หลายความตายที่ชายขอบ2


บทความดี ๆ จากเพื่อน "คนทำงาน" ที่นำมาเล่าสู่กันฟัง

ความตายที่ถูกกำหนดตั้งแต่ต้นทาง            

หลังจากเกิดเหตุการณ์ 54 ศพในตู้คอนเทนเนอร์ หยิบหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับขึ้นมาอ่าน เรื่องราววนเวียนอยู่แค่เพียงไม่กี่ประเด็น

(1)     เป็นเรื่องของกระบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ หากินกับแรงงานต่างด้าว

(2)     ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวเจ้าของรถมรณะ

(3)     พิพากษาจำคุกแรงงานพม่าผู้รอดชีวิตจากรถห้องเย็นคนละ 2 เดือนปรับคนละ 2,000 บาท

(4)   ประเทศพม่ามีปัญหาภายใน ชาวพม่ามีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบากจึงหนีร้อนมาพึ่งเย็น อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศไทยก็ไม่สามารถหาคนไทยมาทำงานได้

เขาจะรู้บ้างไหม? บางเรื่องราวหายไปไม่ปรากฎและสำคัญกว่ายิ่งนัก

สำคัญกว่าตัวเลขของผู้เสียชีวิต สำคัญกว่ารางวัลนำจับคนขับรถตู้คอนเทนเนอร์ 50,000 บาท สำคัญกว่าการตรวจสอบข้าราชการท้องถิ่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่เชื่อว่าเป็นเรื่องของการค้ามนุษย์ สำคัญกว่าการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยส่งสารแสดงความเสียใจต่อประเทศพม่า

แต่สังคมกลับไม่เคยสนใจ และผู้ถูกกระทำก็เหนื่อยเกินไปที่จะเริ่มต้นเล่าเรื่องราวเดิมๆอีกครั้งหนึ่ง

สิ่งที่ควรจะต้องพิจารณาและตั้งคำถามกันอย่างจริงจัง คือ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของโศกนาฎกรรมนั้น 

เรื่องเล่าจากฝั่งพม่า

10 พฤษภาคม 2551 อีก 1 เดือนข้างหน้า ประเทศพม่าจะมีการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะเดียวกันรัฐบาลทหารพม่าก็เริ่มดำเนินการปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วย ผู้ที่ขัดขวางการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ พร้อมๆไปกับการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ นี้ไม่ใช่ครั้งแรก ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย มันดำเนินมาเนิ่นนานจนหลายคนชาชิน นานกว่า 20 ปีแล้ว มันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2531

26 มิถุนายน 2531สหภาพนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง สหภาพนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมัณฑะเล เขียนจดหมายถึงประชาชนให้ลุกขึ้นทวงถามความเป็นธรรมจากนายพลเนวิน ชีวิตในพม่าช่วงเวลานั้น สภาพเศรษฐกิจสังคมและการเมืองได้มาถึงจุดซึ่งตกต่ำอย่างถึงที่สุด ในขณะที่ประชาชนต่างต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาของชีวิต เผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ พม่าซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียอาคเนย์กลับเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในโลก 8 สิงหาคม 2531 ประชาชนพม่าต่างสิ้นสุดความอดทนต่อการถูกจองจำเสรีภาพจากระบบเผด็จการทหารและคณาธิปไตยของรัฐบาลเนวินที่ดำรงอยู่มายาวนานนับ 26 ปี

จากวันที่เลือดนองท่วมแผ่นดินในปี 2531 ตามมาด้วยการยึดอำนาจของ SLORC ซึ่งได้ขยับชื่อตนให้นุ่มนวลขึ้นเป็นสภาเพื่อการพัฒนาและสันติภาพแห่งรัฐ (SPDC) นั้น พม่าก็ได้ก้าวเข้าสู่กลียุคในความรู้สึกของประชาชนรากหญ้าทุกชาติพันธุ์ ไฟสงคราม ความหิวโหยและความยากแค้นได้รุมเร้าพม่ามากยิ่งขึ้น การบังคับโยกย้ายถิ่นฐาน การใช้แรงงานทาส การเข่นฆ่าประหัตประหารอย่างเหี้ยมโหด การข่มขืน การจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม การบังคับให้เป็นทหารเด็ก การจับกุมคุมขัง เหยื่อจากกับระเบิด ก็ยังดำเนินไปอย่างโหดร้าย

พร้อมๆไปกับการที่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่จากประเทศไทย ทั้งโครงการท่อก๊าซ โครงการสร้างเขื่อนสาละวิน โครงการ Contact Farming ก็นำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของกองกำลังทหารพม่าในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับโครงการพัฒนาเหล่านั้น ทั้งในรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐฉาน รัฐคะเรนนี เมื่อทหารพม่าเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีโครงการต่างๆเหล่านี้ได้นำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านอื่นที่รุนแรงตามมา เช่น การข่มขืนผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์

ประชาชนรากหญ้าของพม่าเหล่านี้จึงได้พร้อมใจกันเคลื่อนขบวนอพยพจากบ้านตนเองสู่ชายป่า หวังเพียงว่าจะปลอดภัยจากน้ำมือทหารพม่าที่เหี้ยมโหด แต่นั่นเองใครบ้างจะรู้ว่าชีวิตชายป่าในนามของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ(Internal Displace Persons: IDPs) จะทุกข์ทรมานเช่นนั้น เฉพาะเพียงในปี 2550 ตลอดแนวชายแดนประเทศพม่ากับประเทศไทยมี IDPs อย่างน้อยหลบซ่อนอยู่ถึง 503,000 คน  

IDPs เหล่านี้จะต้องเคลื่อนย้ายหลบหนีการคุกคามของทหารพม่าอย่างน้อยทุกหกเดือน บางครอบครัวปีหนึ่งต้องเคลื่อนย้ายสองถึงสามครั้ง เนื่องจากเกิดการสู้รบในพื้นที่บริเวณที่หลบซ่อนอยู่ หลายครอบครัวไม่สามารถกลับไปยังพื้นที่หลบซ่อนเดิมได้เนื่องจากเต็มไปด้วยกับระเบิด และอีกหลายครอบครัวที่ไม่สามารถเผชิญกับความเสี่ยงต่อชีวิตในเรื่องต่างๆได้ เช่น การขาดปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต (อาหาร เสื้อผ้าที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค) พวกเขาจะหลบหนีเข้ามายังประเทศไทยเพื่ออาศัยอยู่ในค่ายพักพิงตามแนวชายแดนแทน (Refugee Camp)

เป็นความโชคดีของผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงและชาวคะเรนนี ที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้พวกเขาและเธออาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย/พม่า ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี กุมภาพันธ์ 2551 มีผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าอย่างน้อย 141,736 คน ยังคงอยู่ในค่าย

ชีวิตในค่ายต้องเผชิญกับความกดดันอย่างมาก ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่จำกัดให้อยู่ได้เพียงเฉพาะในค่ายเท่านั้น ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านเครื่องอุปโภคบริโภคจากภายนอก เช่น ข้าวสาร เกลือ พริกแห้ง ปลาร้า ถั่ว เชื้อเพลิงหุงต้ม  เตาไฟ เสื้อผ้า ผ้าห่ม มุ้ง เสื่อ ปัจจุบัน(เมษายน 2551) มีข่าวยืนยันแน่ชัดว่าองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศจะตัดความช่วยเหลือบางส่วนออกไป เช่น ข้าว เกลือ ปลาร้า พริกแห้ง สบู่ ยาสระผม ไม้ไผ่ มุ้ง  

ความกดดันที่เผชิญนำมาซึ่งปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น การดื่มสุรา ยาเสพติด ความรุนแรงและอาชญากรรม ปัญหาด้านความคุ้มครองและความปลอดภัยแก่ผู้ลี้ภัย ผู้หญิงและเด็กมักจะตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ที่กลไกของระบบความยุติธรรมในค่ายยังทำงานไม่เป็นผลพอที่จะคุ้มครองเหยื่อและดำเนินคดีเอาผิดต่อผู้กระทำผิดได้

จากสภาพความเป็นอยู่อันแร้นแค้นในค่าย ความหวาดกลัวต่อกองกำลังจากพม่าที่เข้ามาก่อกวน ความหวาดกลัวต่อการถูกส่งกลับ และความสิ้นหวังเมื่อต้องใช้ชีวิตอย่างผู้ลี้ภัยอยู่เป็นเวลานาน แม้ค่ายจะตั้งอยู่ห่างไกลและถูกควบคุมเข้มงวดเพียงใด ผู้ลี้ภัยวัยแรงงานบางคนจะเกิดความกดดันกับการเฝ้ารอความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชน ทำให้พวกเขาพยายามเล็ดรอดออกมาเป็นแรงงานข้ามชาติในที่สุด

นี้ยังไม่นับรวมถึงผู้ลี้ภัยนอกค่ายที่กระจัดกระจายอยู่ในหมู่บ้านชายแดนและเขตเมือง รวมทั้งชาวไทใหญ่ที่ไม่มีค่ายผู้ลี้ภัยได้พักพิง พวกเขาหลบซ่อนตัวอยู่ที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอฝาง อย่างไม่สามารถประมาณจำนวนที่แน่ชัดไม่ได้ 

แม้นจะมีคำร่ำลือถึงอนาคตที่หวาดหวั่นควบคู่ไปกับคำชักชวนที่งดงามเกินจริงของเหล่านายหน้าทั้งหลาย แต่พวกเขาและเธอต่างก็ตัดสินใจดั้นด้นมาเพื่อที่จะใช้ชีวิตหลบๆซ่อนๆภายใต้ความหวาดกลัวทั้งยามหลับและลืมตาตื่น เพราะอย่างไรก็อาจจะยังดีกว่าชีวิตที่หิวโหยและสิ้นหวัง ชีวิตที่ดิ้นรนต่อลมหายใจไปแต่ละวันโดยมองไม่เห็นอนาคต ประเทศไทย คือ ดินแดนแห่งความหวังที่จะได้มาซึ่งเงินออมอันจะสามารถแปรเป็นเงินจั๊ตก้อนโต เผื่อไว้ซื้อสถานภาพตนเองให้รอดพ้นจากความเป็นทาสแห่งประเทศพม่าได้บ้าง

                แต่นั่นเองคำสวยหรูที่เขียนว่า สิทธิมนุษยชน” “มนุษยธรรมที่แปะไว้บนแผ่นดินด้ามขวานทอง เดินทางมาพร้อมกับนโยบายรัฐบาลไทยแบบปากว่าตาขยิบทุกยุคทุกสมัย

(1)

เราผลักดันให้ผู้ลี้ภัยอยู่ในค่ายที่แออัด พร้อมๆไปกับการชักชวนให้พวกเขาเดินทางไปประเทศที่สามอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพียงเพราะเราไม่เคยสนใจอนุสัญญาที่เรียกว่า สถานภาพของผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 (The 1951 Convention relating to the Status of Refugees) แต่นั่นเองจะมีสักกี่คนที่มีโอกาสได้ไป นอกจากนี้เรายังมีนโยบายที่จะปิดค่ายผู้ลี้ภัยในอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งๆที่สถานการณ์ในประเทศพม่าไม่เคยหยุดความโหดร้ายแม้เพียงชั่วขณะ

(2)

เราผลักดันให้ผู้ลี้ภัยชาวมอญกลับไปตั้งค่ายอพยพในเขตมอญ ทั้งๆที่รัฐมอญในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการยึดที่ดิน เราผลักดันให้ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่เป็นเหยื่อของการทารุณกรรมกลับไปตาย เพียงเพราะเราปฏิเสธไม่ให้พวกเขาข้ามพรมแดนมายังฝั่งไทย เราส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวคะเรนนีที่พึ่งเดินทางมาถึงค่ายที่แม่ฮ่องสอน เพียงเพราะเราไม่มีนโยบายรับผู้ลี้ภัยเพิ่ม เราบังคับให้ผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่โยกย้ายออกจากเนินดอยสันจุ๊ ตรงข้ามกับอำเภอฝาง เพียงเพราะที่พักพิงของพวกเขาสามารถมองเห็นได้ง่ายจากบริเวณพรมแดนฝั่งไทย

(3)

เราไม่เคยสนใจเหลียวมองอย่างจริงจังพร้อมทั้งยอมรับว่า ยังคงมีผู้ลี้ภัยกลุ่มอื่นๆจากประเทศพม่า ทั้งกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่จากรัฐฉาน ผู้ลี้ภัยชาวปะโอ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ที่อาศัยอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เป็นกลุ่มที่เรา"มองไม่เห็น"(Hidden Refugee) ไม่รับรู้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า

(4)

เรายังคงจับกุมแรงงานข้ามชาติซ้ำแล้วซ้ำเล่า จับกุม ส่งกลับ ผลักดันไม่ให้เข้ามาใหม่ พร้อมๆไปกับการออกกฎหมายตัวใหม่ที่ชื่อว่า พรบ.การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ที่ให้อำนาจคนชี้นำ ชี้ช่องทางในการจับกุมแรงงานที่เข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย แต่เราก็ไม่เคยหยุดคลื่นอพยพได้แม้แต่น้อย แม้เราจะทำทุกวิธีการ เพราะจริงๆแล้วเราต่างหาก เราที่ไม่เคยสนใจเหตุการณ์อีกฟากฝั่งหนึ่งอย่างจริงจัง

สถานการณ์ข้างต้นดังที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนกดดันให้ประชาชนรากหญ้าจากพม่าต้องกลายมาเป็นแรงงานข้ามชาติ(Migrant workers) ในประเทศไทยแทบทั้งสิ้น และต้องเผชิญชะตากรรมที่บางครั้งก็โชคดี แต่หลายครั้งก็โชคร้ายเหมือนดั่ง 54 ศพ ในตู้คอนเทนเนอร์

เราปฏิเสธได้หรือไม่ว่า พวกเรานี้เอง ที่ต่างเป็นส่วนหนึ่งในการก่อความรุนแรง ในการหยิบยื่นความตายให้เกิดขึ้นกับประชาชนจากพม่า 54 คนในครั้งนี้ และครั้งอื่นๆที่ผ่านมา

เรากล้ายอมรับไหมว่า เราทำผิดกับประชาชนจากพม่าและกล้าขอโทษพวกเขา เหมือนดั่งเหตุการณ์ตากใบ

เราไม่กล้าหรอก เรากลัวความจริงที่จะหลอกหลอนเราไปทั้งชีวิต

อีกไม่นาน อีกไม่นานหรอก เหตุการณ์ 54 ศพก็หายไป และเราก็ไม่เคยสนใจประชาชนจากพม่าอย่างจริงจังเหมือนที่ผ่านมา

 

เราสามารถเข้าใจและข้ามพ้นความตายนี้ได้อย่างไร?

            เราจะทำความเข้าใจเรื่องราวเล่านี้ได้อย่างไร? สังคมบางส่วนอาจจะเลือกเข้าใจว่า เพราะพวกเขาเหล่านั้นลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ดังนั้นถ้าเข้าเมืองถูกกฎหมายเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งเราก็จะต้องหาคำตอบมาตอบสถานการณ์ที่กล่าวมาแล้วว่า อำนาจรัฐ พม่าก็ไม่ได้ใยดีต่อพวกเขามากนัก นอกจากจะไม่ปกป้องแล้วหลายครั้งเองยังเป็นผู้หยิบยื่นความตายและชีวิตที่ยากลำบากให้ ในขณะที่อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐไทยก็ไม่อาจจะทำให้ อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐหรือ ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายในนิยามแบบรัฐไทย ถูกกลุ่มคนที่ด้อยอำนาจทางการเมืองเหล่านี้มาล่วงละเมิดได้

แล้วอะไรเหล่าจะทำให้เขาสามารถเดินทางเข้ามาอย่างสง่าผ่าเผย เฉกเช่นผู้เดินทางข้ามแดนคนอื่น ๆ ได้ เพราะดูราวกับว่าช่องทางเหล่านั้นได้ถูกปิดไปแล้ว ด้วยอำนาจแห่งรัฐทั้งสองฝากฝั่ง

ใช่หรือไม่ว่าคนทั้งสองกลุ่มนี้อาจจะต่างกันเพียงแค่คนกลุ่มหนึ่งถือกระดาษที่มีตราสารแห่งอำนาจรัฐประทับไว้เท่านั้น

            ในอีกด้านหนึ่งของสังคมก็อาจจะมองประเด็นจากแง่มุมแห่งความเป็นมนุษย์ มองเห็นความทุกข์ยาก มองเห็นความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์ ก็ไม่อาจจะทะลุผ่านกรอบอำนาจของแนวคิดแรกได้ สิ่งที่พอทำได้ก็คือให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับสิ่งที่ควรจะได้รับเมื่อประสบเหตุการณ์ เท่าที่ความปราณีของอำนาจที่ตั้งตระหง่านจะเอื้ออาทรมาให้เท่านั้นเอง

            ในภาวะความอึดอัดที่สังคมไทยต้องเผชิญกับสองสิ่งพร้อมกัน นั่นคือกระแสแห่งโลกาภิวัฒน์ที่สิ่งต่าง ๆ ไหล่ผ่าน ข้ามรัฐ ลอดรัฐอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเงินตรา การสื่อสาร เทคโนโลยี อุดมการณ์ และการเคลื่อนย้ายของคน ในขณะที่การเคลื่อนย้ายของผู้คนที่เราประสบอยู่กลับเป็นผู้คนที่อำนาจอันตระหง่านอยู่ทั้งสองฟากฝังต่างมิพึงปราถนา แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธอยู่ในที

พวกเขาเหล่านั้นจึงเป็นผู้คนที่ อยู่ระหว่าง (In -between) พรมแดนสองฝั่งที่ผลัดกันผลักไปผลักมาราวกับเป็นตุ๊กตาล้มลุก มากที่สุดก็คงมายืนอยู่ได้เพียงชายขอบของระหว่างกลาง ที่พร้อมจะถูกผลักกลับไปเป็นตุ๊กตาล้มลุกเช่นเดิม

สิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าวมากขึ้น อาจจะเป็นความเข้าใจในภาวะการ อยู่ระหว่าง ของพวกเขาเหล่านั้น เข้าใจว่าการจากมาของพวกเขาไม่ได้ราบรื่นเรียบง่าย เหมือนเวลาที่พวกเราจะจากบ้านไป และเข้าใจว่าเพราะความไม่ราบรื่นและไม่ปรกติของการจากลาก็ทำให้เขาเดินทางเข้ามาอยู่ร่วมกับพวกเราอย่างไม่ราบรื่น และไม่ปรกติ ตามข้อกำหนดของกฎหมายแห่งรัฐได้ และอาจจะทำให้เข้าใจว่าทำไมวงจรนี้จึงวนเวียนเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

            นอกจากนั้นแล้วหากเรามองในเชิงตั้งคำถามต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า มันเป็นวิกฤติและข้อจำกัดของอะไร

คำตอบนั้นอาจจะได้ว่า มันเป็นวิกฤติและข้อจำกัดของอำนาจการจัดการแห่งรัฐ ที่ไม่สามารถทำความเข้าใจและตอบปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ภายใต้กรอบคิดที่จำกัดแค่เส้นแดนสมมติของพวกเราและเขาเท่านั้น ทำให้เรามองไม่เห็นภาวะความเป็นสีเทาๆของความเป็นตัวเขา (ระหว่างความเป็นผู้ลี้ภัย ความเป็นแรงงานข้ามชาติ หรือความเป็นผู้ลี้ภัยที่มองไม่เห็น)  ไม่เข้าใจภาวะของการ อยู่ระหว่างกลาง ของพวกเขาเหล่านั้น

หรือแม้จะเข้าใจเราก็ไม่อาจจะเปิดรับให้เขาขยับข้ามกรอบแห่งความเป็น ระหว่างกลาง ออกมาได้ นั่นก็อาจจะทำให้เราไม่สามารถที่จะมีจินตนาการต่อการแสวงหานโยบายหรือแนวทางที่เหมาะสมต่อการจัดการกับสถานการณ์เหล่านี้ได้ในช่วงที่ผ่านมา

            ท้ายที่สุดความเข้าใจของพวกเราอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติความตายที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่เมื่อใดก็ได้ หรืออาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีจินตนาการชุดใหม่ต่อภาวะการณ์ข้ามพรมแดนแห่งรัฐ และพรมแดนแห่งความเข้าใจของพวกเรา

            แม้เราไม่อาจจะก้าวข้ามพ้นความตายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่มันก็ทำให้เราตระหนักถึงความตายเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

           

หมายเลขบันทึก: 177251เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2008 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท