เหตุเกิดที่ “บ้านหลวง”


หลังเหตุการณ์หน่อไม้ปิ๊บแล้ว ทีมงานสุขภาพอำเภอบ้านหลวง ก็ได้ถือโอกาสแปรวิกฤติเป็นโอกาส จัดกระบวนการประชาคมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจะพัฒนาระบบการจัดการอาหารที่ปลอดภัยของชุมชนขึ้น

            เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้บ้านหลวง ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดน่าน เกิดเป็นข่าวครึกโครมอีกครั้ง กรณีมีผู้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษในวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๑ จากการกินอาหารในงานเลี้ยงของหมู่บ้าน โดยมีผู้ร่วมรับประทานอาหารด้วยกันประมาณ ๓๐๐ คน ประเภทอาหารได้แก่ แกงจืดลูกชิ้นปลา แครอท ผักกาดขาว และเห็ดหอม หลังจากนั้นประมาณ ๒-๘ ชั่วโมง มีผู้มีอาการผิดปกติ อาการชาตามริมฝีปาก ชาตามแขนขา ลิ้น และแน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะอาเจียน ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลบ้านหลวงจำนวน ๒๐๑ ราย ในจำนวนนี้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลบ้านหลวง ๒๗ ราย และโรงพยาบาลน่าน ๖๗ ราย รวม ๙๔ ราย ขณะนี้ทีมสุขภาพสามารถดูแลรักษาและควบคุมการระบาดของโรคได้ หากตามไปดูระบบการจัดการอาหารในงานเลี้ยงของชาวบ้านหลวงนับว่าอยู่ในระดับที่ดี เป็นตัวอย่างระดับ Best Practice ของการจัดการเรื่องอาหารปลอดภัยของชุมชนเลยทีเดียว แต่เหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทีมสอบสวนโรคระบุว่าน่าจะเกิดจากมีสารพิษที่ปนเปื้อนมากับลูกชิ้นปลา เพราะกระบวนการจัดทำอาหารนั้นสุก สะอาดดีแล้ว

      หากย้อนไปเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๙ อำเภอบ้านหลวงก็เกิดกรณีชาวบ้านที่ไปร่วมงานนมัสการพระธาตุเมล็ดข้าวประจำปีของอำเภอ ก็มีการเลี้ยงอาหารตามธรรมเนียม ปรากฏว่าหน่อไม้ปิ๊บมีการปนเปื้อนเชื้อโบทูลิซึ่ม เกิดการป่วยหมู่เป็นจำนวนมาก ต้องระดมทีมแพทย์และสาธารณสุขเข้าไปช่วยเหลือทั้งใน ต่างจังหวัด และต่างประเทศ ถึงขั้นต้องส่งผู้ป่วยที่สาหัสเข้าไปรักษาที่กรุงเทพฯ โดยการลำเลียงผ่านเครื่องบิน ซี ๑๓๐ ของกองทัพอากาศ นับเป็นประวัติศาสตร์การดูแลผู้ป่วยครั้งสำคัญ โดยที่ไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่คนเดียว

            หลังเหตุการณ์หน่อไม้ปิ๊บแล้ว ทีมงานสุขภาพอำเภอบ้านหลวง ก็ได้ถือโอกาสแปรวิกฤติเป็นโอกาส จัดกระบวนการประชาคมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจะพัฒนาระบบการจัดการอาหารที่ปลอดภัยของชุมชนขึ้น จนเกิด สารวัตรอาหารของชุมชน ขึ้นมาดูแลการจัดทำอาหารในงานเลี้ยงต่างๆ ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานศพก็ตาม และกำหนด มาตรการทางสังคม ในระดับอำเภอขึ้นมากำกับอีกที เช่น อาหารที่จะประกอบเลี้ยงแขกผู้ร่วมงานต้องเป็นอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน  และสะอาดเท่านั้น ไม่นำอาหารดิบๆสุกๆ  หรืออาหารที่ปรุงไม่สะอาดนำมาขึ้นโต๊ะเลี้ยงแขกผู้ร่วมงาน ไม่นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นเหล้า  เบียร์  มาเลี้ยงแขกในงานศพ  กรณีการฆ่าสัตว์ในการประกอบอาหาร  ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทราบและตรวจเบื้องต้นก่อน เป็นต้น นอกจากนี้เจ้าภาพต้องแจ้งรายการอาหารและแจ้งการจัดทำอาหารกับหน่วยงานสาธารณสุขก่อนทุกครั้ง ผลการดำเนินการทำให้ระบบการจัดการมีความสะอาดปลอดภัย และลดค่าใช้จ่ายของเจ้าภาพลง เกิดความพึงพอใจของชุมชนเป็นอย่างดียิ่ง นี่...เป็นผลงานระดับห้าดาวที่ทีมสุขภาพอำเภอบ้านหลวงได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นหลังเหตุการณ์วิกฤติหน่อไม้ปิ๊ปในครั้งนั้น

            และในอดีตชาวบ้านหลวงก็ได้สร้างตำนานการต่อสู้เพื่อรักษาป่ามาแล้ว เมื่อราวปี ๒๕๑๘ ชาวบ้านหลวงในนาม กลุ่มบ้านหลวงหวงป่าได้ลุกขึ้นมาต่อต้านนายทุนที่เข้าไปสัมปทานป่าในเขตอำเภอบ้านหลวงให้ยกเลิกการสัมปทานป่าไปในที่สุด สามารถหวงแหนป่าอันอุดมสมบูรณ์ไว้ให้ลูกหลานมาจนบัดนี้ เป็นตำนานที่กลุ่มอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมได้ยึดเอาเป็นแบบอย่างมาจนทุกวันนี้

            นี่แหละเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่บ้านหลวง ในแง่มุมของความดีงามและการต่อสู้เพื่อการอยู่รอด การอยู่ร่วม และการอยู่อย่างมีความหมายของคนบ้านหลวง

 

 

คำสำคัญ (Tags): #อาหารเป็นพิษ
หมายเลขบันทึก: 178495เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2008 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับพ่อน้องซอมพอ

-เป็นอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจของคนบ้านหลวงนะครับ

-หลังจากที่ได้ดูข่าวหน่อไม้อัดปี๊บแล้วก็น่ากลัวเหมือนกันนะครับ พอหลายปีเข้าคนก็ลืม ๆ และก็คงจะละเลยความสะอาดและความปลอดภัยเหมือนอย่างเคย........ต้องช่วยกันรณรงค์อย่างจริงจังครับ....

มาติดตามให้กำลังใจ ในฐานะคนเมืองน่าน...เป็นกำลังใจให้คนบ้านหลวงตวยเน้อเจ้า!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท