข่ายห้ามฉาย

 

(โปรดติดตามต่อตอน ๒)

หมายเลขบันทึก: 179263เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2008 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แนทคะ

แวะมาลงชื่อจองอ่านเป็นคนที่หนึ่งก่อนค่ะ

เดี๋ยวอ่านแบบละเอียดๆ จบแล้ว มาคุยด้วยอีกทีค่ะ

อ่านจบตอนที่หนึ่งแล้วคิดได้คร่าวๆ ว่า...

เราจะให้กฎหมายนำศิลปะ หรือจะให้ศิลปะนำกฎหมาย

แต่ถ้าทั้งสองอย่างไปด้วยกันอย่างเข้าใจกันก็คงจะดีนะคะ

ตามไปอ่านตอนที่สองก่อนค่ะ

ในความเห็น แนทว่า

ศิลปะและกฎหมายต้องเดินจับมือไปพร้อมๆ กัน

แต่ที่สำคัญคือ การรู้จักหน้าที่และรู้จักขอบเขต(ที่ไม่เกินสิทธิผู้อื่น)

ถ้าศิลปะเสรีจนไปกินขอบเขตคนอื่น อันนี้ก็ไม่ถูก

ถ้ากฎหมายเข้มจนไม่อาจคิดอะไรได้นอกกรอบ อันนี้ก็ไม่ถูก

ทางที่ดีต้องมองหลายๆ มุมเอาไว้แหละค่ะ จึงจะดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท