04. บทแทรก "การนำข้อคิดจากแม่ไปใช้ฝึกลูกตนเอง"


ฝึกให้ลูกสามารถวางแผน บริหารจัดการตนเองและเลือกเส้นทางชีวิตด้วยตนเอง

 

ฝึกให้ลูกบริหารจัดการตนเอง( Self-Directing-ด้านการเงิน)

 

       หลังจากที่ผมได้ผ่านฝึกให้วางแผนและตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง “ด้วยตนเอง” จาก แม่ ป.4 มาแล้ว เมื่อผมมีลูก (ผมมีลูกสาว 2 คน) ความพยายามของพ่อคนนี้ก็คือ ฝึกให้ลูกมีการวางแผน บริหารจัดการตนเอง และตัดสินใจเลือกอนาคตด้วยตนเอง

        ในเรื่องการฝึกทักษะการวางแผนและบริหารจัดการตนเองนั้น สิ่งที่ได้ทดลองทำ คือการฝึกให้ลูกวางแผนและบริหารจัดการตนเองด้านการใช้เงิน ขณะที่เรียน ป.1-3 ได้มอบค่าใช้จ่ายให้เป็นรายวัน เมื่อขึ้น ป.4 ให้เงินเป็นสัปดาห์...ท่านเชื่อหรือไม่ เงินไม่ครบสัปดาห์หรอก หมดเสียก่อน เลยต้องใช้วิธีใส่ซองไว้ 2 วัน(พฤหัส-ศุกร์) แล้วปิดซองไว้เลย ให้เขาหัดควบคุมตนเองโดยไม่เปิดซองก่อนถึงวันพฤหัสบดี(เช้า)  ในที่สุดเขาสามารถควบคุมตนเองได้เมื่อเรียน ป.5-6 โดยไม่ต้องใช้ซอง   เมื่อเข้าเรียน ม.1 พ่อจ่ายเงินให้เป็นรายเดือน ต้องใช้ซองควบคุมอีกครั้งหนึ่ง เป็นรายปักษ์ กล่าวคือ 15 วันหลัง ให้เขาใสเงินไว้ในซอง แล้วหัดควบคุมตัวเอง โดยต้องไม่เปิดซองก่อนวันที่ 16 ของเดือน  ในที่สุด เขาจะเริ่มควบคุมตนเองได้   เมื่อลูกขึ้นเรียนชั้น ม.4-5 พ่อตกลงและจ่ายเงินให้เป็นรายเดือน ปรากฏว่าไม่ต้องใช้ซองควบคุมอีก  ก่อนจบ ม.5(ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2549) พ่อแจ้งให้  “ประมาณการงบประมาณประจำปี สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในปีการศึกษา 2550 หรือ ตอนเรียน ม.6” โดยกำหนดว่า “ต้องเสนองบประมาณ ภายในวันที่ 30 เมษายน 2550  ไม่เช่นนั้นแล้ว เงินค่าใช้จ่ายประจำปีจะเบิกไม่ได้  สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ คือ “เป็นการยากน่ะ ที่เด็ก ม.5 จะตั้งงบประมาณประจำปี”  แต่ในที่สุด เขาทำได้ โดยเสนองบประมาณที่ หกหมื่นกว่าบาท ผมจำคำถามในวันที่ 30 เมษายน 2550 ได้ เป็นอย่างดี เช่น

1)  หนูขอค่าอาหารวันละ 150 บาท รวมเป็นเงิน สี่หมื่นกว่าบาท พ่อ โอ เค ไหม   ผมถามว่า ทำไมแพงนัก เหตุผลของเขาก็คือ ต้องเรียนพิเศษแถวสยามสแควร์ ค่าอาหารแพง (เหตุผลฟังขึ้น สำนักงบประมาณจึงอนุมัติ)

2)  ค่าเที่ยวกับเพื่อน หนูเฉลี่ยดูแล้ว จากข้อมูลปีก่อน เฉลี่ยจาก 8 ครั้ง  ได้ค่าเฉลี่ยครั้งละ 500 กว่าบาท  จึงขอ 500 บาท ต่อครั้ง  พ่อจะยอมให้เที่ยวเดือนละกี่ครั้ง ในที่สุด อนุมัติที่ 2 ครั้ง ต่อเดือน

3)  ค่าซื้อหนังสือ(ลูกสาวคนนี้ ซื้อหนังสือเยอะมากทุกเดือน) เขาได้ลองเฉลี่ย 5 เดือนสุดท้ายตอน ม.5 เฉลี่ย ประมาณเดือนละเกือบ 1 พันบาท จึงขออนุมัติที่เดือนละ 1000 บาท พ่อ โอ เค

     หลังจากรวมกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จิปาถะ แล้ว รวม หกหมื่นหกพันกว่าบาท   มาถึงตอนนี้ คำถามที่เขาถามพ่อ คือ “ถ้าหนูคำนวณผิดพลาด จะขอเพิ่มระหว่างปีได้หรือไม่(ฟังดูเหมือนจะขอเบิกงบกลาง)” คำถามนี้สะท้อนว่าเขามีการวิเคราะห์ความเสี่ยงนะครับ  พ่อตอบว่า “ไม่ควรน่ะ”  แต่ถ้าหนูกลัวผิดพลาด ก็เพิ่มอีก 1 รายการ คือ “เบ็ดเตล็ด/อื่น ๆ  อีกสัก 10 % ก็ได้  ซึ่งในที่สุดก็อนุมัติงบประมาณปี 2550 กันที่ 72,000 บาท หรือตกเดือนละ 6,000 บาท โดยพ่อจะโอนเข้าบัญชีเป็นรายไตรมาส....เดือนเมษายน 2551 คือเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 4 (ผมเริ่มนับที่เปิดเทอม คือ เดือนพฤษภาคม เป็นการเริ่มไตรมาสที่ 1)....การสอนให้ลูกวางแผนและบริหารจัดการตนเองเช่นนี้ เกิดผลดีอย่างยิ่งนะครับ  ปัจจุบัน ผมคิดว่า เขาเก่งขึ้นมากในเรื่อง “การบริหารจัดการการเงิน”  เริ่มมีการกำหนดเป้าหมายว่าจะต้องคงเงินในบัญชีให้เหลือเท่าไร เพื่อเป็นเงินออม   ...และในวันนี้ พ่อ ได้ตกลงกับเขาว่า “ถ้าลูกไปเรียนที่ ม.ธรรมศาสตร์ ปี 1 เมื่อครบภาคเรียนที่ 1 ให้ใช้ข้อมูลเทอม 1 เพื่อประมาณการวงเงินค่าใช้จ่ายระยะ 4ปี ให้พ่อรับทราบด้วย  รวมทั้งหากเป็นไปได้ ควรสำรวจข้อมูลและประมาณการค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนในระดับปริญญาโทและเอก แจ้งให้พ่อทราบด้วย เพื่อพ่อจะได้เตรียมเงินไว้ให้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนจนจบสูงสุด

........ผมเชื่อว่า ถ้าเด็กเริ่มวางแผน และบริหารการเงินรายเดือน หรือรายปีเป็น เมื่อจบไปทำงาน “น่าจะไม่มีหนี้สิน”

 

 

การสอดแทรกค่านิยม ให้เขาตัดสินใจเลือกอนาคตของตนเอง

        สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามปลูกฝังในชีวิตลูก คือ การฝึกให้ตัดสินใจเลือกอนาคตของตนเอง วิธีการที่ใช้ ก็ทำแบบตรงไปตรงมา คือ เล่าให้เขาฟังว่า พ่อมีความเชื่อว่า “ชีวิตกำหนดได้ด้วยตนเอง”  “ชีวิตเรา ต้องตัดสิน หรือเลือกด้วยตนเอง”  “คุณย่า ไม่เคยกำหนดชีวิตของพ่อ พ่อเลือกและตัดสินใจเองเสมอ”

.....คำถามที่ผมใช้ถามลูกบ่อย คือ  “แล้วลูกจะเลือกอะไร  ด้วยเหตุผลอะไร”

.....ผลที่ปรากฏ ที่สอนให้เขา “คิดเอง เลือกอนาคตตัวเอง”  คือ เขาเป็นนักเรียนห้องคิงส์ ตอนเรียน ม.1-3 แต่เมื่อขึ้น ม.4 เขาตัดสินใจที่จะเลือกเรียนสายศิลป์-เยอรมัน(เพราะชอบด้านภาษาทั้ง ๆ ที่เพื่อนเกือบทั้งห้องเลือกเรียนสายวิทย์ และครูแนะแนวก็เสนอว่าน่าจะเรียนสายวิทย์ฯ เพราะเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้กว้างกว่า  คำตอบที่เขาตอบครูก็คือ “หนูตั้งใจจะเป็นนักอักษรศาสตร์ ก็เลยไม่จำเป็นที่จะเรียนเผื่อเลือกอีก” )...ในการ Entrance ปีนี้ เขาสอบได้คะแนนรวม 8 พันกว่าคะแนน(ประมวลจาก GPAX  GPA O-NET  A-NET  คะแนนเต็ม 10000 คะแนน) ซึ่งสามารถเลือกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้  แต่คำตอบ คือ “หนูจะเลือกเรียน วิชาเอก ภาษารัสเซีย ซึ่งมีอยู่ที่เดียวคือ ม.ธรรมศาสตร์ ดังนั้น หนูจะเลือก ม.ธรรมศาสตร์” ไม่ว่าใครจะจูงใจอย่างไร เขาก็ยืนยันที่จะเลือกตามที่เขาตั้งเป้าไว้แล้วตั้งแต่เริ่มเรียน ม.5   “เขากล้าที่จะตัดสินใจเลือกอนาคตของตนเอง” (ท่านอาจติดตามอ่านเรื่องนี้ ในอนุทินของผม ที่เขียนบันทึกในหัวข้อที่ว่า “ลูกตัดสินใจเลือกอาชีพ...มากกว่าเลือกมหาวิทยาลัย”)

 

.....สำหรับในตอนต่อไป ผมจะเน้นเล่าเรื่อง “แม่ ป.4 ปลูกฝังค่านิยม และ คุณลักษณะในตัวลูก เป็น เรื่อง ๆ ไป” (จะอย่างไรก็ตาม ขอออกตัวก่อนว่า ไม่ใช่ว่าผมจะดีเด่นอะไร แต่เจตนาของผม คือ พยายามจะเล่าวิธีการที่แม่คนหนึ่ง ที่มีความมุ่งมั่นและมีวิธีการเป็นของตนเองในการพัฒนาเรา จนช่วยให้เรา(ผมและพี่-น้อง)อยู่ในสังคมได้ตามสมควรแก่ฐานะ

หมายเลขบันทึก: 178540เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2008 19:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สมัยก่อนตอนเป็นเด็กนักเรียนได้วันละ ๑๐ บาทครับ

สวัสดีค่ะตอนนี้ดิฉันก็เริ่มเรียน ดร.ตอนนี้อายุ 30 ปี พ่อแม่ก็เรียนจบ ป.4 ค่ะภูมิใจพ่อแม่มากค่ะ

ศิริพร หย่องบางไทร

อ่านแล้วได้ข้อคิดคะ ... อยากให้พ่อแม่รุ่นใหม่...หรือเด็กๆรุ่นใหม่ได้อ่านเรื่องนี้คะ

จริงๆ การวางแผนและบริหารจัดการกับตัวเอง มันเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ

แต่จะมีสักกี่คนที่นำคำสอนของแม่ และคำสอนของพ่อที่สอดแทรกสิ่งเหล่านี้

อยู่มาใช้ในชีวิตบ้าง....อ่านแล้วนึกถึงคำสอนของพ่อเช่นกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท