ความสำคัญของปีใหม่เมืองที่มีต่อคนเมือง สิ่งที่ได้จากการทำบุญสงกรานต์
1. เป็นการแสดงความเคารพบูชาต่อสิ่งที่ตนเคารพ ต่อบิดามารดา และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
2. เป็นการชำระจิตใจ และร่างกายให้สะอาด
3. เป็นการรักษาประเพณีมาแต่เดิม
4. เป็นการสนุกสนานรื่นเริงในรอบปี และพักจากงานประจำชั่วคราว เพื่อจะไปพักผ่อนหย่อนใจ
5. เป็นการเตือนสติว่ามนุษย์นั้นผ่านไป ๑ ปีแล้วและในรอบปีที่ผ่านมา เราได้ทำอะไรบ้างและควรจะทำอะไรต่อไปในปีที่กำลังจะมาถึง
6. เป็นการเตรียมตัวบวช ถ้าเป็นผู้ชายโดยเอาระยะเวลานี้บวชกัน เพราะหลังสงกรานต์ต้องเตรียมตัวทำนาแล้ว
7. เป็นการทำความสะอาดพระ โต๊ะบูชา บ้านเรือน ทั้งในและนอกบ้าน
กิจกรรมของคนเมืองในช่วงปีใหม่เมือง
หนังสือองค์ความรู้ประเพณีปีใหม่เมือง (2549) โดยโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา กล่าวถึงกิจกรรมของคนเมืองในช่วงปีใหม่เมือง สรุปได้ดังนี้
วันสังขารล่อง
วันสังขารล่อง หรือสงกรานต์ล่อง หรือสังขานต์ล่อง ถือเป็นวันส่งท้ายศักราชเก่า คนเมืองจะตื่นแต่เช้าเป็นพิเศษ ก่อนตีนฟ้ายก เช้ามืดจะมีการยิงปืน จุดประทัด เพื่อไล่สิ่งที่ไม่ดีไปกับสังกรานต์ สายๆ จะทำความสะอาดบ้านเรือน บ่าย ชำระล้างร่างกายให้สะอาด แต่ตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่
วันเนา หรือวันเน่า
เป็นวันที่พระอาทิตย์เนาอยู่ระหว่างราศีมีนกับราศีเมษ ในทางทางโหราศาสตร์ คือไม่ดี ไม่ส่งเสริมสิริมงคล วันนี้จะคึกคักเป็นพิเศษ ตั้งแต่เช้ามืด เป็นวันจับจ่ายซื้อของจำเป็นต้องใช้ในประเพณีปีใหม่ มีการเตรียมอาหารคาวหวาน เช่น ขนมจ็อก ห่อนึ่ง แกงฮังเล หรืออื่นๆ เพื่อจะเอาเป็นทำบุญที่วัดในวันพญาวัน และเอาไปดำหัวผู้ใหญ่ ช่วงสายๆ จะไปชุมนุมกันเพื่อเล่นน้ำปีใหม่ ที่สำคัญมากของวันนี้ คือ เป็นวันขนทรายเข้าวัด เพื่อเป็นการก่อพระเจดีย์ทราย ขนมที่นิยมทำกันในช่วงปีใหม่ได้แก่ ขนมจ็อก ขนมชั้น ขนมเกลือ ขนมตายลืม ขนมลิ้นหมา ขนมวง และขนมกล้วย
วันพญาวันหรือพระญาวัน
เป็นวันที่มีความหมายต่อคนเมืองมาก เป็นวันยอดม้อน เป็นวันที่ดีที่สุดในรอบปี มีกิจกรรมตามความเชื่อในวิถีชีวิต ความเชื่อในพิธีกรรม ไสยศาสตร์ เช่นการเลี้ยงผีครู การนำเครื่องรางมาล้างนำสิ่งที่ไม่ดีออกไป การสักคาถา ยันต์ต่างๆ ตามร่างกาย ถือเป็นการเพิ่มความขลัง วันนี้เป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนาตั้งแต่เช้าตรู่ มีการถวายภัตตาหารให้กับคนตาย ที่เรียกว่า ทานขันข้าว ทานตุง หรือถวายตุงปักเจดีย์ทราย ดำหัว คารวะผู้ใหญ่ การส่งน้ำพระธาตุ พระสถูปเจดีย์ พระพุทธรูป การทานไม้ค้ำสะหลี หรือไม้ค้ำโพธิ์ มีการทำบุญใจบ้าน คือบริเวณที่ตั้งของเสาบ้าน หรือ สะดือบ้าน
วันปากปี
กิจกรรมเริ่มที่วัดของแต่ละหมู่บ้าน มีการบูชาข้าวลดเคราะห์ ช่วงสายเป็นการทำพิธีส่งเคราะห์บ้าน และสืบชะตาบ้าน กระทำที่กลางหมู่บ้าน ในช่วงสายๆ 8-9 โมงเป็นต้นไป ช่วงค่ำ กระทำที่บ้านเรือนของตน มีการจุดเทียนบูชาบ้านเรือน หรือเรียกว่าต๋ามเตียนปู่จาพระเจ้า ใช้เทียนสามเล่ม คือเทียนบูชาลดเคราะห์ เทียนบูชาสืบชะตา และเทียนบูชาโชคลาภ บาง ท้องถิ่นจะมีการต๋ามขี้สายเท่าอายุ (การจุดเส้นไฟเท่าจำนวนอายุ)
วิธีการดำหัว
นำพานดอกไม้เข้าประเคน หรือพวกที่ไปด้วยนำเครื่องสักการะอื่นเข้าประเคนด้วย ส่วนของที่ใหญ่กว่าเกินกว่าจะประเคนผู้เดียว ให้วางไว้แผนกหนึ่ง สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ สะหลุงน้ำขมิ้นส้มป่อย ต้องนำประเคนพร้อมกับพานดอกไม้ธูปเทียน ตามฮีตล้านนา ไม่นำน้ำขมิ้นส้มป่อยรดมือผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่จะนำเอาน้ำขมิ้นส้มป่อยมาลูบศีรษะ เพื่อความเป็นศิริมงคล
คำให้พรปีใหม่ (แบบสั้น)
ระวิสังขารปีเก่า อติกันโตก็ข้ามล่วงไปแล้ว ปีใหม่แก้วก็มาเถิงเติงทัน ขอหื้อท่านทั้งหลายหายทุกข์โศกเศร้า แล้วได้อยู่สุขกายสบายใจ คิดอันใดหื้อสมฤทธิ์ ชุเยื่องชุประการนั่นจุ่งจักมี
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พลัง
สวัสดีครับ คุณผึ้งงาน
สวัสดีค่ะคุณประจักษ์
สวัสดีค่ะคุณโรงเรียนพ่อแม่
· เชียงใหม่ตอนนี้ก็ยังเล่นน้ำสนุกอยู่ค่ะ แต่ไม่แช่มชื่นใจในประเพณีเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อนเหมือนที่คุณบอก เทียบไม่ได้เลยค่ะ .
· สมัยก่อน..น้ำที่ใช้สาดกันไม่เรียกว่าสาดน้ำ เรียกว่าเล่นน้ำแบบนุ่มนวล โดยค่อยๆเทน้ำลงที่ไหล่ฝ่ายตรงข้าม จะมีดอกมะลิหรือกลีบดอกกุหลาบค้างอยู่ที่ไหล่ ให้หอมชื่นใจอยู่เลย...ตอนนี้พบได้ยาก...แต่ก็ยังมีอยู่ค่ะ.
· ทุกอย่างเปลี่ยนตามยุคสมัย แต่ส่วนราชการและทุกฝ่ายก็พยายามอนุรักษ์ประเพณีที่ดีงามไว้ค่ะ.
· ดีใจมากที่แวะมาเยี่ยมค่ะ.
· ขอให้คุณและครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขมากๆค่ะ.
สวัสดีเจ้า...ครูสุ
· ดีใจ๋จ๊าดนัก...ตี้ครูสุแวะมาเยี่ยมเจ้า.
· การรดน้ำดำหัวประเพณีเดิม เป็นการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินเพื่อเป็นการอโหสิกรรม และแสดงความกตัญญูและขอพรผู้สูงอายุ พ่อแม่หรือญาติที่เคารพนับถือ ท่านจะแสดงธรรมเมตตาแก่ผู้มาคารวะท่าน เมื่อให้พรแล้วก็นำน้ำขมิ้นส้มปล่อยนั้น ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งมงคลมาแตะส่วนศีรษะ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่สูงสุด
· มีความสุขมากจริงๆค่ะ และอยากให้คงประเพณีนี้ให้คงอยู่ต่อไป
· ครูสุได้ทำบุญที่เชียงใหม่ คงมีความสุขเช่นกันเนาะ.
· ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมและยืนยันประเพณีที่ดีงาม....เจ้า.
สวัสดีเจ้า...ท่านอาจ๋านทนัน
สวัสดีเจ้าท่านอาจ๋านหนัน
· ฮูบตี้เอามาลงนี้เป็นพิธีก๋ำตี้วัดศรีบุญยืน จังหวัดหละปูนเจ้า เป็นวันปากปี วันที่16 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งวันนี้ทุกบ้านจะแก๋งขนุนซึ่งสื่อความหมายว่า มีแต่โชคลาภหนุนนำตลอดปี เป็นความเชื่อที่ทำกันมานาน(ไม่รู้ว่าใคร?เริ่มก่อนเนาะ)
· บ่อถนัดเขียนกำเมือง...สุมมาเน้อเจ้า...
· ซึ่งเป็นประเพณีที่เก่าแก่สืบทอดกันมา มีตะกร้าที่ใส่เสื้อผ้าตัวโปรดของทุกคนในบ้านคนละ 1 ตัว ส่วนข้างบนตะกร้าจะเป็นกระทงที่ใส่ของอย่างละ 9 ชิ้น มีใบเงิน ใบคำ ใบก้ำ ใบหนุน ข้าวเหนียวก้อนเล็กๆ(ข้าวลูกเคราะห์) ขนม อาหาร ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน และมีตุงสีๆ หลากหลาย พร้อมร่มกระดาษ(แทนฉัตร)
· ทุกคนจะนำตะกร้ามารวมกันหน้าวิหารและล้อมรอบด้วยด้ายสายสินธุ์ พระทำพิธีสวดเพื่อสะเดาะเคราะห์
· ในขณะทีพระสวดได้สักพัก แต่ละคนก็จะทะยอยกันลงจากวิหารไปจุดไฟเผาด้ายซึ่งเป็นตัวแทนเท่าจำนวนคนในบ้านรวมทั้งสัตว์เลี้ยง จุดไฟเผาเพื่อให้หมดเคราะห์หมดโศก
· เสร็จแล้วก็พากันมารับศีลรับพรจากพระสงฆ์ เพื่อเป็นศิริมงคล
· มีภาพให้ชมอีกที่ http://gotoknow.org/blog/phongphan/177454
· ขอบคุณตี๋ท่านอาจ๋านหนัน แวะมาแฮมรอบเจ้า....
สวัสดีเจ้าท่านอาจ๋านหนัน
· แต่ละที่ก็จะเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามชุมชน
· ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกครั้งเจ้า.
ขอบคุณมากๆสำหรับข้อมูลที่ดีๆเหล่านี้ ไม่ทราบว่าพอจะมีข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษหรือเปล่าค่ะ จะเอาไปทำรายงาน โดยเฉพาะตอนที่ทำความสะอาดบ้านเรือนขับไล่สิ่งที่ไม่ดี ทำความสะอาดแบบไหนค่ะ และทำไมวันสงกรานต์ปีใหม่เมือง น้ำเกี่ยวข้องและมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน
ถ้าไม่เป็นการรบกวนเกินไป ขอข้อมูลด้วยนะค่ะ
ขอบคุณค่ะ
.น้อยหน่า.
สวัสดีค่ะคุณทิวาพร