ลดความอ้วนอย่างไร... ให้ยั่งยืน ตอน7


กล่าวกันว่า คนที่ลดความอ้วนสำเร็จมีแนวโน้มจะเป็นคนที่ "มีน้ำใจ" ชอบช่วยเหลือคนอื่น เห็นคนอื่นทำอะไรหนักๆ ไม่ได้ เป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ

...

การออกแรง-ออกกำลังที่ทำให้คนเราเกิดชนชั้น(ชั้นไขมัน)ต่างกันไป นับตั้งแต่อย่างบางจนถึงอย่างหนาจริงๆ นั้นมีแนวโน้มจะเป็นผลมาจากกิจกรรม 3 อย่างได้แก่

  • เดิน
  • เดินขึ้นลงบันไดตามโอกาส
  • การออกแรงในชีวิตประจำวัน

...

การออกแรงในชีวิตประจำวัน (fidget) ตรงกับสำนวนที่ว่า "ขยับเท่ากับออกกำลังกาย" หรือพยายามออกแรงทำโน่นทำนี่ให้มาก นั่งๆ นอนๆ หรือสั่งการ(ด้วยปาก)ให้น้อย

ผู้เขียนสังเกตว่า ปรากฏการณ์แบ่งชนชั้น(ไขมัน)นี่ปรากฏชัดมากที่สุดในพม่า เนื่องจากคนพม่านิยมกินอาหาร "หวานจัด-มันจัด" คล้ายๆ คนอินเดีย แถมแกงชั้นดีพม่าจะต้องมีน้ำมันลอยหน้า ซึ่งแกงชั้นดีจะมีน้ำมันลอยหน้าหนา 7 มิลลิเมตร

...

ภาพที่ 1: หนังสือ "อ้วนอันตราย...ไม่อยากตายต้องลดอ้วน" ของท่านอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ [ แนะนำให้ซื้อมาอ่านครับ ]

...

คนพม่าเป็นคนทำอะไรจริงจัง ไม่เหลาะแหละ... เรื่องกินก็เช่นเดียวกัน เวลากินจะใช้มือเปิบ ไม่พูด ไม่ดื่มน้ำ ถ้าใครดื่มน้ำ... พม่าถือว่า อิ่มแล้ว

เวลาคนไทยไปเที่ยวพม่าจึงทำให้บรรดาหม่องและมะ (หม่อง = คำนำหน้าผู้ชาย เวลาออกเสียงตัวสะกดจะหายไปนิดหน่อยเป็น "หม่อง์"; มะ = คำนำหน้าผู้หญิงอายุน้อย) ตกใจมาก เพราะคนไทยกินข้าวไปด้วย-ดื่มน้ำไปด้วย

...

ทัวร์ไทยที่ไปพม่าทำให้คนพม่าเกิดช็อคทางวัฒนธรรมหลายเรื่องเช่น คนพม่าไม่กินน้ำเวลากินข้าว ถ้าคอแห้งจะดื่มน้ำซุป คนไทยจะดื่มน้ำเวลาคอแห้ง คนพม่าไม่นิยมดื่มน้ำใส่น้ำแข็ง คนไทยไปไหนนิยมน้ำเย็นใส่น้ำแข็ง ฯลฯ

ทว่า... คนพม่าตกใจได้ไม่นาน เพราะคนไทยที่ไปเที่ยวพม่ามีชื่อเสียงในเรื่องทิปมาก ใจดี และที่สำคัญคือ ทำบุญมาก บริจาคให้พระเจดีย์และวัดมาก ทำให้คนพม่าชอบลูกทัวร์ไทยมากๆ ผู้เขียนเคยเห็นลูกทัวร์สูงอายุทิปไกด์ด้วยใบละพันบาทมาแล้ว

...

คนไทยโบราณกินข้าวมาก กินกับข้าว ต่อมาหนังสือสุขศึกษาฉบับโบราณสอนให้กินกับมากๆ คนไทยเลยกินกับมากขึ้น

คนพม่ากินข้าวขาวมาก เฉลี่ยแล้วผู้หญิงอาจจะ 1-2 จานพูนๆ ผู้ชายอาจจะ 2-5 จาน ปิ่นโตไทยนั้นมีชื่อเสียงมากในพม่าว่า เป็นปิ่นโตคุณภาพสูง สามารถอัดข้าวเข้าไปได้มาก

...

คนพม่าที่ออกแรงในชีวิตประจำวันมาก เช่น เดินหรือขี่จักรยานไปทำงานคราวละหลายๆ กิโลเมตร ใช้แรงงาน ฯลฯ มีแนวโน้มจะผอม

ทีนี้ถ้าหยุดทำงาน หรือเกิดใช้รถขึ้นมา... คนพม่าจะเกิดชนชั้น(ไขมัน)วรรณะขึ้นมาทันที อ้วนมากและอ้วนลงพุงมากด้วย

...

พวกเราคงจะจำกันได้ว่า อาหารที่ให้กำลังงาน... ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต (แป้ง-น้ำตาล) ไขมัน โปรตีน (เนื้อ ถั่ว งา นม ฯลฯ) นี่ ถ้ามากเกินไปจะทำให้อ้วนทั้งนั้น

และอย่าลืมว่า แอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ ไวน์ สาโท หรือเครื่องดื่มที่เติมแอลกอฮอล์นั้นให้กำลังงานน้องๆ ไขมันเลย

...

อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ท่านนำข้อมูลเรื่องการออกกำลังมาเผยแพร่ไว้อย่างนี้

  • เดินเร็ววันละ 1 ชั่วโมง > ลดเสี่ยงโรคอ้วน 24% ลดเสี่ยงเบาหวาน 34%
  • ยืนๆ เดินในบ้าน 2 ชั่วโมง (หรือ) ยกของ แบกของ หิ้วของ 9 กิโลกรัมขึ้นไป 1 ชั่วโมงโดยไม่ใช้เครื่องทุ่นแรง > ลดเสี่ยงโรคอ้วน 9% ลดเสี่ยงเบาหวาน 12%

...

ตัวอย่างที่อาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งแสดงให้เห็นคุณค่าของการ "ขยับเท่ากับออกกำลัง" คือ ถ้าไปร้านขายข้าวหมูแดง... เด็กเสิร์ฟมักจะไม่ค่อยอ้วน เถ้าแก่จะอ้วน

เพราะเด็กเสิร์ฟได้เดิน เถ้าแก่ได้ยืนและสั่งงาน การใช้กำลังงานจึงไม่เท่ากัน

...

อาจารย์สง่ากล่าวว่า เคล็ดลับซึ่งตอนนี้ไม่ลับอีกต่อไปคือ

  • ถ้าออกแรง-ออกกำลังต่อเนื่องได้เกิน 10 นาที ร่างกายจะเผาผลาญไขมัน ทำให้ไม่ค่อยหิว
  • ถ้าออกแรง-ออกกำลังน้อยกว่า 10 นาที ร่างกายจะเผาผลาญแป้งมาก ซึ่งอาจทำให้พวกเราบางคนหิวเร็ว

...

อาจารย์สง่าท่านแนะนำให้พักหลังอาหาร 20-30 นาที หลังจากนั้นให้เดินเร็วหลังอาหาร 30 นาที และค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาทีละน้อยๆ จนเดินรวมกันได้ 60 นาที

การเดินหลังอาหารจะเพิ่มการเผาผลาญกำลังงานจาก 25% เป็น 50% ทีเดียว

...

ทีนี้การเดินหลังอาหารมีข้อควรระวังคือ ช่วงนั้นร่างกายจำเป็นต้องใช้เลือดไปเลี้ยงระบบทางเดินอาหารมาก ถ้ามีโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันอยู่ก่อน อาจทำให้โรคหัวใจกำเริบได้

ท่านศาสตราภิชานนายแพทย์พินิจ กุลละวณิชย์ อาจารย์อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหาร และเวชศาสตร์การกีฬาแนะนำว่า ให้เดินออกแรง-ออกกำลังช่วงเย็น + ก่อนอาหาร 2 ชั่วโมงจะดีที่สุด

...

การออกแรง-ออกกำลังช่วงเย็นจะทำให้ร่างกายเผาผลาญอาหารมากขึ้นต่อไปหลังออกกำลังอีกหลายชั่งโมง... ยาวเลยไปถึงตอนค่ำทีเดียว

ผู้เขียนขอเรียนเสนอว่า

  • ถ้าออกแรง-ออกกำลังก่อนอาหารเย็น 2 ชั่วโมงได้น่าจะดีที่สุด
  • ถ้าจำเป็นต้องออกแรง-ออกกำลังหลังอาหาร... ควรพัก 20-30 นาทีก่อน แล้วเดินแบบเบาๆ สบายๆ อย่างที่คนโบราณเรียกว่า "เดินเล่น" หรือ "เดินย่อยอาหาร"

...

ต่อไปเป็นวิธีเดินที่ท่านอาจารย์สง่าแนะนำ

  • เดินช้าๆ 5 นาทีเพื่ออุ่นเครื่อง (warm up)
  • เดินเร็ว 20-45 นาที งอแขนขึ้น และแกว่งแขน
  • ก่อนหยุดเดินให้เดินช้าๆ 5 นาที เพื่อลดการทำงานของหัวใจลงช้าๆ (warm down)

...

อาจารย์ท่านแนะนำให้เริ่มเดินจากน้อยไปมาก ไม่หักโหม เริ่มจาก 10-15 นาทีวันเว้นวัน... เหนื่อยก็พัก

  • สัปดาห์ที่ 1-2 > ให้เพิ่มเป็น 30 นาที
  • สัปดาห์ที่ 6 > เพิ่มเป็นวันละ 45-60 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน
  • เมื่อแข็งแรงดีแล้ว > เพิ่มเป็นวันละ 45-60 นาที ทุกวัน

...

ตารางการเดินนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านปรับเปลี่ยนตามระดับความแข็งแรงของท่านเอง ไม่จำเป็นต้องเดินรวดเดียวนานๆ จะแบ่งเป็นช่วงๆ ก็ได้ ทว่า... ถ้าเป็นไปได้ ขอให้ช่วงหนึ่งนาน 10 นาทีขึ้นไป

การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า การเดินแกว่งแขวนกับไม่แกว่งแขนใช้กำลังงานไม่เท่ากัน การเดินแกว่งแขนใช้กำลังงานมากกว่าประมาณ 20%

...

ข้อควรระวังมากๆ ในการออกแรง-ออกกำลังคือ

  • ถ้าออกแรง-ออกกำลังแล้วเจ็บ หรือแน่นหน้าอก ซึ่งอาจจะร้าวไปส่วนอื่นได้แก่ คาง ไหล่ หรือท้อง(ลิ้นปี่)... ให้รีบลดระดับเป็นการเดินช้าๆ แบบสบายๆ
  • ถ้าพักแล้วทุเลา อาการเจ็บหรือแน่นหายไป ให้สงสัยไว้ก่อนว่า อาจจะมีปัญหาโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน แบบนี้ต้องปรึกษาหมอใกล้บ้านท่านทันที

...

ท่านอาจารย์สง่าแนะนำให้กินอาหารก่อนเวลานอน 3-4 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งจะช่วยให้ไขมันไม่สะสมมาก

การกินอาหารเย็นให้เร็วหน่อยนี้มีดีอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคอาหารขย้อน (gastroesophageal reflux disease / GERD) ซึ่งถ้ากินแล้วนอนทันที... กรดในกระเพาะอาหารจะไหลย้อนขึ้นหลอดอาหาร ทำให้ปวดท้อง แน่นท้อง แน่นหน้าอก แสบหน้าอก ถ้ากินอาหารเย็นให้เร็วขึ้น... อาการจะทุเลาไปได้มาก

...

ต่อไปเป็นตัวอย่างการออกกำลังที่ใช้กำลังงาน 150 แคลอรี

กิจกรรม ระยะเวลา-ระยะทาง
ปั่นจักรยาน 30-40 นาที
เดินเข็นรถช็อปปิ้ง 30 นาที (2.4 กิโลเมตร)
เดิน 30 นาที (3.2 กิโลเมตร)
เดินขึ้นบันได 15 นาที

...

การเดินลงบันไดจะใช้พลังงานประมาณครึ่งหนึ่งของการขึ้นบันได ถ้ายอมเดินขึ้นลงบันไดตามโอกาสจะช่วยให้ออกแรง-ออกกำลังได้ทุกวัน

ตัวอย่างเช่น

  • ถ้าทำงานบนตึกชั้น 20 อาจจะขึ้นลิฟต์ไปชั้น 18 เดินขึ้น 2 ชั้น
  • ขาลงจากชั้น 20 อาจจะลงลิฟต์ที่ชั้น 3 เดินลง 2 ชั้น

...

การลดความอ้วนเป็นการต่อสู้ที่คล้ายกับการออมทรัพย์คือ ถ้าหมั่นเก็บเล็กผสมน้อย ออกแรง-ออกกำลังไปเรื่อยๆ เช่น ล้างรถ ล้างจาน กวาดบ้าน ถูพื้น ลุกไปหยิบของ ทำความสะอาดบ้าน ฯลฯ ทำได้มากเท่าไร จะได้กำไร (แคลอรี) มากเท่านั้น

กล่าวกันว่า คนที่ลดความอ้วนสำเร็จมีแนวโน้มจะเป็นคนที่ "มีน้ำใจ" ชอบช่วยเหลือคนอื่น เห็นคนอื่นทำอะไรหนักๆ ไม่ได้ เป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ

...

ยิ่งช่วยมากยิ่งได้อานิสงส์ (บาลี = กำไร) มาก ชาตินี้ได้ลดอ้วน แถมยังได้บุญ (เวยยาวัจจมัย = การช่วยเหลือการงานคนอื่น)

คนที่มีน้ำใจนั้นกล่าวกันว่า เป็นคนมีเสน่ห์จากภายใน ไม่ว่ารูปร่างภายนอกจะเป็นอย่างไรก็ชนะใจคนรอบข้างได้เสมอ (ยกเว้นไปอยู่ท่ามกลางคนใจดำแบบสุดๆ... คนแบบนั้นทำดีอย่างไรก็อกตัญญูครับ)

...

หมายเหตุ                                                       

บทความนี้มี 8 ตอน

  • โปรดคลิกที่นี่เพื่ออ่านตั้งแต่ตอนแรก / ตอนที่ 1
  • [ Click - Click ]
  • โปรดคลิกที่นี่ เพื่ออ่านตอนต่อไป / ตอนที่ 8
  • [ Click - Click ]

... 

ที่มา                                                  

  • ขอขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข > อ้วนอันตราย...ไม่อยากตายต้องลดอ้วน > สำนักพิมพ์วายนอตคอมมิวนิเคชั่น. กรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2550. หน้า 88-96.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบคุณอาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี + อาจารย์เบนซ์ iT > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 28 เมษายน 2551.
หมายเลขบันทึก: 179253เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2008 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท