ยกระดับการพัฒนา "ชุมชน"และ "ชุมคน"


การทำงาน"ชุมชน"คงยังไม่เพียงพอหากเราละเลยกับการทำงานกับ "ชุมคน"

การทำงานชุมชนมีฐานคิดบนคำถามร่วมที่ว่า เราจะสร้างระบบชุมชนให้เข้มแข็งได้อย่างไร? ที่ต้องเน้นว่าชุมชนเป็นระบบนั่นหมายถึงว่า ชุมชนไม่ใช่หน่วยเดียวที่อยู่โดด ๆ ไม่ใช่แค่เป็นพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่มาอาณาเขตชัดเจนหรือพื้นที่รูปธรรมหากแต่รวมถึง ชุมคน อันประกอบขึ้นจากกิจกรรมที่หลากหลายของคนที่มาอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นทั้งความสัมพันธ์เชิงบวกและเชิงลบ ในแต่ละชุมชนนอกจากประกอบด้วยองค์ประกอบทางกายภาพที่เป็น อาณาเขตพื้นที่ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ อากาศ และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้ง บ้านเรือน ถนนหนทาง วัด สะพาน รถยนต์ กองขยะ ฯลฯ และหากมองชุมชนในเชิงโครงสร้างจะพบว่าชุมชนมีโครงสร้างหลักที่เป็นสถาบันทางสังคมอยู่แต่ละสถาบันมีหน้าที่เป็นตัวกำกับ กล่าวคือ

1.  สถาบันครอบครัว : เป็นหน่วยที่เล็กที่สุด แต่กลับมีความสำคัญมากที่สุดในการเป็นจุกเริ่มแรกที่จะหล่อหลอมให้คนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

2.  สถาบันศาสนา : เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ของคนที่มีความคิด ความเชื่อเหมือนหรือแตกต่างกันให้มีกิจกรรมร่วมกันผ่านพิธีกรรม ความเชื่อ และหลักธรรมคำสอนของแต่ละศาสนาซึ่งล้วนแล้วแต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นคือ ให้ทุกคนเป็นคนดี และการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น

3.  สถาบันการศึกษา : มีหน้าที่ในการหล่อหลอมสร้างคนจาก ความไม่รู้ให้กลายเป็นผู้รู้ ซึ่งบทบาทหลักนั้นเดิมมีวัดเป็นศูนย์กลางแต่ปัจจุบันถูกผลักภาระไปสู่โรงเรียนที่มีอยู่ทั้งในและนอกชุมชน การศึกษานอกระบบถูกลดทอนความสำคัญลงอย่างต่อเนื่อง

4.  สถาบันเศรษฐกิจ :  เป็นกงล้อสำคัญที่ทำให้ชุมชนขับเคลื่อนและทำให้สถาบันหรือหน่วยย่อยอื่นในชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งในเรื่องรายได้ รายจ่าย หนี้สิน เงินออม

5.  สถาบันการปกครอง : มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลให้สมาชิกของชุมชนอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีข้อพิพาท ซึ่งแต่เดิมมีทั้ง ระบบอาวุโส บทบาทหน้าที่หญิง-ชาย ผู้นำทางธรรมชาติและทางจิตวิญญาณ แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง สถาบันนี้ถูกลดทอนความสำคัญและถูกยึดโยงเข้ากับความสัมพันธ์กับราชการที่ใช้อำนาจปกครองผ่านตัวบุคคลที่เป็นตัวแทนรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต.

6.  สถาบันนันทนาการ : มีหน้าที่ในการดำรงสถานภาพและสานต่อความสัมพันธ์ของสมาชิกชุมชนผ่านกิจกรรมที่หลากหลายในรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ประเพณี วัฒนธรรม กิจกรรมประจำปี การละเล่นประจำถิ่น ซึ่งแต่ละชุมชนล้วนมีอัตลักษณ์แตกต่างกันไป

การมุ่งจัดการชุมชนโดยรัฐที่มีการจัดการแบบแยกส่วนและละเลยการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกขั้นตอนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้าง และหน้าที่ของสถาบันทางสังคมที่มีอยู่ เมื่อโครงสร้างและหน้าที่ที่มีอยู่เดิมถูกเปลี่ยนแปลงไปและปราศจากการจัดการที่ดีจึงส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ที่มีอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลถึงสะท้อนออกมาในรูปของปัญหาสังคมในมิติต่างๆ กล่าวคือ ความสัมพันธ์คนในครอบครัวเหินห่างมากขึ้น พ่อแม่ต้องไปทำงานแต่เช้า ลูกต้องไปโรงเรียน ไม่มีเวลาคุยกัน ต่างคนต่างอยู่ เกิดปัญหาหย่าร้าง ภาวะความเครียดจากหนี้สิน ห่างเหินศาสนามากขึ้น มีเวลาไปทำบุญน้อยลง ผลักภาระการดูแลลูกให้เป็นหน้าที่ของครู เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการการผลิตจาก เกษตรชีวภาพ สู่เกษตรเชิงเดี่ยวที่เสี่ยงต่อการลงทุน ราคาพืชผลตกต่ำ ใช้สารเคมีในปริมาณสูงขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ต้องทำงานมากขึ้นขาดการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างเครือญาติ วัดไม่มีปัจจัยใช้ก่อสร้าง เยาวชนติดอบายมุข ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย มุ่งเรียนให้จบเพื่อไปเป็นมนุษย์เงินเดือน ย้ายถิ่นเข้าสู่เมืองใหญ่ เกิดปัญหาทางเพศ และเอดส์ ปัญหาอาชญากรรม ปล้น จี้ ทำแท้ง มีการเมืองแบ่งขั้ว เกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ เกิดความขัดแย้งทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชนและสังคม หลายชุมชนเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หลายชุมชนสำเร็จ หลายชุมชนล้มลุกคลุกคลาน หลายชุมชนลองผิดลองถูกอย่างไร้ทิศทาง อ่อนล้า เนื่องจากการจัดการความรู้ระดับชุมชนเองยังไม่เกิดอย่างครบถ้วนกระบวนความ จึงขอนำเสนอ ทิศทางการยกระดับการทำงานชุมชนและชุมคน ดังนี้

1.         ควรต้องทำความเข้าใจต่อปัญหาการทำงานชุมชนที่ผ่านมาว่า

v   คนข้างนอกมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น แต่มองไม่เห็นศักยภาพของชุมชน

v   คนทั่วไปมองเห็นตัวเลขเชิงสถิติ เชิงปริมาณ แต่มองข้ามมิติความเป็นมนุษย์

v   คนทั่วไปเน้นที่ผลลัพธ์ที่จะเกิดเกิดขึ้น แต่ละเลยกระบวนการ โดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้

v หลายๆ คนมีความชำนาญด้านการใช้ข้อมูลและทักษะเฉพาะด้าน แต่เก็บข้อมูลและทักษะเหล่านั้นไว้ส่วนตัว ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ส่วนรวม

2.    ควรต้องทำความเข้าใจและทำใจต่อความหลากหลายของคนที่อยู่ในชุมชน เพราะ คนจะหมายถึงการทำให้เข้ากัน ของสิ่งของสิ่งขึ้นไป การที่คนหลายประเภทมาอยู่ร่วมกันจึงเกิดมีความหลากหลาย ในแต่ละชุมชนมีคนอยู่อย่างน้อย 6 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้

v   หัวไวใจสู้

v   รอดูทีท่า

v   เบิ่งตาลังเล

v   หันเหหัวดื้อ

v   งอมือจับเข่า

v   ไม่เอาไหนเลย

3.    คนทำงานควรต้องมุ่งสร้างระบบชุมชนเข้มแข็งอันประกอบด้วยอย่างน้อย 3 ระบบย่อย กล่าวคือ 1) ระบบบริหารจัดการองค์กร 2)ระบบข้อมูลการสื่อสาร 3)ระบบการจัดการความรู้ โดยควรต้องมีระดับการจัดการตั้งแต่ การจัดการตนเอง การสร้างเครือข่ายระดับชุมชน และการจัดการระดับท้องถิ่น

4.    ควรต้องยกระดับ กระดาษทดเป็นกระดาษครุฑ  ชุมชนต้องเปลี่ยนวิถีที่เคยทำหรือสิ่งที่มีอยู่อย่างเคยชิน เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมภาครัฐ เช่น มีการบันทึกการประชุม มีเอกสารรับรอง มีระบบบัญชี มีระบบควบคุมตรวจสอบ มีการบันทึกลายลักษณ์อักษร เป็นต้น

5.    จริงจังกับระบบข้อมูล มองปัญหาด้วยชุมชนด้วยกระบวนการอริยสัจ 4 คือค้นหาปัญหา(ทุกข์) วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา (สมุทัย) กำหนดเป้าหมายหรือจุดหมาย(นิโรธ) และแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหาที่หลากหลาย (มรรค) วิเคราะห์ข้อมูลให้เป็นและต้องทราบให้ได้ว่านำข้อมูลแต่ละประเภทมาใช้เพื่ออะไรหรือตอบโจทย์ใด ต้องมีการจำแนกแยะแยะผู้มีส่วนได้เสีย (Stake holder) ข้อมูลใดที่เหมาะสมเฉพาะกับ ชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และราชการ และท้ายที่สุดต้องฝึกการใช้ข้อมูลเชื่อมโยงให้เป็นเพื่อตอบโจทย์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง

6.    มีการสื่อสารเป็นขั้นเป็นตอน ควรต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้มีส่วนร่วม ร่วมกิจกรรมในลักษณะใดคือ การให้รับรู้ การเกิดความเขาใจ การยอมรับ การร่วมมือ การสนับสนุน ต้องการให้เขา เกิดการเปลี่ยนแปลงด้าน ความรู้ มีความตระหนัก เกิดทัศนคติเชิงบวก หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

7.    แปลงแนวคิดสู่การจัดการนำสิ่งที่มีอยู่มาจัดการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาโดยอาศัยแผนกลยุทธ์ หรือแผนแม่บทชุมชนนำไปเชื่อมโยงสู่แผนท้องถิ่น ปรับปรุงใหม่เหมาะสมตามสถานการณ์ ไม่ปล่อยให้แผนที่วางไว้เป็น Planning คือ แผนนิ่งอยู่กับที่ เพราะไม่ได้เอามาปฏิบัติ

8.    เรียนรู้การทำงานร่วมกับภาคีที่แตกต่าง ต้นหาความแตกต่างระหว่างองค์กร ค้นหาจุดยืนของตนเอง ลบเหลี่ยมลบมุม หันหน้าเข้าหากัน อย่ายึดติดหลักการเกินไป ปรับให้เป็นภาษาเดียวกัน กำหนดทิศทางร่วมกัน ทั้งภาษารัฐ ชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ต้องสร้างความเข้าใจเพื่อการเข้าถึงในการสร้าง สัมมาพัฒนา ลด  มิจฉาพัฒนา ร่วมกันทลายกำแพงกั้นความสามัคคีซึ่งมีทั้ง ความช่างเลือก การตีความไม่ตรงกัน การรู้ดีเกิน สภาพความจริงกับความรู้สึกที่ไม่ตรงกัน การมองไม่เห็นความแตกต่าง การยึดติดไม่ยอมเปลี่ยนแปลง สุดโต่ง เป็นต้น

9.    หาต้นแบบในการเรียนรู้ ประเมินความเหมาะสมของชุมชนหรือบุคคลต้นแบบ ว่ามีความเป็นมา เป็นอยู่ และกำลังจะเป็นไปอย่างไร เพื่อนำมาปรับใช้ ไม่ใช่ลอกเลียนมาใช้ทั้งหมดลดเกียรติ ลดศักดิ์ศรี ยอมเป็นคนไม่รู้บ้าง ยอมรับจุดดีของผู้อื่น ยอมรับจุดอ่อนของตนเอง นำมาขยายผลร่วมกัน จากกลุ่มเดิม ให้มีการขยายขนาดขึ้น มีการขยายกลุ่มใหม่ และท้ายสุดคือการขยายประเด็นให้กว้างขึ้นจนครอบคลุมทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง

10.  ใช้ 3 พลังขับเคลื่อนคือ ความรู้ (Knowledge) สังคม(Social) นโยบาย (Politic) กระบวนการพัฒนาควรเกิดจากภายในจะมีความมั่นคงกว่า มีความเป็นลำดับขั้นตอน และพึ่งตนเองให้มากที่สุด สร้างการทำงานให้เกิดผลในระดับพื้นที่ นำกระบวนการและผลที่เกิดขึ้นสื่อสารให้สังคมได้รับทราบ เน้นการสื่อสารทางราบมากกว่าอิงสื่อกระแสหลัก และขอรับการสนับสนุน/ผลักดันทางนโยบาย

11.     มีการจัดการความรู้ท้องถิ่น กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาดังนี้

11.1            พัฒนาคนและองค์กรท้องถิ่น

11.2            ฟื้นฟูบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

11.3            พัฒนาระบบการศึกษาและวัฒนธรรม

11.4            พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน การเกษตร

11.5            พัฒนาระบบสวัสดิการ

11.6            พัฒนาระบบสุขภาพ

11.7            พัฒนาพลังงานทดแทน/พลังงานหมุนเวียน

11.8            พัฒนาแผนงานข้อมูล และสื่อท้องถิ่น

11.9            ฯลฯ

12.  ควรต้องทำความเข้าใจว่าชุมชนมีพลวัตร มีความเคลื่อนไหว และมีชีวิต อันเปรียบเสมือนร่างกายที่ประกอบด้วยระบบและอวัยวะที่สำคัญ กล่าวคือ

12.1            สมอง : หมายถึง โลกทัศน์ อุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อ รากเหง้า ประวัติศาสตร์หลากหลายของชุมชน

12.2            ใจ : ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของชุมชนที่ทำให้ชุมชนเกาะเกี่ยวกันอยู่

12.3            หู,ตา,ปาก : การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันทั้งแนวดิ่งและแนวราบ

12.4            ท้อง : แบบแผนการผลิต/สวัสดิการชุมชน เน้นการทำมาหากินมากกว่าทำมาหาเก็บ

12.5            มือ : การจัดการเชิงสถาบัน การมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีท้องถิ่นในการพัฒนาและแก้ปัญหา

12.6            เท้า : ระบบนิเวศท้องถิ่น ฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ

13.  สร้างอัตลักษณ์หรือลักษณะเด่นของชุมชนจากสิ่งที่มีอยู่ ให้เป็นที่เข้าใจง่าย ยกตัวอย่างเช่นชุมชนพื้นบ้านภาคเหนือบางแห่งได้กำหนดกระบวนการพัฒนาชุมชนของตนเอง ดังนี้

13.1          ฮอมแฮง : ระดมทุนทางสังคมที่มีอยู่ก่อนที่จะพึ่งพาภายนอก

13.2          แป๋งทุน : สร้าง/ระดมทุนจากภายในให้ชุมชนมีส่วนร่วม

13.3          หนุนเสริม : พัฒนาระบบที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพ

13.4          เติมปัญญา : เชื่อมร้อยกระบวนการขององค์กรชุมชนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

13.5          หาเป้า : กำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์การพัฒนา

13.6          เอาหมู่ : เชื่อมประสาน ทำงานร่วมกัน

13.7          สู่งาน : มีกระบวนการจัดการความรู้ในรายละเอียดงานแต่ละประเภท

13.8          บันดาลสุข : สร้างหลักประกันชีวิต ระบบสวัสดิการสังคมที่ดี

14.  การสร้างความเข้าใจกับภาครัฐให้ ลดการสั่งการ ควรปลดเงื่อนไขด้านเวลา ควรทบทวนบทเรียนภาครัฐ กำหนดบทบาท/เงื่อนไขร่วมกับประชาชน มีการรับรองเรื่องสิทธิชุมชน เข้าใจวิถีชุมชน แต่ควรเผื่อใจไว้ล่วงหน้าว่า เราเอาคนให้ออกจากราชการได้ แต่ทำให้คนเลิกคิดแบบราชการเป็นเรื่องที่ยาก(มาก)

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท