การประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 2/2549 (3.3) ต่อ


การแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ปัญหาไม่มีทางทุเลาเบาบางลงไปได้

       หลังจากที่เมื่อวานนี้เบี้ยว 1 วัน ไม่ได้เข้ามาคุยเกี่ยวกับการประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 2/2549 (เพราะโอกาสไม่อำนวยค่ะ) วันนี้หลังกลับจากการลงพื้นที่แล้ว ผู้วิจัยก็เลยรีบเข้ามาเล่าต่อค่ะ จะได้จบเร็วๆ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาก็เริ่มกันเลยนะคะ

          วาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่อง (ต่อ)

       ประธานเริ่มนำที่ประชุมเข้าเรื่องโดยกล่าวว่า ให้มาลองดูแผนงานกัน อย่างแผนงานแรกที่เสนอมาเป็นแผนงานเรื่องการประชาสัมพันธ์ ต้องลงรายละเอียดเลยว่าจะประชาสัมพันธ์อย่างไร ใช้งบประมาณเท่าใด ทำที่ไหนบ้าง ถ้าบอกแค่ว่าจะทำประชาสัมพันธ์ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ใน 5 พื้นที่นี้จะใช้งบประมาณพื้นที่ละเท่าใด

        ปรากฎว่าในที่ประชุมเงียบอยู่สักพักหนึ่ง ไม่มีใครพูดอะไรออกมา แม้กระทั่งทีมวางแผนก็ยังไม่แสดงความคิดเห็นหรือให้คำตอบในเรื่องนี้ พี่นก ยุพิน ซึ่งอยู่ในทีม 10 คนนี้ด้วย ได้ยกมือขึ้นพร้อมกับกล่าวว่า ขออย่างนี้ได้ไหม ขอเวลาให้แกนนำทั้ง 10 คนมาคุยกันก่อน จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าเราจะทำประชาสัมพันธ์เรื่องอะไร ใช้งบประมาณเท่าใด ทำอย่างไร

          ประธานจึงตอบกลับไปว่า ให้พูดตรงนี้เลย ให้ที่ประชุมได้ยินด้วย ถ้าคุยกันแค่ 10 คนก็จะไม่ได้เรื่องอะไรอีก วันนี้เจ้าหน้าที่ (น้องแหม่มกับน้องแป้น) มานั่งตรงนี้แล้ว จะได้เข้าใจไปพร้อมกัน

          หลังจากที่หารือกันอยู่ครู่หนึ่ง คุณกู้กิจในฐานะเลขานุการของคณะทำงานได้ลุกขึ้นเป็นผู้นำเสนอเกี่ยวกับแผนงาน โดยเริ่มต้นกล่าวว่าจากการประชุมคณะทำงานทั้ง 10 คน ได้ข้อสรุปดังนี้

       1.การบริหารจัดการ

          1.1แบ่งกรรมการเป็น 5 โซน 5 อำเภอ ให้กรรมการอำเภอนั้นๆเป็นผู้รับผิดชอบ ประกอบด้วย อำเภอเมือง , แม่ทะ , เกาะคา , เถิน และแม่พริก

          1.2กำหนดระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 มีนาคม 2549 ถึง 31 พฤษภาคม 2549          1.3บุคลากรที่จะเข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย

กำนัน

ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทุกคน

สารวัตรกำนัน

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะปลัด อบต. และ นายก อบต.

ผู้นำชุมชน เช่น ประธานกลุ่มแม่บ้าน ประธาน อสม. เป็นต้น

รวมแล้วหมู่บ้านละ 10 คน

          1.4การประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วย

จัดทำแผ่นพับ ตำบลละ 500 แผ่น ป้ายผ้า ขนาดกว้าง

ป้ายผ้า ขนาดกว้าง 1 เมตร x 4-5เมตร ตำบลละ 1 ผืน

จัดสื่อสารมวลชนทางวิทยุชุมชน เช่น ร่วมรายการซักถามสนทนาทางวิทยุชุมชน ส่งข้อมูล แผ่นพับเพื่อออกรายการในวิทยุชุมชน เป็นต้น

          1.5การสร้างความเข้าใจผู้นำชุมชน ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน

 

สรุป

 

อำเภอ ตำบล (ทั้งหมด) จำนวนตำบล (ที่ดำเนินการ) จำนวนคน (ทีต้องให้ความรู้ความเข้าใจ)

เถิน           8                            2                                                   210

เกาะคา       8                            2                                                   150

แม่ทะ         9                            2                                                   150

แม่พริก       4                            2                                                     58

เมือง         13                           2                                                    270

        รวมกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสร้างความเข้าใจเรื่องสวัสดิการวันละ 1 บาท ทั้งสิ้น 868 คน (แต่ผู้วิจัยรวมได้แค่ 838 คนค่ะ พอดีตอนประชุมก็ไม่ได้บวกจำนวนตามไปด้วยก็เลยไม่ได้ทักท้วงค่ะ ยังไงจะสอบถามเรื่องนี้อีกทีหนึ่งค่ะ)

        จัดเป็นค่าอาหาร หัวละ 45 บาท เป็นเงิน 39,060 บาท (คุณกู้กิจได้กล่าวต่อว่าถ้าตรงไหนที่เกินไปก็ขอให้ทักท้วงหรือให้ตัดออกก็ได้ครับ)

        ค่าตอบแทนคนละ 100 บาท เป็นเงิน 86,800 บาท        ป้ายผ้า 10 ผืน เป็นเงิน 3,000 บาท

        งบประมาณด้านวัสดุ อุปกรณ์ ประกอบด้วย

กระดาษบรู๊ฟ 20 แผ่น ต่อจุด ปากกาเคมี

ปากกาเคมี 4 ด้าม ต่อจุด

เทปย่น 1 ม้วน ต่อจุด

           รวมค่างบประมาณทั้งสิ้น (10 จุด) เป็นเงิน 1,330 บาท

           งบประมาณค่าแผ่นพับจุดละ 500 แผ่น (10 จุด) รวม 5,000 แผ่น เป็นเงิน 4,000 บาท

            ค่าวิทยากรดำเนินการ (ทั้ง 10 จุด) 10 คน ตั้งไว้ 500 บาท/คน เป็นเงิน 5,000 บาท/ครั้ง รวมทั้งโครงการเป็นเงิน 50,000 บาท

           รวมงบประมาณทั้งสิ้น 184,190 บาท

            จากงบประมาณจำนวนนี้จะเห็นได้ว่าเกินกว่างบประมาณที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก คือ 170,000 บาท ตรงนี้คุณกู้กิจบอกว่ารู้สึกละอายแก่ใจเหลือเกินขอให้ที่ประชุมช่วยตัดด้วย

            เมื่อคุณกู้กิจกล่าวจบ มีผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งกล่าวขึ้นมาว่า นี่ยังไม่ได้รวมงบประมาณที่จะใช้เป็นค่าเดินทางเมื่อประชุมสัญจร รวมทั้งค่าเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมกับทีมกลางอีก 2 ครั้ง คือ ที่ตราด และที่กรุงเทพฯ (ตอนแรกผู้วิจัยคิดว่าจะปิดโครงการที่กรุงเทพฯค่ะ เพราะ ได้คุยกับผู้ประสานงานมาก่อนหน้านี้และมีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ภายหลังทราบว่าจะปิดการประชุมที่สงขลาค่ะ)

            คุณกู้กิจ กับ พี่นก ยุพิน จึงกล่าวว่า ขอให้ช่วยกันตัดงบประมาณเลย ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้ไปตราด กับ กรุงเทพฯ

            ประธาน กล่าวขึ้นมาว่า ประการที่หนึ่ง ผมฟังดูแล้วรู้สึกว่าจะเน้นไปที่เรื่องการประชาสัมพันธ์อย่างเดียว ผมได้พูดในที่ประชุมไปแล้วเมื่อกี้นี้ คิดว่าทุกคนน่าจะเข้าใจแล้วในเรื่องเป้าหมายที่เราตั้งไว้ เราคงไม่ทำเรื่องประชาสัมพันธ์อย่างเดียวนะครับ เรื่องโครงสร้างการจัดการก็สำคัญ ผมเห็นว่าในเรื่อง การอบรมคณะกรรมการให้เห็นความสำคัญและเข้าใจทั้งระบบยังไม่มี การอบรมในเรื่องทักษะก็ยังไม่มี ผมยังไม่เห็นในส่วนนี้เลย มีแต่เรื่องการขยายผลอย่างเดียว ลองทบทวนใหม่นะครับว่าจะมีแผนงานอย่างไร คือ ถ้าเรามีแต่เรื่องการประชาสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว แล้วก็จัดเวที ซึ่งในเรื่องการจัดเวทีเราจัดไปหลายรอบแล้ว วันนั้น (ที่ห้อง 5 ธันวา เทศบาลนครลำปาง) ก็จัดไปแล้ว เสียเงินไปประมาณ 50,000 กว่าบาท มันก็อย่างเก่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นอย่างนี้เราต้องมาดูกันว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน อยู่ที่คนหรือเปล่า การสื่อความเข้าใจ คณะกรรมการมีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับระบบการจัดการ การจัด สวัสดิการหรือเปล่า มันก็จะมีผลเกี่ยวเนื่องไปถึงการขยายผลต่อไป ดังนั้น ในช่วง 6 เดือนที่เหลือ เราจะวางแผนอย่างไรที่จะพัฒนาบุคลากรใน 5 พื้นที่นี้ให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เราจะมีการใช้งบประมาณมาเสริมศักยภาพบุคคลการเหล่านี้อย่างไรก่อนที่เราจะลงไปประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มาร่วมกับเรามากขึ้น จุดสำคัญ คือ คนที่เป็นคณะกรรมการหรือเป็นผู้ประสานงานในพื้นที่ต้องมีความเข้าใจ ตอบคำถามได้ชัดเจน อย่างในกรณีของกลุ่มเถินที่เราได้มีการยกกรณีนี้ขึ้นมาพูดคุยกันว่ากลุ่มเถินมีระบบการบริหารจัดการที่ชัดเจน สามารถขยายผลได้ เราต้องคิดย้อนกลับไปแล้วไปเอาองค์ความรู้ตรงนั้นมาที่เถินสามารถขยายจำนวนสมาชิกไปได้อย่างรวดเร็วนั้น มันมีเรื่องการบริหารจัดการคน การบริหารงานอย่างเป็นระบบ แต่ละกลุ่ม แต่ละองค์กรในพื้นที่ทำได้อย่างเถินหรือยัง ถ้ายังทำไม่ได้ ต้องพัฒนาตรงนั้นขึ้นมา ถ้าทำได้ก็จะขยายผลต่อไปได้ อย่างในกรณีของกลุ่มเถิน ชุดองค์ความรู้ที่สำคัญ คือ เรื่องของคณะทำงาน ถ้าหากว่าคณะทำงานยังไม่เข้าใจระบบ ไปพูดกับคนในชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เงินแต่ละส่วนเอาไปทำอะไร ตายไปแล้วได้เงินเท่าไร บริหารจัดการอย่างไร เป็นต้น ถ้าเรายังไม่เข้าใจ ยังไม่ได้ทำ เราจะตอบคำถามไม่ได้ ความน่าเชื่อถือก็จะไม่เกิดขึ้น จากการที่เรามีชุดองค์ความรู้ รู้ว่าปัญหา อุปสรรคคืออะไร นี่เป็นหัวใจสำคัญ

            ประการที่สอง เราจัดเวทีสัญจรที่ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เราไปบ้านป่าตัน เราจะเห็นรูปแบบของการบริหารจัดการภายใน เรื่องของการเชื่อมประสานระหว่างองค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านป่าตันกับเทศบาล เราจะเห็นองค์ความรู้ตรงนั้น วันนี้มาที่แม่พริกก็ดีใจ ได้มาเห็นป้าย ที่ทำการ คณะกรรมการ ระบบการจัดการภายใน ซึ่งค่อนข้างจะชัดเจน นี่น่าจะเป็นกิจกรรมหนึ่งที่อยู่ในโครงการนี้นะครับ(โครงการการจัดการความรู้)

            คุณกู้กิจ ได้ยกมือแสดงความคิดเห็นว่า คณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งทั้ง 10 คน ได้มาคุยกัน มาละลายความคิดเห็นตรงนี้แล้ว ขอทักท้วงหน่อยนะครับว่าจะให้ลบ หรือละลายความคิดตรงนี้ ผมได้บอกแล้วว่าการบริหารจัดการตรงนี้มาจากที่ประชุมทั้ง 10 คน เมื่องบประมาณเกินไปถึงกว่า 180,000 บาท ผมก็ละอายแก่ใจ ขอให้ที่ประชุมช่วยกันตัดงบประมาณลงไป ในส่วนที่ผมฟังประธานแล้วผมคิดว่าผมเข้าใจ แต่ผมเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องสร้างทีมงานขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อมาอบรมเรื่องวันละ 1 บาท อย่างกรณีเถินที่เราตั้งเป้าหมายไว้ 2 ตำบล ถ้าเราจะลงไปขยายผลเราก็จะเรียกกรรมการมาฝึกฝน เพียงแต่เรื่องการบริหารจัดการ เช่น เรื่องค่าอาหาร ถ้าเราเห็นว่าหัวละ 45 บาท/คนมันมากจนเกินไป เราก็สามารถตัดลงไปได้ ค่าตอบแทน 100 บาท/คน ถ้ามันมากไป เราก็ตัดออกหรือลดลงได้ หน่วยงานต่างๆถ้าเราเอาเงินมาล่อ ต่อไปถ้ามีเงินมาให้ก็ยอมมา แต่ถ้าไม่มีเงินมาให้ก็จะไม่มา หรืออย่างป้ายผ้า แผ่นพับ ก็สามารถตัดลงไปได้ เพื่อที่เราจะได้มีเงินไปตราดและไปกรุงเทพฯ แต่ถ้าเราจะสร้างทีมวิทยากรโดยการพาไปอบรม อย่างที่เราพาไปที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน หรือโรงแรมทิพย์ช้าง ก็อย่าทำเลยครับ

            ประธานกล่าวว่า ผมนั้นเห็นด้วยกับทุกแผนของพี่ (คุณกู้กิจ) ที่ได้ประชุมกันมา แต่ผมขอเสนอความคิดเห็นว่าในสิ่งที่เราทำมา เราได้เรียนรู้ เราน่าจะเพิ่มเติมลงไปในแผนก่อน เพื่อให้ครบกระบวนการจัดการความรู้ ส่วนเรื่องงบประมาณเราค่อยมาเพิ่มหรือลดลงไปก็ได้ ค่อยๆคุยกันไป คือ เราต้องเน้นทั้งในเรื่องคุณภาพและปริมาณ ไม่ใช่เน้นเรื่องปริมาณเพียงอย่างเดียว ถ้าเน้นแต่เรื่องปริมาณเราก็จะได้แค่นี้ เราจะปรับปรุงอย่างไรให้ครบกระบวนการในส่วนของการจัดการความรู้ เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าเราจะทำใน 3 ส่วน คือ การบริหารจัดการ การขยายผล และการเชื่อมประสาน ผมยอมรับในมติของที่ประชุมที่อุตส่าห์ช่วยกันยกร่างขึ้นมา สิ่งที่ผมเสนอจะไม่ทำก็ได้ แต่อยากชี้ให้เห็นว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ การทำแผนงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเราต้องช่วยกันคิด ช่วยกันเสริม ช่วยกันเติม ผมไม่ได้ขัด แต่เราต้องทำให้บรรลุเป้าหมาย ที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์ว่าเมื่อเราเอางบประมาณลงมาจัดเวทีที่เถิน แม่พริก แม่ทะ ผมก็เคยจัดมาแล้ว (ไม่ได้เอางบประมาณของ สกว.มาจัด) จัดไปหลายรอบแล้ว นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะเสริม ไม่ใช่ว่าจะต้องมีแผนงานเพียงแผนเดียว

            ในประเด็นนี้เมื่อประธานกล่าวจบ อ.ชวนพิศ ในฐานะประธานองค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านเอื้อม ได้ยกมือขอแสดงความคิดเห็นว่า ในกรณีการขยายผล อย่างของตำบลบ้านเอื้อม หรือที่อื่นๆ ความจริงน่าจะขยายได้ แต่ติดอยู่ที่ค่าเฉลี่ยศพ เพราะ ตอนแรก (เมื่อไปจัดตั้งกลุ่ม) ไม่ได้พูดกันในเรื่องนี้เลย แต่เดี๋ยวนี้กลับกลายเป็นว่าต้องเอาเงินมาเฉลี่ยช่วยกัน ดังนั้น จึงเกิดคำถามตามมาว่าถ้าในอนาคตข้างหน้าเกิดกลุ่มอยากจะถอนตัวออกไปหรือไม่ทำแล้ว เงินไปอยู่ที่ไหน ตรงนี้เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด พวกเราก็เลยตอบไม่ได้ว่าเมื่อแต่ละกลุ่มเอาเงินเข้ามาเฉลี่ยแล้ว พอจะออกไปจะเอาเงินที่ไหนมาคืน

            ประธาน กล่าวตอบว่า ต้องสร้างความเข้าใจ ประเด็นตรงนี้ก็คือ คณะกรรมการรู้ไม่เท่ากันหมด พอไม่รู้ เราต้องคิดต่อไปว่าแล้วจะทำให้รู้ได้อย่างไร นี่คือ การจัดการความรู้ ถ้ารู้ก็จะสามารถตอบคำถามได้

           คุณปิยชัย ยกมือขึ้นเพื่อขอเสนอความคิดเห็นว่า ในกรณีของอ.ชวนพิศกล่าวมานี้ ผมก็เจอปัญหานี้เช่นกัน อย่างกรณีตำบลของผม หมู่ 7 กับ หมู่ 9 ก็โทรศัพท์มาเพื่อให้ผมไปพูด แต่ผมไม่กล้าไป เพราะ ผมก็ต้องไปพูดให้ชัดว่าค่าเฉลี่ยศพต้องจ่ายมาที่เครือข่ายฯ ตอนนี้เขาเข้าใจว่าเครือข่ายฯเป็นผู้จ่าย ไม่ใช่กลุ่มเป็นผู้จ่าย เราไม่เคยไปอธิบายชัดๆว่ากลุ่มต้องช่วยกันจ่ายค่าเฉลี่ยศพมาที่เครือข่ายฯนะ ไม่ใช่เครือข่ายฯเป็นผู้ออกให้ นี่คือสาเหตุที่ทำให้ผมไม่กล้าไปเปิดกลุ่ม หรือไปพูดเรื่องนี้ ความจริงแล้วผมเข้าใจ แต่ผมไม่กล้าไปพูดอย่างนี้ ประธานต้องไปอธิบายให้เขาเข้าใจเอง เพราะ ถ้าเขารู้อย่างนี้เขาก็จะไม่เข้าร่วม

           ประธานจึงกล่าวตอบกลับมาว่า ต่อไปคณะกรรมการที่ไปขยายผลต้องรู้ ต้องตอบคำถามได้

          ก่อนที่จะจบประเด็นนี้  ผู้วิจัยก็ไม่อยากจะพูดอะไรมากนะคะ  แต่อยากตั้งข้อสังเกต 2 อย่าง  คือ (เป็นการตั้งข้อสังเกตในใจนะคะ  เพิ่งเปิดเผยครั้งแรกก็ในบันทึกนี้แหละค่ะ  ไม่ได้นำเสนอในที่ประชุมนะคะ)

          1.ในส่วนของการวางแผน  ผู้วิจัยเห็นด้วยกับข้อเสนอของประธานนะคะที่บอกว่าต้องเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารจัดการเข้าไปด้วย  แต่การที่แผนออกมาเช่นนี้ผู้วิจัยเห็นว่าน่าจะเกิดจาก 2 ปัจจัยค่ะ  คือ

              1.1เครือข่ายฯรวมทั้งกลุ่มต่างๆให้ความสำคัญกับเรื่องการขยายผลมาก  เพราะ  ตอนนี้กำลังประสบปัญหาเรื่องค่าเฉลี่ยศพที่สูงมาก  ทุกคน (ส่วนมาก) เห็นว่าถ้ามีการขยายสมาชิกออกไป  ค่าเลี่ยศพก็จะลดลง  แผนที่ออกมาก็เลยดูเหมือนว่าจะเน้นไปที่การขยายผล

               1.2ประธานโยนโจทย์ผิดไปตั้งแต่แรก  เพราะ  ประธานบอกว่าให้คิดแผนในระดับกลุ่ม  ประเด็นก็คือ  กลุ่มทั้ง 5 กลุ่มซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเขาไม่ได้มีปัญหาในกลุ่ม  ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการจัดการ  ดังนั้น  จึงไม่แปลกที่เขาจะคิดแผนออกมาโดยที่ไม่เน้นเรื่องการบริหารจัดการ

               1.3หลายคนเห็นว่าเรื่องการบริหารจัดการในกลุ่ม  กลุ่มสามารถจัดการได้  ให้ความรู้กับกรรมการได้  ถ้ากลุ่มนั้นไม่มีความรู้เรื่องอะไรก็จะขอความช่วยเหลือไปยังกลุ่มที่อยู่ใกล้ๆ  เช่น  กลุ่มแม่พริก  ปิดบัญชีโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่เป็น  ก็ขอให้ทางกลุ่มเถินไปช่วย  เป็นต้น   ซึ่งตรงนี้คณะกรรมการสามารถทำได้  ทุกคนก็ทำงานเพื่อสาธารณะอยู่แล้ว  จึงไม่ได้คิดว่าจะต้องทำออกมาเป็นแผนเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ

             2.ในส่วนของการขยายผล  จากปัญหาที่ อ.ชวนพิศ และ คุณปิยชัยเสนอมานั้น  เป็นสิ่งที่ชวนคิด  และนี่เป็นส่วนหนึ่งที่เครือข่ายต้องอาศัยกระบวนการจัดการความรู้เข้ามาช่วย  ผู้วิจัยเห็นว่าการที่ขยายกลุ่มใหม่ไม่ได้  ประเด็นไม่ได้อยู่ที่คณะกรรมการไม่มีความรู้หรือรู้ไม่เท่ากันอย่างที่ประธานบอก  (ในส่วนที่บอกว่ารู้ไม่เท่ากันอาจเป็นไปได้  แต่ที่บอกว่าไม่มีความรู้  ผู้วิจัยคิดว่าไม่ใช่)  แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่ากลุ่มใหม่ๆรับไม่ได้ถ้า

                 2.1ต้องช่วยกันเฉลี่ยค่าศพมาที่เครือข่ายฯ

                 2.2คณะกรรมการตอบไม่ได้ว่าถ้ากลุ่มต้องการถอนตัวหรือไม่ดำเนินการต่อแล้ว  เครือข่ายฯจะคืนเงินให้หรือไม่  (ซึ่งคำตอบทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าไม่คืน  ดังนั้น  จึงไม่มีใครอยากจะไปเสียเวลาเปิดกลุ่มใหม่  เพราะ  ถ้ากลุ่มใหม่รู้อย่างนี้เขาคงไม่ยอมตั้งกลุ่มแน่นอน)

                 ดังนั้น  เครือข่ายฯน่าจะฉุกคิดในประเด็นนี้  เอาประเด็นนี้มาหารือกันว่า  นี่คือ  อุปสรรคหนึ่งของการตั้งกลุ่มใหม่  เราจะจัดการเอาความรู้มาใช้อย่างไรเพื่อให้สามารถแก้ไขจุดอ่อนตรงนี้ได้  ไม่ใช่ว่าจะมุ่งแต่อบรมคณะกรรมการอย่างเดียว  ผู้วิจัยขอบอกว่าคงจะไม่มีอะไรดีขึ้น  เปรียบเสมือนการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด  ปัญหาไม่มีทางทุเลาเบาบางลงไปได้

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17691เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2006 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ประเด็นที่อ.อ้อมต้งข้อสังเกต น่าจะหารือกับทีมวิจัย3คนและกรรมการ10คนนะครับ จะได้ทดสอบสมมุติฐานที่อ.อ้อมตั้งไว้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท